รายงาน : น้ำเสียง หงุดหงิด ปฏิเสธ บทบาท ‘ทหาร’ บริหาร เศรษฐกิจ

ท่าทีอันมาจาก 1 ภาคธุรกิจ โรงแรม การท่องเที่ยว ตั้งข้อสังเกตถึงการชักหัวคิวจากมาตรการกักกันตัวบุคคลในห้วงแห่งโควิด-19

เมื่อประสานกับ 1 ภาคธุรกิจการเงิน ต่อการฟื้นฟู “การบินไทย”

เหมือนกับเป็นคนละกรณี เหมือนกับเป็นคนละเรื่อง แต่ในที่สุดแล้วก็เป็นผลสะเทือนจากมาตรการ “เข้ม” ในห้วงแห่งสถานการณ์ “ฉุกเฉิน”

ปลายทางของน้ำเสียงนี้หมายถึง “ทหาร”

Advertisement

ในกรณีการฟื้นฟู “การบินไทย”ถึงกับระบุออกมาจาก “เจ้าหนี้” เลยว่าไม่ควรแต่งตั้ง “ทหาร” ให้เข้ามามีบทบาท

เพราะ “ทหาร” คือฝันร้ายในแวดวง “ธุรกิจ”

ในกรณีการกิน “หัวคิว” ต่อแต่ละโรงแรมที่ถูกดึงเข้ามามีส่วนในการกักกันบุคคลเป็นเวลา 14 วัน ล้วนเป็น
การดำเนินการโดย “กองทัพ”

Advertisement

ทหารและกองทัพกำลังกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก”

พลันที่ความเสื่อมทรุด ตกต่ำปรากฏผ่านตัวเลขกำไร ขาดทุนของ “การบินไทย” ความรู้สึกร่วมประการหนึ่งก็คือ เพราะ “การบินไทย” อยู่ในมือ “ทหาร” มายาวนาน

สภาพจึงเหมือนกับการรถไฟ จึงเหมือนกับการท่าเรือ

เพราะนับแต่รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นต้นมา เมื่อมีการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจก็มักจะบริหารจัดการโดยทหาร

รถไฟก็กองทัพบก การท่าของทหารเรือ การบินไทยก็ทหารอากาศ

เพราะว่าการรถไฟมิได้มีแต่เรื่องรถไฟ เพราะว่าการท่ามิได้มีแต่เรือ เพราะว่าการบินมิได้มีแต่เครื่องบิน

หากต้องมีการบริหารจัดการ

การบริหารจัดการธุรกิจรถไฟจึงจำเป็น การบริหารการขนส่งสินค้าทางเรือจึงจำเป็น การบริหารธุรกิจการบินจึงจำเป็น

เมื่อรัฐวิสาหกิจอยู่ในมือ “ทหาร”การขาดทุนจึงเป็น “เครื่องหมายการค้า”

ความจริง นับแต่สถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516 ภาพของทหารได้ค่อยๆ ลบออกไปจากภาคธุรกิจและภาคการเมืองเป็นลำดับ

ตามสถานะถดถอยของ “ถนอม-ประภาส”

แต่การรัฐประหารได้ทำให้ภาพของ “ทหาร” บทบาทของ “กองทัพ” ได้หวนคืนมาให้ได้เกิดการเปรียบเทียบในกระแสแห่งพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมือง

โดยเฉพาะรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ยิ่งเด่นชัด

เพราะว่า คสช.พยายามจะเลียนแบบยุคของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคของ จอมพลถนอม กิตติขจร

ทั้งที่สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้วเป็นอย่างมาก

ด้านหนึ่ง กองทัพโดยทหารผงาดขึ้นมามีอำนาจและกุมอำนาจในทางเป็นจริง แต่ด้านหนึ่ง อำนาจนั้นก็อยู่ในห้วงแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

อำนาจจึงง่อนแง่นอยู่บนซากปรักหักพัง

ยิ่งเมื่อประสบเข้ากับสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ปัญหาซึ่งกลบทับเอาไว้ใต้พรม ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ
ไม่ว่าในทางการเมืองยิ่งมีความเด่นชัด

หากเด่นชัดอยู่ในมือคนมี “วิสัยทัศน์” ก็ไม่น่าเป็นห่วง

แต่เมื่อตกอยู่ในมือของกองทัพ ตกอยู่ในมือของทหาร อันถือได้ว่าอยู่แถวหลังสุดในกระแสแห่งการพัฒนา เปลี่ยนแปลง

ความรู้สึกหงุดหงิดต่อ “ทหาร”ยิ่งลึกซึ้ง กว้างขวาง และรุนแรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image