รายงานหน้า2 : รายงาน‘กมธ.กฎหมาย’ ผลกระทบ‘คำสั่งคสช.’

หมายเหตุส่วนหนึ่งของรายงานการศึกษาผลกระทบจากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กรณีการดำเนินคดีต่อพลเรือน การจำกัดเสรีภาพการแสดงออก และการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน เพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอัยการ เพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป

⦁กรณีศึกษาผลกระทบจากการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร
ระบบกฎหมายไทยโดยฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ได้ออกแบบเขตอำนาจของศาลทหารในสภาวะปกติให้มีอำนาจพิจารณาคดีข้าราชการทหาร พลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหารขณะกระทำความผิดและเชลยศึกที่กระทำความผิดอาญา และความผิดตามกฎหมายทหารเท่านั้นโดยไม่ปรากฏว่าในสภาวะไม่ปกติกฎหมายอนุญาตให้เขตอำนาจศาลทหารเหนือบุคคลใดและการกระทำความผิดใดบ้าง แต่เมื่อพิจารณาที่ตัวบทกฎหมายอื่นๆ ที่ใช้ในสภาวะไม่ปกติเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ อย่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ได้กำหนดว่าเมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้วกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจผู้มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน ที่กระทำความผิดอาญาต่างๆ ตามที่ปรากฏในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกได้ และเมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้วศาลทหารถือว่าเป็นศาลทหารในเวลาไม่ปกติซึ่งไม่สามารถอุทธรณ์
หรือฎีกา
โดยภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การรัฐประหารครั้งนี้คณะรัฐประหารมุ่งใช้ศาลทหารเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมและปราบปรามพลเรือนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศจำนวน 3 ฉบับ โดยอ้างฐานอำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์และผู้มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึก กำหนดให้พลเรือนที่กระทำความผิดทางอาญาเกี่ยวกับความมั่นคงและประกาศ คำสั่งคณะรักษาสงบแห่งชาติดังต่อไปนี้ นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร ได้แก่ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 ประมวลกฎหมายอาญา, ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490, ความผิดทางอาญาอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตามข้อ 1-4
สถิติจากกรมพระธรรมนูญนับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 12 กันยายน 2559 อันเป็นวันที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 55/2559 กำหนดให้พลเรือนที่กระทำบรรดาความผิดตามข้อ 1-5 นับตั้งแต่วันที่ออกคำสั่งดังกล่าวเป็นต้นไปให้กลับมาอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม โดยสรุปมีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารจำนวน 1,886 คดี และนับเป็นจำเลยจำนวน 2,408 คน โดยข้อมูลถึงเดือนเมษายน 2561 จำนวนคดีของพลเรือนที่ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารจำนวน 369 คดี เป็นจำเลยรวมทั้งสิ้น 450 คน
สภาพการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Right to a fair trial) ของประชาชนอย่างรุนแรง และแม้ว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 9/2562 ให้โอนคดีของพลเรือนบางส่วนที่ยังคงเหลือในศาลทหารให้กลับมาอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมแล้วก็ตาม แต่คำสั่งดังกล่าวก็ได้รับรองกระบวนพิจารณาคดีต่างๆ ในการพิจารณาคดีของพลเรือนในศาลทหารที่ผ่านไปแล้วทั้งหมด ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม โดยไม่เปิดโอกาสให้จำเลยสามารถโต้แย้งการดำเนินการพิจารณาที่ผิดพลาดต่างๆ ของศาลทหารได้ หรือให้โอกาสจำเลยขอพิจารณาคดีใหม่ในคดีของศาลทหารที่สิ้นสุดไปแล้วในศาลยุติธรรมได้แต่อย่างใด

⦁กรณีศึกษาผลกระทบจากการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน
ในช่วงเวลาที่เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ คสช. จำเป็นต้องควบคุมข้อมูลข่าวสารเพื่อให้การยึดอำนาจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยใช้วิธีการดั้งเดิม คือ ส่งทหารเข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ขนาดใหญ่ทุกแห่ง เพื่อระงับการออกอากาศของทุกสถานีชั่วคราว ก่อนจะอนุญาตให้กลับมาออกอากาศต่อหลังควบคุมสถานการณ์ได้ โดยทันทีหลังการเข้ายึดอำนาจ คสช. ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 14/2557 ห้ามสื่อมวลชนสัมภาษณ์บุคคลที่อาจขยายความขัดแย้ง หรือสร้างความสับสน ไม่เช่นนั้นจะถูกระงับการเผยแพร่ ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 15/2557 ปิดสถานีโทรทัศน์ช่องการเมือง จำนวน 14 แห่ง และวิทยุชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศ และประกาศ คสช. ฉบับที่ 18/2557 ห้ามสื่อทุกประเภท รวมทั้งสื่อออนไลน์นำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ เป็นภัยต่อความมั่นคง วิพากษ์วิจารณ์ คสช. ชักชวนต่อต้าน คสช. หรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง ประกาศทั้งสองฉบับนี้ใช้กับสื่อทุกประเภท และใช้ถ้อยคำกว้างครอบคลุมเนื้อหาแทบทุกรูปแบบที่ คสช.ไม่ต้องการให้เผยแพร่ ต่อมา คสช.ก็ยังออกประกาศและคำสั่งฉบับอื่นๆ ตามมาอีกมาก
จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า สื่อที่ถูกบังคับใช้ประกาศ คสช.อย่างจริงจังเป็นสื่อที่เน้นนำเสนอเนื้อหาทางการเมือง โดยมีจุดยืนตรงกันข้ามกับ คสช. ดังกรณีศึกษา พีซทีวีถูกตักเตือน ถูกสั่งปิดสถานี แต่ศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวเดือนเมษายน 2558 คณะทำงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลสื่อโทรทัศน์ตรวจสอบพบว่า รายการมองไกล ทางช่องพีซทีวี นำเสนอเนื้อหาที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างความแตกแยกในราชอาณาจักร จึงส่งเรื่องร้องเรียนไปยัง กสทช. วันที่ 23 มีนาคม 2558 ที่ประชุม กสท.มีมติเสียงข้างมากให้
ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม 2558 ที่ประชุม กสทช.มีมติเสียงข้างมากพักใช้ใบอนุญาตช่องพีซทีวีเป็นเวลา 7 วัน จากการออกอากาศรายการมองไกล รายการคิดรอบด้าน รายการเดินหน้าต่อไป และรายการเข้าใจตรงกันนะ โดยมีผลตั้งแต่ 10-17 เมษายน 2558 หลังจากพีซทีวีกลับมาออกอากาศ ทางคณะทำงานฯยังคงส่งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหารายการของช่องดังกล่าวไปยัง กสทช.อย่างต่อเนื่อง กระทั่งวันที่ 27 เมษายน 2558 ที่ประชุม กสทช.มีมติเสียงขางมากให้เพิกถอนใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์พีซทีวีเป็นการถาวร ต่อมา พีซทีวีไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี จึงให้พีซทีวีกลับมาออกอากาศได้ และ 9 สิงหาคม 2560 กสทช.มีมติสั่งพักใช้ใบอนุญาตช่องพีซทีวีอีกครั้งเป็นเวลา 30 วัน จากกรณีออกอากาศรายการเข้าใจตรงกันนะ และรายการห้องข่าวเล่าเรื่องสุดสัปดาห์ในเดือนกันยายน 2560 เพราะขัดต่อข้อตกลง
ที่ทำไว้กับ กสทช.
หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ผ่านพ้นไป ก่อนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คสช.ได้ยกเลิกประกาศและคำสั่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้แล้วครั้งใหญ่ โดยการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 โดยประกาศ คสช.ฉบับที่ 12/2557, 17/2557, 97/2557, 103/2557 ถูกยกเลิกไป อย่างไรก็ดี ในประเด็นเสรีภาพของสื่อมวลชน ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5. ที่ให้เจ้าพนักงานรักษาความเรียบร้อยมีอำนาจสั่งห้ามการเสนอข่าว หรือเผยแพร่สื่อใดได้อยู่ซึ่งกับยังคงให้อำนาจในการเซ็นเซอร์ และปิดสื่อยังอยู่ในมือของ คสช. หรือเจ้าหน้าที่ที่ คสช.แต่งตั้งขึ้น

⦁กรณีศึกษาผลกระทบจากการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน
นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา สถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกมีแนวโน้มย่ำแย่ เนื่องจาก คสช.พยายามควบคุมการแสดงออกของประชาชนหลายรูปแบบ เพื่อให้การยึดอำนาจเป็นไปโดยสำเร็จลุล่วงและไม่มีประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้าน อาทิ
– ประกาศ คสช. ฉบับที่ 49/2557 วันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ห้ามสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง พร้อมทั้งห้ามให้ความช่วยเหลือ
หรือให้ความสะดวกแก่ผู้ที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง เช่น การให้ใช้สถานที่ หรือสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการชุมนุมทางการเมือง เช่น เครื่องขยายเสียง เต็นท์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 8 เดือน หรือปรับไม่เกิน 13,333 บาท
– ภายหลัง คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 คสช.ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งคำสั่งฉบับนี้มีข้อ 12 ที่กำหนดว่า ผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภายใต้ประกาศดังกล่าวมีคนถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 369 ราย หลายคนถูกตั้งข้อหามากกว่าหนึ่งครั้ง และคดีส่วนใหญ่อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหาร
นอกจากนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวยังกลายเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงหรือปิดกั้นการจัดกิจกรรมของประชาชน เช่น กิจกรรมเสวนาหัวข้อ “รัฐธรรมนูญใหม่ เอาไงดีจ๊ะ?” ของเครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเดิมกำหนดจัดงานที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครต้องถูกยกเลิกการใช้สถานที่ เพราะตำรวจ สน.ปทุมวัน ส่งหนังสือไปยังเจ้าหน้าที่ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครว่ากิจกรรมดังกล่าวอาจขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558
กรณีกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ของเครือข่าย People Go Network ซึ่งจะเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปจังหวัดขอนแก่น เพื่อสื่อสาร 4 ประเด็นปัญหา เมื่อยื่นแจ้งการชุมนุมตำรวจ สภ.คลองหลวง ก็สั่งไม่อนุญาตพร้อมนำกำลังตำรวจหลายร้อยนายเข้าปิดกั้นประตูทางออกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558
จะเห็นได้ว่าทั้งประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. 3 ฉบับที่กล่าวมา เป็นเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจใช้เพื่อสร้างภาระให้กับคนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ คสช. โดยคนที่โดนข้อหาดังกล่าวต้องเสียเวลาและหลักทรัพย์ ไปกับการเดินทางไปศาลเพื่อต่อสู้ดีและการประกันตัว รวมไปถึงกลายเป็นเงื่อนไขให้คนที่มีคดีติดตัวไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอีก อันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
-ประกาศ คสช. ฉบับที่ 25-29-41/2557 : ไม่รายงานตัวกับ คสช. มีความผิด นอกจากการออกประกาศห้ามคนชุมนุมทางการเมืองแล้ว คสช.ยังออกประกาศเพื่อจัดการกับบุคคลที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช.อีก เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 กำหนดให้บุคคลซึ่งไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ให้มารายงานตัวตามวันและเวลาที่กำหนด หากฝ่าฝืนและไม่มีการแจ้งเหตุขัดข้องจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากข้อมูลที่บันทึกไว้พบว่า มีบุคคลถูกเรียกรายงานตัวแล้วกว่า 1,300 คน และบางคนเมื่อไปรายงานตัวแล้วถูกคุมขังในค่ายทหารเป็นเวลานานถึง 7 วัน

Advertisement

⦁คำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองที่ยกเลิกแล้วแต่ผลยังคงอยู่
แม้ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่สั่งห้ามการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปจะถูกยกเลิกแล้ว แต่คำสั่งหัวหน้า คสช ฉบับที่ 22/2561 ที่ให้ยกเลิกเรื่องนี้มีข้อ 2. ที่กำหนดว่าการยกเลิกประกาศและคำสั่งไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้ ซึ่งเป็นการยกเลิกแบบไม่เด็ดขาด และยังเปิดพื้นที่ให้ตีความได้ต่ออีก
จึงเห็นได้ว่า แม้คำสั่งหัวหน้า คสช ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 จะถูกยกเลิกไปตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2561 แล้ว แต่เนื่องจากมีเงื่อนไขในข้อ 2. ที่สร้างความไม่ชัดเจนในการตีความและทางปฏิบัติ จึงทำให้คดีความตามคำสั่งฉบับดังกล่าวยังคงเดินหน้าต่อไป เจ้าหน้าที่รัฐยังคงอ้างอิงข้อห้ามตามคำสั่งนี้ต่อไปได้ และขอบเขตการใช้เสรีภาพการชุมนุมของประชาชนก็ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image