รายงานหน้า 2 มติชน : ส่อง‘ปัญหา-ข้อเสนอ’ วิถี‘แรงงาน’หลังโควิด

ส่อง‘ปัญหา-ข้อเสนอ’
วิถี‘แรงงาน’หลังโควิด

หมายเหตุ – เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19 ส่งผลให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ ขบวนการแรงงานจึงจัดเสวนาออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เพจ “Voicelabour” ในหัวข้อ “วันกรรมกรสากล ภายใต้มหันตภัยโควิด-19 : ปัญหาและข้อเสนอของขบวนการแรงงานไทย” เพื่อแสดงจุดยืนนำเสนอและแนะแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงาน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม


ธนพร วิจันทร์
ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี
รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

สําหรับประเทศไทยก่อนโรคระบาดโควิด-19 เข้ามาก็ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องเดิม โดยเฉพาะการจ้างงานที่เรียกร้องความมั่นคง เมื่อโควิด-19 เข้ามาคนงานเหมือนถูกกระทำซ้ำ จากเศรษฐกิจ ที่เอไอ (AI) จะเข้ามาแทนคน แต่หลังจากโรคระบาดโครงสร้างการจ้างงานจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ ยังไม่ชัดเจน และคนงานจะได้กลับเข้ามาทำงานในระบบอุตสาหกรรมอีกหรือไม่ คือคำถามที่ตั้งกับรัฐบาล เพราะรัฐมีส่วนสำคัญในการเข้ามาดูแลปัญหา หากคนตกงานมากขึ้น ซึ่งตามคาดการณ์ตัวเลข 700,000-10,000,000 คนนั้น รัฐจะมีมาตรการอะไรรองรับ อีกทั้งกองทุนประกันผู้ว่างงานก็ถูกใช้จำนวนมากจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้ามาดูแลส่วนนี้

Advertisement

เราเห็นวิกฤตของแรงงาน ตั้งแต่ต้มยำกุ้ง ปี 2540 หรือแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2550 ซึ่งคนแรงงานยังมีโอกาสรวมตัวสะท้อนปัญหา แต่ด้วยมีโรคระบาดคนงานไม่มีสิทธิรวมตัวเพื่อเรียกร้อง บอกให้สังคมและรัฐบาลได้รู้ว่าเขาเจออะไรบ้าง กลุ่มคนงานไม่ได้ส่งเสียง บางเรื่องซุกไว้ใต้พรม บางส่วนไม่กล้าลุกขึ้นมาเพราะกังวลว่าหลังสถานการณ์ดีขึ้นจะผิดใจกับนายจ้าง ทำให้ขณะนี้อำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานน้อยลง ขบวนการแรงงานจะต้องกลับมาดูรูปแบบการรวมตัวอีกครั้ง ซึ่งหลังโควิดผ่านไประยะหนึ่ง โครงสร้างการผลิตภาคธุรกิจอาจเปลี่ยนไปซึ่งจะยิ่งไม่มั่นคงในอนาคต

การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา มาตรการของรัฐในการเยียวยาขาดกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ประกาศของกระทรวงแรงงานที่ออกมา นายจ้างที่ดีก็มี ที่ไม่ดีก็ผลักให้ประกันสังคมรับผิดชอบ ดังนั้น จึงมองว่าการออกประกาศใดๆ ควรต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตยไม่ใช่เผด็จการ ให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมออกแบบ แสดงความคิดเห็นเพื่อวางระบบร่วมกัน เพราะในส่วนมาตรการเยียวยาวันนี้ ไม่เฉพาะแรงงาน แต่ทุกคนในสังคมทั้งเด็ก คนชรา คนพิการ แรงงานทั้งในและนอกระบบ ล้วนต้องการการเยียวยา รัฐต้องยอมรับว่าเป็นหน้าที่รัฐบาล หากบริหารประเทศไม่ได้ควรยอมรับ ยุบสภา เลือกตั้งใหม่

ส่วนของประกันสังคม ขบวนการแรงงานเรียกร้องให้มีองค์กรอิสระ ที่ตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส บริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ระบบราชการ ในอนาคตแนวโน้มการกลับไปทำงานส่วนตัวมองไม่เห็นว่าเมื่อไหร่ และจะเรียกเข้าไปทำงานจำนวนเท่าใด รัฐบาลต้องฟังเสียงคนงาน ถ้าคนงานไม่มีเงิน คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่มีอำนาจในการซื้อ ท้ายที่สุดกลไกเศรษฐกิจเดินไม่ได้เพราะนักลงทุนไม่กล้าลงทุน และหากรัฐบาลจะให้กลับไปทำเกษตร รัฐจะสนับสนุนอย่างไร จัดการที่ดิน ทำระบบน้ำ ให้คนงานได้ใช้บริการในราคาถูกหรือไม่ ไม่ใช่อุดหนุนแต่ทุนใหญ่ เพราะทุกวิกฤตที่เข้ามา เราจะเห็นมาตรการของรัฐที่อุ้มนายทุนมากกว่า นายทุนมีต้นทุนอยู่แล้ว แต่คนงาน สังคม ประชาชนไม่มีต้นทุน ภาคธุรกิจต้องเป็นภาคธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสังคมบ้าง

Advertisement

รัฐก็ต้องมีมาตรการชัดเจนเพื่อเยียวยา แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดให้ผ่านวิกฤตไปได้พร้อมกัน

อำไพ วิวัฒนสถาปัตย์
ประธานสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์
และคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทย

คนทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับการบินได้รับผลกระทบอย่างมาก แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจ ได้รับผลกระทบจากรายได้ลดลงเล็กน้อย วันทำงานลดลง แต่ยังไม่ถูกเลิกจ้าง ถือว่าสภาพการจ้างงานยังมีความมั่นคง 2.กลุ่มลูกจ้างเอกชนในสนามบิน ซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ที่ถูกส่งมาทำงานกับบริษัทที่ต้องการแรงงานภายนอก แบบเหมาช่วง เช่น สายการบิน หรือรัฐวิสาหกิจบางหน่วยงาน โดยจ่ายค่าแรงรายวัน แรงงานเหล่านี้ได้รับผลกระทบ เพราะ 1.นายจ้างบางรายกดดันให้เขียนใบลาออก เพื่อเจตนาหลีกเลี่ยงการเลิกจ้าง และหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย โดยอาศัยสถานการณ์ระบาดของโรคในการละเมิดสิทธิแรงงาน และปฏิบัติต่อคนงานแบบไร้มนุษยธรรม กล่าวคือ นายจ้างส่วนใหญ่ผลักภาระให้คนงานไปรับเงินจากประกันสังคม สุดท้ายคนงานเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงประกันสังคมได้ ให้ลูกจ้างดำเนินการฝ่ายเดียว คล้ายถูกนายจ้างลอยแพ

ในส่วนมาตรา 33 แม้จะอยู่ในระบบประกันสังคม แต่ค่อนข้างมีปัญหาจากการดำเนินการที่ล่าช้า คนภายนอกมักมองคนที่ทำงานในสนามบินว่ามีชีวิตสวยหรู รายได้มาก สวัสดิการดี แต่ความเป็นจริงลูกจ้างส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ และต้องเปลี่ยนนายจ้างไปเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นสัญญาจ้างระยะสั้น 1-3 ปี จึงไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ขณะนี้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ บริษัทต่างๆ หยุดงานเป็นเวลา 2-3 เดือน เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งยังไม่ทราบว่าการบินระหว่างประเทศจะกลับมาเมื่อไหร่ ต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป คนงานยังไม่รู้อนาคตหลังจากโควิดว่าจะสามารถกลับมาทำงานได้เหมือนเดิมหรือไม่ นายจ้างจะจ้างต่อหรือไม่

จึงอยากฝากเรื่อง การสร้างงาน สร้างรายได้มากกว่า เพราะคนจะตกงานมากขึ้น

ธนัญภรณ์ สมบรม
สหภาพแรงงานรอยัลปอร์ซเลน

ในส่วนเงินเยียวยาก็ยังค่อนข้างสับสนว่าต้องรับจากส่วนไหน เพราะหากมองตามตัวบทกฎหมายก็เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับเงินชดเชย 75% เพราะนายจ้างปิดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน – 31 พฤษภาคม โดยจ่ายค่าจ้าง 50% ซึ่งควรจะได้ 75% แต่นายจ้างอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยก่อนที่กฎกระทรวงจะออก อีกทั้งมีเงินจ่ายเพียงแค่ 50% เท่านั้น แน่นอนว่าผลกระทบ คือ แรงงานมีรายได้ที่ไม่เพียงพอ หนักสุดไม่สามารถใช้สิทธิเหตุสุดวิสัยของประกันสังคมได้ เนื่องจากเรายังได้รับค่าจ้างจากนายจ้างอยู่ ประการต่อมา คือ ผลกระทบเรื่องความมั่นคงในการทำงาน บริษัทมีพนักงานสัญญาจ้างรายปีที่ถูกบอกเลิกสัญญาและให้พนักงานใช้สิทธิประกันสังคม ส่งผลให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องหนี้สินในสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่จะเพิ่มขึ้นจากการพักชำระหนี้ ในโครงการพักชำระหนี้ ซึ่งหากพักชำระทั้งต้นและดอก จะมีการนำเอาดอกเบี้ยที่พักชำระไปเป็นต้นทำให้มีหนี้เพิ่มขึ้นอัตโนมัติ รวมถึงเรื่องการขาดความมั่นคงในการทำงานจากการจ้างงานแบบสัญญาจ้าง เป็นช่องทางกฎหมายซึ่งขบวนการแรงงานทราบดี และเรียกร้องต่อรัฐบาลมาโดยตลอด

ในฐานะกรรมการสหภาพแรงงานฯ มีการออกแถลงการณ์ชี้แจงตามประกาศของบริษัท ซึ่ง 80% เป็นบริษัทส่งออก ลูกค้าทางอเมริกาและยุโรป การสั่งซื้อจึงลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยชี้แจงว่าที่ต้องรับ 50% เพราะนายจ้างยืนยันจ่าย 50% ซึ่งในส่วนขบวนการแรงงานจะต้องหาช่องทางตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป แต่ขณะนี้ทุกคนต้องยอมรับ 50% ไปก่อน

ในอนาคตเชื่อว่าการจ้างงานหลังโควิดจะต้องเปลี่ยนแน่นอน เพราะนายจ้างนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ซึ่งไม่ว่าเปลี่ยนแปลงด้านใด ผลกระทบตกที่แรงงานเป็นอันดับแรก ดังนั้น ข้อเสนอต่อภาครัฐ คือ 1.ขอให้จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เช่น ช่วงที่มีกำไรก็นำเงินเข้ากองทุน หรือก่อนตั้งโรงงาน ควรมีเงินก้อนเพื่อประกันความเสี่ยง เพราะเมื่อมีวิกฤตลูกจ้างจะได้รับการเยียวยา ส่วนแรงงานต้องช่วยตนเองก่อน หันมาออมให้มากขึ้น ทั้งนี้ ในอนาคตอยากให้ทุกสถานประกอบการ มี “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” โดยออกเป็นกฎหมาย เพราะเป็นแหล่งทุนของแรงงานหลังเกษียณ หรือกรณีมีผลกระทบ อาจมีการปรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาเยียวยาก่อน 2.เรื่องการจ้างงานที่ไม่มั่นคง แบบสัญญาจ้าง ควรไม่ให้มี 3.ภาษีรายได้บุคคล ขอให้รัฐยกเว้นการเก็บภาษีกรณีลูกจ้างถูกออกจากงาน หรือถูกเลิกจ้าง เพราะลูกจ้างมีเงินออมน้อยอยู่แล้ว

และ 4.ระบบประกันสังคมที่มีความล่าช้า ควรปรับให้สอดคล้องกับโรคระบาด

กิริยา กุลกลการ
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เราเรียนรู้จากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ อย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1.การออมสำคัญ ต้องดูว่าถ้าเราไม่มีรายได้ 1-2 เดือนอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งหลายคนขาดรายได้มีเงินออมไม่พอใช้จ่าย คนหาเช้ากินค่ำอาจไม่มีเงิน จึงต้องย้อนดูว่าฟุ่มเฟือยหรือไม่ วางแผนการเงินหรือไม่ อยากให้คิดไปไกลๆ ว่า หากต้องเกษียณอายุจะวางแผนการเงินอย่างไร ซึ่งภาครัฐก็ได้จัดให้ออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ หรือผ่านกองทุนประกันสังคม ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล

ทั้งนี้ ในส่วนปัญหาเชิงโครงสร้าง ย้อนกลับไปที่ภาครัฐต้องเพิ่มโอกาสหารายได้ให้ประชาชนอย่างทัดเทียม ต้องอาศัยเครือข่ายแรงงาน สร้างให้ระบบของสังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเริ่มจากเด็ก การศึกษาต้องมีคุณภาพทัดเทียม เพื่อเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ การกู้เงิน เข้าถึงสินเชื่อต้องเข้าถึงได้ เพื่อหลีกเลี่ยงดอกเบี้ยที่สูง และการเป็นหนี้นอกระบบ สุดท้าย คือการไม่ผูกขาด เหล่านี้คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐต้องปรับเพื่อเปิดโอกาสให้พี่น้องมีรายได้

2.การที่ภาครัฐล่าช้าในการเยียวยา โดยเฉพาะเงิน 5,000 บาท เกิดจากการที่รัฐมีงบประมาณจำกัด แต่ไม่รู้ว่าผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือก่อนอยู่ที่ไหน กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย เพราะไม่รู้ว่าจะช่วยใครในช่วงเวลาที่งบมีอย่างจำกัด จึงต้องพัฒนาฐานข้อมูลให้ทันสมัย ซึ่งรัฐมีเทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถทำได้ ทั้งนี้ ด้านแรงงานก็ต้องให้ความร่วมมือ ในการเข้าระบบไปกรอกภาษีว่าเป็นผู้มีรายได้น้อยเพื่อขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ฉะนั้น ไม่ใช่โจทย์ที่ว่าใครจ่ายภาษีก็ได้รับสวัสดิการ ไม่จ่ายภาษีก็รับบริการได้เช่นเดียวกัน ในลักษณะปันทุกข์-ปันสุข ต้องสร้างระบบนี้ขึ้นมา

3.เราควรมีระบบโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมเพื่อไม่ให้มีคนล่วงหล่น เมื่อเกิดวิกฤตรัฐสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ อย่างระบบสวัสดิการ เช่น บัตรทอง หากเราไม่มีบัตรทองจะยิ่งมีความโกลาหลมากกว่านี้ จากความกังวลใจในการไม่มีค่ารักษา แต่ขณะนี้ทุกคนอยู่ในบัตรทอง หรือประกันสังคม มาตรา 33 รักษาฟรีภายใต้ระบบสวัสดิการ เรามีบัตรคนจนและประกันสังคมมาตราต่างๆ แต่อาจไม่มีประสิทธิภาพนัก เช่น มาตรา 33 ที่ยังจ่ายเงินล่าช้า เราจึงต้องการการปฏิรูป ต้องการ “การดึงออกมาเป็นองค์กรอิสระ” บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และครอบคลุมทุกกลุ่ม สำหรับสวัสดิการ ณ ปัจจุบัน จึงต้องมองว่าขาดกลุ่มใด กลุ่มใดที่ต้องปฏิรูป โดยอาจจะต้องมีการปรับระบบภาษีให้ดีขึ้น เพราะเชื่อว่าหากปรับระบบภาษีได้ ระบบสวัสดิการก็จะสามารถดีขึ้นได้

ทั้งนี้ ในอนาคตรัฐมองไปไกลกว่าการเยียวยาได้หรือไม่ เช่น เรื่องส่งเสริมทักษะ จ่ายให้ไปเรียนรู้ทักษะเพื่อป้อนเข้าสู่อีอีซี หรือภาคเกษตร รัฐต้องเตรียมในรูปแบบเชิงธุรกิจ การตลาด และสินเชื่อ นอกเหนือจากความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตร เป็นต้น

ส่วนตัวมีความกังวลเรื่องนายจ้างล้มบนฟูก ซึ่งทางกระทรวงแรงงานได้มีการตรวจสอบ แต่ยังขาดคนนอกเข้าไปตรวจสอบอยู่ จึงต้องดูต่อไป อีกข้อกังวล คือ เงินกองทุนจะหมดหรือไม่ หากคนตกงานมากและยาวนาน เช่น หากตกงาน 3 เดือน จำนวน 8 ล้านคน เงินอาจจะพร่องไปเรื่อยๆ หรืออาจหมดได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะยืดเยื้อไปถึงเมื่อไหร่ ดังนั้นเป็นโอกาสดีที่รัฐจะได้นั่งคิดเรื่องสวัสดิการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image