รายงานหน้า2 : นักวิชาการส่องกล้อง‘แฟลชม็อบ’ อย่ามองข้ามพลัง‘น.ร.-น.ศ.’

หมายเหตุ ความเห็นและข้อเสนอแนะทางออกจากนักวิชาการถึงปรากฏการณ์แฟลชม็อบของนักเรียน นิสิตและนักศึกษา ในสถาบันต่างๆ ที่เรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมให้รัฐบาลลาออก

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผอ.ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิต

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือการกระจายของไวรัสโควิด-19 ซึ่งในต่างประเทศจะหวั่นวิตกกรณีคนมาอยู่ร่วมกันในที่สาธารณะ จึงยกเลิกการทำกิจกรรมต่างๆ แต่ไม่คิดว่าการห้ามชุมนุมแฟลชม็อบจะใช้เหตุผลนี้หยุดการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาได้ เพราะมีประเด็นในการชุมนุมค่อนข้างชัดเจน และมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การ กระจายของโรคแม้จะรุนแรงแต่ไม่น่าจะหยุดการชุมนุมของนักศึกษาได้ เป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับบ้านเมืองพอสมควร
สำหรับประเด็นการเรียกร้องของนักศึกษาค่อนจะมีข้อเสนอที่ตรงไปตรงมา แต่เป็นเรื่องยากที่ฝ่ายปกครองบ้านเมืองจะรับได้ อย่างเช่น 1.รัฐบาลต้องลาออก 2.ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ 3.ต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ 4.ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องลาออกเพื่อให้มีการสรรหาใหม่ที่ปลอดจากการเมือง 5.ให้ ส.ว.ที่ทำหน้าที่ตามบทเฉพาะกาลหมดวาระ
ทั้ง 5 เรื่องรัฐบาลคงรับเงื่อนไขยาก แต่ถ้าหากไม่ตอบสนองเรื่องใดเลยผลที่จะเกิดขึ้นก็คือระดับของการชุมนุมจะรุนแรงและบานปลาย ประเมินว่าจะลงถนนอย่างแน่นอน เพราะการชุมนุมของนักศึกษาจากการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันจะเห็นว่าสามารถติดต่อประสานกันง่ายมาก การติดต่อนัดหมายทำได้รวดเร็ว ดังนั้น วันนี้ในมหาวิทยาลัยมีผู้ชุมนุมหลักพันได้ วันหน้าเมื่อไหร่ก็นัดได้ไม่ยาก อาจเพิ่มจำนวนเป็นหลักหมื่นหรือหลักแสน เพราะว่าคนในสังคมที่มีอารมณ์ร่วม การพัฒนาของการชุมนุมต่อไปจึงไม่ยาก
สิ่งที่รัฐบาลควรตระหนักคือ 1.ต้องเห็นว่าการชุมนุมเป็นเรื่องที่มีเหตุผล เกิดขึ้นโดยความบริสุทธิ์ใจของนักศึกษา ไม่มีใครยุยงอยู่เบื้องหลัง ไม่มีประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝง อย่าไปคิดว่านักศึกษาชุมนุมเพื่อสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ แต่ต้องยอมรับว่านักศึกษาเองอึดอัดใจต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน กรณีของพรรคอนาคตใหม่เป็นเพียงฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่ความไม่พอใจ
2.จะต้องเปิดโอกาสให้นักศึกษามีช่องทางที่จะสื่อสารกับผู้มีอำนาจในบ้านเมือง แต่ไม่ใช่การเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อรับฟังความเห็นจากนักศึกษา เพราะนักศึกษาไม่ได้รู้สึกว่ากลไกดังกล่าวจะเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลง แต่จะเป็นกลไกที่ช่วยชะลอสถานการณ์มากกว่า เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าพบและยื่นข้อเรียกร้อง
3.ในบรรดาข้อเรียกร้องหลักทั้ง 5 ข้อ ต้องมีบางข้อได้รับการตอบสนองทันทีไม่ใช่ปฏิเสธทั้งหมด และบางข้อที่ไม่สามารถดำเนินการได้ก็ต้องไปชี้แจงให้นักศึกษาคำนึงถึงเหตุผล ความจำเป็น หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อาจจะช่วยในการผ่อนคลายสถานการณ์ได้ง่ายขึ้น
ข้อเรียกร้อง 5 ข้อ เรื่องที่สามารถตอบรับได้ง่ายสุด ควรยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ มีการตกลงเป็นสัญญาประชาคมว่าหากรัฐธรรมใหม่เสร็จแล้วทุกฝ่ายจะเดินตามเงื่อนไขด้วยการลาออก หรือยุบสภา วุฒิสภาก็จะต้องเปลี่ยนไปตามที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดไว้ องค์กรอิสระก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขเช่นกัน เรื่องนี้จะเป็นทางออกที่คิดว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะยุติการชุมนุม
แต่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองก็ต้องแสดงความจริงใจในการดำเนินการ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จผ่านการประชามติ ทุกอย่างจะต้องเริ่มต้นใหม่ภายใต้กติกาใหม่ของบ้านเมือง แต่ถ้าหากรัฐบาลไม่ตอบสนองแม้แต่เรื่องเดียว รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้สื่อสารโดยตรงกับผู้มีอำนาจ เชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะมีเหตุให้มีความรุนแรงสูงสุดได้ในเวลาไม่เกิน 2 เดือนนับจากนี้ไป

Advertisement

 

โคทม อารียา
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ปรากฏการณ์แฟลชม็อบเป็นปฏิกิริยาที่เยาวชนรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล หรือในสิ่งที่เขาเห็นด้วย หรือสนับสนุนโดนรังแก และอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และเขาโยงสิ่งเหล่านี้ไปถึงเรื่องการเมือง เช่น การสืบทอดอำนาจ ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพในหลายๆ ด้าน เมื่อเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา รู้สึกแบบนี้เขาก็มีวิธีการแสดงออกซึ่งก็ระมัดระวังระดับหนึ่ง เพราะผู้มีอำนาจหน้าที่เคยกล่าวเตือนว่าอย่าทำอะไรผิดกฎหมาย
เข้าใจว่าการชุมนุมแฟลชม็อบนั้นมาเร็วไปเร็ว ไม่ยืดเยื้อ เป็นการชุมนุมรูปแบบใหม่ ต่างจากเมื่อก่อนที่ชุมนุมยืดเยื้อ ทว่า การชุมนุมในปัจจุบันนี้เป็นพื้นที่แสดงออกและอยู่ในขอบเขต หรือพื้นที่ที่ไม่ได้ไปรบกวน ทั้งเรื่องเสียงหรือการสัญจร โดยบรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษา คิดว่าน่าจะสามารถทำได้ เพราะนี่เป็นสิทธิเสรีภาพของเขาโดยตรง
ดังนั้น จึงถามต่อไปว่าแล้วผู้มีอำนาจฟังอยู่หรือไม่ แน่นอนว่าฟัง แต่ฟังแล้วรับข่าวสารมาอย่างไร มิใช่ฟังว่ากลุ่มคนเหล่านี้ถูกชักจูง หรือควรได้รับคำแนะนำใหม่
อยากเสนอแนะในกรณีปัจจุบันว่า เราสามารถออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้อดีตพรรคอนาคตใหม่ได้หรือไม่ ส่วนข้อเสนอทางออกอื่นๆ นั้นไม่ทราบว่าฝ่ายที่ออกกฎหมายได้ เช่น คณะรัฐมนตรี หรือสภาผู้แทนราษฎร คิดกันอย่างไร
อย่างไรก็ดี คนที่ลงคะแนนให้พรรคอนาคตใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในปัจจุบัน อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพศและวัยอื่นๆ แตกต่างกัน เขาก็ไม่พอใจ คงจะหาวิธีการแสดงออก เช่น ไม่นานมานี้ก็มีศิลปินออกมาเรียกร้อง คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงขั้นต้นเท่านั้น เสมือนเราเล่นกีฬาเทนนิส ซึ่งในขั้นต้นลูกบอลถูกส่งออกไปในคอร์ตของผู้มีอำนาจแล้วต้องดูว่าเขาจะทำอย่างไร จะหันหน้าพูดคุยกัน หรือวิธีอื่นๆ ก็ต้องติดตามกันต่อไป
ส่วนกรณี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐจะรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอญัตติด่วนหลังเปิดสมัยประชุมสภาในเดือนพฤษภาคม เพื่อเสนอหาแนวทางการรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน นักศึกษา และเยาวชน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไปนั้น ไม่คิดว่าช้าเกินไป เพราะการคุย หรือระบุว่ามีโอกาสจะคุยย่อมเป็นเรื่องที่ดี แม้ตอนนี้สภาจะปิดสมัยประชุม แต่ยังมีการประชุมกรรมาธิการหลากหลายคณะ ไม่ทราบว่าจะมีคณะไหนสามารถยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยเป็นปฐมฤกษ์ได้หรือไม่
ตอนผมอายุยังน้อยก็อยากเปลี่ยนแปลงสังคม แต่คิดว่าคงไม่ถึงขั้นทำร้ายคนอื่นจนเสียชีวิต หรือให้คนอื่นมาทำร้ายจนเสียชีวิต จึงหันมาใช้แนวทางสันติวิธี
ดังนั้น จึงอยากฝากว่า แม้เราต่อสู้กันทางการเมือง ต่อสู้กันทางความคิดเห็น สุดท้ายก็ต้องอยู่ร่วมกันต่อไป ฉะนั้น สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงและระมัดระวังที่สุดคืออย่าเกิดโทสจริต และโมหจริตถึงขั้นเกลียดชัง ทำร้าย หรือเสียเลือดเนื้อ

Advertisement

 

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กระแสการเรียกร้องของพลังนักศึกษาปัจจุบันสามารถคิดเองได้ มีโลกของการรับรู้ มีกระบวนการคิด ผู้ใหญ่ในทางการเมืองต้องฟังเขา นี่คือกระบวนการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่
กรณีแฟลชม็อบทางออกอย่างแรกคืออย่าไปปฏิเสธ ปิดกั้น หรือมองว่าเป็นศัตรู ควรดูว่าประเด็นอะไรที่เป็นทางออกให้สังคมและการเมืองไทย ควรเปลี่ยนแรงกดดันเป็นทางบวก มาดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ไม่ใช่ว่าพอมีกระแสกดดันมาก็เอากระแสกดดันกลับไปแบบเป็นศัตรู ซึ่งสุดท้ายจะหาทางออกไม่ไดั รัฐบาลต้องตระหนักว่าในสังคมที่อยู่ในสภาวะแตกแยกจะหาทางออกอย่างไร
ในฐานะกลไกรัฐในปัจจุบันต้องมอง 2 เรื่องใหญ่ 1.กลไกรัฐสภา เช่น คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวเนื่องกับกระแสต่างๆ ของแฟลชม็อบ หลายเรื่องเกี่ยวกับองค์กรอิสระ สิ่งหนึ่งที่สังคมไทยอาจต้องแปรเปลี่ยนกระแสให้นำไปสู่การแก้ปัญหาจะทำได้อย่างไรในเชิงรูปธรรม
ปัญหาของแฟลชม็อบอย่างหนึ่งคือ ในระยะแรกยังมองภาพไม่ชัดว่า นอกจากการไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ ยังมีกระแสเรียกร้องทางการเมืองอะไรที่ต้องการเป็นพิเศษหรือเปล่า ต้องดูในระยะยาวต่อไป เช่น ต้องการแก้ไขรัฐธรรรมนูญมากน้อยแค่ไหน นอกเหนือจากอยากให้รัฐบาลลาออกแล้ว
สิ่งที่สังคมไทยไม่ค่อยตระหนักมากในปัจจุบันคือ ลักษณะการออกแบบองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญเอง ต้องทำหน้าที่ในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองด้วย ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นองค์กรเหล่านั้นทำหน้าที่มากนัก
หลายประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้ง มักมีการออกแบบให้รัฐธรรมนูญเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความสมานฉันท์ในประเทศ เพราะฉะนั้น ในอนาคตทางออกระยะยาวของสังคมไทยที่ต้องมาคุยอย่างจริงจัง เราจะออกแบบให้รัฐธรรมนูญแก้ไขปัญหาสังคมที่แตกแยกอย่างไร

 

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระและอดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การชุมนุมแฟลชม็อบในที่สาธารณะและสถานศึกษาเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐบาล เป็นสิทธิที่สามารถเรียกร้องได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องเป็นการชุมนุมโดยสันติ ไม่ก่อความวุ่นวายและความรุนแรงใดๆ เป็นการสะสมความไม่พอใจรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ
แฟลชม็อบในสถานศึกษาสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ไม่ไว้วางใจรัฐบาล ยิ่งมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ทำให้องค์กรอิสระถูกมองว่าเลือกข้าง หรือเลือกปฏิบัติ เพราะเป็นเครือข่ายเดียวกับรัฐบาล
การชุมนุมแฟลชม็อบในปัจจุบันถือเป็นเรื่องใหม่ เป็นสิทธิส่วนบุคคล ผู้บริหารสถานศึกษาควรเปิดใจกว้าง ไม่กีดกั้นการแสดงออก ที่สำคัญรัฐบาลต้องรับฟังและจัดเวทีแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออกอย่างสันติ อย่าใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่เข้าไปข่มขู่ กดดัน อาทิ ตั้งด่านตรวจ ตรวจบัตรประชาชน และใช้ปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร (ไอโอ) กับคนที่เห็นต่าง ถ้าทำเช่นนั้นถือเป็นการยั่วยุ อาจทำให้การชุมนุมลุกลามขยายวงกว้างนำไปสู่การชุมนุมบนท้องถนนแทน
ทางออกควรใช้รัฐศาสตร์ คือการประนีประนอม ปรองดองมากขึ้น มากกว่าใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างเด็ดขาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image