รายงานหน้า2 : ส่องแนวรบ‘ศึกซักฟอก’ จับตาการเมืองรีโมต เปิดเกม‘ใน-นอก’สภา

หมายเหตุนักวิชาการให้ความเห็นถึงยุทธศาสตร์และแนวทางที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมรัฐมนตรีอีก 6 คน รวมถึงประเมินผลที่จะเกิดหลังการอภิปราย

 

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะมีกุนซือนอกสภาจำนวนมาก เป็นการเมืองแบบรีโมตคอนโทรลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากบรรดาแกนนำหรือขุนพลพรรคฝ่ายค้านจำนวนมากไม่ได้เข้าสภา เช่น พรรคเพื่อไทย เมื่อมีการยื่นญัตติอภิปรายก็ตั้งคุณเฉลิม อยู่บำรุง อดีตดาวสภาที่มีประสบการณ์ทำหน้าที่ประธานกิจการพิเศษ ดังนั้นกุนซือนอกสภาหรือติวเตอร์จะมีบทบาทสำคัญ
ขุนพลในสภาของพรรคเพื่อไทยอาจมีบทบาทเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ ถ้ามีการยุบพรรคเกิดขึ้น มีการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ก็ทำให้บรรดาบุคคลชั้นนำเกือบทั้งหมดของพรรคหมดบทบาทในสภา ดังนั้นอาจเห็นการตั้งทีมคล้ายกับพรรคเพื่อไทย เพื่อทำหน้าที่อภิปราย และอาจเห็นกิจกรรมนอกสภาควบคู่กันไปด้วย
เชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เพิ่งเตรียมการเรื่องนี้ แต่เกิดขึ้นตั้งแต่การตัดสิทธิทางการเมืองของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ปรับยุทธศาสตร์พรรคเพื่อเชื่อมต่อทั้งในและนอกสภามาโดยตลอด ส่วนนายธนาธรสร้างกลุ่มพินอคคิโอ เป็นการเชื่อมต่อการเมืองทั้งในและนอกสภาให้ชัดเจนมากขึ้น
เพราะฉะนั้นการอภิปรายครั้งนี้ แกนนำพรรคฝ่ายค้านจะไม่ใช่ขุนพลตัวจริง ดังนั้นการอภิปรายครั้งนี้คงไม่เข้มข้นมากนัก แต่สิ่งที่จะเข้มข้นคือการติดตามของประชาชนที่ให้ความสนใจการอภิปรายค่อนข้างมาก เพราะมีประเด็นปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรัง ปัญหาภัยแล้ง ฝุ่นพิษ PM2.5 การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 อย่างไรก็ตาม จุดที่จะหวังผลการเมืองในสภาไม่มาก เพราะขุนพลแกนนำพรรคยังไม่พร้อม สิ่งที่ต้องทำคือการสร้างแรงกระเพื่อมที่จะกระทบต่อความชอบธรรมของรัฐบาล
การอภิปรายครั้งนี้พรรคฝ่ายค้านวางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างรอยปริร้าวพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากรัฐมนตรี 6 คนที่ถูกล็อกเป้า มีแต่พรรคพลังประชารัฐ นอกจากนั้นวางกลยุทธ์เพื่อชี้ให้เห็นถึงการสืบทอดอำนาจของ คสช. แม้ว่ารัฐบาลยังทำงานไม่ครบ 1 ปี แต่การอภิปรายครั้งนี้จะมีข้อมูลย้อนหลังไปถึง 6 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านโหวตอย่างไรก็ไม่ชนะ เพราะมีเพียง 240 เสียง รัฐบาลมี 259 เสียง และยังมีพรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 เสียงที่ประกาศเป็นฝ่ายค้านอิสระ แต่มีแนวโน้มจะโหวตให้รัฐบาล เมื่อพรรคฝ่ายค้านเสียงน้อยกว่าจึงปรับวิธีการทำงานเพื่อให้รัฐบาลมีแรงกระเพื่อมนอกสภามากกว่า
สำหรับการปรับ ครม.อาจมีช่วงกลางปี ข้อมูลที่ได้จากการอภิปรายจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้นายกฯตัดสินใจปรับ ครม.แต่การเปลี่ยนทันทีหลังการอภิปรายคงไม่เห็น ที่สำคัญเมื่อฝ่ายค้านอภิปรายเป็นรายบุคคล คะแนนเสียงของแต่ละคนไม่เท่ากัน ทำให้สังคมจับจ้องไปที่รัฐมนตรีที่ได้รับคะแนนน้อยที่สุด
สำหรับบรรยากาศหลังการอภิปรายในระยะสั้น เชื่อว่ากระแสการปลุกเร้าการเมืองบนถนนคงไม่เกิด ไม่ว่าจะยุบพรรคอนาคตใหม่ หรือมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่คงมีการเปิดเวทีย่อย สำหรับการเมืองบนถนนในระยะยาวยังมีความเป็นไปได้ ถ้าปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่องยังไม่ได้รับการแก้ไข

Advertisement

 

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ทุกประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถามอยู่แล้ว ถามว่าจะส่งผลกับรัฐบาลและเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลว่าจะเปิดกว้างฟังเหตุผลมากน้อยเพียงใด
ขณะนี้การแบ่งเป็น 2 ฝั่งยังมีอยู่ ฉะนั้นการที่กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลจะรับฟังความเห็นจากฝ่ายค้านคงเป็นไปได้ยาก การลงมติก็ไม่น่าจะส่งผลกับรัฐบาลอย่างจริงจัง แต่กระบวนการนี้อย่างน้อยจะทำให้ประเด็นต่างๆ ถูกหยิบยกโดยฝ่ายค้านมาพูดถึงอย่างเปิดเผยมากขึ้น จะส่งผลในระยะยาวมากกว่า
ในระยะสั้นอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบมากนักเพราะหลายประเด็นที่เราเห็น อย่างคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาล หลายคนมีความชัดเจนมากในเรื่องความไม่เหมาะสม แต่คนเหล่านี้ยังได้รับการปกป้องจากรัฐบาล ด้วยเหตุผลว่าเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาการทุจริต แต่เป็นคำถามใหญ่ที่ว่าแล้วรัฐบาลทำจริงหรือไม่
ส่วนการเตรียมข้อมูลของฝ่ายค้านไม่มีปัญหา และค่อนข้างดีในหลายประเด็น โดยเฉพาะการทำงานของพรรคอนาคตใหม่ที่พยายามใช้ข้อมูลมุ่งเข้าสู่ประเด็นจริงๆ และค่อนข้างเป็นประโยชน์กับการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่ปัญหาคือคนที่สนับสนุนรัฐบาล จะเปิดรับฟังข้อมูลเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน
อีกประการ คือที่ผ่านมารัฐบาลพยายามสร้างวาทกรรม เรื่องการตั้งคำถาม การตรวจสอบ และการอภิปรายเป็นการสร้างความขัดแย้ง ทำให้การทำงานของรัฐบาลล่าช้านั้น รัฐบาลเองต้องเปลี่ยนวิธีคิดด้วยว่ากระบวนการอภิปรายในรัฐสภาเป็นหลักการเบื้องต้นของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ท้ายที่สุด เชื่อว่าการลงมติแนวโน้มที่รัฐบาลจะชนะมีสูง แต่กระบวนการอภิปรายอย่างน้อยจะเป็นเวทีที่เปิดข้อมูลอีกด้านให้กับสาธารณชน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่รัฐบาลบอกว่าส่งเสริม แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ได้เป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และยังละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วย การอภิปรายครั้งนี้อาจช่วยให้ข้อมูลกับประชาคมโลกด้วย

Advertisement

 

อุดม ทุมโฆสิต
นักวิชาการคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจัดหนักเต็มร้อยพุ่งเป้าที่นายกฯเป็นหลัก แต่ผลจะเป็นอย่างไรอยู่ที่สาระสำคัญที่ชี้ให้เห็นการประพฤติมิชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยยังมีโอกาสทำให้รัฐบาลสั่นคลอน
เชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่มีข้อมูล แต่นโยบายของพรรคนี้ที่เขียนไว้ และจากพฤติกรรมทางการเมืองที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีแนวทางการต่อสู้ที่ค่อนข้างจะดุเดือด รุนแรงและท้าทาย รวมทั้งกล้าชนกับฐานเดิมของอำนาจรัฐเก่า เพราะฉะนั้นการวางตัวบุคคลในการการอภิปรายจึงเป็นที่น่าจับตามอง หากมีข้อมูลที่เป็น
ทีเด็ดจริงๆ เชื่อว่าต้องปล่อยออกมาเต็มที่ แต่มีเงื่อนไขสำคัญว่าพรรคจะรอดจากคดียุบพรรคหรือไม่ ถ้าถูกยุบกรรมการบริหารส่วนใหญ่หายไป ทิศทางการอภิปรายต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งที่กรรมการบริหารหลายรายมีวิธีการนำเสนอข้อมูลที่น่าประทับใจในช่วงที่ผ่านมา
ช่วงการอภิปราย หากมีการพิจารณาจุดอ่อน ของรัฐบาลยอมรับว่ามีปัญหา ทั้งการเชื่อมโยงกับเงื่อนไขการทำรัฐประหารโดยอ้างว่าจะมีการฏิรูป แต่หลายปีที่ผ่านมาการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อปฏิรูปหลายด้านยังไม่ปรากฏชัดเจน เช่น การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งการปฏิรูปการเมือง ถือว่าเป็นจุดอ่อน ขณะที่ประชาชนสัมผัสและรับรู้ได้เองว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ฝ่ายค้านอภิปรายครั้งนี้ต้องเอาจริงพอสมควร เพราะอย่างน้อยตัวฐานคะแนนเสียง เกมการเมืองของสภา รัฐบาลสามารถผ่านอยู่แล้ว ด้วยเสียงที่มีอยู่ และบรรดาเสียงพวกงูเห่า แต่ในเกมการเมือง ก่อนหน้านี้พรรคฝ่ายค้านโดนโจมตีเยอะ ว่ามีการพูดคุยต่อรอง ล็อบบี้ ทำให้พรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยต้องทำงานหนักขึ้น เพราะถ้าอภิปรายเหยาะแหยะ สังคมจะวิพากษ์พรรคเพื่อไทยหนักขึ้น
อย่างน้อยที่สุดการอภิปรายครั้งนี้ มียุทธศาสตร์ทางการเมือง 3 ประการ
ประการที่ 1 คือการอภิปรายเพื่อเปิดโปงให้เห็นจุดอ่อนของรัฐบาลให้มากที่สุด อย่างน้อยทำให้ประชาชนเห็นข้อมูลหลายๆ อย่างของรัฐบาลที่มีปัญหาในการบริหารจัดการ ปัญหาธรรมาภิบาล หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์และพวกพ้อง ที่จะทำให้รัฐบาลมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมในการบริหารจัดการ
ประการที่ 2 ยุทธศาสตร์การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก่อนหน้านี้มีโผรายชื่อ 9 คน อาจมีพรรคภูมิใจไทยด้วย จากกลุ่มสามมิตรด้วย แต่หลังมีการประเมินกัน สุดท้าย เหลือกลุ่มที่ใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พูดง่ายๆ ว่าเป็นกลุ่มผู้นำจาก คสช. และกลุ่มใกล้ชิด คสช. เป็นยุทธศาสตร์ที่ทำให้เกิดความหวาดระแวงแคลงใจกันในพรรคร่วมรัฐบาล
ประการที่ 3 การอภิปรายครั้งนี้ คาดหวังว่าถ้าเกิดกระแสขึ้นมาอาจมีการปรับเปลี่ยนขั้วรัฐบาล จะทำให้เกิดพันธมิตรมากขึ้นในพรรคฝ่ายค้าน
ส่วนปฏิบัติการพินอคคิโอของอนาคตใหม่ เป็นการเดินเกมการเมืองเพื่อสร้างความตื่นตัวของประชาชนให้สนใจชมการอภิปรายครั้งนี้ทั้งนอกและในสภา เพราะการอภิปรายในสภา ถ้าเราดูเกมจะเห็นว่ารัฐบาลพยายามตั้งองครักษ์พิทักษ์รัฐมนตรี เพื่อให้กระบวนการการอภิปรายในสภามีปัญหาหรือไม่ได้อภิปรายเต็มเม็ดเต็มหน่วย หรืออาจมีองครักษ์นอกสภาเพื่อโจมตีดิสเครดิตฝ่ายค้านที่จะร่วมอภิปรายรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง พรรคอนาคตใหม่เลยใช้แคมเปญนี้ เพื่อชี้ให้เห็นอีกมุมหนึ่งเป็นการอภิปรายนอกสภาได้อย่างเต็มที่ พุ่งเป้าไปที่ผู้นำที่มาจาก คสช. เปิดโปงข้อมูลให้ประชาชนได้เห็นการบริหาร โดยเฉพาะผลประโยชน์ทับซ้อน และแนวโน้มของการคอร์รัปชั่น

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image