รายงานหน้า2 : เสียงสะท้อน… ‘หอการค้า-เอสเอ็มอี-ท่องเที่ยว’ มาตรการดูแลผลกระทบ‘โควิด-19’

หมายเหตุ ความเห็นภาคเอกชนกลุ่มหอการค้า เอสเอ็มอี และการท่องเที่ยว กรณีคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจออกมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการและเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 10 มีนาคมนี้

 

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

สําหรับมาตรการที่จะออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนนั้น มองว่ายังคงเป็นมาตรการคล้ายเดิม แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และอีกหนึ่งสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องพึงระวัง คือในเรื่องของความคุ้มค่าของเม็ดเงินที่เสียไป เนื่องจากงบประมาณประจำปี 2563 มีเพียง 3.2 ล้านล้านบาท เท่านั้น แค่นำไปใช้บริหารหน่วยงานของรัฐก็แทบจะไม่เพียงพออยู่แล้ว จึงอยากให้รัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด โดยเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ อาทิ ระบบขนส่งโดยใช้หุ่นยนต์ และการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นมา เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในรูปแบบใหม่ๆ และทำให้เกิดการหมุนเวียนของภาคเศรษฐกิจ เป็นต้น
ส่วนตัวเห็นว่าการตั้งดรีมทีมเศรษฐกิจยังเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องทำ เพื่อควบคุมสถานการณ์อย่างจริงจัง และควรดึงผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจในแขนงต่างๆ มาช่วยกันระดมความคิดโดยด่วน เพราะตอนนี้ในมุมมองของภาคเอกชนต้องการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันคิดแนวทางช่วยเหลือธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ในเรื่องของกฎระเบียบต่างๆ ที่ต้องมีการจดทะเบียนซึ่งมีความยุ่งยาก และบางธุรกิจก็ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน จึงอยากให้รัฐช่วยเปิดช่องให้ธุรกิจเหล่านี้ได้ทำการค้าขายก่อน อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เกิดการหมุนเวียนในภาคเศรษฐกิจได้ในช่วงนี้ แต่เบื้องต้นก็ทราบมาว่ายังติดในเรื่องของความมั่นคงในประเทศจึงไม่สามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้
สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจที่พอจะดำเนินการได้ในช่วงนี้ ต้องเปลี่ยนไปจับกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อ อาทิ ราชการระดับส่วนกลาง ข้าราชการเกษียณ และบุคคลที่มีเงินเก็บ เป็นต้น โดยภาครัฐและภาคเอกชน ต้องหาวิธีกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้ออกมาใช้จ่ายให้มากขึ้น อาทิ สนับสนุนให้ไทยเที่ยวไทยเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานราก เป็นต้น ซึ่งจะสามารถช่วยประคองเศรษฐกิจไปได้ในระยะหนึ่ง นอกจากนี้ ยังคิดเช่นเดิมว่ารัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 และต้องเร่งเปิดประมูลในโครงการต่างๆ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนระยะเวลาในการดำเนินการให้น้อยลง อาทิ จากสัญญาการดำเนินงาน 12 เดือน ร่นระยะมาอยู่ที่ 6 เดือน เพื่อเพิ่มรายได้ในการทำงานล่วงเวลา (โอที) ที่ในหลายบริษัทไม่มีการให้พนักงานทำโอทีแล้ว ให้กลับมามีรายได้ในส่วนนี้อีกครั้ง
ขณะที่ปัญหาของการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมถึงนักลงทุน ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์นี้ได้โดยเร็ว และต้องออกมาเตือนประชาชนไม่ให้ตื่นตระหนกกับข่าวปลอมที่ออกมาว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในไทยเป็นจำนวนมาก รัฐบาลต้องมีการรายงานต่อสาธารณชนอย่างชัดเจน ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ ต้องดูเป็นระยะว่าในช่วงจุดพีคของปี แต่ตอนนี้เริ่มชัดเจนแล้วว่าระยะการระบาดของโรคอาจส่งผลกระทบตลอดทั้งปี 2563 แต่ถ้าในช่วงหลังของปีนี้สามารถฟื้นคืนเศรษฐกิจได้คาดว่าทั้งปี 2563 ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ
(จีดีพี) โตประมาณ 2% ดังนั้น ผู้ประกอบการและรัฐบาลต้องรีบ
ปรับตัวโดยเร็ว

Advertisement

 

พรชัย รัตนตรัยภพ
ประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย (ดีไอพี เอสเอ็มอี เน็ตเวิร์ค)

จากปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่สงครามการค้า ค่าเงินบาทแข็ง ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อส่งผลให้ยอดขายของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และยิ่งมาประสบปัญหาจากไวรัสโควิด-19 ยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงในวงที่กว้างขึ้น คือ ในกลุ่มชิ้นส่วนอุตสาหกรรม มีบางส่วนที่นำเข้าจากประเทศจีน เมื่อชิ้นส่วนไม่ครบก็ไม่สามารถขึ้นไลน์ประกอบได้ ทำให้ลูกค้าเลื่อนกำหนดการส่งมอบเนื่องจากรอชิ้นส่วนจากจีน ส่งผลกระทบต่อยอดขายมากยิ่งขึ้น ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่ในส่วนการท่องเที่ยวก็ส่งผลกระทบอย่างหนัก ทุกกิจกรรมหยุดชะงัก ไม่มีรายได้จากการดำเนินงาน
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าไวรัสโควิด-19 จะเข้าสู่ภาวะปกติภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และในไตรมาสที่ 3 ถึงจะเริ่มฟื้นตัว ส่วนเศรษฐกิจจีนคงใช้เวลาฟื้นฟูภายในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนมาตรการของภาครัฐที่ออกมาในช่วงนี้ คิดว่ายังไม่ตรงจุดนัก มาตรการเงินกู้ก็ยังน่าจะเป็นปัญหาคนอยากกู้ไม่สามารถกู้ได้ ในขณะที่คนไม่มีความต้องการก็จะสามารถกู้ได้
สิ่งที่ผู้ประกอบการขาดในช่วงนี้ คือยอดขายจากการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น ทางเครือข่ายจึงได้ร่วมกับสมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทย จังหวัดพิษณุโลก จัดกิจกรรมภายใต้ชื่อฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ พิชิตยอดขาย ด้วยเครือข่ายธุรกิจ SMEs ขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม 2563 ที่โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก โดยได้นำผู้ประกอบการในเครือข่ายจากส่วนกลางและเชิญผู้ประกอบการจากจังหวัดพิษณุโลก มาร่วมเจรจาการค้า จัดแสดงสินค้าและสร้างโอกาสทางธุรกิจและได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เป็นการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมาร่วมกันเพื่อเจรจาธุรกิจ สร้างโอกาสทางการตลาดที่เพิ่มมากขึ้นและต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน จำนวน 60 กิจการ คาดว่าจะเกิดยอดขายจากกิจกรรมนี้ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท
ส่วนตัวคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะต้องรวมตัวกันลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเองเพื่อฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ เนื่องจากคาดการณ์แล้วว่าผลกระทบน่าจะยืดยาวไปไม่ต่ำกว่าไตรมาสที่ 3 ที่จะเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น หากไม่รวมตัวเพื่อช่วยเหลือกัน มัวรอแต่ความช่วยเหลือภาครัฐซึ่งมีงบประมาณและบุคลากรจำกัด หากความช่วยเหลือมาไม่ถึง คาดว่าผู้ประกอบการจะไม่สามารถอยู่ในธุรกิจนั้นได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม นอกจากมาตรการที่รัฐบาลออกมาแล้ว เห็นว่าภาครัฐควรให้การสนับสนุนกิจกรรมที่ก่อให้เกิดธุรกิจการค้าขายน่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ตรงที่สุด ดังนั้น หากผู้ประกอบการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งจัดกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือกันเองในการค้าขาย อยากให้ภาครัฐให้การสนับสนุนทุกกิจกรรม ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความพร้อม หากรวมตัวกันช่วยเหลือกันทำให้เกิดการซื้อขาย ร่วมมือกันช่วยเหลือซึ่งกันและกันจะเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจ และแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วยิ่งขึ้นต่อไป

 

ละเอียด บุ้งศรีทอง
นายกสมาคมโรงแรมไทย (ภาคเหนือตอนบน)

ขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวยังไม่เห็นทิศทางที่ดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะการมองยาวไปถึงเทศกาลสงกรานต์ในช่วงเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ เนื่องจากยังไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ได้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) จะสามารถควบคุมได้ภายในช่วงใด รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงถึงขีดสุดภายในเดือนมีนาคมนี้หรือไม่ ซึ่งหากยังไม่สามารถเห็นถึงแนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงขั้นสูงสุดของโรคระบาดได้ ก็ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าผลกระทบจะเสียหายมากน้อยเท่าใด และสัญญาณที่ดีขึ้นจะเริ่มเห็นในช่วงใด
ในเมื่อตอนนี้สถานการณ์ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ การจะห้ามไม่ให้ยกเลิกการจัดกิจกรรมในช่วงวันสงกรานต์ก็คงทำได้ยาก เพราะเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสของคนทั่วประเทศ แต่หากภาครัฐสามารถป้องกันและควบคุมดูแลไม่ให้เกิดความเสี่ยงมากเกินไป ในการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสได้ แม้จะยังไม่สามารถควบคุมได้เต็ม 100% แต่หากสามารถบริหารจัดการ และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ก็อาจจะจัดกิจกรรมตามปกติได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงสิ้นเดือนนี้ ว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร และควรทำอย่างไรกับกิจกรรมในช่วงเดือนเมษายนนี้
สำหรับการกระตุ้นการท่องเที่ยวในส่วนของไทยเที่ยวไทยได้ อย่างช่วง 5-8 มีนาคมนี้ ได้มีการจัดมหกรรมเที่ยวเมืองไทย สบายใจ สบายกระเป๋า ครั้งที่ 54 ภายในงานจะมีภาคเอกชนนำสินค้าและบริการมานำเสนอจำนวนมาก ทั้งโรงแรม ห้องพัก รถเช่า เรือ ร้านอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย ก็ดูเหมือนบรรยากาศในขณะนี้ดูเหมือนไทยเที่ยวไทยดูจะกระตุ้นไม่ขึ้น เนื่องจากไม่มีคนเดินชมงาน หรือมีก็ค่อนข้างน้อยมาก ทุกคนกังวล (แพนิค) มากเป็นพิเศษ จึงมองว่าการเข้าไปกระตุ้นคงทำได้ยาก
ในส่วนของตัวเลขอัตราการเข้าพักในโรงแรมและห้องพักสมาชิกของสมาคมฯ เบื้องต้นตัวเลขของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีเข้าพักอยู่ที่ 10-20% เท่านั้น ในบางแห่งก็มีไม่ถึง 10% ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่วิกฤตมากกับผู้ประกอบการในตอนนี้ ส่วนนักท่องเที่ยวไทยไม่มีเข้ามาเลย เพราะคนไทยตอนนี้มีความกังวลมากกว่าต่างชาติ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะขึ้นชื่อว่าโรคระบาดไม่ว่าเป็นใครก็ต้องกลัวและระมัดระวังตัว
ไว้ก่อน
สำหรับมุมมองต่อมาตรการรัฐบาล เห็นว่ามาตรการที่ภาครัฐออกมาดูยังไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก แต่มันก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายในการเดาสถานการณ์ของการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การวางแผนดำเนินการต่างๆ ทำได้ยากมาก จะต้องเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิดที่สุด เพราะการออกประกาศหรือมาตรการอะไรออกมานั้น มีผลกับการทำตลาดในภาคการท่องเที่ยวสูงมาก โดยมาตรการของกระทรวงการคลังที่จะออกมาในรูปแบบของการแจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และอาชีพอิสระ งบประมาณมากกว่า 1 แสนล้านบาทนั้น เห็นว่าเป็นเหมือนมาตรการชิมช้อปใช้ ที่ได้ผลแค่คนกลุ่มหนึ่งเล็กๆ ในการเข้าถึงแอพพลิเคชั่นในการใช้จ่าย ไม่แน่ใจว่าจะมีมาตรการอื่นๆ ที่ดีมากกว่านี้หรือไม่ อาทิ การช่วยเรื่องการเสียภาษี หากลดภาษีเพื่อให้ผู้ประกอบการหรือประชาชนสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในส่วนอื่นๆ แทนได้ ก็น่าจะมีประโยชน์มากกว่า
ก็อยากให้ภาครัฐประเมินรูปแบบของมาตรการกระตุ้น และเยียวยาในภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาตรงจุดมากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image