รายงานหน้า2 : สูตรปลุกชีพเศรษฐกิจ สู้พิษ‘โควิด’เรื้อรัง

หมายเหตุความเห็นภาคเอกชน กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุผลกระทบเศรษฐกิจไทยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 อาจยาวนาน 6-9 เดือน ดังนั้นต้องมีมาตรการรองรับนั้น

 

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ ทางภาคเอกชนได้ประเมินว่าไทยจะเห็นความชัดเจนของทิศทางและการฟื้นตัวของธุรกิจได้ดีในช่วงไตรมาส 4/2563
โดยจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/2563 แต่เป็นการฟื้นตัวของบางธุรกิจเท่านั้น ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เมื่อรักษาโควิด-19 ได้อย่างถูกต้อง หรือมีวัคซีนในการรักษาโรค
ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 2/2564 ที่ภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ในส่วนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของปี 2563 ภาคเอกชนมองคล้ายๆ รัฐบาลที่มองว่าสถานการณ์อาจจะยาวไปถึง 6-9 เดือน เพราะถึงแม้ว่าไทยจะเริ่มมีแนวโน้มการปลดล็อกดาวน์ประเทศแล้ว
แต่ในหลายประเทศคู่ค้าของไทยยังไม่มีการปลดล็อกทำให้รายได้จากส่วนนั้นหายไป ขณะนี้สิ่งที่ทำได้คือต้องเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ มองว่าการที่จะกลับมาสู่การค้าหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามปกติยังเป็นไปได้ยาก
ในช่วงไตรมาสที่ 3/2563 จะเป็นช่วงที่ประเมินได้แล้วว่าจะมีธุรกิจที่อยู่ไหว และมีธุรกิจที่ต้องล้มหายตายจากกี่ราย
ส่วนตัวอยากให้จำนวนที่เลิกกิจการมีน้อยที่สุด แต่ก็เข้าใจได้ว่าบางรายต้องแบกรับต้นทุนและขาดทุนมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี
ซึ่งในส่วนของการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในตอนนี้ได้เสนอไปหมดแล้ว มองว่าในสถานการณ์แบบนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน
โดยภาคเอกชนที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้ว อยากให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ประคองเศรษฐกิจไปให้ได้ ไม่อยากให้มีการปิดตัว อยากให้ยืนหยัดจนกว่าสถานการณ์จะกลับมาดีขึ้น แต่กลุ่มที่จะทำให้สถานการณ์นี้ผ่านไปได้ด้วยดี คือ ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันรักษาระยะห่างไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำอีก เพราะหากเกิดการแพร่ระบาดซ้ำซ้อนอีกครั้ง รัฐบาลคงกู้เงินมาช่วยเหลือได้ยากขึ้นแน่นอน
นอกจากนี้ ยังได้มีการวิเคราะห์การฟื้นตัวของกลุ่มสินค้า โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ 1.วีเชฟ โดยคาดว่าธุรกิจจะฟื้นตัวได้ในระยะสั้น ประมาณไตรมาสที่ 2-3/2563 อาทิ ธุรกิจประเภทอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรอัตโนมัติ และผลิตภัณฑ์ยาง เฉพาะเครื่องมือแพทย์
2.ยูเชฟ โดยคาดว่าธุรกิจจะสามารถฟื้นตัวได้ในระยะกลาง ประมาณไตรมาสที่ 4/2563 ถึงไตรมาสที่ 1/2564 อาทิ ธุรกิจอาหารแช่แข็ง ข้าว น้ำตาล เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง และเคมีภัณฑ์
และ 3.แอลเชฟ โดยคาดว่าธุรกิจจะสามารถฟื้นตัวได้ในระยะยาว ประมาณไตรมาสที่ 2/2564 อาทิ ยางพารา อัญมณี (ไม่รวมทองคำ) ยานยนต์ และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น
สำหรับการกลับมาเปิดบางกิจการในครั้งนี้จากมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาล มองว่าอาจไม่ทำให้เกิดการระบาดซ้ำซ้อน เพราะรอบนี้ประชาชนมีความเข้าใจในการป้องและรักษาระยะห่างมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการและประชาชนให้ทั่วถึง
ซึ่งเบื้องต้นทางภาคเอกชนและภาครัฐได้ทำคู่มือในการประกอบกิจการมาให้ผู้ประกอบการแล้ว เพื่อช่วยกันควบคุมการระบาด
รวมถึงรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่บางธุรกิจ อาทิ ร้านอาหารต้องปรับลดโต๊ะให้เหลือเพียงครึ่งเดียวจากเดิม เป็นต้น
สำหรับพฤติกรรมในการซื้อสินค้าของประชาชน เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประชาชนจะเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็น และมีมาตรฐานมากขึ้น กลุ่มสินค้าที่มีมาตรฐานและเป็นที่รู้จักในวงกว้างจะได้เปรียบ
ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องรักษามาตรฐานและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เพื่อให้สินค้ายังขายได้ในภาวะที่ทุกคนใส่ใจกับความสะอาดและปลอดภัยมากกว่าปกติ

Advertisement

 

นิพนธ์ สุวรรณนาวา
ประธานกิตติมศักดิ์ สภาหอการค้า จ.ประจวบคีรีขันธ์

ภาครัฐต้องมีมาตรการและหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ชัดเจนก่อนการคลายล็อกการประกอบกิจการและกิจกรรมทุกประเภทที่มีความเสี่ยงกับสถานการณ์โรคระบาด ต้องมีบันทึกข้อตกลงว่าหากทำไม่ได้จริง ก็ต้องยุติกิจการไว้ชั่วคราว
โดยเฉพาะหลังผ่อนคลายให้เปิดร้านอาหารแต่พบว่าส่วนใหญ่ผู้ประกอบการไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด และหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถควบคุมได้ทั่วถึง
นอกจากนั้นภาครัฐควรคำนึงถึงปัญหาของคนตกงานที่ไม่มีรายได้ ก็ควรจะผ่อนปรนในกิจการบางอย่างเพื่อให้มีรายได้จากการทำงาน
รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์หรือกรอบการทำงานโดยแจ้งถึงทุกกระทรวง กำหนดวิธีการทำงานให้ชัดเจนว่าคนส่วนใหญ่จะต้องมีรายได้เลี้ยงตัวเอง
ขณะเดียวกันการแพร่เชื้อจากโรคระบาดต้องไม่มีเพิ่มในระยะสั้นและระยะยาว รัฐบาลต้องทำงานพร้อมกันให้เป็นคู่ขนานมีผลในทางปฏิบัติ
ไม่ควรปล่อยให้ชาวบ้านส่วนใหญ่เดือดร้อนเพราะตกงานขาดรายได้ แต่ข้าราชการที่มีเงินเดือนประจำยังไม่มีผลกระทบ
ปัจจุบันในจังหวัดต่างๆ มีน้อยมากที่ภาคราชการจะออกมาแจกอาหารให้ชาวบ้าน เท่าที่เห็นมีแต่ภาคเอกชนเท่านั้นที่ออกมาช่วยเหลือ
ขณะที่กองทุนประกันสังคมก็ควรจ่ายให้ลูกจ้างได้ตามระบบไม่ควรปล่อยให้ล่าช้า และหากประเมินสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่อาจมีผลกระทบยาวนานจากปัญหาโควิด-19 น่าจะมีปัญหากับแรงงานในภาคธุรกิจ เนื่องจากกองทุนประกันสังคมกำหนดจะจ่ายเงินประกันการจ้างงานไว้เพียง 3 เดือน และเชื่อว่าหากมีปัญหาระยะยาวคงจ่ายไม่ได้
ขณะที่นายจ้างไม่มีรายได้เพิ่มแต่ยังต้องจ่ายค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ตามอัตราเฉลี่ยปกติ และประเมินว่าธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีผลกระทบมากที่สุด
หลังจากเงินที่อัดฉีดไม่ได้ลงถึงภาคธุรกิจระดับล่าง โดยเฉพาะซอฟต์โลน หรือการกำหนดดอกเบี้ยเงินกู้ 2% ในภาคธุรกิจที่มีเงินกู้เหลือตามอัตราที่กำหนดโดยเปิดโอกาสให้กู้เพิ่มได้อีก 20%
ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้า ภาครัฐควรผ่อนปรนให้ธุรกิจบางประเภท เช่น โรงแรม เปิดบริการได้เฉพาะคนไทย เนื่องจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นทางผ่านขึ้นล่อง 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อให้ตัวแทนขายสินค้าอุปโภค บริโภค
รวมทั้งคนขับรถบรรทุกสินค้าที่เดินทางผ่านมีโอกาสพักค้างคืน พักรถ พักคน แต่เมื่อมีข้อจำกัดตามประกาศจังหวัด ทำให้ตัวแทนหรือเซลส์ขายสินค้า คนขับรถต้องจอดรถบรรทุกไว้ จากนั้นต้องไปนอนพักในโรงแรมเถื่อน ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถติดตามเพื่อตรวจคัดกรองหรือควบคุมโรค
ขณะที่ อ.หัวหิน พบว่ายังมีการเปิดห้องพักรายวันฝ่าฝืนประกาศคำสั่งจังหวัด ในบ้านพักประเภทพูลวิลล่าและคอนโดมิเนียมบางแห่ง
ซึ่งเจ้าของห้องซื้อไว้เพื่อหารายได้จากการเปิดห้องให้เช่ารายวัน หรืออาจจะอ้างว่าให้ญาติเข้ามาพัก
แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบธุรกิจในลักษณะโรงแรมเถื่อนที่หลบเลี่ยงระบบภาษี
ทั้งที่ในสถานการณ์โรคระบาดควรใช้กฎหมายจัดการผู้ฝ่าฝืนให้เด็ดขาด หากปล่อยไว้ก็จะซ้ำรอยเหมือนปัญหาโรคระบาดที่ จ.ภูเก็ต
ขณะที่ภาครัฐควรพิจารณาให้รอบคอบว่า หากมีโรงแรมบางประเภทที่ประสงค์จะเปิดเพื่อให้บริการลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่มีความจำเป็นก็ควรอนุญาต
โดยภาครัฐเข้าไปควบคุมให้เข้มงวด แต่ส่วนตัวเชื่อว่าโรงแรมส่วนใหญ่ที่มีใบอนุญาตไม่ต้องการเปิดบริการในช่วงนี้ เนื่องจากไม่มีลูกค้าเข้าพัก
หากจะเปิดบริการก็น่าจะไม่ถึง 10% เพราะคาดว่าจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการได้อย่างน้อยต้องใช้ระยะเวลาอีก 3-6 เดือน
และทุกฝ่ายไม่แน่ใจว่าระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวม จากผลกระทบของโควิด-19 จะมีโอกาสฟื้นตัวได้ในระยะสั้นภายในสิ้นปีนี้หรือไม่

Advertisement

 

ละเอียด บุ้งศรีทอง
นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน)

ที่เป็นปัญหาหนักขณะนี้คือ ความล่าช้าของการเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ยังไม่มีความชัดเจน ดูเหมือนจะติดขัดไปหมด ต้องหาทางใดทางหนึ่งในการเร่งตรงนี้ให้เร็ว
ขนาดเงินประกันสังคมขณะนี้ยังไม่ได้เลย หรือแม้แต่กิจการที่รัฐสั่งให้ปิดเองก็ยังไม่จ่าย จะ 5-10% ก็ควรจะต้องทำให้เร็ว เพราะคนจะตายก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดีเลย
ขอมาตรการตรงไหนก็ได้มาช่วยให้เร็ว เพราะคนไม่มีใช้จ่ายจะกลายเป็นโดมิโนยาวออกไป เพราะทุกอย่างถูกปิดส่วนใหญ่ เศรษฐกิจภายในประเทศต้องรีบเยียวยา
ซึ่งก็เข้าใจว่ารัฐเองก็พยายามออกมาตรการมา แต่ซอฟต์โลนยังไม่ถึงผู้ประกอบการ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายามช่วย ตัวเลข 5 แสนล้านบาท แต่ขั้นตอนมันเยอะ ธนาคารก็กังวลและไม่ยอมอนุมัติ เพราะห่วงหนี้จะเป็นเอ็นพีแอล แต่สุดท้ายธนาคารก็จะตายก่อนเพื่อน เพราะการที่ผู้ประกอบการไม่มีเงินสดหมุนเวียนจ่ายลูกจ้าง ก็ต้องผลักภาระไปที่ลูกจ้างก่อน ในเมื่อเขาไม่มีที่จะจ่ายบุคลากร
เกินครึ่งต้องรีบเยียวยาให้เร็วกว่านี้ เดือนมิถุนายนยังมองไม่เห็นว่าจะไปทางไหน ไม่ต้องไปพูดถึงการเปิดน่านฟ้า แค่การเดินทางยังทำได้เฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
ไตรมาสที่ 3 คือ กรกฎาคม-กันยายน ก็ยาวไปไม่ต้องพูดเลย ในเมื่อเศรษฐกิจครัวเรือนทุกจังหวัดไม่ขยับ ไม่มีเงินใช้จ่ายใช้สอย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยิ่งแย่กระทบหนัก เพราะคนไม่รู้อนาคตข้างหน้า ไม่กล้าใช้เงิน ไม่เดินทาง ตลาดต่างๆ ที่เปิดเงียบมาก การใช้จ่ายของคนจึงทำเท่าที่จำเป็น
ประกันสังคมต้องรีบจ่ายเพราะจะได้ช่วยเยียวยาทั้งสองส่วนคือ ผู้ประกอบการและลูกจ้าง เพราะทุกวันนี้ไม่มีเงินสดหมุนเวียน กู้ซอฟต์โลนไม่ได้ นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต้องไปพูดถึง ขอให้กลับไปใช้ชีวิตแบบย้อนหลังไป 20 ปี คือ มีนักท่องเที่ยว 4-5 ล้านคนต่อปี แค่นี้ก่อน
ทำให้เกิดการเดินทางภายในประเทศก่อน เยียวยาดูแลคนของเราก่อน ทำโจทย์เล็กๆ ตอนนี้ให้จบก่อน เป็นเรื่องๆ ไป หยุดโปรโมชั่นต่างประเทศไปก่อน มาดูแลภายในให้เดินหน้าไปให้ได้ก่อน ให้กำลังใจกันในประเทศ อย่างอื่นค่อยมาว่ากันอีกที

 

ดำรงค์ องอาจ
นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว

ผลกระทบจะสั้นหรือยาวไม่สำคัญ ผู้ประกอบการต้องตั้งสติ ปรับตัวไปตามสถานการณ์ความเป็นจริง พร้อมปรับโครงสร้างธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดยเฉพาะท่องเที่ยวที่เหมือนหมดลมหายใจไปแล้ว หลังโควิดคลี่คลาย รัฐบาลต้องฟื้นฟูและเยียวยาท่องเที่ยวเร่งด่วน เพราะเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจประเทศ
ระยะสั้น ควรฟื้นฟูท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นอันดับแรก เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมส่งเสริมท่องเที่ยวข้ามภาค
โดยให้ส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ มีโครงการทัศนศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความรู้ รวมทั้งผ่อนผัน หรือคลายล็อกท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตชุมชน ท่องเที่ยวเชิงเกษตร และท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนเป็นหลัก
ช่วงโควิดระบาด ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ควรส่งเสริมท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชนและเกษตรแบบพอเพียง หรือสร้างสวนเกษตรธรรมชาติ ปลูกผัก เลี้ยงไก่-ปลาและทำสวนผลไม้
โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นแปรรูปและปรุงอาหารพื้นบ้าน เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน จำหน่าย และแลกเปลี่ยนผลผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายครัวเรือน ส่วนท้องถิ่นต้องเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถนน ไฟฟ้า ไวไฟ เครือข่ายสื่อสาร และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวใน อนาคต อย่าไปรอ หรือพึ่งการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว
หากปลดล็อกท่องเที่ยววิถีชุมชน เชื่อว่าช่วยเหลือเศรษฐกิจท้องถิ่นระดับหนึ่งอยากเสนอรัฐบาลให้มีโครงการ 1 มัคคุเทศก์ 1 ตำบล เพื่อสร้างงานและรายได้แก่ไกด์ท้องถิ่น
ทั้งนี้เชียงใหม่มีไกด์กว่า 2,000-3,000 คน เชื่อว่าแก้ปัญหาคนตกงาน หรือว่างงานได้จำนวนมาก เพราะแทบไม่มีนักท่องเที่ยวเลย
ก่อนเกิดโควิด-19 เชียงใหม่ตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 120,000 ล้านบาท/ปี หลังโควิดคลี่คลาย เชื่อรายได้ลดลง 90% หรือหายไปกว่า 100,000 ล้านบาท เหลือมูลค่าท่องเที่ยวไม่เกิน 20,000 ล้านบาทเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image