รายงานหน้า2 : ‘อว.’กระทรวงต้นแบบ เกลี่ย3พันล.สู้‘โควิด’

หมายเหตุ ส่วนหนึ่งของรายงานบทสรุปที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่งถึงผู้บริหาร อว.

เมื่อทั่วโลกเข้าสู่วิกฤตโควิด-19 ทุกประเทศเกิดการแย่งชิงเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยโฆษกองค์การอนามัยโลกชี้ว่าภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันทั่วโลกนับเป็นภัยคุกคามเร่งด่วนที่สุดอย่างหนึ่งต่อความสามารถของนานาชาติที่จะรักษาชีวิตของผู้คน

⦁เกลี่ยงบ 3 พันล้านสนับสนุนงานวิจัยสู้โควิด
จากวิกฤตการณ์ดังกล่าว นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สั่งการภายใน อว. นาทีนี้ประเทศไทยต้องพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุดเพื่อนำพาประเทศในการฝ่าวิกฤต โดยจะต้องปรับระบบความคิดว่าเราจะเลือก MAKE or BUY โดยจะเป็นผู้ผลิตเอง หรือเป็นเพียงผู้ซื้อเท่านั้น
ล่าสุด อว.ได้มีการเกลี่ยงบประมาณภายในกระทรวงใหม่ทั้งหมด มีการจัดสรรงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท สนับสนุนงานวิจัยและการผลิตเวชภัณฑ์ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในช่วงนี้ เพื่อนำไปพัฒนาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์ เพื่อปลดล็อกปัญหาด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ

⦁ผลิตและส่งมอบชุดตรวจโควิดแสนชิ้น ในเดือนเมษายนนี้
ขณะนี้ อว.คิดค้นและผลิตสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วคือ ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่เป็นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ซึ่ง อว. โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ วิจัยและพัฒนาและผลิตชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุดได้มีการส่งมอบไปแล้ว 20,000 ชุด ให้กับรัฐบาลและจะทยอยส่งมอบทุกๆ สัปดาห์จนครบ 100,000 ชุด ภายในเดือนเมษายนนี้ โดยมีเป้าหมายจะผลิตให้ครบ 1 ล้านชุด ภายในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ใช้ฟรีตามโรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องตรวจทั่วประเทศกว่า 100 แห่ง
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการพัฒนาชุดตรวจแบบ LAMP ที่ให้ผลตรวจรวดเร็วขึ้นจำนวน 3 โครงการ จะเริ่มผลิตชุดตรวจออกมาใช้จริงในเดือนเมษายน 2563 เพื่อสนับสนุน/ทดแทน ชุดตรวจแบบ RT-PCR พร้อมทั้งการพัฒนาชุดตรวจแบบ CRISPR-cas ซึ่งใช้เวลาในการตรวจสั้นลง ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพ

Advertisement

⦁วชิรพยาบาลชู 4 นวัตกรรมกู้วิกฤต
ขณะเดียวกัน ยังได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งจะรวบรวมนวัตกรรมทั้งหมดของ อว. พร้อมทั้งเชื่อมโยงการทำงานในรูปแบบจตุภาคี ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคเอกชน/อุตสาหกรรมและ อว. ในการพัฒนาและผลิตด้านเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง
สำหรับหน่วยงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้มีการคิดค้น 4 นวัตกรรมออกมาใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นวัตกรรมแรก คือ เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ที่ปรับมาจากห้องปลอดเชื้อที่ใช้กับคนไข้วัณโรค ผลิตออกมาแล้ว 11 ตัว ใช้ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล 2 ตัว และแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลอื่น พร้อมเตรียมต่อยอดนำนวัตกรรมโดยจับมือกับบริษัท ปตท. และฮอนด้า ในการนำต้นแบบเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ไปผลิตต่อ โดย ปตท.สามารถผลิตกล่อง HEPA Filter ได้เองแล้ว ใช้เวลาการผลิตราว 2 เดือน
นวัตกรรมที่ 2 หมวกปรับแรงดันบวกสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ (Powered Air-Purifying Respirator – PAPR) ที่ใช้สวมใส่เพื่อการต่อท่อหายใจให้กับคนไข้ติดเชื้อรุนแรง ผลิตได้ 300-500 ตัว คาดว่ามีความต้องการใช้ 20 ตัวต่อหนึ่งโรงพยาบาล รวมความต้องการอยู่ราว 1,000 ตัว หากมีการร่วมมือในการผลิตจะใช้เวลาเพียง 1 เดือน จะสามารถรองรับความต้องการใช้ได้ทั้งหมด
ล่าสุด ทีมวิจัยและนวัตกรรมของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเครือข่ายวิชาการได้พัฒนาและส่งมอบระบบพัดลมปลอดเชื้อคุณภาพสูง (DC Fan) 10,500 เครื่อง ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญของชุดปลอดเชื้อความดันบวกและหมวกปรับแรงดันบวก เพื่อนำไปประกอบการผลิตชุดปลอดเชื้อและหน้ากากป้องกันเชื้อโรคความดันบวกให้บุคลากรทางการแพทย์แล้ว
นวัตกรรมที่ 3 หน้ากากอนามัยไส้กรอง N99 หล่อหน้ากากซิลิโคนที่สามารถผลิตได้เองในประเทศไทยต่อเข้ากับ HEPA Filter ของเครื่องช่วยหายใจ โดยหน้ากากอนามัยไส้กรอง N99 มีกำลังการผลิตราว 200 ชิ้นต่อวัน คาดว่าภายในเวลา 1 สัปดาห์ สามารถผลิตได้เพียงพอต่อการส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะกับโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ยัง
ขาดแคลน
นวัตกรรมที่ 4 ชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE นวัตกรรมการผลิตชุดป้องกันจากเกรด 4 ขึ้นเป็นเกรด 5 หรือ Medical Grade เปลี่ยนวัสดุจากไฟเบอร์ซึ่งเป็นวัสดุที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มาเป็นพลาสติกสปันบอนด์ที่เป็น Polypropylene กันน้ำได้ นอกจากนี้ ได้ร่วมกับพีทีทีจีซี และไออาร์พีซี 2 บริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ของเมืองไทย สนับสนุนวัสดุพลาสติกในการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคล สามารถผลิตเบื้องต้นราว 500-2,000 ตัว จากความต้องการราวแสนตัว

⦁เตรียมเปิดมหาวิทยาลัย-38 ราชภัฏเป็น รพ.สนาม
ที่สำคัญ หากสถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงขึ้น อว.ยังได้เตรียมขยายผลในการเปิดโรงพยาบาลสนามไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยภูมิภาครวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ โดยใช้โมเดลโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ แบ่งการรับมือเป็น 4 ประเด็น ดังนี้
1.ระบบติดตามผู้ติดเชื้อเพื่อใช้ในการควบคุมโรคโดยโปรแกรม DDC-Care ร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.ระบบ TeleHealth การแพทย์และสุขภาพทางไกลเพื่อช่วยคัดกรองโรคและวินิจฉัยเบื้องต้น ลดความจำเป็นของประชาชนในการมา รพ. และลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับภาคเอกชน
3.ระบบ Logistics เพื่อบริหารจัดการความต้องการเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาระหว่างผู้ใช้คือโรงพยาบาล และแหล่งผลิตรวมทั้งผู้บริจาค โดยทำร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงสาธารณสุข
4.ระบบ MELB Platform เพื่อบริหารจัดการการบริจาคสิ่งของต่างๆ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)

⦁เปิดเกมรุก 4 งานวิจัยเร่งด่วน
อว. โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ประกาศเปิดเกมรุกด้วยการเปิดรับข้อเสนอทุนวิจัยและนวัตกรรมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่วันนี้ – 14 เมษายนนี้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อเตรียมรองรับวิกฤตที่อาจร้ายแรงขึ้นในอนาคตใน 4 เรื่องเร่งด่วน ได้แก่
1.การวิจัยและพัฒนาหน้ากากอนามัย N95 เพื่อใช้ทางการแพทย์
2.การวิจัยและพัฒนาชุดป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ หรือ Personal Protective Equipment (PPE) เช่น เสื้อกาวน์ป้องกันการติดเชื้อ (Surgical gown) และชุดป้องกันร่างกาย (Safety coverall) และอื่นๆ
3.การวิจัยและพัฒนาเครื่องช่วยหายใจ (Ventilators/Respirators)
4.การวิจัยและพัฒนาระบบห้องและการปรับอากาศแรงดันลบ (Negative-pressure Facilities) และโรงพยาบาลสนาม
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเปิดเกมต่อสู้กับไวรัสร้ายโควิด-19

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image