รายงานหน้า2 : เปิดมาตรการ‘ครม.ศก.’ เยียวยาผลกระทบ‘โควิด-19’

หมายเหตุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานประชุม ครม.เศรษฐกิจ เพื่อหารือกับกระทรวงต่างๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อออกมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งมาตรการต่างๆ จะนำเสนอต่อ ครม.วันที่ 10 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 มีนาคม

 

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รองนายกรัฐมนตรี

ขณะนี้ผลกระทบไวรัสโควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรงไปทั่วโลกและขณะนี้คงยังไม่ถึงจุดพีค ซึ่งผลกระทบไม่ใช่แค่การท่องเที่ยว กระทบทุกภาคส่วน ทั้งการผลิต การบริการ ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงหารือกับ ธปท. ภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อออกมาตรการชุดที่ 1 หลังจากนี้ประเมินว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรและขาดตรงไหน เพื่อออกมาตรการชุดต่อไป
ในเรื่องซอฟต์โลนแบงก์ ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในอัตรา 0.01% ต่อปี และให้ธนาคารนำไปปล่อยกู้กับผู้ประกอบการในอัตรา 2% ต่อปี ส่วนมาตรการดูแลประชาชน มุ่งหวังดูแลกลุ่มผู้รายได้ให้มีเงินในกระเป๋าให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้ โดยคือการสนับสนุนเงินโดยตรง ให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร อาชีพอิสระ ด้วยการใช้ระบบอีเพย์เมนต์ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการดูแลพนักงานลูกจ้าง เกี่ยวข้องกับการเสริมทักษะเสริมรายได้กลุ่มในเรื่องการท่องเที่ยว
เรื่องการแจกเงินเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของการช่วยเหลือ ไม่รู้ว่าทำไมข่าวออกมาว่าจะแจกเงินแสนล้าน เขียนมาได้อย่างไร ประเทศไม่ใช่ของเล่น โดยยืนยันว่าจะใช้เงินด้วยความระมัดระวัง มาตรการช่วยครั้งนี้มีทั้งในเรื่องซอฟต์โลน ปรับโครงสร้างหนี้ ลดภาระเงินต้น ดอกเบี้ย และช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่เดือดร้อน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือตลาดหุ้นที่ดัชนีตกลงไปมาก ไม่ใช่ว่าออกมาตรการครั้งนี้แล้วจบ หากผลกระทบยังมีอยู่ จะมีมาตรการตามมา
อีกหลายชุด
สถานการณ์ขณะนี้ยังทำนายไม่ได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น เพื่อความรอบคอบขอให้กระทรวงการคลังหารือสำนักงบประมาณ เพื่อจัดตั้งกองทุนขึ้นมากองหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ผ่อนคลายภาระต่างๆ เช่น มีคนตกงานต้องไปฝึกฝนอบรมให้เขาอยู่รอดได้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเขียนให้กองทุนนี้สามารถดูแลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย

Advertisement

 

อุตตม สาวนายน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เรื่องมาตรการดูแลผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 หนึ่งในนั้นมีเรื่องการแจกเงินจะเสนอ ครม.ในวันที่ 10 มีนาคม โดยจะแจกให้ประชาชน 3 กลุ่มคือ ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มอาชีพอิสระ และเกษตร คนละ 2 พันบาท เป็นเวลา 2 เดือน หรือเดือนละ 1,000 บาท คาดว่าจะเริ่มแจกในเดือนเมษายน ผ่านระบบพร้อมเพย์ ส่วนผู้ที่ได้รับเงินจะมีกี่คน คิดเป็นวงเงินเท่าไหร่นั้น กระทรวงการคลังจะไปดูตัวเลขอีกครั้ง ซึ่งในการดำเนินการครั้งนี้จะให้สามารถช่วยเหลือผู้มีอาชีพอิสระ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ ผู้ค้าขายรายเล็ก
ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาประชาชนชุดที่ 1 การช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มประชาชน โดยในกลุ่มผู้ประกอบการ มีมาตรการทางการเงิน 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดทั้งทางตรงและทางอ้อม 2.พักชำระเงินต้น ผ่อนภาระดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ของแบงก์รัฐ 3.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายมาตรการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ 4.มาตรการทางการเงินเป็นสินเชื่อจากกองทุนประกันสังคม นำมาปล่อยกู้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษให้กับผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ มีมาตรการภาษี 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการคืนสภาพคล่อง ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย 2.มาตรการภาษีลดภาระดอกเบี้ย ด้วยการให้เอสเอ็มอี
นำดอกเบี้ยจ่ายมาหักลดหย่อนภาษี 3.มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน โดยให้เอสเอ็มอีจ่ายค่าจ้างพนักงานมาหักค่าใช้จ่าย 3 เท่า เป็นเวลา 3 เดือน 4.กระทรวงการคลังจะเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภายในประเทศ โดยยื่นแบบทางอินเตอร์เน็ตคืนภายใน 15 วัน ยื่นกับกรมสรรพากรคืนภายใน 45 วัน
มาตรการอื่น เช่น หน่วยงาน และกระทรวงต่างๆ ลดค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น รวมถึงมีมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพลังงานจะไปดูเพิ่มเติมในเรื่องนี้ นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาลดเงินสมทบประกันสังคมลง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะไปพิจารณาเรื่องนี้ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบ 2563 จะปรับปรุงขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างของรัฐในการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้สะดวกและคล่องตัว นอกจากนี้ ยังมีสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสนอให้กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ให้ตั้งกองทุนขายให้ประชาชน โดยกำหนดแนวทางลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน (ซื้อหุ้น) มากกว่า 65% เพื่อให้ประชาชนเข้าไปซื้อกองทุนดังกล่าวจนถึงเดือนมิถุนายนยังกำหนดเวลาถือครอง 10 ปี

 

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
เลขาฯคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนมกราคมต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ทั้งเรื่องการลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การท่องเที่ยว การส่งออก โดยปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดส่งผลทำให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ของปี 2563 เติบโตได้ต่ำกว่าคาดการณ์พอสมควร สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินสถานการณ์ไว้หลายแนวทาง เช่น ร้ายแรงเป็นอย่างไร ปกติเป็นอย่างไร จากสถานการณ์ในขณะนี้และปัญหาไวรัสโควิด-19 น่ากระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้พอสมควร อยากให้ทุกฝ่ายทำใจ เพราะรัฐบาลก็ทำใจแล้วว่าไตรมาส 1 ปีนี้จะไม่ดี แต่หลังจากนี้ก็หวังว่าไตรมาส 2 จะฟื้นตัวได้ จากการใช้จ่ายของรัฐที่กลับมา
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลประเมินว่าความรุนแรงของไวรัสโควิด-19 จะจบใน 3 เดือน และจะใช้เวลาฟื้นตัวอีก 3 เดือน แต่ล่าสุดประเมินใหม่คาดว่าสถานการณ์ระบาดไวรัสจะจบได้ภายใน 6 เดือน และจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ซึ่งใช้เวลาในการฟื้นตัว 3 เดือนเท่ากับว่าใช้เวลาอีก 9 เดือนทุกอย่างจะดีขึ้น ขณะนี้โควิดลุกลามไปหลายประเทศ ทั้งเกาหลี อิหร่าน อิตาลี ส่วนจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยไหมนั้น ยังตอบชัดไม่ได้ แต่มองว่ามีความเสี่ยงของเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ
ในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจยังไม่ได้พิจารณาถึงมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เคยให้ข่าวว่าจะของบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อแจกให้คนมาท่องเที่ยวไทย นายกฯ
กล่าวในที่ประชุมว่าอยากให้ผ่านช่วงนี้ไปก่อน ค่อยมาพิจารณาถึงมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว หลังจากนี้จะติดตามผลกระทบถ้ายังไม่คลี่คลายต้องออกมาตรการเยียวยาและดูแลเพิ่มเติม แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสดีขึ้นจะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมา ดังนั้น หากในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสการจะไปส่งเสริมท่องเที่ยวอาจจะมีปัญหาควบคุมการระบาดได้
อย่างไรก็ตาม ได้มีการพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงการคมนาคม ถึงแนวทางดูแลผลกระทบของสายการบิน เช่น ลดค่าใช้จ่ายของสายการบิน ปรับลดค่าบริการสนามบิน ลดค่าบริการการเดินอากาศ ขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตภาษีน้ำมันเครื่องบินถึงปลายปีนี้ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ การกำกับดูแลทบทวนเส้นทางสิทธิการบิน เรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นการเดินทางอากาศ รวมถึงมีข้อเสนอการลงทุน 14 โครงการ ซึ่งจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 10 มีนาคมนี้

 

วิรไท สันติประภพ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

ธปท.อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยในวันที่ 25 มีนาคมนี้ จะพิจารณาปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ลงจากเดิมเคยประเมินไว้ 2.8% ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุด 0.5% นั้นในเรื่องดอกเบี้ยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วล่วงหน้า แต่จะเอานำปัจจัยดังกล่าวรวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสไปพิจารณาการดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง.วันที่ 25 มีนาคมนี้ด้วย
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ ธปท.มีหนังสือเวียนไปยังธนาคารต่างๆ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้ช่วยเหลือลูกหนี้จะรวมถึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียและเริ่มเป็นหนี้เสีย โดยให้ดูย้อนหลังไปถึงหนี้เสียตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบตั้งแต่สงครามการค้าด้วย การให้ความช่วยเหลือจะทำได้ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ ยืดเวลาการชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย เปลี่ยนประเภทวงเงินระยะสั้นเป็นระยะยาว และลดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะครอบคลุมลูกหนี้ขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี และบุคคลธรรมดา โดยในส่วนบุคคลธรรมดาขอให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาลดวงเงินชำระบัตรเครดิตเหลือ 5% จากเดิมกำหนดให้ชำระ 10% ตรงนี้ทำให้ประชาชนลดภาระเงินที่ต้องจ่ายหนี้บัตรเครดิตลง และหากใครต้องการปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต ธนาคารออมสินมีสินเชื่อยืดหนี้ให้ยาวขึ้น
ในหนังสือเวียนได้ทำความเข้าใจกับสถาบันการเงินถึงเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคทำให้ปรับโครงสร้างหนี้ได้เร็วขึ้น โดย ธปท.จะผ่อนคลายให้ชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563-วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ทำให้หนี้ปรับที่ปรับโครงสร้างหนี้กลับมาเป็นหนี้ชั้นปกติได้เร็วขึ้น และจะเป็นมาตรการจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทำให้กฎเกณฑ์ที่ระมัดระวังเป็นพิเศษตามปกติ ก็จะผ่อนคลายได้ ทำให้เชื่อว่า จะไม่มีเกณฑ์ใดที่เป็นอุปสรรคและจูงใจให้แบงก์ช่วยลูกหนี้

 

ปรีดี ดาวฉาย
นายกสมาคมธนาคารไทย

ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่เหมือนในอดีต ไทยเผชิญความยากลำบากคือผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงกว้างที่ไม่ใช่วงจรเศรษฐกิจทั่วไป และผล กระทบมีต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ความความยากอีกเรื่องนี้จะจบตรงไหน ดังนั้น จึงเป็นเหตุที่รัฐบอกว่าการออกมาตรการครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 หลังจากนั้นต้องมาประเมินสถานการณ์ว่าจะจบหรือไม่ ถ้าจบด้วยครั้งที่ 1 เป็นเรื่องที่ดีที่สุด แต่ถ้าสถานการณ์ขยายวงกว้างจะดูว่าทำอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด
มาตรการออกมาครั้งนี้มี 2 เรื่องหลัก คือจะช่วยผู้ประกอบการอย่างไร และช่วยลูกจ้าง พนักงานอย่างไร เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามไปในวงกว้างมากกว่านี้ ทำให้มาตรการต่างๆ มีความจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน ซึ่งการทำให้ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยเพิ่มเป็นเรื่องสำคัญ เอกชนเห็นด้วยกับมาตรการครั้งนี้
ทั้งนี้ ในส่วนธนาคารพาณิชย์ ก่อนหน้านี้ ธปท.ปรับหลักเกณฑ์เอื้ออำนวยที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมเข้าไปในการแก้ปัญหา เพราะระบบของธนาคารพาณิชย์ มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจ เมื่อรัฐสนับสนุนจะเป็นความร่วมมือทำให้ปัญหาจบเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ต้องมาร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป
มาตรการครั้งนี้มีเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งลูกค้าของธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐนั้นมีจำนวนมาก มีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ไม่ประสบปัญหายังมีความสามารถชำระหนี้ ดังนั้น การปรับโครงสร้างหนี้คงดูว่าลูกค้าแต่ละรายว่าเจอปัญหารุนแรงแค่ไหน ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งจะติดต่อลูกค้าโดยตรง หารือลูกค้าแต่ละคน ถ้ามีปัญหาค่อนข้างมากสามารถชะลอจ่ายเงินต้นสุดสุดถึง 12 เดือน ส่วนภาระดอกเบี้ยต้องพิจารณาว่าประสบปัญหามากน้อยแค่ไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image