รายงานหน้า2 : นานาทรรศนะ… เท‘1.6ล้านล.’สู้‘โควิด’

หมายเหตุความเห็นของฝ่ายการเมือง นักธุรกิจ และนักวิชาการ ภายหลัง ครม.นัดพิเศษเคาะมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจชุดที่ 3 ดูแลครอบคลุมประชาชน ธุรกิจ ภาคการเงิน คาดวงเงินสูงถึง 10% ของจีดีพี หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 4 เมษายน

 

อนุสรณ์ ธรรมใจ
อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง

วงเงินของมาตรการเศรษฐกิจ 10% ของจีดีพี หรือประมาณ 1.68 ล้านล้านบาท ด้วยขนาดของเม็ดเงินทั้งมาตรการทางการคลังและการเงินอาจจะเพียงพอต่อการประคับประคองเศรษฐกิจและอาจจะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมาเป็นบวกได้เล็กน้อยในไตรมาสสองปีหน้า หากมีการบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ มาตรการต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะอื่นๆ โดยเฉพาะนโยบายทางด้านสาธารณสุขและการควบคุมการแพร่ระบาดมีประสิทธิผลตามเป้าหมาย ดูเหมือนว่าการใช้งบประมาณมากขนาดนั้นเมื่อเทียบกับจีดีพีประมาณ 10% เป็นระดับใกล้เคียงกับ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน สิงคโปร์ แต่หากพิจารณาข้อมูลในรายละเอียดพบว่า 10% ของจีดีพีของไทยนั้นรวมมาตรการทางการเงินเข้าไปด้วย หลายประเทศใช้งบ 10% กว่าๆ ของจีดีพีเฉพาะมาตรการทางการคลังอย่างเดียว ไทยคงจะทำแบบบางประเทศยากเพราะไม่ได้มีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีอย่างจริงจัง ฐานภาษีทรัพย์สินแคบมากๆ หากขยายฐานภาษีทรัพย์สินก่อนหน้านี้ รัฐบาลจะทำงานได้คล่องตัวขึ้นในการจัดการงบประมาณและบริหารหนี้สาธารณะ ภาษีทรัพย์สินมันมีมิติเศรษฐศาสตร์การเมืองอยู่ ฉะนั้นอย่าได้แปลกใจว่า ทำไมสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
เมื่อไม่ขยายฐานภาษีทรัพย์สินจริงจัง ย่อมมีเงินรายได้ไม่พอ จึงต้องกู้เงิน หากกู้เงินมากขนาดเดียวกับบางประเทศ 10% ของจีดีพี ความเสี่ยงของฐานะทางการคลังจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในอนาคต คำตอบ จึงมาอยู่ที่การตัดลดงบที่ไม่จำเป็นตอนนี้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธและโครงการก่อสร้างที่มีการนำเข้าสูง ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงานและไม่กระตุ้นเศรษฐกิจภายใน มีโจทย์หรือประเด็นที่จะต้องพิจารณาดังนี้ ประเด็นแรก จะอยู่ที่ว่าจะหาแหล่งเงินมาจากไหนในส่วนของมาตรการทางการคลัง ทั้งส่วนมาตรการลดภาษี ลดการจัดเก็บค่าบริการสาธารณะของรัฐ (ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าโทรคมนาคม) และมาตรการการใช้จ่ายภาครัฐ (ลงทุนเพื่อทำให้เกิดการจ้างงานและรายได้) มาตรการเงินโอน (ชดเชยรายได้ เพิ่มสวัสดิการการว่างงาน) งบเพิ่มเติมใหม่นี้จะต้องไม่ไปเบียดบังงบประมาณลงทุน อื่นๆ ที่จำเป็นเพราะจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อประเทศ ประเด็นที่สอง การทบทวนและการจัดสรรงบใหม่ปี 2563 ต้องตัดลดงบไม่จำเป็นและเพิ่มในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน จึงต้องเรียงลำดับความสำคัญให้ดีตามพันธกิจของการบรรเทาปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจโดยมุ่งเป้าไปที่ กลุ่มคนที่เปราะบาง คนที่อ่อนแอรายได้น้อยก่อน ต้องจัดงบไปดูแลในส่วนที่จะให้ผลกระทบในวงกว้างก่อน จัดหาอุปกรณ์ทางแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อการรับมือการแพร่ระบาดของโรคในระยะต่อไป
ประเด็นที่สาม ในส่วนของเงินกู้ ให้กู้ภายในประเทศก่อน หากมีผลต่อสภาพคล่องในระบบ หรือหากมีสัญญาณเกิด Crowding out effects ให้กู้ต่างประเทศแทน ประเด็นที่สี่ สัดส่วนของมาตรการทางเศรษฐกิจต้องไม่มุ่งไปที่นำเงินไปแจกเพื่อชดเชยรายได้แต่เพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไป และจะไม่ได้แก้ปัญหาแบบยั่งยืน การแจกเงินต้องเชื่อมโยงกับการก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ รายได้ใหม่ และการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจและธุรกิจไทยในอนาคต ประเด็นที่ห้า มาตรการสินเชื่อต่ำพิเศษ ช่วยบรรเทา ปัญหาสภาพคล่องและความยากลำบากทางการเงินของผู้ประกอบการเท่านั้น ไม่มีหลักประกันอะไรที่สถานการณ์การเลิกจ้าง การล้มละลายลงของกิจการจะหยุดลงในเวลาอันสั้น เนื่องจากอุปสงค์มวลรวมหดตัวอย่างรุนแรงฉับพลันมากกว่าที่ควรจะเป็น จากการหยุดชะงักและทรุดตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งและภาคการผลิตบางส่วนอันเป็นผลมาจากตัวโรคระบาดเอง และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ไม่มีประสิทธิภาพและบูรณาการอย่างดีในช่วงแรก รวมทั้งล่าสุดได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การใช้จ่ายเพื่อการจ้างงาน เพื่อลงทุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดรายได้ใหม่ทดแทนรายได้ที่หายไป จึงสำคัญกว่ามาตรการสินเชื่อต่ำพิเศษ แต่มาตรการนี้ก็จำเป็นต้องมีแต่ไม่เพียงพอต้องมีมาตรการอื่นเสริม มาตรการนี้ถึงจะส่งผล
ประเด็นที่หก มาตรการการเสริมสร้างอาชีพและทักษะใหม่ในชุมชนเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องเป็นการผลิตสินค้าและบริการที่มีอุปสงค์รองรับ และต้องเป็นระบบการผลิตที่ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นมีความเข้มแข็งในระยะยาวมากกว่าพึ่งพิงทุนขนาดใหญ่แบบโครงการประชารัฐ ประเด็นที่เจ็ด มาตรการช่วยเหลือกลุ่มทุน
ธนาคาร กลุ่มทุนขนาดใหญ่ หรือ การสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดการเงิน ต้องใช้การผ่อนคลายกฎระเบียบเป็นหลัก หลีกเลี่ยงการใช้เงินภาษีประชาชน พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ซื้อตราสารที่จะครบกำหนดไถ่ถอน ต้องเป็นตราสารที่ผู้ออกมีคุณภาพดี และต้องมุ่งไปที่การดูแลนักลงทุนรายย่อย หรือนักลงทุนสถาบันที่เกี่ยวกับการบริหารผลประโยชน์การลงทุนให้กับผู้ออมที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ การขอขยายเวลาการคุ้มครองเงินฝากออกไปเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพื่อลดความกังวลใจจากผู้ฝากเงิน ซึ่งเดือน ส.ค.นี้ จะลดการคุ้มครองเงินฝากลงเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท จาก 5 ล้านบาท ธปท.จึงเสนอให้ขยายเวลาการคุ้มครองที่ 5 ล้านบาทไปอีก 1 ปี

Advertisement

 

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปและรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

สําหรับวงเงินในการช่วยเหลือเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 จำนวน 1.6 ล้านล้านบาท มองว่าเป็นการเพิ่มปัญหาหนี้สาธารณะให้สูงขึ้น แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องทำ แต่จะเพียงพอในการรักษากลไกเศรษฐกิจในประเทศหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่สถานการณ์ของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าจะเร็วแค่ไหน หากรัฐบาลมีการยกระดับการประกาศปิดเมืองจากเดิมที่กำหนดไว้ตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. เป็นห้ามออกจากที่อยู่อาศัยทั้งวันคาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และทำให้ภาคการผลิตหยุดชะงักได้ รวมถึงงบประมาณที่รัฐบาลเตรียมไว้ เพื่อช่วยเหลืออาจไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชนอย่างแน่นอน แต่ตอนนี้สถานการณ์ยังไม่รุนแรงถึงขั้นนั้น จึงถือว่างบประมาณที่คาดว่ารัฐบาลจะดึงออกมาใช้ยังเพียงพอต่อสถานการณ์
ในขณะนี้อยู่
“การประกาศปิดเมืองของรัฐบาลในครั้งนี้ คงจะทำให้หลายฝ่ายได้รู้สึกว่าความคิดที่ต้องการให้ปิดเมือง ไม่ให้มีการเข้า-ออก เป็นวิธีที่เจ็บแต่ไม่จบแล้ว เพราะว่าแค่ปิดตามที่รัฐบาลกำหนดในขณะนี้ หลายธุรกิจก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่มีการปิดตัวไปมากที่สุดในช่วงนี้ แต่เรื่องดี คือทำให้ประชาชนได้เห็นถึงความรุนแรงของโรคระบาดนี้ และร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น แต่อีกสิ่งที่ในช่วงนี้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจควรทำคือ เตรียมตัวให้พร้อมกับการกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง อาทิ การจัดทำมาตรการเรื่องความปลอดภัยในด้านต่างๆ การเพิ่มความปลอดภัยให้กับลูกจ้างในการเตรียมหน้ากากอนามัยไว้คอย
ให้บริการ เป็นต้น”
ในส่วนของการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล ทั้งในเรื่องของมาตราการมอบเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน และการช่วยเหลือจากประกันสังคม แต่มองว่ารัฐควรออกมาตรการควบคู่กับการช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อนหน้านี้ ถึงแม้จะออกมาช้าไป แต่ก็ถือว่าเป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีวิธีหนึ่ง แต่จะต้องทำควบคู่ไปกับการจัดหามาตรการรองรับในอนาคต เพราะมีลูกจ้างต้องตกงานจากเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ถึงแม้รัฐจะช่วยเหลือในส่วนของค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคได้ แต่ลูกจ้างหลายคนยังมีภาระหนี้สินในส่วนอื่นที่ต้องรับผิดชอบ จึงอยากให้รัฐเตรียมมาตรการช่วยเหลือในระยะยาว
ไว้ด้วย
อาชีพที่มีผลกระทบที่สุดจะเป็นผู้ประกอบการและอาชีพที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาทิ มัคคุเทศก์ และโรงแรมขนาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงแม้จะมีการช่วยเหลือบ้างแล้ว แต่จากอัตราการเข้าพักจาก 100 ห้อง เหลือเพียง 5 ห้อง ทำให้ธุรกิจนั้นต้องปิดตัวไป และมีแนวโน้มที่จะไม่กลับมาทำธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ สิ่งที่รัฐบาลทำได้ดีที่สุดตอนนี้ คือ สร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการว่าหลังจากผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปแล้ว จะผลักดันในเกิดการท่องเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น ทั้งนี้ มองว่าไทยควรเน้นการท่องเที่ยวในประเทศก่อน หากคนในประเทศมั่นใจเชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแน่นอน

Advertisement

 

อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์
ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์
เลขานุการ และโฆษกคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา

ส่วนตัวยังไม่มั่นใจว่ามาตรการขนาด 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ในวงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท ตามที่รัฐบาลตั้งไว้ จะเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในระยะยาวหรือไม่ แม้จะเห็นด้วยกับรัฐบาลที่ให้ทางสำนักงบประมาณเกลี่ยงบ 10% ของปี 2563 ของทุกกระทรวงในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ออกมาก่อน แต่ส่วนตัวยังคิดว่าคงไม่พอ ในฐานะ ส.ส.ก็อยากเสนอให้รัฐบาลพิจารณาลงไปอีกว่างบประมาณในส่วนไหนที่คิดว่ายังไม่มีความจำเป็นบ้าง โดยเฉพาะงบฯที่ตั้งไว้สำหรับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของทหารในปีนี้ควรจะต้องตัดออกไปก่อน เพื่อนำมาใช้สำหรับการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ให้กับประชาชน เพราะเชื่อว่าสถานการณ์จากปัญหาด้านความมั่นคงและการทหารคงจะไม่มี เพราะทั่วโลกต่างก็ประสบปัญหานี้เหมือนกัน
ผมคิดว่าจังหวะเวลานี้เป็นโอกาสที่ดีมากที่กองทัพจะได้แสดงให้พี่น้องประชาชนเห็นว่าทหารไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการจัดซื้ออาวุธ แต่มุ่งหมายในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน อยากให้ทหารใช้วิกฤตนี้สร้างศรัทธาให้กับประชาชน อะไรตัดได้ตัดก่อน รวมไปถึงการเกณฑ์ทหารด้วย หากเป็นไปได้อยากให้งดการเกณฑ์ทหารในปีนี้ออกไป รอสถานการณ์เบาบางแล้วค่อยเรียกย้อนกลับไปเกณฑ์ใหม่ในปีหน้า
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ผลกระทบนี้ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ เพราะส่งผลต่อประชาชนทุกคนและทุกธุรกิจจริงๆ แต่เบื้องต้นสำหรับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดลำดับแรก ล้วนเป็นธุรกิจภาคบริการ โดยเฉพาะท่องเที่ยว และโรงแรม ที่ได้รับผลจากคำสั่งของรัฐบาลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ดังนั้น มาตรการต่างๆ ที่ออกมาตามวงเงิน 1.6 ล้านล้านบาทตามที่รัฐบาลตั้งไว้ จึงอยากให้พิจารณาลำดับความสำคัญของผลกระทบก่อนจัดสรรงบประมาณลงไปช่วย ไม่ใช่ว่าไปจัดให้แต่ละภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบไม่เท่ากันอย่างเท่าเทียม เพราะเรื่องนี้มีผู้ที่ได้ผลกระทบมากน้อยลดหลั่นกันไป รวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณในปี 2564 ที่จะเข้าสู่สภาฯในช่วงเปิดสมัยประชุมเดือนพฤษภาคมนี้ด้วยที่จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาล โดยสำนักงบประมาณจะต้องมีการปรับตัวเลขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ของประเทศที่เพิ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image