รายงานหน้า2 : หยั่งเสียงผู้ประกอบการ ถึงเวลา?! รีสตาร์ต‘ธุรกิจ’

หมายเหตุความเห็นภาคเอกชนกรณีสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 เริ่มควบคุมอยู่ในวงจำกัด รัฐบาลควรผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการหรือไม่นั้น

 

กวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล
ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา

ในวันนี้ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างหอการค้าไทย ซึ่งเป็นการประชุมผ่านระบบบออนไลน์ เพื่อหารือในเรื่องของการเริ่มต้นธุรกิจกันอีกครั้ง โดยในส่วนของหอการค้าจังหวัดสงขลานั้นมองว่า เราควรจะมีความมั่นใจ มีความชัดเจนถึงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ว่าตัวเลขผู้ป่วยนั้นลดน้อยลงและเป็นข้อมูลที่แท้จริง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำกรณีไวรัสโควิด-19 ยังไม่หมดไปอย่างแท้จริง
หรือยังมีกลุ่มที่สามารถแพร่เชื้อได้แต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งหากเราเริ่มเปิดธุรกิจอีกครั้ง แล้วมีผลกระทบทำให้เชื้อบานปลายอีกครั้งก็จะยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น และยืดเยื้อออกไป หลายจังหวัดจึงเห็นพ้องกันว่ายังไม่พร้อมที่จะเริ่มเปิดธุรกิจในช่วงนี้
โดยมองว่าสัญญาณที่เหมาะสมที่กล้าพูดว่าทยอยเปิดได้แล้วก็คือ 30 เมษายน และ 15 พฤษภาคม คือ หากสถานการณ์ดีขึ้นจริงๆ แนวโน้มตัวเลขที่พบผู้ป่วยเลข 2 หลักแล้วลดลงเรื่อยๆ แสดงว่า 30 เมษายน อาจจะผ่อนปรนในเรื่องเคอร์ฟิว มีการปลดล็อกเคอร์ฟิว ปลดล็อกปิดเมือง ถ้า 15 พฤษภาคม ตัวเลขน้อยแล้วหลักไม่เกิน 10 แสดงว่าผู้ประกอบการบางประเภทเปิดได้แล้ว เช่น ตลาดนัด เปิดท้าย ศูนย์อาหาร ศูนย์บริการทั่วไป แต่สถานบันเทิงแหล่งบันเทิงยังไม่เปิดก่อน หลัง 15 พฤษภาคม ถ้าไม่มีอะไร ก็คิดว่าน่าจะทยอยเปิดไปเรื่อยๆ ดูหมวดธุรกิจที่จำเป็นต่อการครองชีพ ส่วนธุรกิจสถานบันเทิงนั้นมองว่ายังไม่ใช่เป็นธุรกิจที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ หอการค้าต่างก็ดูตัวเลขผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ รวมถึงมาตรการต่างๆ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เพื่อให้มั่นใจว่าไวรัสโควิด-19 จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ไม่กระทบต่อภาคธุรกิจอีกครั้ง แม้จะยืดระยะเวลาออกไป แต่ก็ขอให้มีความมั่นใจดีกว่า

Advertisement

 

วโรดม ปิฏกานนท์
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

น่าจะเริ่มที่กิจการที่มีกิจกรรมซื้อขายประจำวันมากกว่าธุรกิจตัวอื่น อาทิ ร้านตัดผม เสริมสวย ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า และร้านอาหาร ซึ่งมีคนเข้าออกและใช้บริการทุกวัน ซึ่งเราเพิ่งมีการหารือกันว่า เขาจะมีความเข้มงวดและมีมาตรการชัดเจนในเรื่องความสะอาด
ร้านตัดผมและร้านเสริมสวยแจ้งว่า จะมีการควบคุมในเรื่องการใส่หน้ากากอนามัยทั้งคนตัดและลูกค้า ไม่กันจอน มีการจองคิวล่วงหน้า เว้นระยะห่างในระหว่างรอคิว และลงบันทึกชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เพื่อง่ายต่อการติดตามตัวลูกค้า เพราะตอนนี้เราได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะไม่มีรายได้เลย ในขณะที่ร้านอาหาร ต้องเป็นร้านที่มีความโปร่ง โล่ง มีอากาศและลมพัดถ่ายเทได้ดี ไม่มีแอร์คอนดิชั่น โต๊ะต้องตั้งห่างกัน 2-3 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
ปัญหามันเกิดในธุรกิจทุกกลุ่ม หนักหน่อยก็พวก SMEs แม้รัฐบาลจะมีมาตรการพักชำระหนี้จากธนาคาร แต่ก็ไม่เหมือนกันทุกธนาคาร บางแห่งพักทั้งต้นทั้งดอกเบี้ย บางแห่งพักต้นแต่ไม่พักดอกเบี้ย บางแห่งไม่สนใจเลย สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการมากที่สุดในขณะนี้คือ เงินทุนหมุนเวียน เพราะจากยอดขายที่เคยได้ แต่ปัจจุบันทุกอย่างคือ ศูนย์ แต่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม ซึ่งธรรมชาติของธุรกิจหากทุกอย่างเป็นศูนย์ ก็คือ การปิดกิจการแน่นอน
เพราะซอฟต์โลนที่ออกมา กลุ่ม SMEs เข้าถึงยากมาก ธนาคารเฉพาะกิจและไม่เฉพาะกิจมีเงื่อนไขสูงมาก สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้คือการปรับรูปแบบการค้าขาย ไปสู่ไดรฟ์ทรู ออนไลน์ โกดังเล็กๆ เพราะโชว์รูมถูกปิดตาย ร้านอาหารที่เคยขายดีก็ขายไม่ได้ แม้จะผันตัวไปตามภาวะสู่ระบบแกร็ปฟู้ด หรือฟู้ดแพนด้า มาช่วย แต่ยอดขายก็ตกลงไปถึง 70-80% ทำได้เพียงประคับประคองธุรกิจตัวเองเอาไว้ ถ้าไม่ไหวก็จบ

Advertisement

 

ธีระพล ชลิศราพงศ์
ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง

ในขณะนี้จังหวัดระนองยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่สีขาวและยังคงมีผู้กักตัวเพื่อเฝ้าระวังอยู่อีกจำนวนหนึ่ง จึงเห็นว่ารัฐควรจะคงมาตรการเอาไว้ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ เพื่อความชัดเจนว่าจะไม่มีเชื้อไวรัสเกิดขึ้นในพื้นที่
ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจในพื้นที่นั้น ยอมรับว่าน่าจะเสียหายไปมากกว่า 50% จากการสั่งปิดกิจการ รวมไปถึงผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้
ในส่วนของสถาบันการเงินนั้น มีความเห็นว่าควรจะหยุดการคิดดอกเบี้ยและให้มีการพักชำระหนี้ไปเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นการแบ่งเบาและช่วยเหลือประชาชนที่ชัดเจนที่สุด เพราะการพักชำระดอกเบี้ยโดยที่ยังคิดอยู่นั้น เมื่อถึงเวลาต้องจ่าย ภาระของประชาชนหรือลูกหนี้มันจะหนักขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมองว่าอาจจะไม่ได้เป็นการช่วยเหลือแต่อย่างใด โดยหลังจากนี้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จะได้มีการนำเสนอการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้หยุดยาวช่วงปลายปีถึงสิ้นปีเป็นเวลา 10 วัน โดยส่งเสริมให้คนไทยท่องเที่ยวภายในประเทศให้มากที่สุดด้วย

 

ชัชวาล วงศ์จร
ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

ลูกค้าที่ใช้บริการร้านเสริมสวย ร้านตัดผมชายส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ ซึ่งเป็นขาจรน้อยมาก ดังนั้นการคัดกรองลูกค้าสามารถดำเนินการได้ค่อนข้างง่าย ความเป็นจริงขณะนี้แม้นไม่ให้เปิดแต่ก็มีบางร้านแอบเปิดหรือใช้วิธีโทรศัพท์นัดหมายกันเอง
ส่วนร้านอาหาร ควรพิจารณาร้านขายอาหารประเภทจานเดียวหรือข้าวแกง ให้กำหนดพื้นที่ให้ตั้งโต๊ะและห้ามจัดเลี้ยงอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการนั่งนานๆ
ทั้งนี้ ข้อแนะนำให้หมั่นออกกำลังกายเพื่อเป็นภูมิต้านทาน แต่ไม่ให้ใช้สนามกีฬากลางแจ้งเป็นสถานที่วิ่ง เดิน หรือปั่นจักรยาน ประชาชนจะออกกำลังกายลดความเครียดสะสมได้อย่างไร
ขณะนี้ชาวโคราชให้ความร่วมมือกับส่วนราชการเป็นอย่างดี ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เพิ่มขึ้นหลายวัน การปลดล็อกกิจการบางอย่าง แล้วกำหนดกฎ กติกา ข้อห้าม ซึ่งเป็นมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมอย่างเคร่งครัด โดยขอความร่วมมือ เช่น ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและล้างมือก่อนใช้บริการ หากละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามก็ใช้บทลงโทษ เพื่อให้บางกิจการดำเนินการต่อลักษณะประคับประคองหรือให้มีโอกาสได้หายใจบ้าง น่าจะเป็นทางออกที่ควรพิจารณา มิเช่นนั้นธุรกิจท้องถิ่นตายสนิทแน่

 

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
ประธานกลุ่มสมาคมการค้าอาหารและเครื่องดื่ม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

เรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ลดลงถือเป็นเรื่องที่ดี และเห็นได้ถึงการปรับตัวของประชาชนที่มีมากขึ้น อาทิ การใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกจากบ้าน หรือไปพื้นที่สาธารณะต่างๆ เป็นต้น
ส่วนเรื่องการเปิดบางธุรกิจนั้น เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีของการเปิดให้บริการแล้ว แต่อย่าลืมว่าเชื้อไวรัสยังไม่ได้หายไปไหน การที่จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับลูกค้ามากขึ้น
มองว่าถึงเวลาที่ต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับสถานการณ์นี้ เพราะตอนนี้ยอดคนตกงานเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แล้ว
หากจะรอให้ภาครัฐกู้เงินมาช่วยเหลือ ไม่รู้ว่าต้องกู้มาอีกเท่าไรถึงจะพอในการช่วยเหลือ ดังนั้น ทุกธุรกิจต้องมีการปรับตัว
ซึ่งในตอนนี้จากการสื่อสารในช่องทางต่างๆ ทำให้ประชาชนเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นแล้ว สังเกตได้จากจำนวนผู้บริโภคที่ไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต
รวมถึงยังไม่พบผู้ที่ติดเชื้อไวรัสจากสถานที่ดังกล่าวจึงทำให้ประชาชนยังมีความมั่นใจที่จะเข้าไปจับจ่ายอยู่
ได้มีโอกาสประชุมร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินธุรกิจให้มีความปลอดภัย
โดยในที่ประชุมได้มีการเสนอการจัดทำแอพพลิเคชั่น เพื่อใช้ในการสั่งสินค้าล่วงหน้าและจองโต๊ะอาหาร เพื่อลดการไปยืนรอทานอาหารหน้าร้านเหมือนปกติ โดยการใช้แอพพลิเคชั่นในเบื้องต้นจะใช้วิธีให้ผู้ใช้บริการลงทะเบียน เพื่อเข้าสั่งอาหาร
หรืออีกนัยยะหนึ่ง เพื่อเป็นการติดตามประวัติของบุคคลนั้น ในกรณีที่เกิดการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 จะได้ติดตามตัวได้ง่ายมากขึ้น
นอกจากนี้ ทางร้านอาจจะต้องมีการปรับที่นั่งจาก 40 โต๊ะ ลดลงเหลือ 20 โต๊ะ เพื่อลดความแออัดภายในร้าน หรืออาจต้องติดที่ดูดอากาศ
เพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดีมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ในส่วนของพนักงานต้องมีการตรวจวัดไข้ และให้ใส่ถุงมือและหน้ากากอนามัยตลอดการให้บริการ
ซึ่งในส่วนของแอพพลิเคชั่นนี้ ยังเป็นเพียงแนวคิดและจะต้องมีการพัฒนาร่วมกับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาระบบต่อไป
นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจที่มีประชาชนเรียกร้องอยากให้เปิดค่อนข้างมาก คือธุรกิจร้านตัดผม มองว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สามารถเปิดให้บริการได้แต่ทั้งผู้ประกอบการและลูกค้าต้องมีการปรับตัว จากเดิมจะมีการพูดคุยกันภายในร้าน ในช่วงนี้อาจจะต้องรักษาระยะห่างเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ
ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังได้พูดคุยถึงร้านค้าที่มีความเป็นไปได้ที่จะเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคมนี้ อาทิ ร้านอาหาร และร้านตัดผม เป็นต้น
ส่วนสถานที่ที่ยังมีความเสี่ยงไม่ควรเปิดในระยะเวลาอันใกล้นี้ ได้แก่ สนามมวย และสถานบันเทิง ซึ่งในเรื่องของการคัดกรองว่าร้านใดควรเปิดบ้างอยู่ระหว่างพูดคุยถึงความเป็นไปได้อีกครั้ง
และต้องมีความมั่นใจว่าเปิดมาจะไม่เป็นการทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคมากขึ้น เบื้องต้น นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย จะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าที่ประชุมสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อีกครั้งในวันที่ 20 เมษายนนี้ ก่อนเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบข้อเสนอของภาคเอกชนต่อไป
สำหรับการกำหนดวันเปิดธุรกิจว่าจะสามารถเปิดได้ในเดือนพฤษภาคมนี้เลยหรือไม่ อำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่ที่นายกรัฐมนตรี และคณะแพทย์ว่ามีความคิดเห็นอย่างใด
รวมถึงต้องมองภาพรวมในหลายๆ ด้านว่ามีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนได้ยกตัวอย่างประเทศจีนเมื่อมีการเปิดให้บริการในสถานที่ต่างๆ แล้ว รัฐบาลจีนได้ทำคู่มือการประกอบอาชีพในช่วงที่เกิดการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 แยกเป็นแต่ละธุรกิจ
จึงอยากให้ภาครัฐทำในลักษณะเดียวกันกับรัฐบาลจีน เพราะแต่ละธุรกิจมีการปฏิบัติตัวไม่เหมือนกัน การมีคู่มือในการประกอบอาชีพจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image