บทนำพุธที่29มกราคม2563 : แก้ออก‘กม.งบ’

ปัญหาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ที่ ส.ส. ลงคะแนนโดยไม่อยู่ในที่ประชุม และวิปรัฐบาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ นายวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ อดีต ส.ส. กาฬสินธุ์หลายสมัย เสนอทางออกหากศาลตัดสินว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณโมฆะทั้งฉบับ รัฐบาลควรเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ กลับเข้าสภาได้พิจารณาแบบ 3 วาระรวด ทั้งในขั้นรับหลักการ ขั้นการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯแบบเต็มคณะ และการลงมติในวาระ 3 ใช้เวลาเพียงวันเดียวก็สามารถดำเนินการได้ เพราะในอดีต สภาเคยพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2535 ครั้งที่ 4 ให้นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส. ซึ่งที่สภาพิจารณา 3 วาระรวด การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะสามารถใช้วิธีการของสภาเป็นทางออกได้เหมือนเช่นในอดีต จากนั้นส่งวุฒิสภาพิจารณาต่อก็จะใช้เวลาไม่นานเพียง 1-2 วัน จากนั้นจึงส่งให้นายกฯนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ทูลเกล้าฯ ได้ ส่วน ส.ส.เสียบบัตรก็ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ระบุว่าการเสียบบัตรและลงมติแทนกันถือว่า การตรากฎหมาย หรือกระบวนการกฎหมายขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ การลงคะแนนแต่ละขั้นตอนต้องเป็นไปโดยสุจริต ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว ประเด็นไม่ใช่ใครเสียบบัตรแทนใคร หรือช่องลงคะแนนน้อย แต่เป็นการลงคะแนนโดยสุจริตหรือไม่ ทั้งนี้ ไม่อยากเห็นองค์กรใดมาชี้ขาดว่าร่าง พ.ร.บ.ที่กระบวนการขัดรัฐธรรมนูญนี้ใช้ได้ หากเราเป็นรัฐบาล เราจะเอาร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านสภา แล้วกลับมาเสนอเข้าสภาเพื่อให้ลงมติใหม่ตั้งแต่วาระที่ 1 เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งเชื่อว่าหากขอความร่วมมือกันจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่มาก และจะสง่างามกว่า

ถือเป็นทางออกของปัญหาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณอีกทางหนึ่ง และเป็นการใช้ ระบบรัฐสภาแก้ปัญหา และใช้เวลารวดเร็ว เพื่อให้งบประมาณทันใช้ในเวลาที่เหลืออยู่ ส่วนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป สิ่งสำคัญคือ จะป้องกันมิให้เกิดการเสียบบัตรแทนกัน การลงมติแทนกันขึ้นอีกได้อย่างไร รัฐสภาโดยเฉพาะสภาผู้แทนฯ น่าจะเป็นเจ้าภาพหาทางแก้ไขปัญหานี้ เพื่อสร้างความเชื่อถือเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับสภาผู้แทนฯต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image