รายงานหน้า2 : สภาถลก‘พ.ร.ก.ซอฟต์โลน’ ธปท.โต้-อุ้ม‘เอสเอ็มอี’ทุกกลุ่ม

หมายเหตุส่วนหนึ่งของการอภิปราย พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยนางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย (พท.) นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายตั้งข้อสังเกตการใช้เงินตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว ขณะที่ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงถึงหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินตาม พ.ร.ก.ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ พิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เป็นวันที่ 4 ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม

 

มนพร เจริญศรี
ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย (พท.)

ปัญหาที่ผ่านมารัฐบาลนี้ไม่ได้เยียวยาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี อย่างทั่วถึง เขาเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ถึง 88% ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมาก อีกทั้งไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบธนาคาร 84.8% ทั้งที่เอสเอ็มอี ถือเป็นแหล่งจ้างงานของประเทศ ทั้งที่เป็นรากฐานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ หากเอสเอ็มอี
เหล่านี้กลับมาฟื้นฟูไม่ได้ ก็จะส่งผลให้คนไทย นับสิบล้านคนและกำลังชื้อของประเทศหดหาย
เพราะธุรกิจที่สามารถกู้ได้ต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีทุนหมุนเวียนมหาศาล ธนาคารพาณิชย์ถึงกล้าปล่อยกู้ คุณสมบัติเหล่านี้กรรมการเอาสมองที่ไหนมาคิด ว่าผู้ประกอบการรายย่อยหรือผู้ประกอบการจะเข้าถึงซอฟต์โลน จึงสงสัยว่าเงินทุนเหล่านี้จะมีไอ้โม่งสวมหมวกดำมาจองเป็นเจ้าภาพ และทำให้อดคิดถึงโครงการชิมช้อปใช้ไม่ได้ว่าท่านยืมมือของพี่น้องประชาชนไปกดเงินภาษีของพี่น้องประชาชน แล้วไปซื้อของตามร้านโชห่วย ที่นายกฯได้ส่งจดหมายขอเงินไป ในที่สุดเงินเหล่านี้ก็ไหลเข้าพุงของนักธุรกิจเหล่านี้
ขณะนี้รัฐบาลต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปจนถึง 30 มิถุนายน แล้วคนค้าขายที่ไหนจะเอารายได้จากการขายของมาจ่ายหนี้ คิดว่าเรื่องนี้นายกฯคงจะเสพติดอำนาจ จากสมัยที่เป็นหัวหน้า คสช.ที่ใช้มาตรา 44 เคยตัว โดยไม่เห็นหัวประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย ทั้งๆ ที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินปราบโควิดไม่ได้ ซ้ำร้ายยังทำให้คนฆ่าตัวตายเป็นรายวัน จึงอยากให้รัฐบาลฟังข้อเรียกร้องของเอสเอ็มอีที่อยากให้พักชำระหนี้ 1-2 ปี และให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และถ้ารัฐบาลจะแสดงความจริงใจและมีความโปร่งใส ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน เพื่อพิจาณาเงินกู้ที่เป็นภาระของประชาชนในอนาคต แต่ตนไม่คาดหวังว่าแนวทางนี้จะเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลไม่มีความจริงใจ วันนี้สถานการณ์โควิดเป็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะไม่มีวันแก้ไขได้สำเร็จ
ถ้านายกฯอยากจะคืนความสุขให้คนไทยทั้งประเทศ อยากจะบอกว่า #ลอถลมตรคล. หรือ “ลาออกเถอะลุงไม่ต้องรอใครไล่”

Advertisement

 

วิรไท สันติประภพ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

หากสมาชิกพบว่าการปล่อยซอฟต์โลนตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ช่วยผู้ประกอบการวิสาหกิจ วงเงิน 5 แสนล้านบาท มีช่องว่างให้ผู้ประกอบการนำเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้ต่อให้กับผู้ประกอบการรายอื่นตามที่อภิปรายนั้น ขอให้แจ้งข้อมูลต่อ ธปท. ผมรีบดำเนินการสอบสวน และหากพบความผิด จะมีมาตรการลงโทษสถาบันการเงิน และสามารถเรียกคืนเงินกู้ได้ เพราะถือว่าทำผิดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ส่วนข้อท้วงติงของการวางเงื่อนไขในการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนั้น ตามข้อเท็จจริง การดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่ต้องแบกรับในภาวะเศรษฐกิจ และวิกฤตจากโควิดที่มีความไม่แน่นอน อีกทั้งสถาบันการเงินมีต้นทุนค่าประกอบการ ส่วนการปล่อยซอฟต์โลนล่าช้านั้น เพราะสถาบันการเงินต้องมีขั้นตอนการพิจารณา และมาตรการการทำงานที่บ้าน เพื่อหยุดเชื้อไวรัสทำให้การพิจารณาต้องใช้ระยะเวลา อีกทั้งแต่ละสถาบันการเงินนั้นมีคำนิยามว่าของเอสเอ็มอีแตกต่างไป จึงทำให้พิจารณาอนุมัติจึงแตกต่างกันไปด้วย
ที่ผ่านมา ปล่อยซอฟต์โลนไปแล้ว 5.8 หมื่นล้านบาท ธปท.ไม่คาดหวังว่าการปล่อยซอฟต์โลนจะออกหมดตามวงเงิน เพราะต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิดที่สร้างผลกระทบด้วย แต่เจตนาสำคัญเพื่อช่วยเยียวยาเอสเอ็มอี รวมถึงฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ช่วงระบาดไวรัสทำให้ภาวะการเงินไม่แน่นอนสูง ภาครัฐต้องเข้าร่วมค้ำประกันความเสียหาย ขณะเดียวกันต้องไม่สร้างภาระทางการคลังมากเกินไป ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประกอบการทุกระดับต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกวิถีใหม่ ไม่ใช่มุ่งใส่เงินเท่านั้น เพราะหากอนาคตไม่ปรับตัว และใช้เงินเป็นตัวนำ อาจทำให้มีมูลค่าหนี้สูงขึ้น และทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ซอฟต์โลนเป็นเพียงกลไกในหลายมาตรการของรัฐบาลที่จะดำเนินการเพื่อช่วยเอสเอ็มอี เพราะยังมีมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระดอกเบี้ย ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือตาม พ.ร.ก.นั้น พบว่ามีเอสเอ็มอีที่มีเงินลงทุน 500 ล้านบาท ไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านราย ได้รับอานิสงส์ และไม่เฉพาะเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ประชาชนที่กู้เงินในนามผู้ประกอบการเพื่อทำธุรกิจด้วย
ทั้งนี้ พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 วงเงิน 4 แสนล้านบาท นั้นไม่ควรเรียกว่าเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน เพราะเป็นเพียงกลไกเพื่อใช้รักษาสภาพคล่องของ ธปท.ต่อการปล่อยให้สถาบันการเงิน เป็นเวลา 2 ปี และเมื่อครบกำหนดสถาบันการเงินต้องนำเงินมาจ่ายคืนให้ ธปท. ไม่นับว่าเป็นหนี้สาธารณะ และไม่สร้างภาระให้คนรุ่นต่อไป

Advertisement

 

ธีรัจชัย พันธุมาศ
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.)

พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ปัญหาเรื่องการนิยามเอสเอ็มอี ของ พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ตรงกับนิยามที่กฎหมายอื่นๆ ในประเทศที่เคยมีอย่างสิ้นเชิง ก่อนหน้านี้มีการนิยามวิสาหกิจขนาดย่อย ขนาดย่อม และขนาดกลาง ตามการจ้างงานและรายได้ของแต่ละธุรกิจ อาทิ ขนาดย่อย ไม่เกิน 5 คน รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก.ที่เสนอมาใหม่โดยรัฐบาลนั้น นิยามเอสเอ็มอี ว่า วิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท ไม่ระบุการจ้างงานหรือระดับรายได้เลย หมายความว่าบริษัทที่มีรายได้ 1,000 ล้านบาท 2,000 ล้านบาท หรือ 3,000 ล้านบาท มีลูกจ้าง 2,000-3,000 คน ก็สามารถกู้ยืมเงินก้อนนี้ เพียงแค่ต้องไม่มีหนี้กับธนาคารเกิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อย่างนี้จะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ที่ไม่ใช่เอสเอ็มอีได้อย่างง่ายๆ
ตาม พ.ร.ก.คาดจะมีกลุ่มเอสเอ็มอีรายย่อยและรายย่อมตกหล่นจากเกณฑ์การมีสินเชื่อในธนาคารที่กำหนดไว้แน่นอน การปล่อยกู้ร้อยละ 2 ที่กำหนดไว้ ธนาคารเป็นผู้มีสิทธิเลือกผู้กู้ได้ด้วยตนเองตามระดับเครดิตหรือความเป็นลูกค้าชั้นดีของธนาคาร ไม่มีการผ่อนปรน กฎเกณฑ์ การให้สินเชื่อใดๆ เลย เอสเอ็มอีเหล่านี้ที่ไม่ได้มีเครดิตดีจนเข้าสายตาธนาคารจึงยากที่จะเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยถูก ตาม พ.ร.ก.นี้ เพื่อพยุงกิจการและรักษาการจ้างงานได้ เพราะกฎเกณฑ์ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินนี้ ผมได้คุยกับผู้ประกอบการรีสอร์ตแถวชายแดนไทย-พม่า ส่วนใหญ่ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ บางคนไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และเกือบทั้งหมดไม่ค่อยได้ใช้เงินกู้จากธนาคาร แต่เสียภาษีให้รัฐถูกต้อง ที่ผ่านมาถูกมาตรการปิดเมือง ไม่มีลูกค้าทั้งคนไทยและต่างประเทศมาพัก ไม่มีรายได้ 2 เดือนเศษแล้ว ต้องจ่ายค่าแรงลูกจ้าง บางรายไม่ไหวต้องเลิกจ้างลูกจ้าง เป็นต้น คาดว่าเอสเอ็มอีอย่างนี้ไม่น่าจะเข้าถึงเงินกู้ได้
ตัวเลขการจ้างงานของเอสเอ็มอีทั้งหมดในประเทศอยู่ที่ 3,070,177 ราย ขนาดย่อมและย่อยจำนวน 3,029,525 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.2 หรือเกือบทั้งหมดของเอสเอ็มอี ในขณะที่ขนาดกลางมีจำนวน 40,652 ราย หรือร้อยละ 1.8 เท่านั้น และเมื่อเราตามไปดูการจ้างงานจะพบว่า ขนาดย่อยมีการจ้างงาน 4,974,613 คน ขนาดย่อม 4,140,563 คน และขนาดกลาง 2,070,936 คน ซึ่งขนาดย่อมและขนาดย่อยไม่มีสินเชื่อกับธนาคาร ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แน่นอนว่าไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือนี้ได้เลย ผู้ประกอบการและแรงงานหลายล้านชีวิตกำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสและกำลังจะล้มลงโดยปราศจากการเหลียวแลหรือให้ความช่วยเหลือใดๆ ของรัฐบาล
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีกว่า 3 ล้านราย จ้างงานกว่า 12 ล้านคน ถ้าหากล้มหายตายจากไป กลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบคือ แรงงานพนักงานที่ถูกจ้าง จะถูกลดชั่วโมงการทำงาน ตกงาน กลับต่างจังหวัด อนาคตทำงานได้แค่รับจ้างรายวัน ขาดความมั่นคง ไม่มีเงินออม และในฝั่งทรัพย์สิน ก็จะได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่า ทรัพย์สินที่มีอยู่ก็ต้องถูกธนาคาร หรือถูกเจ้าหนี้ยึดทรัพย์เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ต้องเอาทรัพย์สินไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินสดส่งคืนเจ้าหนี้ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทหนึ่งก็เป็นทั้งเจ้าหนี้การค้าและลูกหนี้การค้าของอีกบริษัท ถ้าบริษัทหนึ่งถูกกระทบก็จะไปดึงเงินอีกบริษัทหนึ่ง เกิดผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ ส่วนเอสเอ็มอีเจ้าของทรัพย์สินก็จะกลายไปเป็นคนล้มละลาย การจะไปทำธุรกรรมอะไรก็ยาก บางคนกิจการที่เขาสร้างมาทั้งชีวิตเมื่อล้มไป จะเริ่มสร้างใหม่ก็ไม่ง่ายเหมือนเดิมแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image