เมื่อ รธน.ปิดล็อก แฟลชม็อบ จุดติด ท้าพิสูจน์ ฝีมือ‘บิ๊กตู่’

หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้เกิดแรงกระเพื่อมต่อเนื่องทางการเมือง 2 กระแส
กระแสหนึ่งคือ กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี
กระแสหนึ่งคือ แฟลชม็อบของบรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษา
กระแสการปรับคณะรัฐมนตรี เกิดขึ้นเนื่องจากก่อนหน้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเคยหลุดปากว่าจะมีการปรับ
ผนวกกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ “สุกงอม”
ประการแรก มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ต้องหาสังกัดใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งได้ประกาศย้ายมาร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล
เกิดเป็นคำถามว่า สัดส่วนจำนวน ส.ส. จะเกี่ยวพันกับโควต้ารัฐมนตรีของแต่ละพรรคหรือไม่
ประการที่สอง การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เคลื่อนเข้าสู่วาระที่อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวทีมงาน เพราะการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีกินเวลานานมา 5 ปี และผลการบริหารงานไม่เข้าตาประชาชน
ทางออกหนึ่งของแรงกดดันหนีไม่พ้นการปรับ ครม.
อย่างไรก็ตาม จวบจนถึงสิ้นสุดสัปดาห์ ทุกฝ่ายยังยืนยันว่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนตัดสินใจ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังนิ่ง ระบุเพียงว่าขอตัดสินใจเอง

สําหรับกระแสแฟลชม็อบของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นอีกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
เป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่ไม่ได้เกี่ยวโยงกับพลพรรคอนาคตใหม่แต่ อย่างใด
จากการรวมตัวของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร นิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่นัดรวมตัวแฟลชม็อบกันอย่างต่อเนื่อง
จากมหาวิทยาลัย ลามไปยัง ราชภัฏ ราชมงคล กระทั่งนักเรียนมัธยมศึกษา
ทั่วประเทศต่างแฟลชม็อบ
ทั้งเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา มหาสารคาม นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และอื่นๆ
ปรากฏการณ์แฟลชม็อบที่ปะทุอย่างเห็นได้ชัด เกิดขึ้นเมื่อนักศึกษาประกาศชวนทุกมหาวิทยาลัยมา       “ซ้อมใหญ่” การชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เพียงระยะเวลาอันสั้น ชักชวนกันแค่ข้ามคืน บรรดานิสิตนักศึกษาและนักเรียนก็ไปรวมกันอยู่ที่นัดหมาย
ประกาศคัดค้านเผด็จการกันอย่างโจ่งแจ้ง
กระทั่งรัฐบาลต้องขยับตัว

ตามประวัติศาสตร์ความเคลื่อนไหวของนักศึกษาเช่นนี้ ผู้แก้ไขสถานการณ์ต้องแก้ไขให้ตรงจุด จะใช้วิธีการบังคับหรือใช้กฎหมายมาดำเนินการไม่ได้
ทีมงานของรัฐบาลน่าจะได้รับคำแนะนำ และมีทีท่าตอบรับความเคลื่อนไหวของแฟลชม็อบที่ดี
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯ ประกาศว่ารัฐบาลพร้อมรับฟังนักเรียนนิสิตนักศึกษา หลังจากนั้นกระบวนการต่างๆ ก็เริ่มตามติด
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไม่ขัดหากจะมีการเปิดสภาสมัยวิสามัญถกประเด็นแฟลชม็อบ นาย          พีระพันธุ์ พาลุสุข ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็พร้อมจะฟังนิสิตนักศึกษา
ขณะที่ทีมงานของนายกรัฐมนตรีก็เปิดเวทีให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์
เป็นการรับฟังความเดือดร้อนของประชาชน
ส่งสัญญาณว่ารัฐบาลพร้อมรับฟัง

อย่างไรก็ตาม การเมืองเรื่องแฟลชม็อบยังเพิ่งเริ่มต้น เพราะหลังจากที่นักเรียนนิสิตนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวได้ไม่นานก็เข้าสู่การสอบ
จึงดูเหมือนว่าความเคลื่อนไหวของนักเรียนนิสิตนักศึกษาเงียบสงบลง
แตกต่างจาก ศ.ดร.สุชาติ บำรุงสุข อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่า ความเคลื่อนไหวของนักเรียนนิสิตนักศึกษาครั้งนี้เป็นสัญญาณของการ “จุดติด”
“ถามว่าก่อนหน้ามีไม้ขีดถูกจุดแล้วโยนเข้าไปในกองเชื้อเพลิงหรือไม่ คิดว่ามีหลายครั้ง แต่หลายครั้งไฟไม่ค่อยติด แต่ในครั้งนี้เริ่มเห็นอาการติดแล้ว
“นั่นคือการเคลื่อนของขบวนนิสิต นักศึกษา และยังรวมถึงนักเรียนระดับมัธยมปลายเริ่มออกมา
“ดังนั้น เมื่อไรที่เขาออกมาแล้วรวมกับพลังของนิสิต นักศึกษา นั่นคือฮ่องกงโมเดล และเริ่มเห็นการก่อตัวแบบฮ่องกงบ้างแล้ว
สิ่งที่ต้องจับตามองคือ หลังจากนี้การเมืองไทยจะดำเนินการอย่างไร และนักเรียนนักศึกษาเหล่านี้จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะไหน
เข้ามาแบบ “ฮ่องกงโมเดล” อย่างที่ ศ.ดร.สุชาติ คาดการณ์
หรือเข้ามาแบบ “14 ตุลาโมเดล”
หรือจะมีรูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนใคร

Advertisement

ขณะที่แฟลชม็อบกำลังร้อนแรง มีผู้นำเสนอหนทางการแก้ไขปัญหา นั่นคือ การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ทั้งนี้เพราะสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมามีปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
หนึ่ง นับตั้งแต่ปี 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจ มาจนถึงบัดนี้ ประชาชนเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย และมอง พล.อ.ประยุทธ์เป็นเสมือนสินค้า “หมดอายุ”
หนึ่ง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ การบริหารราชการแผ่นดินที่ดูเหมือนว่าคุมสถานการณ์ไม่อยู่ ขาดวิชั่น ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์
หนึ่ง เนื้อหาการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านเรื่อง เหลื่อมล้ำ รวยกระจุกจนกระจาย หนี้สินครัวเรือน การใช้ไอโอกับคนเห็นต่าง การปกป้องพวกพ้อง และอื่นๆ
สถานการณ์เช่นนี้ หากเป็นรัฐบาลอื่นอาจจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้
แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่ได้ เพราะอานุภาพของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญที่ “ดีไซน์มาเพื่อเรา” นี้ ทำให้รัฐบาลอยู่ได้ท่าม กลางความมรสุมศรัทธา
เสถียรภาพของรัฐบาลที่เหมือนกับจะมั่นคง แต่จริงๆ แล้ว กลับไม่มั่นคง
แทนที่การเมืองจะเป็นไปตามธรรมชาติ และเป็นไปตามความต้องการของสังคม ทุกอย่างกลับฝืนอยู่ไว้
รัฐธรรมนูญกลายเป็นกลไก “ล็อก” ให้ทุกอย่างผิดธรรมชาติ
การเมืองตกอยู่ในสภาพรัฐบาลอยู่ได้ แต่บริหารงานได้อย่างลำบาก
การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก
เหล่านี้ล้วนแล้วแต่สร้างความอึดอัดทางการเมือง
เหล่านี้ล้วนรอคอยการบริหารจัดการ
พล.อ.ประยุทธ์ จะจัดการได้หรือไม่ แค่ไหน ยังคงเป็นคำถามที่รอคำตอบ

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image