รายงานหน้า2 : ‘สนธิรัตน์’มั่นใจรบ.ปึ้ก ฝ่าด่าน‘ศึกซักฟอก’

หมายเหตุนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงการรับมือ กรณีที่พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและ 5 รัฐมนตรี รวมถึงประเมินสถานการณ์การเมืองหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

⦁รัฐบาลเตรียมรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างไร
ต้องดูจากข้อกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้านและประเด็นที่อาจมีเพิ่มขึ้นมา และดูกรอบเนื้อหาการอภิปราย โดยวันนี้เนื้อหาที่จะถูกอภิปรายชัดเจนขึ้น จากนี้ต้องเตรียมการเพื่อชี้แจงในข้อเท็จจริงต่อไป โดยต้องมองกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะโดนพาดพิงไปที่เรื่องใดบ้างและมีโอกาสพาดพิงข้ามไปหลายกระทรวงเพราะเป็นผู้นำรัฐบาล
ขณะเดียวกันแต่ละกระทรวงต้องเตรียมข้อมูลที่จะมีการหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในครั้งนี้ พรรคร่วมรัฐบาลต้องช่วยกันเตรียมข้อมูลเพื่อดำเนินการรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้้น
เท่าที่ดูรายชื่อผู้ที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นรายชื่อที่มีการเปิดเผยมาโดยตลอดว่าจะเป็นบุคคลเหล่านี้ แต่ท้ายสุดก็หายไป 2-3 รายชื่อ แต่เมื่อรายชื่อชัดเจนแล้ว แต่ละท่านคงได้รับข้อกล่าวหาที่ถูกอภิปรายคงต้องเตรียมการ ผมก็นั่งดูข้อกล่าวหาแต่ละท่านด้วยเช่นกันว่าจะมีการช่วยเหลือ
อย่างไร
ทั้งนี้ หน้าที่ของรัฐบาลต้องชี้แจงข้อเท็จจริง สามารถที่จะสร้างความเข้าใจต่อประชาชนว่าข้อกล่าวหานั้นไม่ได้เป็นจริงตามที่ถูกกล่าวหาอย่างไร หลายข้อกล่าวหาครั้งนี้ใช้ศัพท์ค่อนข้างรุนแรง จำเป็นต้องอธิบายในข้อกล่าวหานั้น คิดว่าเรื่องเหล่านี้การเตรียมการข้อมูลข้อเท็จจริงสำคัญที่สุด เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจพูดได้หลายมิติ แต่สุดท้ายต้องดูว่าข้อบกพร่องเหล่านั้นเป็นด้วยสาเหตุอะไร
ข้อสำคัญที่สุดข้อบกพร่องเหล่านั้นโยงใยเรื่อง อื่นๆ อะไรบ้าง อย่างไร ดังนั้น ต้องมีความชัดเจนในการเตรียมการ อีกทั้งข้อบกพร่องบางอย่างก็เป็นข้อบกพร่องที่ลอยๆ ก็มี ถ้าเป็นเชิงนามธรรมก็ตอบยาก

⦁เหตุใดผู้ที่จะถูกอภิปรายจึงมีแต่รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ
เป็นเรื่องของการเมืองชัดเจน พรรค พปชร.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เป็นพรรคหลัก ดังนั้นย่อมเป็นเป้าที่ถูกโจมตีทำลายความชอบธรรม เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้น ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่พรรคร่วมรัฐบาล เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้านที่ตั้งใจพุ่งเป้ามาที่พรรคแกนนำโดยเฉพาะ
ส่วนเรื่องการเคลียร์กันต่อรองไม่ให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นเพียงกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ในส่วนของพรรค พปชร.คงไม่มีใครต่อรอง เพราะทราบดีว่าเป้าหลักเป็นพรรค พปชร.และคิดว่าคงไม่มีการเจรจาต่อรอง ถ้ามีจริงคงไม่มีรายชื่อรัฐมนตรีจาก พปชร.ที่ถูกอภิปราย
ดังนั้นข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีทั้งจริงและไม่จริง อย่างไรก็ตาม 6 รายชื่อที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ คงไม่สามารถตอบได้ว่าใครหนักที่สุด ต้องดูเนื้อหาในวันนั้นว่าฝ่ายค้านจะไปเจาะเรื่องอะไร แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องที่จะสร้างความเชื่อต่อประชาชนในเรื่องข้อเท็จจริงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากกว่า

⦁จัดทีมพิทักษ์นายกฯและรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายอย่างไรบ้าง
ต้องมีการประชุมของพรรคร่วมรัฐบาลและเตรียมการเพื่อร่วมมือ ร่วมใจกัน ต้องมีการหารือในวิปรัฐบาลในการรับมือกับฝ่ายค้านในการอภิปราย ดังนั้นทุกพรรครัฐบาลต้องช่วยกันในการดำเนินกิจกรรมในสภา และสร้างความเข้าใจต่อประชาชนให้ได้ คงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติอย่างไร เป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญที่ทำได้
เมื่อพรรคฝ่ายค้านมีความเชื่อว่าการบริหารราชการแผ่นดินส่วนไหนที่บกพร่องก็มีสิทธิยื่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสภา ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลต้องร่วมกันหาข้อมูลมาตอบข้อซักถามเพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชน คิดว่าการอภิปรายครั้งนี้ไม่มีอะไรทำให้ลำบากใจ ส่วนสีสันหรือแทคติค
ในสภาคงเป็นเรื่องตามสถานการณ์ มีรูปแบบการดำเนินการได้ตามกรอบข้อบังคับของสภา
ผมมั่นใจพรรคร่วมรัฐบาลว่าเป็นปึกแผ่นและเสียงพรรคร่วมรัฐบาลยังแข็งแกร่ง ยังมั่นใจว่าเสียงสนับสนุนของพรรคร่วมรัฐบาล ทำงานด้วยกันอย่างเข้าอกเข้าใจมาโดยตลอด ที่สำคัญเราไม่ได้มีปัญหาซึ่งกันและกัน ถึงจะมีข่าวบ้างเรื่องของความระหองระแหงเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นเรื่องปกติของตัวบุคคล ไม่ใช่ของพรรค เป็นเรื่องธรรมชาติของการเมือง ดังนั้น หน้าที่ของเราต้องอธิบายต่อสาธารณชนให้เข้าใจในข้อกล่าวหา

Advertisement

⦁ประเมินสถานการณ์หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ต้องดูผลของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันนี้อาจจะเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าจะเกิดอะไรต่างๆ แต่แน่นอนว่าเป้าหมายของฝ่ายค้านต้องการให้เกิดผลตามมาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจและมุ่งหวังผลเหล่านั้น ส่วนผลจะเป็นอย่างไรต้องดูวันที่อภิปรายและหลังอภิปรายถึงจะประเมินได้บ้างว่าจะมีผลอะไรต่อโครงสร้างทางการเมืองอย่างไร

⦁ในความคิดเห็นส่วนตัวถึงเวลาปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่ เพื่อให้บางจุดแข็งแกร่งขึ้น
เรื่องการปรับ ครม.เป็นเรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯและผู้นำรัฐบาล จะเลือกการบริหารประเทศด้วยรัฐบาลที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุด พยายามสรรหาการจัดการที่วางตัวบุคคลและบุคลากรที่มีประโยชน์ต่อการบริหารมากที่สุด ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงคงขึ้นกับนายกฯว่าเห็นการบริหารประเทศมีจุดอ่อนอย่างไรถึงต้องปรับเปลี่ยน คงตอบแทนท่านไม่ได้ แต่กลไกของระบบสภาการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอเป็นเรื่องปกติ และการตัดสินใจของการเปลี่ยนแปลงต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานการณ์

⦁ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในฐานะที่เป็นมือประสานจะดึงพรรคอื่นหรือ ส.ส.เข้ามาร่วมพรรค พปชร.อีกหรือไม่
เรื่องการเพิ่มเสียงของรัฐบาลให้มากขึ้นเป็นเรื่องการจัดการเสถียรภาพของรัฐบาล เป็นสิ่งที่ต้องประเมินตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเสียงรัฐบาลปริ่มน้ำ การสร้างความแข็งแรงต่อเสียงสนับสนุนรัฐบาลเป็นหัวใจสำคัญ พยายามจะทำความเข้าใจต่อ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน อยากให้ช่วยกันมองประเทศเป็นตัวตั้ง ถ้าทุกคนมองความเป็นตัวเองเป็นตัวตั้งสถานการณ์ การบริหารประเทศคงเดินหน้าไปได้ไม่มั่นคง
ดังนั้น บางครั้ง อาจมีเสียงข้ามมาสนับสนุนรัฐบาลเป็นสิ่งที่สะท้อนว่ามีเสียงที่สนับสนุนที่อยากเห็นรัฐบาลเดินหน้าต่อไป ไม่อยากให้ไปใช้คำว่างูเห่าหรือการซื้อตัว เพราะในข้อเท็จจริงต้องเคารพในความเป็น ส.ส.ของทุกท่าน อาจจะมองถึงประโยชน์ว่าต้องสนับสนุนอย่างไร เป็นหน้าที่ที่แกนนำของรัฐบาลต้องทำความเข้าใจเพื่อขอเสียงสนับสนุนต่อพรรคฝ่ายค้านในแต่ละเรื่องว่าบางคราวต้องมองข้ามเรื่องการเอาชนะกันในตัวเลขของการเมืองแบบนี้ อาจต้องมาช่วยกันในการประคับประคองประเทศให้เดินไปข้างหน้า
วันนี้พรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) ที่ได้ยื่นขอเป็นอิสระจากพรรคร่วมฝ่ายค้านก็เป็นมิติใหม่ที่ดี ที่ได้แสดงจุดยืนว่าเป็นพรรคฝ่ายค้านก็จริง แต่พร้อมตัดสินใจหากเรื่องนั้นจะนำประเทศไปสู่ทางตัน เท่าที่ผ่านมาเมื่อไรก็ตามหากประเทศจะไปสู่ทางตัน พรรค ศม.ก็ได้แสดงจุดยืนออกมา จะใช้จุดยืนพาให้เราผ่านพ้นวิกฤตไป
เมื่อพรรค ศม.ออกจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน เท่าที่ทราบเพราะเกิดจากความน้อยใจที่ไม่ได้รับเกียรติจากพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งที่พรรค ศม.พยายามวางบทบาททางการเมืองเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เป็นเหตุเป็นผล หากถามผมก็เป็นการดำเนินงานในมิติที่น่าสนใจ เพราะพรรคฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องค้านไปทุกเรื่อง หากเรื่องการเมืองเราเล่นเกมกันในสภาทุกเรื่องจะทำให้การเดินไปข้างหน้า
มีข้อจำกัด
ดังนั้น เรื่องนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งทำใหพรรค ศม.ตัดสินใจดำเนินแนวทางการเมืองแบบนี้ และทำให้พรรคฝ่ายค้านไม่สบายใจ จึงของเดินตามวิถีทางการเมืองในเส้นทางตัวเอง เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในวันนี้
รัฐบาลมีหน้าที่สร้างความศรัทธาให้ประชาชน ต้องสร้างศรัทธาให้ ส.ส.ในสภาทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน สิ่งที่รัฐบาลทำให้เกิดความศรัทธาและเกิดความร่วมมือกันได้นั้นเป็นหน้าที่รัฐบาล หากรัฐบาลทำได้ดีก็มีโอกาสที่รัฐบาลจะได้เสียงสนับสนุนให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ ถือเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล วันนี้อย่างน้อยก็มีแนวโน้มที่เป็นประโยชน์ที่จะมาสนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้น อาจจะไม่ตลอดเวลาทั้งหมด แต่ก็พร้อมสนับสนุนในเวลาที่รัฐบาลทำดี
วันนี้ยังเร็วเกินไปที่จะให้ประเทศสะดุด มีวิกฤตการณ์มากมาย หลายเรื่องก็ไม่ใช่จากในประเทศ เช่น สงครามการค้า ไวรัสโคโรนา จะกระทบหากไม่ให้โอกาสรัฐบาลเลย อาจจะไม่เป็นธรรมต่อข้อบกพร่อง เพราะไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลต้องเจอผลกระทบเหล่านี้ น่าจะให้โอกาส หากปรับเปลี่ยนที่ไม่เหมาะสมจะกลายเป็นการซ้ำเติมได้
รัฐบาลที่เข้ามาทำงานได้เพียงประมาณ 7 เดือนก็เร็วเกินไป จะบอกว่ารัฐบาลเก่าก็ไม่ใช่เพราะนี่เป็นรัฐบาลผสม เป็นทีมฟุตบอลทีมใหม่ นักฟุตบอลก็ไม่เหมือนเดิม ตำแหน่งที่เตะก็เปลี่ยน อาจมีนักฟุตบอลคนเดิมอยู่บ้าง แต่รูปแบบการเล่น ยุทธศาสตร์เพิ่งมารวมตัวกันได้ 6 เดือนเองน่าจะให้โอกาสการทำงาน

Advertisement

⦁ที่ผ่านมามีกระแสข่าวดึงพรรคเพื่อไทย (พท.) มาร่วมรัฐบาล หากในอนาคตสถานการณ์ทุกอย่างเหมาะสมมีโอกาสเห็นพรรค พท.บางส่วน เข้ามาร่วมรัฐบาล พปชร.หรือไม่
การเมืองในอนาคตตอบอะไรไม่ได้เลย การเมืองไปได้ทุกสมมุติฐาน ขึ้นกับสถานการณ์ปัจจัยและเงื่อนไข คงตอบไม่ได้จะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นหรือไม่ มีกระแสพูดมาในลักษณะแบบนั้น การเมืองอะไรที่ว่าแน่นอนบางครั้งก็ไม่แน่นอน ที่ไม่แน่นอนก็กลับมาแน่นอนได้ คงไม่มีใครตอบสถานการณ์เหล่านั้นได้จริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image