รายงานหน้า2 : ฟังข้อเสนอ‘ครช.-น.ศ.’ แก้ไข‘รัฐธรรมนูญ’

หมายเหตุ ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน (ครช.) และเครือข่าย People Go Network พร้อมด้วยความเห็นของประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร และประธาน ครช. เมื่อวันที่ 13 มีนาคม

 


 

ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

Advertisement

รัฐธรรมนูญ คือ กติกาสูงสุด ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ รับรองสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของบุคคล รัฐธรรมนูญจึงจำเป็นจะต้องมาจากความเห็นพ้องต้องการของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่มาจากคณะบุคคลที่ก่อรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า แล้วก็ตั้งพรรคพวกของตน เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นเองโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม อีกทั้งกระบวนการทำประชามติก็ไม่ได้สะท้อนมติของประชาชน เพราะไม่ได้เปิดให้เกิดการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีตลอดกระบวนการ

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยังไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน แต่ตอบสนอง กระชับ และขยายอำนาจรัฐ ควบคู่ไปกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งยังสร้างเงื่อนไขให้สถาบันการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนอ่อนแอ พร้อมกับให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ รวมถึงสมาชิกวุฒิสภาอย่างกว้างขวาง

ประการสำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังเป็นเงื่อนไขให้วิกฤตการเมืองทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะเป็นที่มาของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่ได้อิงกับเสียงประชาชนส่วนใหญ่ ส่งผลให้สังคมไทยเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ จะมีก็แต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมเท่านั้น ที่จะพาสังคมไทยให้หลุดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ได้ โดยคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) เสนอหลักเกณฑ์และแนวทางดังนี้

Advertisement

1.ให้ตราพระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชนว่าสมควรให้มีการยกร่างรับธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และให้ความเห็นของประชาชนมีผลผูกพัน ในทางกฎหมายและทางการเมืองต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

2.ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และใช้จำนวนราษฎรเป็นเกณฑ์กำหนดจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละจังหวัด และให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการรับฟังความเห็นตลอดกระบวนการ

2.2 ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เรื่อง หลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยเพียงเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

2.3 ให้เขียนในบทเฉพาะกาลของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ให้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาใช้ และจัดการเลือกตั้ง และให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ

3.หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้มีการจัดทำประชามติว่าประชาชนเห็นชอบหรือไม่ หากประชาชนเห็นชอบก็ให้ประกาศใช้ต่อไป

สำหรับเนื้อหาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียง และเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร.ที่จะตั้งขึ้นตามกระบวนการที่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชน ต่อไป ขณะเดียวกัน ในฐานะที่ ครช.ประกอบด้วยสมาชิกจากกลุ่มภาคประชาชนที่ทำงานในประเด็นหลากหลาย จึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่เห็นควรต้องให้ความสำคัญ ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง สร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เข้มแข็ง ได้แก่

1.ข้อเสนอต่อการพัฒนาหลักการทั่วไป ต้องให้สิทธิประชาชนเป็นใหญ่กว่ารัฐ ไม่มีเงื่อนไขการจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยเหตุ “ความมั่นคงของรัฐ” ไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายที่ออกภายหลัง

2.ข้อเสนอต่อการพัฒนาประเด็นรัฐสวัสดิการ ต้องสร้างหลักประกันรายได้ หลักประกันด้านสุขภาพ หลักประกันด้านการศึกษา คำนึงถึงการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค และการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐอย่างเสมอกัน โดยไม่แบ่งแยกตามฐานะ

3.ข้อเสนอต่อการพัฒนาประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ต้องคุ้มครองผู้ถูกจับกุมไม่ให้ถูกควบคุมตัวเกิน 48 ชั่วโมง ต้องได้สิทธิประกันตัว สิทธิเข้าถึงทนายความ และมีหลักประกันความเป็นอิสระของศาล โดยไม่แบ่งแยกตามฐานะ

4.ข้อเสนอต่อการพัฒนาประเด็นสิทธิชุมชน ต้องคุ้มครองสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิชุมชน และการมีที่อยู่อาศัย สิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิในการเข้าถึงแหล่งอาหารที่ปลอดภัย สิทธิในการผลิตและการตลาดที่เท่าเทียม

5.ข้อเสนอต่อการพัฒนาสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ต้องให้มีสิทธิของประชาชนที่จะเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่จำกัดอายุ สิทธิการต่อต้านการยึดอำนาจโดยไม่ชอบธรรม รวมทั้งการปฏิรูกองทัพให้อยู่ใต้อำนาจพลเรือนด้วย

ประเด็นที่สอง สร้างกลไกเข้าสู่อำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน ได้แก่

1.ต้องไม่มีช่องทางสำหรับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และกำหนดให้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. โดยพิจารณาหลักการใหม่ๆ ที่จะสามารถสะท้อนเสียงของประชาชนได้ชัดเจนขึ้น เช่น การให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง

2.ต้องไม่มีระบบวุฒิสภาที่มาจาการแต่งตั้ง หรือการคัดเลือกโดยกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม แต่ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยสามารถพิจารณาสร้างระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่ไม่ทับซ้อนกับการเลือกตั้ง ส.ส. เช่น การใช้ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว

3.ต้องไม่มีกระบวนการวางแผนปฏิรูปประเทศ หรือแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่ทำขึ้นโดยคนกลุ่มเดียว หรือมีที่มาจากคนกลุ่มเดียว

4.ต้องไม่มีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิกำหนดอนาคตตัวเอง สนับสนุนการกระจายอำนาจ โดยไม่ต้อง รอ “ความพร้อม” ของท้องถิ่น

5.ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร และไม่รับรองอำนาจคณะรัฐประหารให้มีผลชอบด้วยกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ

ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญตามนี้เท่านั้น จึงจะสามารถคลี่คลายวิกฤตการเมือง รวมถึงวิกฤตด้านอื่นๆ ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ตอนนี้ได้ ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน

 

อนุสรณ์ อุณโณ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และประธานคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)

เดิมที ครช.วางไว้ว่ากิจกรรมรณรงค์จะดำเนินอยู่ในปีนี้ทั้งปี อาจทำประชามติภายในสิ้นปี แต่เนื่องจากต้นปีที่ผ่านมาเกิดสภาพ 2 ข้อที่เปลี่ยนไปทำให้เราต้องทำให้จังหวะของการเคลื่อนไหวรัฐธรรมนูญกระชับลงมามากขึ้น 1.ตอนแรกเหมือนว่ารัฐบาลแสดงท่าทีแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม แต่สิ่งที่พบคืออาจไม่นำไปสู่อะไร เพราะ กมธ.ชุดนี้มีหน้าที่แค่ศึกษา แต่ผลการศึกษานำไปสู่การเห็นชอบหรือไม่อย่างไรโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เป็นเรื่องยาก เสมือนกับไปสั่นคลอนอำนาจของเขาก็ยากที่จะผ่าน อีกทั้งจำนวน กมธ.วิสามัญศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ 30 คน จาก 49 คน เป็นคนของรัฐบาล คงไม่สามารถคาดหวังได้ว่าคนของรัฐบาลจะเสนอให้มีการแก้ไขในสิ่งที่คนที่อยู่ในรัฐบาลตอนนี้จะเสียอำนาจไป

2.ช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดกระแสการชุมนุมของนักศึกษาที่เรียกว่าแฟลชม็อบ เดิมทีเป็นข้อเรียกร้องแบบกระจัดกระจาย หรือเป็นการแสดงความคับข้อง ขุ่นเคืองใจ แต่ต่อมาประมาณสัปดาห์ที่ 2 มีการขมวดข้อเรียกร้องมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อเราเห็นพลังของนักศึกษาขึ้นมาและต้องการแก้รัฐธรรมนูญ เราก็ควรอำนวยความสะดวกหรือเสนอแนวทางให้พวกเขา ฉะนั้น วันนี้จึงเสมือนกิจกรรมที่มี 2 ส่วนประกอบเข้าด้วยกัน คือกลไกที่วางไว้ไม่น่าจะเวิร์ก และกระแสที่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังขึ้นเรื่อยๆ โดยกลุ่มนิสิต นักศึกษา เราเลยขยับขึ้นมาตรงนี้ เพื่อแสดงเจตจำนงขึ้นมาว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาและเราต้องการแก้ไข โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน

นอกจากนี้ ข้อเรียกร้องที่เรามีตอนนี้ ซึ่งกลไกที่ถูกวางไว้ทั้งหลาย โดยเฉพาะมาตรา 256 ที่มีเฉพาะเสียงของประชาชนเท่านั้นที่จะไปกำกับหรือกดดันให้เขาทำตามเราได้ ซึ่งจะทำได้อย่างไร นอกจากเรามีการลงชื่อในเว็บไซต์ Change.org หรืออีกส่วนหนึ่งคือจำเป็นต้องให้เขาเห็นตัวตนให้ได้ นั่นคือการทำให้สุ้มเสียงเหล่านั้นปรากฏออกมาเป็นกิจจะลักษณะอย่างถูกต้องตามขั้นตอน นั่นคือการทำประชามติ

วันนี้ข้อเรียกร้องของ ครช.ข้อที่ 1 คือจะต้องมีการออก พ.ร.บ.ทำประชามติ รับฟังความเห็นประชาชนว่าต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ เพราะเราเชื่อว่าถ้าออก พ.ร.บ.ดังกล่าวมา แล้วประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เห็นพ้อง รวมถึงเราจะเขียนอะไรบางอย่างในร่าง เช่น ต้องมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือต้องมีการแก้ไข ม.256 ซึ่งเรามีข้อบังคับเพื่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้องอนุมัติตามข้อเรียกร้องตรงนี้

เฉพาะเสียงตรงนี้เท่านั้น หากเสียงของประชาชนดังพอ คนที่อยู่ข้างในถึงจะขยับและแก้ให้เราได้ แต่ถ้าไม่มีเสียงประชาชนมายันตรงนี้แล้ว โอกาสที่จะแก้ไขแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะกลไกที่เรารู้คือรัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาเพื่อไม่ให้แก้ไข หรือตั้งมาเพื่อศึกษาเท่านั้น โดยผู้ที่ศึกษาส่วนใหญ่ก็เป็นคนของเขาอีก ซึ่งเขาคงไม่ต้องการแก้ไขในส่วนที่เขาเสียประโยชน์อยู่แล้ว ดังนั้น หลังวันนี้เป็นต้นไปซึ่งเป็นการแสดงเจตจำนงเบื้องต้นและยื่นข้อเรียกร้องผ่านกลไกปกติ เรายังมีการเคลื่อนไหวแบบสาธารณะอีก อย่างที่กล่าวคือ การกดดันให้ได้ต้องใช้เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ประชานส่วนใหญ่อาจยังรับรู้ไม่มาก หรือมีส่วนร่วมแบบจำกัด ดังนั้น เราจึงทำกิจกรรมรณรงค์สาธารณะ เช่น การทำสติ๊กเกอร์ ทำธงสีเขียวเหมือนที่ใช้วันนี้ แต่ต่อไปอาจโบกสะบัดทั่วประเทศ

กิจกรรมเหล่าจะชี้ให้เห็นว่าบัดนี้กระแสความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้แก้ไขและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว ควบคู่กันไปกับกระบวนการของรัฐสภาที่จะเปิดสมัยสามัญวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เราอาจให้เวลา 1 สัปดาห์ แล้วตามดูว่าได้ปฏิบัติตามที่เราขอหรือไม่ ถ้าไม่ก็อาจมีการรวมพลังกันอีกครั้งหนึ่ง

 

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)
วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
สภาผู้แทนราษฎร

การที่ ครช.นำคณะมายื่นข้อเสนอต่อ กมธ.ในครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด หรือว่าเกินความคาดหมาย เพราะว่าเป็นสิ่งที่ กมธ.ตั้งใจอยู่แล้ว และที่สำคัญ คณะ กมธ.ต้องขอขอบคุณทาง ครช. และภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ รวมถึงนิสิตนักศึกษาด้วย สิ่งที่ทาง ครช.กับคณะนำมาเสนอนั้น ขอให้มั่นใจได้เลยว่า จะนำไปสู่การใช้ประกอบการพิจารณาของคณะ กมธ.แน่นอน

ข้อเสนอของทาง ครช.ที่ กมธ.รับมาทั้งหมด จะถูกนำมาพิจารณาเหมือนกับข้อเสนอของกลุ่มอื่นๆ อย่างเสมอภาค โดยจะจัดโฟกัสกรุ๊ป จัดกลุ่มให้เรียบร้อย โดย กมธ.ไม่มองว่าสิ่งที่ทาง ครช.เสนอนั้นจะขัดแย้งกับแนวทางที่รัฐบาลต้องการหรือไม่ แต่จะมองหลักการที่ถูกต้องในแต่ละเรื่อง อาทิ สิทธิเสรีภาพประชาชนว่า หลักการที่ถูกต้องมีอะไรบ้าง โดยดูว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอยู่แล้วหรือยัง ถ้าไม่มี ควรจะเพิ่มหรือไม่ ทั้งหมดจะพูดกันบนเหตุผล เพราะถ้ามองแต่เรื่องความขัดแย้งบางทีก็อธิบายไม่ได้ว่า จะแก้หรือไม่แก้กันเพราะอะไร ยืนยันว่า กมธ.ไม่ได้พิจารณา โดยสนใจว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะกระทบต่อฝ่ายผู้มีอำนาจหรือไม่ แต่ กมธ.เน้นว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประชาชน ประชาชนต้องได้รับประโยชน์สูงสุดของรัฐธรรมนูญ

เบื้องต้น คณะ กมธ.วางไว้ว่า จะทำงานให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และจะทำรายงานสรุป ภายในวันที่ 10 เมษายนนี้ เพื่อรายงานให้สภาผู้แทนราษฎรตามกรอบเวลา เพื่อบรรจุเป็นระเบียบวาระในสมัยประชุมหน้า ส่วนการเลื่อนขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าจะคิดเห็นกันอย่างไร

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image