รายงานหน้า 2 มติชน ข้อเสนอจัดทัพสู้วิกฤต ฝ่ามรสุม‘เศรษฐกิจ-โควิด’

ข้อเสนอจัดทัพสู้วิกฤต ฝ่ามรสุม‘เศรษฐกิจ-โควิด’

หมายเหตุ – บทสรุป ข้อมูลทางเศรษฐกิจและแนวทาง ข้อเสนอแนะที่ผู้รู้ทางเศรษฐกิจนำเสนอเพื่อเป็นประโยชน์ในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจไทยที่กำลังก่อตัวจากวิกฤตโควิด-19


หายนะที่กำลังเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยขณะนี้ รุนแรงเสียยิ่งกว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ในปีนั้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบไปร้อยละ 7.18 ในปีนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินเอาไว้ว่าจะติดลบร้อยละ 5.3 อาจจะเป็นการประเมินที่มองโลกในแง่ดีไปด้วยซ้ำ

ลองดูตัวเลขกว้างๆ ประกอบ ภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนในเศรษฐกิจไทยประมาณร้อยละ 12 ของจีดีพี ปีนี้การท่องเที่ยวล่มสลายอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะธุรกิจการบิน โรงแรม และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถ้าการท่องเที่ยวหายไปถึงสิ้นปีหรือ 9 เดือนจากนี้ เศรษฐกิจก็หดตัวไปร้อยละ 9 ตามสัดส่วน หายไปครึ่งปี (นี่คิดอย่างมองโลกในแง่ดีที่สุด) ก็ยังทำให้จีดีพีติดลบร้อยละ 6

อีกภาคหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงคือ ภาคการบริโภคในประเทศ ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของจีดีพี บริษัทห้างร้านที่ปิดตัวไป ร้านอาหารที่ขายไม่ได้หรือขายได้แค่ครึ่งเดียวของปีที่ผ่านมา ประเมินตัวเลขเอาไว้แบบกลางๆ ที่สุดว่า การบริโภคจะหดตัวไปร้อยละ 20 ก็คือร้อยละ 10 ของจีดีพี

Advertisement

แค่สองภาคเศรษฐกิจนี้รวมกัน เศรษฐกิจก็ติดลบมากกว่าร้อยละ 10 จะเป็นร้อยละ 12-13-14 ไปถึงร้อยละ 19-20 ก็อยู่ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้กลไกการดำรงชีวิตและธุรกิจหยุดชะงักจะยุติลงเร็วแค่ไหน

เพราะฉะนั้น ภารกิจแรกที่รัฐบาลและสังคมจะต้องร่วมมือกันลงมือทำให้ได้อย่างจริงจัง ก็คือการจำกัดการระบาดของโควิด-19 ทั้งเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้ป่วย และลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ และประชาชนทั่วไปให้เหลือน้อยที่สุด

ภารกิจต่อมาก็คือ ลงมือกอบกู้เศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นของประชาชนให้เสียหายน้อยที่สุด

Advertisement

ถามว่ามาตรการเยียวยาที่ดำเนินการไปแล้วในปัจจุบันเป็นอย่างไร

คำตอบก็คือ มาถูกทาง แต่ยังไม่พอ และมีอีกหลายอย่างที่ต้องปรับปรุง

ประเด็นแรกที่บอกว่ายังไม่พอ เพราะเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว หรือติดลบเช่นเดียวกับไทย เม็ดเงินและมาตรการที่เราใช้ถือว่าน้อยมาก

มาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล (ไม่เกี่ยวกับที่แบงก์ชาติบอกว่า “จะ” อุ้มตลาดการเงิน) ที่ออกมา
สองระลอกนั้น รวมเม็ดเงินทั้งหมดแล้วคิดออกมาได้เพียงร้อยละ 3.1 ของจีดีพี เทียบกับขนาดของมาตรการที่ออกมาโดยประเทศอื่นๆ สหรัฐอเมริกาอัดฉีดเงิน 2.2 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณร้อยละ 10 ของจีดีพี เยอรมนี 880,000 ล้านเหรียญ หรือร้อยละ 24 ของ
จีดีพี อังกฤษ 427,000 ล้านเหรียญ หรือร้อยละ 16 ของจีดีพี ฝรั่งเศส 476,000 ล้านเหรียญ หรือร้อยละ 18 ของจีดีพี แคนาดา 285,000 ล้านเหรียญ หรือร้อยละ 13 ของจีดีพี มาเลเซีย (ซึ่งเศรษฐกิจไม่ติดลบ) ร้อยละ 17 ของจีดีพี

สิงคโปร์ (ติดลบร้อยละ 1) ร้อยละ 11 ของจีดีพี

ถามว่าประเทศไทยมีความสามารถและมีเม็ดเงินที่จะเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ (ที่อาจจะติดลบมากกว่าใคร)ในระดับนี้หรือไม่

คำตอบคือมี มีมากด้วย

ปัจจุบันขนาดของจีดีพีไทยอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านล้านบาท มีเงินฝากที่ล้นแบงก์ (เพราะมีคนออมมากกว่าคนกู้) จนกระทั่งแบงก์พาณิชย์ต้องเอาไปฝากแบงก์ชาติกินดอกเบี้ยอยู่ 4-5 ล้านล้านบาท ถ้ารัฐจะกู้เงินเพิ่มขึ้น 1 หรือ 2 ล้านล้านบาท ไม่มีปัญหาเลย ถึงวันนี้ยอดหนี้สาธารณะของรัฐ (รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 42 ของจีดีพี ถ้ายึดตามหลักกฎหมายวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด คือ มียอดหนี้ได้ไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี

ก็คือยังกู้เพิ่มได้อีกถึงร้อยละ 18 ของจีดีพี หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท

และที่ต้องหมายเหตุเอาไว้ด้วยก็คือว่า ข้อกำหนดเรื่องรัฐไม่ควรมียอดหนี้สาธารณะเกินร้อยละ 60 ของจีดีพีนั้น มาจากมาตรฐานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ระบุเอาไว้

แต่ในข้อเท็จจริงของโลกก็คือ รัฐบาลของประเทศที่เป็นสมาชิกไอเอ็มเอฟจำนวนมากล้วนแล้ว แต่มียอดหนี้สาธารณะเกินร้อยละ 60

บางประเทศสูงถึงร้อยละ 100 ของจีดีพี

หรือประเทศอย่างญี่ปุ่นสูงถึงร้อยละ 250 ของจีดีพีด้วยซ้ำ

ไม่เห็นไอเอ็มเอฟจะไปทำอะไรได้ หรือไม่เห็นมีปัญหากับใคร

และยิ่งถ้าคิดว่า นี่คือวิกฤต นี่คือสงครามเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดที่ประเทศนี้และโลกนี้เคยเผชิญหน้ามา

กฎเกณฑ์ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงบางอย่าง หรือหลายอย่าง แก้ไขได้ ยกเลิกได้ทั้งสิ้น

เมื่อไม่มีปัญหาเรื่องข้อจำกัดที่มาของเงิน ก็อยู่ตรงที่ว่าแล้วจะทำอะไรกัน วันนี้ภารกิจหลักของรัฐบาลมีอยู่สองประการด้วยกัน

ประการแรกก็คือ ต้องจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ได้เร็วที่สุดอย่างที่กล่าวข้างต้น

ประการที่สองก็คือ ต้องมีมาตรการรองรับ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ครบถ้วน รอบด้าน และพอเพียง

ต้องอาศัยปัจจัยสองประการด้วยกัน

อย่างแรกคือ ความเป็นผู้นำในช่วงวิกฤตที่ต้องคิด (อย่างมีข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน) อย่างรวดเร็ว ตัดสินใจอย่างว่องไว ไม่ปล่อยให้สถานการณ์เลื่อนไหลไปจนกระทั่งถึงจุดที่ไม่สามารถกอบกู้ได้

อย่างที่สอง ที่ต่อเนื่องมาจากอย่างแรก ก็คือการทำงานที่สอดประสานกันเป็นระบบ และไม่ติดกรอบกฎหมายบางอย่างที่ล้าหลัง หรือวิธีปฏิบัติที่ขั้นตอนยุ่งยากมากมาย และ “ต่างคนต่างทำ” ของระบบราชการ

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย “เชิญ” ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายเข้าไป “ขอความร่วมมือ” ให้ช่วยกันดูแลโอบอุ้มลูกค้าของธนาคารในช่วงวิกฤต

ผลก็คือมีบางธนาคารทำ แต่ธนาคารที่ไม่ทำมีมากกว่า

จะไปว่าธนาคารก็ไม่ได้ เพราะธนาคารก็ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของตัวเองเช่นกัน คำขอร้องที่ “ไม่เด็ดขาดหนักแน่น” รวมทั้งไม่มีมาตรการอื่นๆ มารองรับ

เช่น เมื่อให้ธนาคารพาณิชย์ผ่อนผันเงินต้นกับดอกเบี้ยให้กับลูกค้าแล้ว จะไม่ให้รายได้ของธนาคารกลายเป็นศูนย์ (ซึ่งก็จะเกิดปัญหาในภายหลัง)

ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะหารือกับรัฐบาล ให้รัฐเป็นผู้เข้ามาจ่ายดอกเบี้ยในอัตราความเสี่ยงขั้นต่ำสุดแทนผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว

อัตราขั้นต่ำที่ว่านี้ก็คือ อัตราที่รัฐออกพันธบัตรเงินกู้ที่อยู่ร้อยละ 2

แลกกันกับที่สถานประกอบการเหล่านั้นจะไม่ปลดพนักงาน หรือลดเงินเดือนพนักงานในระดับต่ำสุด

ถ้าพิจารณาจากยอดเงินคงค้างของธนาคารพาณิย์ทั้งระบบในปัจจุบัน 12 ล้านล้านบาท ตัดธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบหลายส่วนออกไป ประมาณ 2 ล้านล้านบาท

ก็เหลือที่รัฐจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแทน 10 ล้านล้านบาท

ถ้าอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายคือ 200,000 ล้านต่อปี

รัฐจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการแทนตรงนี้ 3 เดือน ก็ใช้เงินเพียง 50,000 ล้านบาท

อาจจะมีคำถามว่า ทำไมรัฐต้องไปโอบอุ้มธนาคารและบริษัทเอกชน ธนาคารก็ยังมีรายได้จากดอกเบี้ย หนี้ทั้งหมด ก็ไม่เป็น NPL ส่วนบริษัทห้างร้านก็ได้พักหายใจ หายคอ

คำตอบก็คือ

ในการเยียวยาหรือช่วยเหลือให้เกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจและคนส่วนใหญ่ให้น้อยที่สุดนั้น มีผู้อยู่ในข่ายได้รับการช่วยเหลือ 3 กลุ่ม

1.ผู้ประกอบการ เพราะถ้าบริษัท ห้างร้าน อยู่ไม่ได้ หรือมีแต่รายจ่าย (ดอกเบี้ย-ค่าเช่า-เงินเดือนพนักงาน) ในยามที่รายได้เป็นศูนย์หรือใกล้ศูนย์ สุดท้ายบริษัทห้างร้านเหล่านั้น ถ้าไม่เลิกกิจการทำให้ลูกจ้างตกงาน ก็ต้องปลดพนักงาน กลายเป็นคนตกงานอีกเช่นกัน อุ้มบริษัท (ในส่วนที่จำเป็น) ก็คือการอุ้มคนทั่วไปไม่ให้ตกงานเพิ่มขึ้น

ซึ่งนอกจากดอกเบี้ยแล้วยังอาจจะมีอื่นๆ อีก เช่น เงินช่วยเหลือระยะสั้น หรือเงินดอกเบี้ยต่ำ (มากๆ)

หมายเหตุด้วยว่าทุกกิจการต้องเข้าถึงได้จริง

ถามว่าแล้วควรจะช่วยใคร อย่างไร เท่าไหร่

จริงๆ ตรงนี้แบงก์ชาติและแบงก์พาณิชย์มีฐานข้อมูลของลูกค้าอยู่แล้วว่าอยู่ในธุรกิจ-อุตสาหกรรมไหน เอามาวางแบ แล้วทาบกับผลกระทบที่เขาได้รับก็ชัดเจน ใครโดนมากหรือเป็นศูนย์ ก็ช่วยมากที่สุด ใครโดนน้อย ก็ช่วยเหลือลดลงมาตามส่วน

หรือถ้ากลัวว่าช่วยภาคเอกชนแล้วจะโดนข้อครหา ก็ยังสามารถเพิ่มเงื่อนไขได้ว่า เงินช่วยทั้งหมดที่รัฐให้นั้น สามารถแปลงเป็น “ทุน” ในธุรกิจที่ได้รับการช่วยเหลือเมื่อกิจการฟื้นตัว ตอนนั้นรัฐจะเอาหุ้นออกขาย ไม่ว่าขายคืนเจ้าของเดิม (ตอนที่เขามีกำลังแล้ว) หรือขายนักลงทุนที่สนใจ ก็ไม่ขาดทุน หรือไม่ได้เป็นการช่วยเปล่า

พึงระลึกเสมอว่า ถ้าท่านไม่ช่วยเขาให้ออกจากโรงพยาบาล หรืออาการป่วยวันนี้ วันหน้าท่านก็ต้องมาเก็บศพเขา จะยิ่งเป็นปัญหาและภาระมากกว่าในปัจจุบันอีกหลายเท่า

2.ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งว่างงานถาวรหรือตกงานชั่วคราว ซึ่งแยกได้อีกเป็นสองส่วนคือ ที่มีประกันสังคม ตรงนี้ประกันสังคมรับไป

แต่ต้องระมัดระวังเอาไว้ด้วยว่า ถ้าปล่อยให้กิจการล้ม หรือคนตกงานมากขึ้น ประกันสังคมก็จะรับไม่ไหว เพราะปัจจุบันประกันสังคมมีเงินลงทุนอยู่ประมาณ 2 ล้านล้านบาท ถ้าผู้ประกันตนตกงานครึ่งหนึ่งหรือเกือบครึ่ง จะต้องขายตราสารการเงินหรือทรัพย์สินที่ไปลงทุนไว้ เอาแค่ 1 ใน 3 ก็ตกราว 700,000 ล้านบาท ขณะที่ทรัพย์สินอื่นๆ ก็จะลดค่าลง ซ้ำเติมปัญหาที่รุนแรงอยู่แล้วให้หนักข้อยิ่งขึ้น

ตลาดเงินก็มีสิทธิจะพังหรือปั่นป่วนทันที เพราะใครจะมีเงินไปรับซื้อทรัพย์สินมูลค่าหลายแสนล้าน สุดท้ายถ้าไม่ใช่รัฐบาลก็ต้องเป็นแบงก์ชาติ (ในกรณีตราสาร) อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นวิธีช่วยที่ดีที่สุดก็กลับไปที่ข้อ 1 คือ ทำให้กิจการปิดตัวลงน้อยที่สุด

อีกส่วนหนึ่งคือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งมีประมาณ 18 ล้านคน (สถิติของกระทรวงแรงงาน-ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 12 ล้านคน ผู้ช่วยธุรกิจครัวเรือน 6 ล้านคน)

เพราะฉะนั้น การประเมินว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบ 3 ล้านคน หรือ 9 ล้านคน อาจจะต่ำไป

ในช่วงวิกฤตต้องมีมาตรการเผื่อไว้สำหรับกรณี “เลวร้ายที่สุด” เอาไว้ก่อน และไม่ควรจะมีทัศนคติแบบเจ้าหน้ที่ของรัฐ (ซึ่งไม่เคยตกงาน และได้รับเงินเดือนค่าจ้างเต็มจำนวนตรงเวลา) ว่า คนที่มาลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ จะมีพวก “ฉวยโอกาส” ปะปนเข้ามาด้วย

จริงอยู่ อาจจะมีคนฉวยโอกาสเข้ามาหากินกับเงินช่วยเหลือของรัฐ แต่คนเหล่านี้ตรวจสอบได้ไม่ยาก เพราะการลงทะเบียนจะทำให้รัฐมีฐานข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้น เมื่อเอามาวางทาบกับฐานข้อมูลอื่น เช่น การเสียภาษี เท่านี้ก็รู้ว่าใครเดือดร้อนจริง ใครฉวยโอกาส แต่ข้อเท็จจริงในวันนี้ก็คือ ยิ่งปล่อยนานวันไป จำนวนผู้เดือดร้อนและความเสียหายก็จะยิ่งมากขึ้น

ย้ำครับ ช่วยคนออกจากโรงพยาบาล หรือไม่ให้ป่วย ดีกว่าตามไปเก็บศพเขาที่หลัง

3.เกษตรกร ที่มีจำนวนอีกประมาณ 11 ล้านคน วันนี้ยังไม่เห็นมีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไรจากกระ
ทรวงเกษตรฯ มีการเสนองบเยียวยา-รองรับสถานการณ์เข้ามาไม่กี่หมื่นล้านบาท เงินไม่กี่หมื่นล้านบาทกับคน 11 ล้านคน แถมไม่มีมาตรการชัดเจนว่าจะช่วยใคร อะไร อย่างไร เท่าไหร่ และเมื่อไหร่

เหมือนที่ทุกคนรู้จักคติว่า ในทุกวิกฤตมีโอกาส

วิกฤตที่สาหัสที่สุดครั้งนี้ของสังคมไทยก็เช่นกัน ถ้าสามารถจัดการจำกัดการแพร่ของโรคได้เร็ว ถ้ามีมาตรการเศรษฐกิจที่ครบถ้วน ทั่วถึง และพอเพียงที่จะเยียวยาปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งวางรากฐานรองรับการฟื้นตัวที่จะต้องมาถึงวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว ไทยอาจจะกลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จที่สุดในการจัดการกับวิกฤตไวรัส-วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ได้

เพราะความแตกต่างที่สุดของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้กับวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ก็คือ

ครั้งนั้นเราหมดเนื้อหมดตัวไปแล้ว ต้องให้ไอเอ็มเอฟมากู้ซาก มีภาระจะต้องจ่าย “ค่าปฏิกรณ์สงคราม” มหาศาล

แต่ครั้งนี้ เงินมี ทรัพยากรมี สถาบันการเงินไม่ได้อ่อนแอเหมือนหนก่อน ยังพอเป็นหลังพิงให้ระบบเศรษฐกิจได้ (ถ้ารัฐรู้วิธีจัดการ) ไม่ต้องพึ่งใคร ขอแค่จัดการให้เป็น ได้แก่

-คิดและทำเป็นองค์รวม ไม่แยกส่วนกันทำ ไม่ต่างคนต่างทำ
-ไม่ประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริง จนตั้งรับไม่ทันเมื่อวิกฤตจริงมาถึง
-ต้องเปลี่ยนทัศนคติจาก “รัฐป่อเต๊กตึ๊ง” ที่คอยเก็บศพ มาเป็น “รัฐคุณหมอ” ที่ต้องช่วยทุกคนให้แข็งแรงดี

ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการนำที่มีประสิทธิภาพ เข้มแข็ง และกัดติดปัญหา

ต้องเข้าใจว่า นี่คือสงครามที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยเผชิญหน้า แก้ได้ทัน แก้ได้ดี ก็จะกระโดดขึ้นไปเป็นประเทศแถวหน้าของโลกได้

แก้ไม่ทัน ถึงขั้นหายนะ-ล้มละลายกันทุกคนในประเทศนี้

และไม่รู้ด้วยว่าอีกกี่ปีจะกลับฟื้นขึ้นมาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image