เปิดแฟ้มคดีถอดถอน จาก”ขุนค้อน-ปู”ถึง”บิ๊กโอ๋”

ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา จำนวนไม่เกิน 220 คน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2557 ตามบทบัญญัติ มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่บัญญัติว่า ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา มีจำนวนสมาชิกไม่เกิน 220 คน โดยมีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้เสนอชื่อ

โดยทั้ง 220 สนช.ได้ประชุมกันนัดแรก และมีมติเลือก นายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธาน สนช. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นรองประธานคนที่ 1 และ นายพีระศักดิ์ พอจิต เป็นรองประธานคนที่ 2 หากจะโฟกัสผลการดำเนินงานด้านถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองของ 220 สนช. ในยุค คสช. ไล่เรียงได้ดังนี้

เริ่มที่ คดีแรก สำนวนถอดถอน “ขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กับ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ออกจากตำแหน่ง กรณีจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ในการควบคุมการประชุม ระหว่างการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 เกี่ยวกับประเด็นที่มา ส.ว.

ซึ่งที่ประชุม สนช.มีมติไม่ถอดถอดนายสมศักดิ์ด้วยคะแนน 100 ต่อ 115 คะแนน และงดออกเสียง 4 คะแนน ขณะเดียวกันที่ประชุมยังมีมติไม่ถอดถอนนายนิคมด้วยคะแนน 95 ต่อ 120 คะแนน และงดออกเสียง 4 คะแนน ในข้อกล่าวหาเดียวกันด้วย

Advertisement

คดีที่สอง สำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต หรือไม่ระงับยับยั้งความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งที่ประชุม สนช.มีมติถอดถอนด้วยคะแนน 190 ต่อ 18 คะแนน งดออกเสียง 8 คะแนน และมีบัตรเสียจำนวน 3 ใบ

คดีที่สาม สำนวนถอดถอนอดีต ส.ว.จำนวน 38 คน จากกรณีจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลังร่วมกันลงชื่อและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ซึ่งที่ประชุม สนช.ลงมติเป็นรายบุคคล ที่สุดภายหลังจากการนับคะแนน ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติไม่ถอดถอนอดีต ส.ว.ทั้ง 38 คน

คดีที่สี่ สำนวนถอดถอนอดีต ส.ส.จำนวน 250 คน ประกอบด้วยอดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล และพรรคประชาธิปไตย ออกจากตำแหน่งกรณีจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลังร่วมกันลงชื่อและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบ

ซึ่งที่ประชุม สนช.ลงมติเป็นรายบุคคล ที่สุดภายหลังจากการนับคะแนน ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติไม่ถอดถอนอดีต ส.ส.ทั้ง 250 คน

คดีที่ห้า สำนวนถอดถอน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง กรณีคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี

ซึ่งผลปรากฏว่า ที่ประชุม สนช.มีมติถอดถอนนายบุญทรงด้วยคะแนน 180 ต่อ 6 คะแนน งดออกเสียง 4 คะแนน ขณะเดียวยังมีมติถอดถอนนายภูมิด้วยคะแนน 182 ต่อ 5 คะแนน งดออกเสียง 2 บัตรเสีย 1 และมีมติถอดถอนนายมนัสด้วยคะแนน 158 ต่อ 25 คะแนน งดออกเสียง 6 คะแนน และบัตรเสีย 1 ใบ

คดีที่หก สำนวนถอดถอน “เสี่ยตือ” สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากกรณีร่ำรวยผิดปกติ และจงใจแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หลังสร้างบ้านเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง มูลค่า 16 ล้านบาท

ซึ่งที่ประชุมมีมติถอดถอนด้วยคะแนน 109 ต่อ 82 คะแนน งดออกเสียง 3 คะแนน บัตรเสีย 1 ใบ จากจำนวนบัตรที่ลงคะแนนทั้งหมด 195 ใบ จึงส่งผลให้นายสมศักดิ์ไม่ถูกถอดถอน เนื่องจากคะแนนถอดถอนมีไม่ถึง 3 ใน 5 เสียงของสมาชิก สนช.ทั้งหมด หรือไม่ถึง 132 เสียง ตามข้อบังคับการประชุม สนช.กำหนด

ล่าสุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดและส่งให้ สนช.ในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่ง จำนวน 2 สำนวน

นั่นคือ 1.สำนวนถอดถอน นายประชา ประสพดี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทยออกจากตำแหน่ง กรณีก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของบอร์ดองค์การตลาด (อต.) กระทรวงมหาดไทย ที่กำลังพิจารณาเรื่องการทุจริตของ นายธีธัช สุขสะอาด อดีต ผอ.อต. และ 2.สำนวนถอดถอน “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออกจากตำแหน่ง กรณีก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม

ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช.ได้กำหนดวันเพื่อนัดดำเนินการแถลงเปิดสำนวนของนายประชา ในวันที่ 28 กรกฎาคม และนัดเปิดสำนวนของ “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ต่อไป

ส่วนผลการพิจารณาถอดถอนใน 2 สำนวนล่าสุดจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น คงต้องติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image