สำรวจ5ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ศก.ไทยสูญเสีย2.2แสนล้าน

ธนวรรธน์ พลวิชัย
อธิการบดีและประธานที่ปรึกษา
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

จากการสำรวจระหว่างวันที่ 28-29 มกราคม เกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในขณะนี้ โดยทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง รวม 287 ตัวอย่าง รวมถึงได้ประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยปี 2563 เป็นดังนี้

ผู้ตอบแบบสอบถามได้รับผลกระทบจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ประมาณ 54.4% ไม่ได้รับผลกระทบ 45.6% โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจ มองว่าอยู่ในส่วนของการทำให้ยอดขายลดลง 30.7 และมองว่าทำให้ธุรกิจได้รับความเสียหาย 59.0% ไม่ได้รับความเสียหายเลย 41.0% ส่วนระดับความเสียหาย ผู้ตอบแบบสำรวจตอบว่ามีน้อย 29.5% ปานกลาง 47.4% และมีความเสียหายมาก 23.1%

โดยธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวและรับมือกับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ด้วยการทำการตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้น เป็นการเข้าถึงลูกค้าโดยไม่ต้องอาศัยหน้าร้าน รักษาความสะอาดในการทำงานและบริเวณที่ทำงาน ฉีดน้ำลดฝุ่นและแจกหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นพีเอ็ม 2.5 แก่พนักงาน ลดการใช้เชื้อเพลิงน้อยลงและปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้าให้มากขึ้น ติดตั้งเครื่องดูดฝุ่นและพัดลมระบายอากาศในโรงงานเพิ่ม รวมถึงติดเครื่องกรองอากาศ และให้ความรู้เรื่องการใช้ชีวิตและหลักสุขอนามัยให้กับพนักงานภายในองค์กร

Advertisement

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ที่หน่วยงานภาครัฐต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การปรับปรุงระบบการขนส่งมวลชนให้มีคุณภาพและรองรับกับความต้องการของประชาชน เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้น แจกหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ให้กับประชาชน ณ จุดสำคัญให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยภาครัฐต้องเข้มงวดในการใช้มาตรการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นอย่างจริงจัง เช่น ควบคุมและกำกับดูแลการก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ลดกิจกรรมต่างๆ ของโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงหาแนวทางหรือมาตรการและนโยบายสำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ทางศูนย์พยากรณ์ได้ประเมินผลกระทบจาก 5 ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ประกอบด้วย ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กระทบท่องเที่ยว, การแพร่ระบาดของไวรัสที่มีผลต่อความต้องการสินค้าไทยลดลง, ปัญหาภัยแล้ง, ปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 และความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 โดยคาดว่าทั้ง 5 ปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจไทยรวมถึงกัน 226,700 ล้านบาท และได้มีผลกระทบต่อการขยายตัวจีดีพีลง 1.3% แต่มหาวิทยาลัยยังไม่ปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ตั้งไว้ 2.8% เพราะต้องรอดูมาตรการรัฐบาลที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อน

สำหรับการประเมินผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีทั้งหมด 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1.ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ที่มีผลกระทบโดยตรงกับภาคท่องเที่ยวไทย ซึ่งหากสามารถควบคุมการระบาดและท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวได้ในเดือนมีนาคม 2563 จะทำให้นักท่องเที่ยวลดลง 2.41 ล้านคน แบ่งเป็น จีน 1.84 ล้านคน และประเทศอื่นๆ 0.57 ล้านคน รวมมูลค่าเสียหายต่อเศรษฐกิจ 117,300 ล้านบาท กระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) 0.67% แต่หากลากยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม 2563 ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวภายใน 5 เดือนหลังจากนั้น จะทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น ที่ 189,200 ล้านบาท กระทบจีดีพี 1.08%

2.ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่หากล่าช้า 6 เดือน หรือสามารถเบิกจ่ายได้เดือนเมษายนนี้ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 77,500 ล้านบาท ลดลง 0.44% แต่หากล่าช้ากว่าปกติถึง 8 เดือน หรือเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 จะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจรวมเป็นมูลค่ากว่า 167,000 ล้านบาท กระทบจีดีพี 0.96%

3.ผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ทำให้ความต้องการสินค้าไทยลดลง โดยมีการประเมินว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของจีนในปี 2563 ลดลง 0.5-1% จากเดิมที่คาดไว้ที่ระดับ 5.9% จะลดลง 4.9-5.4% ซึ่งการที่จีดีพีของจีนลดลงก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกทำให้มีผลขยายตัวลดลงด้วย ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการของสินค้าไทย โดยหากควบคุมการระบาดได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ จะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยได้รับผลกระทบในวงจำกัดเพียง 15,500 ล้านบาท มีผลต่อจีดีพี 0.09% แต่หากว่าการควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2563 ก็จะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง หรือมีมูลค่าเสียหายกว่า 36,700 ล้านบาท กระทบจีดีพี 0.21%

4.ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในรูปแบบของการเสียโอกาส เนื่องจากประเมินว่าจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ในกรณีที่สถานการณ์ฝุ่นดังกล่าวมีความรุนแรงไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ประมาณ 3,800 ล้านบาท กระทบจีดีพี 0.02% แต่หากมีความรุนแรงไม่เกิน 1 เดือน จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 6,200 ล้านบาท มีผลต่อจีดีพี 0.04% โดยแนวทางการรับมือกับเรื่องนี้คือใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น ใช้เครื่องฟอกอากาศ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือทำงานในสถานที่ทำงาน และการไม่ออกบ้าน โดยปัญหาฝุ่นพิษส่งผลต่อพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันค่อนข้างมากเพราะก่อให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่ม โดยแบ่งเป็นการซื้อหน้ากากอนามัย เพิ่มขึ้น 46.4% การซื้อเครื่องปรับอากาศ 35.8% ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลจากฝุ่นละออง 46.1% โดยแบ่งเป็นในช่วงที่ผ่านมา คาดว่ามีการใช้จ่าย 1,474.93 บาทต่อคน ค่าใช้จ่ายนับจากนี้อีก 2 เดือน ประมาณ 2,226.26 บาทต่อคน หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนที่ 1,113.13 บาทต่อคน

5.ภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งหากภาวะภัยแล้งกินเวลาของฝนทิ้งช่วงเป็นเวลา 1 เดือน และปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ต่ำกว่าปีก่อนประมาณ 10% จะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ 10,200 ล้านบาท มีผลต่อจีดีพี 0.06% แต่หากสถานการณ์เกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน และปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำกว่าปีก่อนประมาณ 20% จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 21,800 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.12% โดยหากประเมินจากผลกระทบของปัจจัยโรคระบาดไวรัสโคโรนา และฝุ่นพีเอ็ม 2.5 แล้ว พบว่าสร้างความกังวลให้กับประชาชนส่วนใหญ่มากกว่า ส่วนปัญหาภัยแล้ง สร้างผลกระทบและความกังวลให้กับเกษตรกรเท่านั้น แต่คนส่วนใหญ่ยังได้รับผลกระทบทางตรงน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าหอการค้ายังไม่มีการปรับประมาณการตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ชัดเจน จึงยืนยันคาดการณ์เดิมที่ 2.8% แต่โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่า 2.5% มีสูง และโอกาสที่จะโตต่ำกว่า 2% ก็มีเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์ว่าจะสามารถทำได้รวดเร็วมากน้อยเท่าใด โดยคาดว่ามีความเป็นไปได้ 2 ทางคือ จบเร็วหรือยืดเยื้อต่อไป แต่เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นย่อมสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสูงมาก แม้ว่าในอนาคตรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการเยียวยาต่างๆ ช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนและพยุงเศรษฐกิจ

สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ได้แก่ เพิ่มการทำตลาดเชิงรุกในตลาดนักท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีศักยภาพ ออกมาตรการฟรีวีซ่าในระยะสั้น และเพิ่มประเทศที่สามารถขอวีซ่า ออนอาร์ไรวัลได้ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนของงบเหลื่อมปี หรืองบค้างท่อ การเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเบิกจ่ายงบลงทุนเร็วขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนขยายการลงทุน การผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อเอื้ออำนวยให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือ หากสามารถบริหารจัดการให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวที่ระดับ 31.05-32.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้ จะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก และทำให้การส่งออกฟื้นตัวขึ้นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image