รายงานหน้า2 : มุมมอง‘มิติทางสังคม’ ผลกระทบ‘ไวรัสโควิด’

หมายเหตุมุมมองของนักวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในมิติทางด้านสังคม ความสัมพันธ์ในครอบครัว ภายใต้ผลกระทบต่อมาตรการต่างๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

เคท ครั้งพิบูลย์
อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ตอนนี้มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตแน่ๆ การที่พ่อแม่หลายคนซึ่งเดิมทีใช้โรงเรียนในการเลี้ยงลูก แต่ตอนนี้ทุกอย่างปิดหมดจึงกลายเป็นความกดดัน อยู่ใกล้กันแต่ความสัมพันธ์จะไม่ดี เป็นการมีปฏิสัมพันธ์แบบไม่มีระยะห่าง นี่คือเรื่องแรก หลังจากนี้พ่อแม่หลายคนอาจต้องปรับตัวในการเลี้ยงลูกโดยเฉพาะหากรายได้ลดลง หรือไม่มีงานทำ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งถ้าต้องดูแลคนหลายคนในครอบครัวก็จะลำบาก
ถามว่ากรณีตัวอย่างในต่างประเทศที่มีสถิติหย่าร้างมากขึ้นในยุคโควิด สำหรับในประเทศไทย ส่วนตัวยังไม่ได้เห็นตัวเลข แต่น่าจะมีแนวโน้มที่เป็นแบบนั้น เพราะคนหงุดหงิดกันง่ายขึ้น การถูกกักตัวทำให้ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่กับคนในครอบครัวเป็นไปในทางลบ การจัดการเด็กที่จะต้องได้รับการดูแลในช่วงอายุไม่เกิน 12 ขวบ เป็นกลุ่มที่พ่อแม่เหนื่อยใจ เพราะปกติส่งไปโรงเรียน โดยเฉพาะครอบครัวชนชั้นกลางซึ่งฝากโรงเรียนเป็นที่ดูแลลูกทั้งหมด หรือส่งไปใช้เวลาในที่เรียนพิเศษ ส่งไปทำกิจกรรม แต่ตอนนี้ต้องมาเป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด งานก็ต้องทำเหมือนเดิม เพราะต้องทำออนไลน์ กลายเป็นว่าต้องทำงานไปด้วย ดูลูกไปด้วย
สำหรับประเด็นการปรับมาออนไลน์ ไม่ว่าจะเรียนออนไลน์ หรือ work from home เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับภาวะวิกฤตแบบนี้ ตอนแรกเลยแปลกใจว่าทำไมคนคิดกันว่านี่จะเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตต่อจากนี้ไปอีก ซึ่งคิดว่าคงไม่ใช่ แต่เป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะโครงสร้างพื้นฐานของเรา เครื่องอำนวยความสะดวกของการเรียนออนไลน์หรือการทำงานที่บ้านยังไม่ดีพอ แม้แต่สัญญาณอินเตอร์เน็ตก็ยังไม่เสถียรพอที่จะทำได้ หลังจากนี้คนคิดว่าคงเป็นทางเลือก หลายงานทำออนไลน์ได้ หลายอย่างเรียนออนไลน์ได้ แต่บางอย่างไม่สามารถทำได้ ก็ต้องกลับไปเป็นแบบเดิม เพียงแต่ก็ต้องมั่นใจว่าเมื่อกลับไปเป็นแบบเดิมแล้วจะทำให้ดีกว่าออนไลน์อย่างไร เพราะตอนนี้หลายอย่างออนไลน์พัฒนาไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม เราพูดกันเฉพาะสังคมในเมืองเท่านั้น ขณะที่ในต่างจังหวัดแทบไม่มีทางที่จะไปสู่การทำธุรกรรมหรือกิจกรรมทุกอย่างในออนไลน์ได้ มันเป็นไปไม่ได้ โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลและทรัพยากรของคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นหลายคนที่เข้าไม่ถึง ก็ยิ่งรู้สึกว่ามีความเหลื่อมล้ำ
ในช่วง 1-2 วันมานี้ เท่าที่ติดตามข้อมูล ในอเมริกาทำสำรวจเรื่องการแจกเงิน ซึ่งก็แจกเหมือนกับเรา การแจกเงินช่วยรักษาระดับความรู้สึกของการถูกปฏิบัติที่ดีได้จริงๆ เพราะฉะนั้นทุกที่ ทุกโมเดลทั่วโลก แจกเงินหมด สิงคโปร์ก็แจก เพราะรู้ว่าเป็นการปรับตัวที่ไวในภาวะวิกฤต ทุกคนต้องได้อะไรที่เอาไปสร้างอะไรได้ เช่น ซื้อข้าวได้ ซื้ออินเตอร์เน็ตได้ การให้เงินช่วยเหลือแบบเร่งด่วน ช่วยทำให้ความรู้สึกการได้รับการปฏิบัติอย่างเหลื่อมล้ำเบาบางลง แต่โดยทั่วไปคนจนก็ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีอยู่แล้ว

Advertisement

 

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน
นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ

สังคมหลังโควิด-19 คงไม่ได้เป็นยุคที่ตัดแบ่งกันอย่างชัดเจน แต่จะมีช่วงที่ลดมาตรการเนื่องจากสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งในแง่หนึ่งผลกระทบในปัจจุบันจะส่งผลต่อไปในช่วงการเปลี่ยนผ่านยุคหลังโควิดด้วย หากในอีก 2-3 เดือนข้างหน้ามีการผ่อนปรนมาตรการมากขึ้น ผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่อาจเห็นได้ชัดคือเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น งาน หรืออาชีพที่ยังไม่สามารถกลับมาได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะงานในภาคบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นงานในภาคเศรษฐกิจที่มีแรงงานอยู่ค่อนข้างมาก ในแง่หนึ่งจะทำให้กลุ่มคนเปราะบางในเขตเมืองที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเศรษฐกิจดังกล่าวยังไม่มีรายได้กลับมา หรืออาจจะมีรายได้ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบางส่วนอาจต้องเผชิญภาวะว่างงานอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังจะมีการลดมาตรการซึ่งไม่มั่นใจว่าจะยาวนานกี่เดือนหรือเป็นปี หรืออาจจะลดๆ เพิ่มๆ ความไม่แน่นอนต่างๆ เหล่านี้ไม่มีใครบอกได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่จะส่งผลกระทบแน่นอนกับคนยากจนและเปราะบางในเขตเมือง งานจำนวนมากอาจหายไป หรือเปลี่ยนรูปแบบ เช่น งานในภาคบริการ จะเกิดการว่างงานอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน แม้ภาครัฐจะเริ่มมีโครงการฝึกทักษะและพัฒนาทักษะของแรงงาน แต่โจทย์ที่น่าสนใจคือแรงงานที่ผ่านโครงการเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงตลาดแรงงานหรือมีความสอดคล้องกับงานในยุคหลังโควิดได้หรือไม่
อีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มวัยแรงงานที่มีอายุมาก หรือวัยแรงงานตอนปลายที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ยากจน อาจประสบปัญหาว่างงานจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด คนกลุ่มนี้อาจจะฟื้นกลับมายาก เพราะหากเศรษฐกิจฟื้นได้แล้ว กลุ่มแรงงานเหล่านี้อาจมีแนวโน้มที่เข้าถึงการทำงานได้ในระดับต่ำ
ปัจจุบันเรายังอยู่ในยุคโควิด เรื่องการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) อาจจะกลายเป็นบรรทัดฐาน (Norm) ในอนาคต แต่สิ่งที่น่าสนใจคือมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ไม่ได้มีทักษะเข้าถึงเทคโนโลยี เช่น กลุ่มเปราะบางในสังคม เป็นโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไร จะว่าเป็นโอกาสก็ไม่เชิง เพราะคนกลุ่มอื่นมีช่องทางที่จะหารายได้โดยการใช้เทคโนโลยี แต่คนบางกลุ่มแค่การเข้าถึงเทคโนโลยีพื้นฐานก็อาจจะประสบปัญหาทั้งในแง่การเข้าถึงเครื่องมือทางเทคโนโลยี และความรู้ในการทำการตลาด หรือใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ เป็นโจทย์ที่จะต้องพิจารณา เพราะอีคอมเมิร์ซอาจจะเป็นทางเลือกเฉพาะกลุ่ม แต่สำหรับบางกลุ่มอาจไม่ใช่ช่องทางสำหรับเขาเสมอไป
เรื่องของความเหลื่อมล้ำและเส้นแบ่งระหว่างชนชั้น ในแง่หนึ่ง มีคำพูดที่ปรากฏในข้อเขียนหลายชิ้นว่า จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สงครามโลกและโรคระบาดทำให้ความเหลื่อมล้ำของโลกใบนี้ลดน้อยลง แต่ในยุคปัจจุบันไม่แน่ใจนัก เพราะหากดูสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจน ในการอยู่รอดของคนรวย คนจน คนชั้นกลาง หรือระหว่างกลุ่มที่ยังมีรายได้ประจำกับกลุ่มที่มีรายได้รายวัน ภายใต้ยุคของโควิด ในแง่นี้ความเหลื่อมล้ำจึงมีแนวโน้มที่จะมากขึ้น กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยแทบจะไม่มีหนทางให้เลือกในชีวิต คนกลุ่มหนึ่งสามารถยืนได้อยู่ เวิร์กฟรอมโฮมก็สามารถสั่งอาหาร สั่งของได้ ในขณะที่อีกกลุ่ม เพียงข้าวแต่ละมื้อยังไม่รู้ว่าจะมีหรือไม่ คือความแตกต่างที่เห็นชัดเจนในฐานะผู้สังเกตการณ์ทางสังคม
นโยบายของภาครัฐจำเป็นที่จะต้องถูกออกแบบจากล่างขึ้นบน (Bottom Up) จะเห็นว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมาปัญหาการดำเนินการของนโยบายต่างๆ ของภาครัฐจำนวนหนึ่งสะท้อนปัญหาจากความเข้าใจความต้องการของคนที่อยู่ข้างล่างอย่างแท้จริง ทั้งในประเด็นความไม่ครอบคลุม และความไม่สอดคล้องกับผู้รับความสนับสนุนช่วยเหลือในหลายกลุ่ม ในทางเดียวกัน นโยบายของภาครัฐมีลักษณะเป็นก้อน ยังไม่เชื่อมร้อยกันให้เห็นภาพรวมอันส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและความสอดคล้องของนโยบาย
ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องทำคือ ออกมาทำความเข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าคืออะไร ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องนโยบายที่ถูกวางจากบนลงล่าง (Top down) ที่ควรจะคิดแบบล่างขึ้นบนมากขึ้น ที่ชัดเจน เช่น เรื่องเงินเยียวยา 5,000 บาท ควรจะต้องมีการหาข้อตกลง คิดหาความช่วยเหลือที่มาก กว่านี้ วิธีการมอบเงินแบบไหนที่จะครอบคลุมคนได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้ที่ออกแบบระบบและนโยบายต่างๆ ของรัฐ เหมือนจะไม่เข้าใจคนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้ความช่วยเหลือไม่ครอบคลุม ไม่ตอบโจทย์แล้ว ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาดำรงชีวิตอยู่รอดต่อไปได้
ส่วนผลกระทบจากโควิดในประเด็นครอบครัว เช่น ปัญหาการหย่าร้างจะสูงขึ้นหรือไม่นั้น อาจตอบได้ยากในตอนนี้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือ เรื่องความตึงเครียดในครอบครัวจากสภาพปากท้องและปัญหาเศรษฐกิจ ในหลายครอบครัวมีหัวหน้าครอบครัวที่จะต้องทำงานหาเลี้ยงสมาชิกหลายคน ผลกระทบจากโควิดที่ทำให้เขาอาจมีรายได้ลดลง หรือว่างงานไม่มีรายได้ จะนำไปสู่ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจในครัวเรือนมากยิ่งขึ้นซึ่งอาจจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่ปัญหาครัวเรือนหรือครอบครัวในประเด็นอื่นๆ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image