‘ก้าวไกล’รับไม้ต่อ‘อนค.’ ‘พิธา’ชูธงต้านสืบทอดอำนาจ

หมายเหตุนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธาน ส.ส.พรรคก้าวไกล นำ ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ร่วมแถลงการเปิดตัวและทิศทางพรรคก้าวไกล รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาโควิด-19 ในขณะนี้ ที่ศูนย์ประสานงานพรรค ฝั่งธนบุรี

ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งจะประกาศอย่างเป็นทางการว่าเราจะย้ายไปพรรคใหม่ด้วยกัน และขอยืนยันว่าพรรคใหม่ที่เราจะย้ายไปนั้นคือพรรคที่ชื่อว่าพรรคก้าวไกล ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานในการที่เราจะไปสมัครเข้าพรรคในอาทิตย์หน้า และขอยืนยันอีกครั้งว่าภารกิจของพวกเรา ส.ส.ทั้ง 55 คนคือการสานต่ออุดมการณ์ และภารกิจของพรรคอนาคตใหม่
ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ที่เหลือยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ หลักการที่เคยร่วมกันทำงานในอดีตพรรคอนาคตใหม่ ขอให้พี่น้องประชาชนได้มั่นใจ แม้จะอยู่บ้านหลังใหม่แต่หัวจิตหัวใจยังเหมือนเดิม เรายังคงยืนอยู่ข้างประชาชน ยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย ยืนหยัดต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และผลักดันวาระนโยบายที่ก้าวหน้าต่อไป
ที่ประชุม ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ มีมติว่าเราจะไปสมัครสมาชิกพรรคก้าวไกลร่วมกันในสัปดาห์หน้า และที่ประชุมได้มีมติเลือกให้ตนเป็นประธาน ส.ส.ชั่วคราวในระหว่างนี้ รวมถึงแต่งตั้งนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่ออดีตพรรคอนาคตใหม่ ให้เป็นโฆษกชั่วคราวในระหว่างสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า ถึงวันนี้เราจะยังอยู่ในกระบวนการย้ายเข้าบ้านใหม่ แต่ปัญหาของประชาชนนั้นรอไม่ได้ และ ส.ส.ของพรรคทั้งหมดยังคงเดินหน้าทำงานในประเด็นต่างๆ ต่อไป

⦁ยืนยันได้หรือว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค อนค. และนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรค อนค. จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกล
โดยอุดมการณ์ของพรรคการเมืองใหม่ที่เราจะย้ายไปสมัครสมาชิกก็ไม่เปลี่ยน ส.ส.ทุกคนอยู่ด้วยกันมา 1-2 ปี มีความคิดของตัวเอง เกี่ยวกับนโยบายและอุดมการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงาน การศึกษา สาธารณสุข เพราะฉะนั้นยืนยันว่าอุดมการณ์ยังไม่เปลี่ยน การเดินทางก็ต้องเป็นตัวของตัวเอง และการตัดสินใจก็เป็นการตัดสินใจของพวกเราเอง ยืนยันว่าพวกเราไม่ได้รับนโยบายมา พวกเราทำนโยบายมาด้วยกัน อยู่ด้วยกันมา 1-2 ปี และมีส่วนเกี่ยวข้องมันเป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอของพวกเรา ดังนั้นไม่ได้รับอะไรมาทั้งนั้น

⦁หากนายธนาธร หรือนายปิยบุตร มาสภา จะทำให้มีความเชื่อมโยงหรือไม่ว่าเกี่ยวข้องกัน
คงมองแบบนั้นไม่ได้ เนื่องจากสภาเป็นพื้นที่ของพี่น้องประชาชน กรรมาธิการวิสามัญสามารถมีคนนอกมาทำหน้าที่ได้โดยไม่ต้องเป็น ส.ส. ดังนั้นการตอบคำถามนี้ยืนยันว่าสภาไม่ได้เป็นที่ของ ส.ส.เพียงอย่างเดียว แต่เป็นที่ของประชาชนซึ่งคงจะรวมถึงบุคคลทั้ง 2 ท่านที่สื่อได้ตั้งคำถามด้วย

Advertisement

⦁สิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้การนำของนายพิธาจะมีอะไรบ้าง
เรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เราทำงานกันอย่างแข็งขันและรวดเร็ว ก็อาจจะมีการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกน้อยเกินไป เพราะฉะนั้นในเรื่องของกลยุทธ์ นโยบาย และอุดมการณ์เราก็จะไปที่เป้าหมายเดิม เพราะเป็นเป้าหมายร่วมของพวกเราทุกคน แต่สิ่งสำคัญในการมีความฝันแต่ไม่มีเป้าหมาย ก็ต้องมาวางแผนกันเป็นไตรมาสเป็นรายเดือนว่าการบริหารภายในและกระบวนการทำงานของพรรคสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำใหม่

⦁กระบวนการในการเข้าสู่พรรคก้าวไกลนั้น อยู่ระหว่างการประสานงานกับพรรคใหม่ จะมั่นใจได้อย่างไรว่า ส.ส.ทั้ง 55 คนจะไปอยู่พรรคใหม่ด้วยกัน
ผมมั่นใจ เพราะวันนี้ ส.ส.ทั้งหมดมายืนอยู่ข้างหลังผม เป็นเหมือนกำแพงของผม ทำให้ผมมีความมั่นใจในการทำงาน กำแพงชั้นที่สองของ ส.ส.ก็จะเป็นประชาชน ทั้งที่เลือกและไม่ได้เลือกพรรคเรา ประเทศไทยในช่วงนี้มีแต่ความท้าทาย ดังนั้นเชื่อว่า ส.ส.ที่เหลืออยู่ของพรรคและประชาชนที่เฝ้าดู ส.ส.ของเราจะมองไปในทิศทางเดียวกันว่าเรามีความสามัคคีและทำงานให้สมกับภาษีประชาชน

⦁งบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินการของพรรคนั้น
ไม่มีการยืมนาฬิกา ต้องยอมรับว่าเราจะเป็นพรรคการเมืองที่มีขนาดเล็กลง จะเน้นในเรื่องของการระดมทุน อาจจะเริ่มระดมทุนกับบริษัทขนาดเอสเอ็มอีที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการขายสินค้าที่ระลึก ในช่วงอดีตที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าการระดมทุน การสมัครสมาชิก การขายสินค้าออนไลน์สามารถทำให้พรรคไปต่อได้ และแม้ว่าพรรคการเมืองเราจะมีขนาดเล็กลง แต่คุณภาพจะต้องไม่เล็กลง เราจะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป โดยคุณภาพจะต้องไม่ลดลงด้วย

Advertisement

⦁มีความกังวลหรือไม่ว่าถ้าหากมีพรรคใหม่แล้วจะโดนคดีเหมือนพรรคการเมืองเก่า
ไม่มีความกังวล ตราบใดก็ตามที่ผมยังมีเพื่อน ส.ส. เรามีบทเรียนและเราได้ถอดบทเรียน พร้อมจะทำงานไปข้างหน้า คำถามที่ควรจะถามกลับบรรยากาศการทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์และตรงไปตรงมา เป็นสิ่งที่ประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งนิสิตนักศึกษาร้องขออยู่ พวกตนมีความตั้งใจที่จะมาช่วยเหลือประเทศและมาเปลี่ยนประเทศ เพื่อทำให้ประเทศเป็นประเทศที่ดีกว่าคนรุ่นตน และส่งต่อไปให้ลูกหลานในอนาคต แน่นอนว่าการทำงานจะต้องมีความระมัดระวัง

ชัยธวัธ ตุลาธน
อดีตรองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

สําหรับแนวทางการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับทางพรรคก้าวไกล รายละเอียดเมื่อชัดเจนแล้วก็จะมีการชี้แจงให้ทราบอีกครั้ง โดยเราหวังว่าภายในสัปดาห์หน้าเราจะสามารถไปสมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการได้ และถ้าพรรคก้าวไกลพร้อมที่จะจัดประชุมวิสามัญ เราก็จะมีการแจ้งให้ทางสื่อได้ทราบต่อไป ส่วนจะมีการดึงคนนอกมาร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ เบื้องต้นคงต้องมีการหารือกับทางพรรคก้าวไกลก่อน เพราะขณะนี้พวกตนทั้งหมดยังไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรค ดังนั้นจะไปพูดแทนพรรคก้าวไกลก็คงไม่ได้

ศิริกัญญา ตันสกุล
ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่

สําหรับเรื่องเศรษฐกิจ ขณะนี้ประเทศไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จีดีพีหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสเป็นต้นไป ถือว่าเศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิคโดยสมบูรณ์ จากการประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทยจากนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า 2 ไตรมาสแรก ติดลบแน่นอน เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะเราเจอภาวะที่ไม่คาดคิดคือพิษโควิด-19 แต่ปัญหาคือมาตรการรองรับนั้น จะสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนได้หรือไม่ มาตรการ ครม.เศรษฐกิจออกมาแถลงจำนวนกว่าแสนล้าน มีคนวิพากษ์วิจารณ์ไปมากแล้ว การแจกเงิน 1,000 บาทต่อเดือน ให้คนมีรายได้น้อยและผู้มีอาชีพอิสระนั้น อยากขอวิงวอนว่า หลังมาตรการนี้ออกมาแล้ว ได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบโดยตรง การกู้วิกฤตคือ การกู้ความเชื่อมั่น การออกมาตรการที่ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ขอให้ทางรัฐบาลกลับไปทบทวนวิธีการ

อยากให้ติดตามต่ออีกว่า เงินจะเอามาจากไหน เพราะเงินสำรองฉุกเฉินนั้นเหลือไม่ถึง 1 แสนล้านบาทแล้ว เพราะนำเงินมาใช้ตอน พ.ร.บ.งบประมาณยังไม่ผ่าน ไม่เห็นด้วยจะให้นำเงินประกันสังคมออกมาปล่อยกู้ เพราะเป็นเงินของผู้ประกันตน และสำนักงานประกันสังคมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการปล่อยกู้ และการบริหารจัดการเงินลักษณะนี้ และการจะให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์นั้น ต้องแยกให้มีความอิสระ จะเข้าไปแทรกแซงแบบนี้ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังถังแตก มีเงินไม่เพียงพอนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เราเห็นด้วยกับการตั้งกองทุนเพื่อเยียวยา

ผู้ประกอบการเพื่อไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง แต่ไม่ใช่ยิงกราด เพราะกระสุนมีน้อย ต้องยิงอย่างตรงเป้า

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง
ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่

กรณีวิกฤตไวรัสโควิด-19 มีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.ความล่าช้าของมาตรการในการปฏิบัติงานของภาครัฐ 2.มาตรฐานการกักตัว และ 3.การจัดสรรทรัพยากร และการกระจายทรัพยากรโดยเฉพาะหน้ากากอนามัย รัฐบาลแสดงให้เห็นมาตลอดว่า รัฐบาลมีมาตรการล่าช้ากว่าสถานการณ์อย่างน้อย 1 ก้าว เช่น กรณีกลุ่มผู้ใช้แรงงานเดินทางไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย หรือถูกกฎหมายที่ประเทศเกาหลีใต้อยากกลับมาประเทศไทย ยังขาดมาตรการกักตัว และมาตรการจำกัดบริเวณอย่างเป็นรูปธรรมที่ดี เพิ่งมีราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ให้ผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง 4 ประเทศ กักตัวในสถานที่ที่ทางรัฐจัดเอาไว้ ล่าช้ากว่าสถานการณ์จริง เพราะมีผู้ใช้แรงงานหลายร้อยคนเดินทางเข้ามาก่อนหน้านี้แล้ว โดยไม่ได้มีมาตรการกักตัวชัดเจน แต่เมื่อประกาศแล้วก็ยังมีกลุ่มผู้ใช้แรงงาน 70-80 คนหลุดรอดออกไป ทำให้เห็นจุดบกพร่องในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ฝากไปถึงรัฐบาลว่ามาตรการครั้งต่อไปหากจะทำต้องเตรียมบุคลากร เตรียมอุปกรณ์ และสถานที่อย่างรัดกุม

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนัก 3 ปัจจัย คือ เศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุข ถ้าสถานการณ์เลวร้ายขึ้น ท่านอาจต้องชั่งน้ำหนักในเรื่องของสาธารณสุข และความปลอดภัยมากขึ้น ท่านอาจจะต้องเริ่มพิจารณาทำวีซ่าในบางประเทศ หรือการจำกัดเที่ยวบินแล้ว คนที่บินมาจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่คนไทยก็ควรถูกกักตัว    เช่นกัน

สำหรับเรื่องหน้ากากอนามัย ความจริงวันนี้คือไม่เพียงพอ ไม่ใช่แค่กับประชาชน แต่ไม่เพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์ด้วย และรัฐบาลไม่เคยประกาศให้ประชาชนได้รับทราบว่าหน้ากากผ้าไม่มีสารกันซึมเหมือนหน้ากากอนามัย เวลาที่สารคัดหลั่งกระเด็นมาโดนเชื้อโรคสามารถซึมผ่านผ้าได้ องค์ความรู้เหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำให้ประชาชนได้รับทราบ และชาวไทยต้องเข้าถึงการบริการในการจำหน่ายหน้ากากอย่างเท่าเทียมกัน ทั่วถึงและเป็นธรรม

สุเทพ อู่อุ้น
ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่

สําหรับไวรัสโควิด-19 เรามีมาตรการเพิ่มเติม 3 ช่วง คือ ช่วงแรก งานบริการที่ยังไม่ได้รับอุปกรณ์ในการดูแลป้องกัน ไม่ว่าจะหมอ พยาบาล หรือคนที่อยู่ในสถานประกอบการ รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับการหยุดกิจการ ที่บางสถานประกอบการถึงขนาดปิดกิจการ ต้องมีวิธีการจ่ายค่าตอบแทน พี่น้องประชาชนที่ทำงานอยู่ในที่เหล่านี้จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างไร ช่วงกลาง คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการซื้ออุปกรณ์ป้องกัน โดยค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันคือ 300 บาทต่อวัน แต่ต้องเสียค่าอุปกรณ์ป้องกัน 10% รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ผลักภาระเหล่านี้ให้เป็นของประชาชน ส่วนระยะยาวที่เราจะต้องมีการดำเนินการคือ มีการพูดถึงเรื่องการจะลดเงินสมทบเงินประกันสังคม ซึ่งเรามองว่าในระยะยาวจะทำให้ปัญหาของพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงานมีความลำบาก ตลอดไปจนถึงเรื่อง ผีน้อย ที่ถือเป็นมูลค่า เพราะการเดินทางไปทำงานและส่งเงินกลับเข้าประเทศไทย เป็นเรื่องที่รัฐจะต้องดูแล ซึ่งวันนี้รัฐยังไม่มีกฎหมายที่จะมาดูแลในเรื่องเหล่านี้ กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หรือการส่งเสริมให้มีสหภาพแรงงานในภาครัฐก็ไม่มี

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image