วิพากษ์‘6ปีรัฐประหาร’ บ้านเมืองไปถึงไหน?

วิพากษ์‘6ปีรัฐประหาร’ บ้านเมืองไปถึงไหน?

วิพากษ์‘6ปีรัฐประหาร’
บ้านเมืองไปถึงไหน?

หมายเหตุ – ความเห็นของนักวิชาการในวาระครบรอบ 6 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีและยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ในรัฐบาลพลเรือน


สมชาย ปรีชาศิลปกุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การทำรัฐประหารไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งในสังคมหมดไป กลับซ้ำเติมปัญหามากขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำทางสังคม กลายเป็นระบอบทหารที่เข้าไปครอบงำหรือขยายอิทธิพลแทน นำไปสู่การคอร์รัปชั่นหรือทุจริตอย่างกว้างขวาง ถึงเวลาแล้วสังคมต้องทบทวนว่าใช้กำลังทหารและควบคุมการปกครองประเทศ สามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่
“ช่วง 6 ปี สังคมไทยได้เรียนรู้การทำรัฐประหารมามากแล้ว เห็นได้ว่าไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาทุจริตได้เลย การทุจริตกลับรุนแรงมากขึ้น ที่สำคัญประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย ส่วนใหญ่เป็นการเอื้อประโยชน์เครือข่ายและพวกพ้องที่สนับสนุนทำรัฐประหารมากกว่า โดยเฉพาะ ส.ว.และองค์กรอิสระ หากเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มีการตรวจสอบ และทหารไม่เข้ามาแทรกแซง เชื่องบประมาณไม่รั่วไหลไปจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็น แต่กลับคืนไปสู่ประชาชนโดยตรง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีกว่าเดิม”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไม่ยุติบทบาท และยังคงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามเดิม เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันรัฐบาล โดยอ้างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เพื่อต่อลมหายใจ ดังนั้นบุคคลและเครือข่ายที่สนับสนุนทำรัฐประหาร ควรแยกแยะ ไม่สนับสนุนเผด็จการอีก เพราะเกิดช่องว่างความเหลื่อมทางเศรษฐกิจและสังคมกว้างมากขึ้น ทำให้คนจนหรือผู้มีรายได้น้อย ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร และการช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่ทั่วถึง

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่วาดผันไว้อย่างสวยหรูนั้น เป็นแค่เพียงเศษกระดาษ เพราะไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง แค่โควิดระบาด สามารถทำลายยุทธศาสตร์ชาติได้ย่อยยับ เพราะเป็นภัยคุกคามที่มองไม่เห็น ซึ่งคนที่ร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว คงไม่มีสติปัญญามองเห็นภัยรูปแบบใหม่ เนื่องจากการทำรัฐประหารมีข้อจำกัดด้านการปกครองและบริหารประเทศ ถ้าเป็นประชาธิปไตยสามารถออกแบบยุทธศาสตร์ชาติให้มีทางเลือกได้หลายทาง

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

Advertisement

ขณะนี้ยังมองไม่เห็นการเมืองที่ผิดแปลกจากก่อนหน้านั้น เพราะยังอยู่ในรูปแบบเก่า ไม่มีอะไรที่สร้างสรรค์ตามระบอบประชาธิปไตยที่ถูกที่ควร วันนี้นักการเมืองบางกลุ่มยังมีการเจรจาต่อรองเพื่อเอาประโยชน์เป็นหลัก หรือยังมีการสร้างพรรคการเมืองใหม่เพื่อต่อรอง ส่วนการปฏิรูปการเมือง การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ที่บอกไว้ก็ไม่ได้มียุทธศาสตร์อะไรที่ชัดเจน วันนี้ปัญหาทางการเมือง ปัญหาความขัดแย้งยังเป็นไปตามธรรมชาติเหมือนที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหารครั้งล่าสุด
สิ่งที่เคยบอกไว้ว่าจะทำหลังการรัฐประหาร ยังไม่เห็นสิ่งใหม่ที่มีลักษณะการปฏิรูป หรือ new normal ของการเมือง วันนี้ทุกอย่างย้อนไปที่เรื่องเก่าตามแนวทางเดิม ทั้งการเคลื่อนไหวในบางพรรคการเมืองเพื่อแบ่งสรรตำแหน่งรัฐมนตรี การอภิปรายของฝ่ายค้านผู้คนก็ยังสงสัยว่ามีการซูเอี๋ยกันหรือไม่ สำหรับบทเรียนของพรรคการเมืองที่มีความขัดแย้งเป็นสาเหตุให้มีการยึดอำนาจ ยอมรับว่าไม่สามารถนำทฤษฎีมาปรับใช้กับเรื่องนี้ได้ เพราะยังเห็นการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ ในรูปแบบเดิม โดยกวาดต้อน ส.ส.พรรคอื่นที่มีฐานเสียงดีๆ มาเข้าพรรค ส่วนบางพรรคที่เน้นอุดมการณ์ แต่เมื่อถึงที่สุดแล้วก็พบว่าคนในพรรคยังมีปัญหาถูกขนานนามเป็นพวกงูเห่า

ดูง่ายๆ จากการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา เมื่อเลือกตั้งเสร็จเมื่อมีการเจรจาต่อรองแบ่งโควต้า จุดยืนหรืออุดมการณ์ของบางพรรคที่เคยบอกว่าไม่ชอบเผด็จการ ไม่ชอบพวกสืบทอดอำนาจก็สูญหายไป แต่เรื่องดีหลังรัฐประหารสังคมไทยไม่ได้เจอความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่ความรุนแรง จากการพาคนไปลงถนนแล้วมีบาดเจ็บล้มตาย

สำหรับรัฐบาลปัจจุบันหลังรัฐประหารแทบไม่น่าเชื่อว่าอยู่มานานหลายปี ต่างจากการยึดอำนาจแบบเดิมๆ แต่มาหนนี้ช่วงแรกบอกว่า ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วอยู่นานเกินเหตุ เพราะเชื่อว่ากลัวจะเสียของเหมือนในอดีต หรือประเมินได้จากวาทกรรมเขาอยากอยู่ยาว ของอดีตประธานร่างรัฐธรรมนูญบางคน ทำให้วันนี้อำนาจเดิมๆ จึงยังไม่ปลดปล่อย แม้ว่าผู้คนจะตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้น มีคนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงกว่า 70% ก็เป็นเรื่องของประชาชน

แต่ผู้มีอำนาจก็คิดไปอีกอย่าง จะเห็นได้ว่าการดำเนินการทางการเมืองหลังรัฐประหารจะมีระบบและขั้นตอนที่รัดกุมเพราะต้องป้องกันความผิดพลาดเสียของ แถมด้วยการมีเครื่องมือบางอย่างเขามาดูแลระบบผ่านองค์กรอิสระทั้งหลาย เพราะอ้างว่าประชาชนยังไม่พร้อม ทำให้การเลือกตั้งอาจจะได้พวกกินบ้านกินเมืองกลับมาอีก และมีวาทกรรมบอกว่ามีบางพวกเท่านั้นที่รักชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง แต่สิ่งสำคัญไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกคนอยากเห็นความเป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคมนี้ แต่ความเป็นธรรม ความเท่าเทียมกัน คงไม่เกิดขึ้นจริง หากยังมีการต่อสู้ทางความคิดระหว่างคน 2 ฝ่ายที่ยังแย่งชิงอำนาจที่เป็นของประชาชน

เพราะทุกฝ่ายมุ่งทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ ไม่ได้มุ่งการทำหน้าที่ตามอุดมการณ์เป็นจุดหมาย

พัฒนะ เรือนใจดี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ส่วนตัวมองว่าการรัฐประหารสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่มีการเลือกตั้งปี 2562 ดังนั้น 22 พฤษภาคม จึงเป็นการครบรอบ 6 ปีการอยู่ในตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกต้องกว่า เวลาแรกคนให้ความสำคัญกับการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ การแก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดจากองค์กรอิสระที่เข้าไปมีบทบาทมากทางการเมือง และความไม่เป็นกลาง ทั้งเรื่องการสรรหา อำนาจหน้าที่ นี่เป็นสิ่งที่คนคาดหวังมาก แม้กระทั่งการแก้ไขที่มา ส.ว.ประเภทผัวเมีย ผัวอยู่สภาหนึ่ง เมียอยู่อีกสภาหนึ่ง หรือสภาพี่น้อง
จริงอยู่ว่ารัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีปัญหา แต่เมื่อมีการปฏิวัติ จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ คนจึงคาดหวังมาก ซึ่งตอนนี้ไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ กลับกลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 หนักกว่าฉบับ 2550 มีทั้งเรื่องกระบวนการได้มา กระบวนการสรรหา การวางความสัมพันธ์อำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระในการตรวจสอบองค์กรอื่น เห็นได้ชัดเจนว่าขาดการตรวจสอบ องค์กรเหล่านี้ แตะต้องไม่ได้ ทำให้ความคาดหวังของประชาชนเหลือน้อย

เรื่องคอร์รัปชั่นก็ปราบปรามได้เพียงบางกลุ่ม บางพวก ส่วนฝ่ายตรงข้ามจะได้รับการตรวจสอบอีกแบบหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจชัดเจนว่าไม่มีอะไรใหม่ รัฐบาลได้พูดถึงการสร้างงาน การให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการทำให้มีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น ปรากฏว่าไม่มีเท่าที่ควร กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลแก้ปัญหารายวัน โดยการสร้างงานซึ่งจะไปสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนล้วนไม่ขับเคลื่อน

การบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ตลอด 6 ปีคือการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจ แม้กระทั่งเวลานี้ที่เรามี พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็เช่นกัน ดังนั้น หากเขาตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลหลากหลายก็สามารถพาประเทศไปได้ แต่ถ้ารวมศูนย์ ฟังบางกลุ่ม ไม่รับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางจะทำให้ดำดิ่ง ดังนั้น หากถามถึงข้อดีคือท่านต้องมีทีมที่ปรึกษาโดยมีที่มาหลากหลายอย่างแท้จริง ผมไม่พูดว่ามาจากพรรคพลังประชารัฐ หรือมาจากกลุ่มการเมืองของท่าน ซึ่งการมีทีมที่ปรึกษาอันหลากหลายจะได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจอย่างมาก ขณะเดียวกันก็เห็นว่าการที่ 20 เศรษฐีตอบกลับจดหมายก็ยังไม่เป็นรูปธรรม

รัฐบาลต้องกลับมาคิดว่าเป็นเพราะอะไร เหตุใดความร่วมมือเหล่านี้จึงไม่มาถึงรัฐบาลโดยสะดวก

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความสำคัญของวันนี้เตือนให้นึกถึงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เป็นอิสระ ที่เกิดขึ้นและจบด้วยตัวเอง แต่เป็นคลื่นของความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องที่โยงไปตั้งแต่รัฐประหาร 2490 เหตุการณ์ลุกฮือของประชาชน 2516 การปราบปรามประชาชน 2519 พฤษภา 35 พฤษภา 53 และรัฐประหาร 57 เหตุที่โยงเหตุการณ์ยาวนานเช่นนี้เพราะนี่คือ “การจัดสัมพันธภาพทางสังคม” ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเดินไปข้างหน้าอย่างรุ่งเรือง มั่งคั่ง อย่างที่มีความฝันของประเทศ สิ่งที่เกิดเมื่อ 6 ปีก่อน เป็นเพียงหมุดหมายหนึ่งของคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนของการเมืองไทย ที่เรายังอยู่ในวังวนความขัดแย้งเดิมจากการจัดสัมพันธภาพของอำนาจในสังคม เพราะนี่คือคนกลุ่มเดียวกันที่อยู่ในอำนาจ ใช้อำนาจทำรัฐประหาร และย้ายมาอยู่ในโครงสร้างบริหาร นิติบัญญัติ นี่คือภาพรวมของ 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งยืนยันว่าแยกจากกันไม่ได้ และเกี่ยวพันกับความรุนแรงในสังคมไทย

ถือว่าโครงสร้างการปกครอง ถดถอยแน่ๆ เราต้องนึกถึงจินตภาพ ความใฝ่ฝัน ความสุขที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2540 สิ่งที่รัฐธรรมนูญปี 40 อนุญาตให้เราทำสิ่งต่างๆ ได้ ดังนั้น จินตภาพใหม่ของสังคมไทยหลังโควิดต้องไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่ให้ความสุขเราในช่วงปี 2540 ด้านหนึ่งพยายามพูดถึงวิถีใหม่ในสังคม แต่ผมว่าเราต้องมีจินตภาพใหม่ พูดถึงความใฝ่ฝันของสังคมไทย เพราะวัยรุ่นหนุ่มสาวที่เพิ่งเรียนจบและประท้วงเมื่อต้นปี คนเหล่านี้มีความคับข้องใจมาก รู้สึกชีวิต และอนาคตถูกขโมยไปจากผลพวงการรัฐประหารที่มีความพยายามตรึงอำนาจแบบเดิมเอาไว้ โดยจัดให้กองทัพเป็นตัวกำกับการเปลี่ยนผ่าน เป็นตัวละครหลักซึ่งมีความสำคัญเป็นองค์กรที่ผูกขาดความรุนแรงหนึ่งเดียวในสังคมไทยมาตลอด การแปรสภาพรัฐประหาร 2557 ตั้งแต่การมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว ความพยายามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ดึงยาวไว้ จนประกาศใช้ฉบับปี 60 ซึ่งจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญัติ และตุลาการ เดิมเรามี 3 แต่ ณ วันนี้เรามีองค์กรอิสระที่ใช้อำนาจคล้ายศาล เพราะองค์กรเหล่านี้ตัดสินความโดยใช้อำนาจจำกัดสิทธิ และบังคับทางกฎหมายกับประชาชนหรือนักการเมือง

สิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งที่อยู่ในองคาพยพความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจทั้ง 3 สาขา จะเห็นจากการแปรสภาพจากผู้นำกองทัพ มาเป็นผู้นำรัฐประหาร และผู้นำรัฐบาล โดยอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่มาจากฝักถั่วของ ส.ว.และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เอาชนะพรรคที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด ซึ่งสถาปนิกของ รัฐธรรมนูญ 60 ก็ออกแบบเพื่อล็อกไม่ให้กลุ่มอื่นที่ไม่ใช่พวกตนเข้าสู่อำนาจ ในส่วนอำนาจนิติบัญญัติ กลายเป็นผู้นำกองทัพ และตำรวจใช้อำนาจรัฐมาอยู่ในสภานิติบัญญัติ ใช้อำนาจซ้อนระหว่างอำนาจของตัวเองในฐานะข้าราชการไทย เป็นโครงสร้างที่แปลกประหลาดที่สุด ยังไม่นับหมากกลที่ทิ้งไว้ คือ ตัวแทนที่ไปอยู่ในองค์กรอิสระ ทั้งหมดเกิดขึ้นมาแล้วในสหรัฐเมื่อ 100 ปีก่อน เรียกว่าการใช้ไม้แข็ง กล่าวคือ ใช้อำนาจทางกฎหมายที่ตัวเองมี ใช้การตีความตัวบทอย่างเป็นประโยชน์กับตนเพื่อจัดการฝ่ายตรงข้าม ปัญหาใหญ่อีกประการที่รัฐธรรมนูญ 60 ทิ้งไว้ คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ยอมรับการมีอยู่ของฝ่ายตรงข้าม

จึงไม่มีทางประนีประนอม ปรองดองกันได้ภายใต้เงื่อนไขที่สร้างจากมาจากกติกาของรัฐธรรมนูญ 60

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image