บทนำวันจันทร์ที่6เมษายน2563 : สื่อสารยามวิกฤต

สื่อสารยามวิกฤต

รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รวมศูนย์การชี้แจงข้อมูลและมาตรการต่างๆ เป็นเอกภาพมากขึ้น และเห็นได้ชัดว่า ทำให้เฟคนิวส์ หรือข่าวเท็จต่างๆ ที่ปล่อยผ่านระบบออนไลน์ลดลงไปมาก และทำให้ประชาชนรับรู้ว่า จะติดตามข่าวอย่างเป็นทางการได้จากแหล่งข่าวใด อย่างไรก็ตาม ระบบของ ศบค. ยังเป็นการแจ้งข่าวทางเดียว น่าจะต้องมีการรับฟังเสียงสะท้อน หรือคำถามที่ประชาชนสงสัยคาใจอย่างทันท่วงที หากทิ้งไว้และมีจำนวนมากขึ้น อาจเป็นโอกาสของการปล่อยข่าวเท็จหรือเฟคนิวส์ได้อีก

เหตุความวุ่นวายที่คนไทยกลับจากต่างประเทศเมื่อวันที่ 3 เมษายน ไม่ยอมกักตัวตามมาตรการของรัฐ เพราะไม่พอใจมาตรการคัดกรองที่ล่าช้า ไม่พอใจที่ไม่ทราบถึงการกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ คนจำนวนหนึ่ง หลบไปจากสนามบินสุวรรณภูมิ อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จนเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งให้มารายงานตัว และยังไม่ทราบว่า การหลบออกไป จะมีผลต่อการแพร่กระจายของไวรัสหรือไม่ เป็นอีกภาพสะท้อนว่า การประชาสัมพันธ์ การสื่อสารยามวิกฤตของรัฐบาลน่าจะมีปัญหาไม่ทันเหตุการณ์

ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวประชาชนเข้า รักษาตัวจากการติดเชื้อโควิดที่โรงพยาบาลเอกชน แล้วถูกเรียกเก็บค่ารักษานับแสนบาท ต่อมาเฟซบุ๊กเพจไทยคู่ฟ้า ได้โพสต์ว่า ห้ามโรงพยาบาลเอกชน เรียกเก็บค่ารักษาผู้ป่วยโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุขย้ำว่า ขอให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่นำค่าใช้จ่ายมาเป็นเงื่อนไข ห้ามเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยหรือญาติโดยเด็ดขาด และให้จัดเก็บเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่าย เพื่อเบิกจ่ายตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศต่อไป

จากเหตุการณ์ความไม่เข้าใจต่างๆ รัฐควรมี นโยบายให้ทุกส่วน เปิดเผยข้อมูลและสื่อสารกับประชาชน โดยใช้สื่อที่ไปถึงประชาชนได้ง่ายที่สุด รวมถึงในต่างจังหวัด ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ มีอำนาจออกมาตรการต่างๆ ก็ควรมีการสื่อสารไปสู่ประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจ และพลังจากความเข้าใจ เป็นความร่วมมือร่วมใจ ก้าวผ่านสถานการณ์เลวร้ายนี้ไปให้ได้โดยเร็ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image