จับตา รบ.-สภา ไฟเขียวร่างกฎหมาย จังหวัดจัดการตนเอง

บรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายการกระจายอำนาจ อนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จังหวัดจัดการตนเอง เลขานุการคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า อาจจะถูกวินิจฉัยเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน ซึ่งในการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี ตามความในมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญ

ทำให้หลายฝ่ายอดกังวลไม่ได้ว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ยอมรับรอง นอกจากนั้นจะมีการคัดค้านจากข้าราชการประจำบางกลุ่มที่หวงอำนาจและมีแนวคิดในการทำหน้าที่โดยไม่ยึดหลักผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่ยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วประเทศอย่างแน่นอน

“บรรณ” กล่าวว่า แนวคิดการจัดทำร่าง พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเอง เป็นการปฏิรูปประเทศ ทำให้ประชาชนมีอำนาจอย่างเพียงพอที่จะจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในท้องถิ่นตนเอง รวมทั้งสามารถตัดสินใจกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ตนเองในทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ปฏิรูปราชการไทยครั้งสำคัญ ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2494 ออกแบบให้หน่วยงานส่วนกลางคิดแทน ตัดสินใจแทนให้เสร็จเรียบร้อยในรูปแบบเดียวกัน แล้วนำไปมอบให้ประชาชนทั่วประเทศโดยผ่านราชการส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย จังหวัดและอำเภอ ใช้รูปแบบนี้มานานเกือบ 70 ปี ชัดเจนว่าปัจจุบันยังมีปัญหาในพื้นที่แต่ละจังหวัดขาดเอกภาพ ภารกิจซ้ำซ้อน ทรัพยากรและงบประมาณหมดไปกับค่ารายจ่ายประจำ ดังนั้น รูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง จึงเป็นการปฏิรูประบบราชการและเป็นการปฏิรูปประเทศ”

Advertisement

“บรรณ” กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ได้ศึกษารูปแบบพร้อมยกร่าง พ.ร.บ.คาดว่าจะเสร็จภายในมีนาคม 2563 โดยเป็นกฎหมายกลางเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในแต่ละจังหวัดที่มีความพร้อมสามารถเสนอทำประชามติ เพื่อยกฐานะจังหวัดตนเองให้มีโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นสองระดับ ที่บูรณาการหนุนเสริมทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพทั้งจังหวัด

“ยกตัวอย่างหากเป็นท้องถิ่นระดับบนจะมีลักษณะคล้ายกับกรุงเทพมหานคร คือ จังหวัดจัดการตนเอง จะมีผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้ง และระดับล่าง กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาล และ อบต.ยังคงเดิม และมีการยุบควบรวมราชการส่วนภูมิภาคเข้าเป็นราชการส่วนท้องถิ่น กำหนดให้มีสภาพลเมือง ทั้งในท้องถิ่นระดับบนและระดับล่าง เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน”

“บรรณ” กล่าวต่อว่า สำหรับแนวความคิดจังหวัดปกครองตนเองไม่ใช่ของใหม่ แต่มีการเรียกร้องกันมานาน และยังถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการยกร่างกฎหมาย โดยคณะอนุกรรมาธิการฯของสภาผู้แทน เพื่อนำเสนอเป็นกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญคือครั้งนี้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สนับสนุนเป็นจำนวนมาก คาดว่าภายในปี 2563 จะมีการเสนอเป็นญัตติพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในสภาผู้แทนราษฎร หากผ่านออกมาเป็นกฎหมายได้จริงประชาชนสามารถอาศัยกฎหมายเข้าชื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีการจัดทำประชามติจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง หากผลประชามติเห็นชอบ ก็จะกำหนดให้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็นจังหวัดจัดการตนเองภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้ประกาศผลการออกเสียงประชามติ

Advertisement

ทางด้าน ยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ส.ส.กาญจนบุรี พรรคภูมิใจไทย ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจใน กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษสภาผู้แทนราษฎร อธิบายว่า ความคืบหน้าผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการ ต่อแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองและการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการจังหวัดจัดการตนเอง พ.ศ. … ขณะนี้มีการพิจารณาร่างกฎหมายไปแล้วประมาณ 29 มาตรา

สาระสำคัญในประเด็นการจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง คือการกำหนดหลักการพื้นฐานของการปกครองส่วนท้องถิ่น การกำหนดโครงสร้างจังหวัดจัดการตนเอง ประกอบด้วย สภาจังหวัดจัดการตนเอง ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดการตนเอง และสภาพลเมืองจังหวัดจัดการตนเอง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาจังหวัดจัดการตนเอง ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มุ่งเน้นการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น

กมธ.หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้เสร็จ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ชัยมงคล ไชยรบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สกลนคร อดีตนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย คลุกคลีอยู่กับการปกครองส่วนท้องถิ่นมานาน กล่าวว่า เท่าที่ติดตามการร่าง พ.ร.บ. ขณะนี้มีหลายประเด็นที่ตอบโจทย์ มีความสมบูรณ์ มีการประเมินจุดอ่อน จุดแข็ง เพื่อทำให้ประชาชนสามารถยึดหลักพึ่งพาตนเอง กำหนดทิศทางการพัฒนาได้ด้วยตนเอง ทำให้ระบบราชการบริหารส่วนภูมิภาคถูกลดทอนอำนาจลง เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจที่เป็นสากล เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีบทบาทในการทำหน้าที่เป็นทัพหน้าในการดูแล เพราะใกล้ชิดและเข้าใจปัญหาของประชาชนได้ดีกว่า

“ข้าราชการทุกหมู่เหล่าควรคิดว่าอะไรก็ตามที่ทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์ มีความสุขตอบสนองความต้องการได้ แก้ปัญหาได้ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยที่วุ่นวายอยู่ทุกวันนี้เพราะยังมุ่งมั่น มีแนวคิดเรื่องการใช้อำนาจในส่วนกลาง แทนที่จะคิดว่าหน้าที่มีอะไรบ้างและจะทำเพื่อประชาชนได้อย่างไร หากทุกคนคิดถึงประชาชนเป็นหลัก เชื่อว่าอำนาจเป็นเรื่องรอง แต่ส่วนตัวเชื่อว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะผ่านไปได้ยากมาก เพราะบางคนยังหลงอยู่กับอำนาจ ขาดเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน และวันนี้ต้องยอมรับว่าพรรคข้าราชการใหญ่ที่สุด ดังนั้น ข้าราชการก็ควรทำความเข้าใจกับตัวเองว่าตัวตนที่แท้จริงควรทำงานเพื่อประชาชนได้อย่างไร อย่าพยายามหวงอำนาจเพื่อเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ แล้วอย่าอ้างว่าประชาชนยังไม่พร้อมในการจัดการตนเอง”

“ชัยมงคล” กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีหลายพรรคการเมืองหาเสียงต่างร่วมชูนโยบายกระจายอำนาจ ก็อยากให้ออกมาแสดงจุดยืนในสิ่งที่บอกกล่าวกับประชาชนไว้ หากไม่ทำจริงประชาชนก็มีสิทธิลุกขึ้นมาทวงถามสัญญา ทวงถามความจริงใจจากนักการเมือง แต่ส่วนตัวเชื่อว่าแทบทุกพรรคไม่อยากกระจายอำนาจให้ประชาชน เพราะการใช้อำนาจสั่งการผ่านระบบราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จะทำให้นักการเมืองในฐานะรัฐมนตรียังมีโอกาสใกล้ชิดกับการใช้จ่ายหรือบริหารจัดการงบประมาณ

“เชื่อว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงคงต้องใช้เวลาอีกยาวนาน ตราบใดที่ยังมีรัฐราชการ ยังมีการใช้อำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ ที่สำคัญระบอบประชาธิปไตยที่ชอบอ้างถึงยังเป็นเพียงรูปแบบแต่เนื้อหาจริงๆ ไม่ได้สะท้อนถึงการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง”

นับเป็นความพยายามที่เริ่มเข้าโค้งสำคัญว่า ร่าง พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเองจะเป็นรูปเป็นร่างมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายได้หรือไม่

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจว่าจะเห็นดีเห็นงามแค่ไหน

สุดท้ายจะยอมยืนอยู่ข้างประชาชน หรือจะยังยืนตรงข้ามกับประชาชน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image