รายงานหน้า2 : ศบค.คลายล็อกเฟส2 ห้าง-มอลล์-ค้าปลีก ขยับเคอร์ฟิว 5 ทุ่ม

หมายเหตุนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. โดยมีการผ่อนปรนให้เปิดกิจการและกิจกรรมในกลุ่มสีเขียว รวมทั้งลดระยะเวลาการห้ามออกนอกเคหสถาน จากเวลา 22.00-04.00 น. เป็นเวลา 23.00-04.00 น. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมเป็นต้นไป

 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.)

พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เสนอมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ในที่ประชุม ศบค. จากที่แบ่งเป็น 4 กลุ่มกิจการ/กิจกรรม คือ สีขาว สีเขียว สีเหลือง และสีแดง โดยวันนี้ได้เสนอให้ปลดล็อกประเภทกิจการ/กิจกรรมกลุ่มสีเขียว คือ กิจการหรือกิจกรรมที่มีกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไปหลายพื้นที่ และการแพร่เชื้อในสถานที่อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมอยู่ในเกณฑ์สูง

Advertisement

กิจกรรม/กิจการในกลุ่มที่ 2 ที่เปิดเพิ่ม คือ

1.กิจการด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต

โดย กลุ่ม ก. คือ การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่เปิดเพิ่มคือ ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในอาคารสำนักงาน โรงอาหาร หรือศูนย์อาหารภายในหน่วยงาน ซึ่งจะเปิดขายโดยให้นำไปรับประทานที่อื่น หากเปิดให้ใช้บริการในสถานที่นั้น ก็สามารถทำได้ แต่ต้องจัดระเบียบการเข้าใช้บริการให้เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการ ส่วนที่ยังคงมีการห้ามคือ การห้ามบริโภคสุรา หรือครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

Advertisement

กลุ่ม ข. คือ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้ปิดบริการช่วงเวลา 20.00 น. อนุญาตให้เปิดในส่วน สินค้าอุปโภคบริโภค ร้านขายปลีกธุรกิจคอมพิวเตอร์ ร้านหนังสือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฟู้ดคอร์ต คลินิกเวชกรรม สถานทันตกรรม เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ยังปิดต่อไปคือ โรงภาพยนตร์ สวนสนุก สวนน้ำ ตู้เกมส์

กลุ่ม ค. คือ ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่งขนาดย่อม/ค้าส่งชุมชน ตลาด ตลาดน้ำ และตลาดนัด ให้เปิดได้โดยต้องควบคุมการเข้าออก พร้อมทั้งจัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ให้ และผู้ใช้บริการ

2.กิจกรรมด้านการออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพ

กลุ่ม ก. คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ให้สามารถทำเฉพาะเรือนร่าง ผิวพรรณ และเลเซอร์ ยกเว้นการทำความงามบริเวณใบหน้า เพราะถือว่าเป็นความสุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ที่ยังปิดต่อไปคือ กลุ่ม ก. สถานเสริมความงามควบคุมน้ำหนัก สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดของร่างกาย

กลุ่ม ข. สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด

ส่วนกลุ่ม ค. คือสนามกีฬา เปิดได้เฉพาะกีฬาประเภทกลางแจ้งและตามกติกาสากลที่ไม่มีลักษณะของการปะทะกัน โดยจะเล่นเป็นทีม ทีมละไม่เกิน 3 คน และไม่มีผู้ชมการแข่งขัน เช่น แบดมินตัน เซปักตะกร้อ เทเบิลเทนนิส โยคะ ฟันดาบ ยิมนาสติก ปีนผา ส่วนสถานออกกำลังกาย (ฟิตเนส) ให้เปิดเฉพาะส่วน (ต้องไม่มีการออกกำลังกายแบบรวมกลุ่มและห้ามใช้เครื่องลู่วิ่งจักรยานปั่น เครื่อง Elliptical หรือเครื่องออกกำลังกายอื่นๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องใช้การจับหรือสัมผัส) ด้านสระว่ายน้ำสาธารณะ (กลางแจ้ง และในร่ม) สามารถเปิดได้ แต่ต้องจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการตามจำนวนเลนของการว่าย โดยอาจมีอุปกรณ์ขึงกันเลนการว่าย (ความกว้างของเลนไม่น้อยกว่า 7 ฟุต) และจำกัดเวลาใช้บริการไม่เกิน 1 ชั่วโมง

ส่วนที่ยังต้องปิดต่อไปคือ สนามมวย โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม) สวนน้ำ บึงธรรมชาติ กีฬาทางน้ำ เช่น เซิร์ฟบอร์ด เจ๊ตสกี บานานาโบ๊ต และเครื่องกีฬาทางน้ำอื่นๆ

3.กิจกรรมอื่นๆ

กลุ่ม ก. คือ ห้องประชุม ศูนย์ประชุม เปิดเฉพาะให้บริการจัดประชุมขององค์กรหรือหน่วยงาน (Meeting) ลักษณะนั่งประชุมแบบจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม ทำให้โรงแรมสามารถออกมาเปิดได้แล้ว
กลุ่ม ข. คือ ห้องสมุดสาธารณะ แกลอรี่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ และกลุ่ม ค. คือ กิจการถ่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ส่วนหน้าฉากรวมกลุ่มได้ไม่เกิน 10 คน และทุกแผนกรวมกันได้ไม่เกิน 50 คน อย่างไรก็ตามยังมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่ยังคงไว้ คือ การเดินทางเข้าราชอาณาจักร ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ยังคงมาตรการเดิม แต่มีการปรับระยะเวลาการห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จากเวลา 22.00-04.00 น. เป็นเวลา 23.00-04.00 น. รวมไปถึงการงดหรือชะลอการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด แต่ละจังหวัดจะมีมาตรการแตกต่างกันออกไป

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ข้าราชการ รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ศูนย์โควิด ที่ได้ทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่คนไทยได้ผ่อนคลายมากที่สุด เนื่องจากมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ในสัปดาห์นี้ เสียสละทำงานหนักทุกวันเพื่อแก้ไขปัญหาและสถานการณ์ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา การทำงานครั้งนี้แสดงถึงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและกลไกอื่นๆ ของสังคม รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงการรวมศูนย์อำนาจและการ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งทั้งสองวิธีนี้สามารถช่วยควบคุมการติดเชื้อได้ ขอชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นทุกระดับที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังได้ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์และการสร้างการรับรู้ ปัจจัยความสำเร็จคือการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนให้มีความเข้าใจสถานการณ์และให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญส่งเสริมให้มาตรการของรัฐสัมฤทธิผล โดยขอให้ความสำคัญต่อไปเพราะจะเข้าสู่มาตรการระยะที่สอง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือมากขึ้นอีก เพราะทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม และมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาควบคุมมีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน หรือที่เรียกว่า นิว นอร์มอล ทั้งนี้ หลายฝ่ายคาดการณ์เชิงบวกว่าถ้าจะผ่านวิกฤตนี้ประเทศไทยสามารถวางแผนและปรับเปลี่ยนสู่วิถีชีวิตใหม่ได้ก็จะเพิ่มศักยภาพและโอกาสของประเทศไทยในอนาคตด้วยศักยภาพของประเทศที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบกับอัตลักษณ์ความเป็นไทย รวมทั้งกล่าวชม ตู้ปันสุข จึงฝากการบ้านให้กับรัฐมนตรีทุกกระทรวงได้สั่งการออกแบบวางแผนการทำงานระบบใหม่ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป

ขณะเดียวกันยังได้พูดถึงการตัดสินใจเข้าสู่มาตรการการผ่อนปรนระยะที่สอง ตรงนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าจะต้องผ่อนคลายเพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินการไปได้ แต่ก็ยังมีความกังวลใจเรื่องการแพร่ระบาดของโรคคลื่นลูกที่สอง ทางนายกฯได้ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนทั้งหมดในสังคมเพื่อให้ข้อมูลทำความเข้าใจกับประชาชนทุกระดับอย่างกว้างขวางและช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมกลไกและช่องทางการสื่อสารของภาครัฐ

สำหรับมาตรการการผ่อนปรนได้มอบให้มีหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลางเป็นประธาน ให้หลักการว่าต้องมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ โดยใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติตามาตรการข้อกำหนดต่างๆ เพื่อจัดทำเป็นแนวทางการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมร่างข้อกำหนดเพิ่มเติมตามความเหมาะสมต่อไปโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก รวมทั้งผล กระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนด้วย

นอกจากนี้นายกฯได้มีการพูดถึงการนำแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ที่ ศบค.พัฒนาขึ้นมาติดตามการดำเนินงานของผู้ประกอบกิจการกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ราชการกำหนด ต้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ เนื่องจากต้องใช้เครื่องมือตัวนี้มาป้องกันและปกป้องชีวิตและความปลอดภัยของพลเมืองเราเหมือนที่หลายประเทศใช้เทคโนโลยีมาติดตาม แต่ต้องให้ความมั่นใจในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลกับประชาชนด้วย

ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้คณะกรรมการเฉพาะกิจด้านกฎหมายไปศึกษาเรื่องของความจำเป็นในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับการใช้กฎหมายปกติ เพื่อควบคุมการระบาด เพื่อเป็นข้อพิจารณาให้กับคณะกรรมการ ศบค.ในการประกาศขยายเวลาหรือยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นอกจากนี้ยังแสดงความห่วงใยทางกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการเปิดภาคเรียนในเดือนกรกฎาคม อยากให้ทางกระทรวงประชาสัมพันธ์เตรียมความพร้อมสถานที่ เจ้าหน้าที่ต่างๆ

ส่วนการควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศ ได้รับทราบข้อมูลของคนไทยที่จะกลับเข้ามา โดยขอให้คำนึงถึงความสมดุลของจำนวนผู้ลงทะเบียนและความพร้อมของทรัพยากรทางการแพทย์และขีดความสามารถการดูแลในสถานกักกันที่รัฐจัดการให้ และดำเนินการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดและพิจารณาให้ดูแลแรงงานต่างชาติกลับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งสำรวจที่พักอาศัยของแรงงานต่างชาติที่ไทยด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image