รายงานหน้า2 : มองต่างมุม ถอด‘ศิลปินแห่งชาติ’

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการและศิลปินแห่งชาติกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้สามารถถอดถอนศิลปินแห่งชาติที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมได้ ล่าสุดกระทรวงวัฒนธรรมแก้ไขกฎกระทรวงเรื่องคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกและประโยชน์ตอบแทนให้สอดคล้องกับมติ ครม.ที่ออกมา

 

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2536

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว โดยมีเหตุผลใน 3 ประการ คือ ประการแรก การเป็นศิลปินแห่งชาติไม่ใช่การให้รางวัล แต่เป็นการยกย่องให้เกียรติผู้ที่ทำผลงานเป็นที่โดดเด่นในสาขานั้นๆ ประการที่สอง การมีมติเช่นนี้ ทำให้ศิลปินแห่งชาติขาดเสถียรภาพ ไม่มีความมั่นคง อาจมีการกลั่นแกล้งทำให้ถูกถอดถอน ที่สำคัญทำให้การยกย่องศิลปินแห่งชาติไม่ได้รับความศรัทธา เชื่อถือ และต่อไปหากไปเชิญศิลปินที่มีความสามารถมาเป็นศิลปินแห่งชาติ ก็อาจถูกปฏิเสธเพราะไม่มีใครอยากเอาชื่อเสียงมาเสี่ยง และประการที่สาม การได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นการทำงาน และคุณงามความดีที่สะสมมาในช่วงนั้น หากศิลปินแห่งชาติคนใดกระทำความผิด ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล มีกฎหมายกำกับดูแล อีกทั้งคนเป็นศิลปินแห่งชาติหากทำความผิดก็มีสิทธิติดคุกได้ ดังนั้น จึงไม่ควรนำปัญหาส่วนบุคคลมาแก้ไขในภาพรวม เชื่อว่าศิลปินแห่งชาติแต่ละคนพยายามดูแลตัวเองไม่ให้เสียชื่อเสียงอย่างดีที่สุด
“ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง ที่ปิดปากไม่ให้ศิลปินแห่งชาติวิพากษ์วิจารณ์สังคม เพราะถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่ทุกคนสามารถทำได้ แต่การออกหลักเกณฑ์เช่นนี้ถือเป็นความอ่อนด้อยของระบบราชการ ที่ขาดดุลพินิจ พิจารณาข้อดี ข้อเสีย และความเหมาะสมให้รอบด้าน เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการเสนอและพูดถึงมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนประกาศอย่างเป็นทางการ ที่สำคัญการยกร่างหลักเกณฑ์ต่างๆ ก็ไม่เคยสอบถามความเห็นจากศิลปินแห่งชาติด้วย”

Advertisement

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ความเห็นเรื่องนี้คงมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม หากแต่เราไม่รู้รายละเอียดที่นำเสนอเรื่องนี้เข้าไปในกระทรวงวัฒนธรรมว่าเป็นใคร ให้เหตุผลอย่างไร กรรมการอภิปรายกันไหมว่ามีฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร กว่าจะออกมาเป็นกฎหมายนี้มีกระบวนการอย่างไร ซึ่งควรมีแบ๊กกราวด์เหล่านี้ประกอบ
เดาว่าก็เป็นการเมือง ไม่ได้เป็นเรื่องการส่งเสริมวัฒนธรรมแต่อย่างใด และเป็นการกำจัดคนที่เห็นไม่ตรงกัน ดังนั้น หากสื่อมวลชนไปช่วยขุดหรือทำการวิเคราะห์ในส่วนนี้มา พร้อมสัมภาษณ์ผู้เสนอไปเลยว่าเป็นอย่างไร แต่นั่นก็เป็นการเผชิญหน้ากันเกินไป ทั้งนี้ ก็เป็นตัวอย่างง่ายๆ ว่าข่าวนี้จะมีเนื้อหาที่ให้ความรู้คนนอกเหนือจากการสู้กันระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
อย่างไรก็ดี ถ้ามองว่าในกรณีแบบนี้สะท้อนจุดอ่อนอะไรในกระทรวงวัฒนธรรม หรือเพราะเหตุใดจึงมาทำเรื่องแบบนี้ ก็ต้องรู้เรื่องว่าเขาทำอย่างไรกัน เช่น ไปขุดหามาเลยว่ากรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมมีใครบ้าง หน้าที่ของคนเหล่านี้คืออะไร ซึ่งภายหลังเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากถึงออกมาเป็นแบบนี้
สงสัยว่ากรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมคิดอะไรอยู่ และกระทรวงรับลูกมาได้อย่างไร หรือผ่านมาได้อย่างไร เนื่องจากบางทีกรรมการไม่ได้เสนอ หรือเสนอแต่มีผู้ไม่เห็นด้วย เพราะส่วนตัวเจอมาหลายอย่างในอดีต เช่น บางเรื่องผ่านเข้าไปถึง ครม.และออกมาโดยที่เราไม่เห็นด้วย ก็ไม่ทราบว่าไปได้อย่างไร โดยรัฐมนตรีหรืออธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเขาทำงานการเมืองกัน รู้ว่าหากส่งเรื่องเช่นนี้รัฐบาลในขณะนั้นเอาด้วย ดังนั้น กรรมการมีประโยชน์ในเรื่องแบบนี้ใช่หรือไม่
ขอเสนอให้นำกรณีนี้เป็นตัวอย่างถึงเบื้องหลังความจำเป็นของการมีกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรม หรือกระทรวงวัฒนธรรมมีไว้ทำไม เพราะชาวบ้านมีวัฒนธรรมแน่ๆ อยู่แล้ว แต่กระทรวงนี้จะมีไว้ทำไม เพราะชาวบ้านขายวัฒนธรรมตัวเองได้อยู่แล้ว

Advertisement

 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้สามารถถอดถอนศิลปินแห่งชาติที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมได้ โดยมีการแก้ไขกฎกระทรวงเรื่องคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกและประโยชน์ตอบแทนนั้น ส่วนตัวคิดว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการปิดปากศิลปินแห่งชาติบางคนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และโครงสร้างทางการเมืองในปัจจุบันหรือไม่ ในประเทศที่เจริญแล้วคงไม่มีใครมีกำราบศิลปินซึ่งเป็นกระจก งานศิลปะส่องสะท้อนสิ่งที่สังคมกำลังเป็น สิ่งที่สังคมผ่านพ้นมา หรือสิ่งที่สังคมกำลังเดินไป เพราะฉะนั้นศิลปินต้องมีจินตนาการ มีความคิดในทางสร้างสรรค์ จึงมีคำกล่าวที่ว่า เสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งที่ต้องปกปักรักษาไว้ อย่าให้ใครเข้ามากำกับ มาใช้อะไรไปล่อลวง แต่กฎกระทรวงฉบับที่ว่ามาเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับแวดวงศิลปวัฒนธรรม ถือเป็นยุคที่มีการควบคุมทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นในหลายส่วน
ลองไปดูหลักสูตรที่ลูกหลานของเราต้องเรียนในช่วงโควิด-19 แค่นี้ก็น่ากลัวมากแล้ว ในยามที่เราพูดถึงสตาร์ตอัพ โปรเจ็กต์ต่างๆ ที่จะสร้างอนาคตเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทางภาครัฐกลับพยายามสร้างเครื่องมือมาจำกัดจินตนาการ ความคิดของคนอย่างยิ่งยวด
เครื่องจักรเดียวที่ทำให้ไทยดำเนินมาในรอบ 6 ปี คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หลังเกิดโควิดทำให้เราไม่มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างที่เราเคยมี ทัวร์จีนที่เคยมา ตอนนี้หายหมด ในขณะที่คนจำนวนมากพึ่งพาการท่องเที่ยว ลองดูที่ภูเก็ตเมื่อคลายล็อกให้คนกลับบ้านได้ คนกลับบ้านกันข้ามคืน นั่นคือสัญญาณความล่มสลายของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
หากมองในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ เพราะรอบหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจคือเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 ขึ้น สถานการณ์การท่องเที่ยวทรุดลงแน่ๆ ดังนั้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาทดแทน รวมถึงสตาร์ตอัพที่อาศัยจินตนาการ อาศัยความคิดที่เป็นอิสระ การออกกฎกระทรวงมาควบคุมศิลปินแห่งชาติเช่นนี้จึงไม่ใช่มาตรการที่ทำให้คนมาสร้างความหวัง สร้างสิ่งใหม่ๆ กัน
สิ่งนี้ไม่ใช่ประโยชน์หรือสาระสำคัญ เพราะในเวลาแบบนี้กระทรวงวัฒนธรรมน่าจะออกมาหาแนวทางการดูแลศิลปินที่อดอยากปากแห้ง หรือขายงานไม่ได้มากกว่า เพื่อให้ศิลปินอยู่ได้ คงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรม ไม่ใช่มาออกระเบียบ ปิดปากศิลปินไม่ให้พูดแสดงความเห็นแบบนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image