รายงานหน้า2 : ออกพรก.กู้2แสนล. สู้‘โควิด’-ฟื้น‘ศก.’

หมายเหตุนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง ผู้บริหารจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมธนาคารไทย ถึงมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาจากโควิด-19 และความเห็นต่อข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ให้ภาครัฐดำเนินการเร่งด่วน 8 ด้าน และแนวทางการออกพระราชกำหนดกู้เงิน (พ.ร.ก.กู้เงิน) กว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินมาใช้ลดผล กระทบทางเศรษฐกิจ

 

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รองนายกรัฐมนตรี

ผลกระทบจากโควิด-19 กำลังเกิดขึ้น ไม่อยากให้ไปมองว่าจีดีพีจะเหลือเท่าไหร่ ซึ่งในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งจีดีพีไทยติดลบไปกว่า 10% ตอนนั้นคนที่มีสตางค์เจ็บมาก แต่เกษตรกรดี แต่ขณะนี้ทั้งคนจนและคนรวยได้รับผลกระทบ ปัญหาครั้งนี้มันหนัก รัฐบาลกำลังดูแลและหามาตรการมาดูแลที่สำคัญกว่าการดูแล
จีดีพี เพราะหากจีดีพีจะลบคงหนีไม่ได้ เนื่องจากติดลบทั้งโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยินดีให้ความช่วยเหลือทั้งโลก เพราะทุกประเทศได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ ขอให้กระทรวงการคลังเตรียมมาตรการดูแลเศรษฐกิจชุดที่ 3 เพิ่มเติมเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เน้นการดูแลประชาชนในต่างจังหวัดให้มีงานทำ จะไปกระตุ้นในระดับหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด เพราะจากโควิด-19 ทำให้คนเดินทางกลับต่างจังหวัดมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจะไปดูแลให้คนกลุ่มนี้มีงานทำ โดยจะเน้นเศรษฐกิจท้องถิ่นทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะนี้หารือกับหน่วยงานหลายแห่ง เช่น เครือ ปตท.พร้อมจะมาช่วย นอกจากนี้แบงก์รัฐ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน จะมีบทบาทสำคัญที่จะมาช่วยตรงนี้
ตอนนี้ยังไม่ได้ระบุตัวเลขชัดว่าจะต้องใช้เงินในมาตรการชุดที่ 3 เท่าไหร่ เพราะต้องไปดูก่อนว่าจะช่วยอย่างไร โดยมีงบประมาณปกติที่เตรียมไว้แล้ว และสำนักงบประมาณได้ให้แต่ละกระทรวงเกลี่ยงบเพื่อนำมาใช้ในมาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 อย่างไรก็ตาม หากงบที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ ถ้ามีความจำเป็นต้องกู้เงินทางกระทรวงการคลังเตรียมพร้อม พ.ร.ก.กู้เงินไว้มาเป็นเดือน ถ้าต้องทำพร้อมดำเนินการทันที
ไม่มีปัญหาถ้าจะกู้ในระดับนั้น เพราะฐานะทางการคลังค่อนข้างแข็งแรง ซึ่งตัวเลขกู้เงินไม่ใช่ข้อจำกัดกระทรวงการคลัง สิ่งสำคัญคือเอาไปใช้อะไร ซึ่งไม่อยากให้นำไปใช้กระจัดกระจายไม่เกิดผลประโยชน์ในระยะยาว

Advertisement

 

อุตตม สาวนายน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมการในเรื่องมาตรการชุดที่ 3 และเรื่องการกู้เงิน เพื่อนำมาดูแลเศรษฐกิจให้พร้อมที่จะเดินหน้าในช่วงฟื้นตัว ดังนั้น กำลังดูว่าจะจัดงบประมาณอย่างไร และเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง ซึ่งตัวเลขการกู้ 2 แสนล้านบาทนั้นในหลักการทำได้ไม่มีปัญหา แต่ขอให้รอตัวเลขที่ชัดๆ อีกครั้งว่าจะกู้เท่าไหร่

 

 

 

 

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

ขณะนี้รัฐบาลควรต้องมีการเตรียมตัวในด้านเงินทุน เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ข้างหน้าที่อาจต้องใช้เม็ดเงินเข้าไปอุดหนุนแล้ว เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ขณะนี้สัญญาณการปรับดีขึ้นยังไม่เห็น มีการวิเคราะห์ไว้ว่าอาจลากยาวไปทั้งปี หรืออาจยาวไปจนถึงปี 2564 แต่ก็อาจจะคลี่คลายได้บ้าง เหมือนกับประเทศจีนที่สามารถควบคุมการติดเชื้อในประเทศได้แล้ว ซึ่งเมื่อภาพรวมออกมาในลักษณะนี้ ภาคธุรกิจต่างๆ จะได้รับผลกระทบและเจอปัญหาในเรื่องของเศรษฐกิจซบเซา ความต้องการในการบริโภคลดลง รายได้ของบุคคลหายไป โดยจะส่งผลกระทบ
ในเรื่องสภาพคล่องของธุรกิจ หากไม่มีเม็ดเงินสนับสนุนหรือช่วยเหลือจากภาครัฐเข้ามาเพิ่มเติม ต่อมาในด้านของสถาบันการเงินก็จะได้รับผล กระทบตามไปด้วย จึงจะเห็นว่าหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา ได้มีการเตรียมสภาพคล่องไว้เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง ทำให้มองว่ารัฐบาล หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรที่จะเตรียมมาตรการในการรับมือสถานการณ์ข้างหน้าไว้ พูดง่ายๆ คือ ถือเป็นการหากระสุนเข้ามาเตรียมไว้ใช้ในกรณีที่อาจเกิดเหตุการณ์ไม่สู้ดีขึ้น แม้จะไม่ได้ใช้เพราะเหตุการณ์อาจดีขึ้น หรือคลายตัวได้เร็วกว่าที่คาดไว้ก็ไม่เป็นไร ขอแค่เตรียมกระสุนไว้ให้พร้อมใช้งานก่อนเท่านั้น
“ตอนนี้ทุกประเทศก็มีมาตรการออกมาที่คล้ายกัน คือมีการเตรียมกระสุนในการช่วยเหลือไว้ อาทิ สเปน ที่เตรียมงบประมาณในการช่วยเหลือไว้กว่า 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) สหรัฐ ที่เตรียมอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเทศเหล่านี้ถือว่ามีเงินหนาในการใช้จ่าย แต่ในส่วนของประเทศที่ไม่มีเงินมากนักก็จำเป็นที่จะต้องก่อหนี้เพิ่มเติม เพราะต้องเตรียมเม็ดเงินไว้ใช้ในตัวมาตรการที่จะออกมาช่วยเหลือหรือเยียวยาเพิ่มเติม”
ส่วนแนวทางที่รัฐบาลมีแนวคิดที่จะออก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินวงเงินมากกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อนำมาดูแลเศรษฐกิจระยะ 2-3 เดือนข้างหน้านั้น มองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าเราจะมีงบประมาณที่จำกัดมาก บวกกับจีดีพีที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของภาครัฐเท่านั้นแล้ว เพราะภาครัฐจะต้องเข้าไปช่วยเอกชนในการเพิ่มสภาพคล่อง การลดต้นทุนในด้านดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้รายได้ของภาครัฐลดลงไปด้วย แต่ภาครัฐก็จำเป็นที่จะต้องช่วยพยุงภาคเอกชนและช่วยเหลือสถาบันการเงินไปด้วย ทำให้เม็ดเงินจำนวนนี้อาจไม่เพียงพอในการใช้ ทำให้การกู้เงินเพิ่มเติมมีความจำเป็นมากขึ้น แม้ปกติจะไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินหรือสร้างหนี้เพิ่มเติม แต่ในขณะนี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรทำรอไว้ที่สุด
มาตรการที่ภาครัฐควรออกมาช่วยเหลือเยียวยาและดำเนินการในขณะนี้คือ การป้องกันชีวิตประชาชนในประเทศก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำผิดพลาดได้ โดยภาครัฐจะต้องใช้เงินร่วมกับเอกชนในการป้องกันไม่ให้โควิด-19 ขยายวงในการระบาดต่อไป เพราะฉะนั้น ในกรณีนี้มาตรการดังกล่าวจึงจะเกี่ยวข้องกับความร่วมมือของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนคือ จะต้องดำเนินการให้มีหน้ากากอนามัยเพียงพอ เจลล้างมือและอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นต่อบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอที่สุด ถือเป็นหัวใจในการดำเนินการอันดับ 1 ที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะหากไม่สามารถทำได้ทุกอย่างจะพังหมด อีกส่วนหนึ่งที่ต้องเร่งคือ การใช้มาตรการในการพยุงไม่ให้คนตกงานสูงเกินความจำเป็น ช่วยให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางภาวะวิกฤต โดยจะต้องช่วยทั้งการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและการเสริมสภาพคล่องของธุรกิจต่างๆ
ในระยะถัดไปสิ่งที่ต้องเตรียมการเพิ่มเติมคือ ขณะที่เรากำลังเจอภาวะวิกฤตนั้น ยังมีภาคธุรกิจใดที่สามารถเข้าไปกระตุ้นได้เพิ่มเติม โดยตอนนี้มองว่าเป็นภาคการผลิตต่างๆ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอาหารการกิน และการใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะหากภาคการผลิตสามารถดำเนินการต่อได้ ก็จะช่วยทำให้เกิดการจ้างงานต่อไป แต่จะต้องดูว่าการเข้าไปกระตุ้นในด้านนั้น จะต้องไม่ส่ง
ผลกระทบกับการควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาดอย่างแท้จริง รวมถึงเตรียมมาตรการ ซึ่งถือเป็นโอกาสในการช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาทักษะของแรงงานที่ตกงานอยู่ในขณะนี้ เพื่อรอการฟื้นตัวที่จะตามมาในระยะถัดไป
โดยสิ่งที่ภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูเป็นอย่างแรกหลังจากสามารถควบคุมโรคระบาดได้คือ อุตสาหกรรมในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถฟื้นฟูได้เป็นอันดับแรก เพราะคนจะอัดอั้นจากการไม่ได้ออกเดินทางเป็นระยะเวลานานๆ และจะโหมเดินทางกันจำนวนมากแน่นอน
โดยเชื่อว่าเมื่อทุกอย่างสงบลงแล้ว ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้เร็วมาก นักท่องเที่ยวต่างชาติจะทะลักกลับเข้ามาเที่ยวในไทยอีกครั้ง ทำให้ภาครัฐต้องถือโอกาสนี้ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวทั้งตามธรรมชาติและไม่ตามธรรมชาติ อาทิ ดอยสุเทพ ที่บันไดทางขึ้นและห้องน้ำไม่มีมาตรฐานเพียงพอ ซึ่งภาครัฐสามารถนำงบประมาณออกมาใช้ในการปรับปรุงพื้นที่เหล่านั้น ทั้งการส่งผ่านภาคเอกชนหรือการดำเนินการเองก็แล้วแต่ เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว และการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยด้วย รวมถึงภาครัฐยังสามารถพัฒนาประชาชน เพื่อเตรียมเข้าสู่ยุคดิจิทัล หรือการเข้าถึงเทคโนโลยีและไอทีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเพิ่มขึ้นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image