บทนำวันจันทร์ที่8มิถุนายน2563 : ปมในองค์กรอิสระ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกระแสแรงในห้วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง มีนาคม 2562 เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เมื่อสภาเห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ภายใน 90 วัน ล่าสุด มีการขอขยายเวลาออกไปอีก 90 วัน เนื่องจากต้องพักประชุมจากผลกระทบของไวรัสแพร่ระบาด นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย โฆษกคณะกรรมาธิการ แถลงเร็วๆ นี้ว่า ในการประชุมครั้งล่าสุด พิจารณาเรื่ององค์กรอิสระ และมีความเห็นสอดคล้องกันว่ามีปัญหาที่กระบวนการสรรหายึดโยงประชาชนน้อยไป จึงเสนอให้แก้ไขเรื่องที่มา

และยังพิจารณากระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล เห็นตรงกันว่า องค์กรอิสระมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ให้คุณให้โทษต่อสังคม แต่แทบไม่มีกระบวนการตรวจสอบ เช่น เมื่อมีคำวินิจฉัยแล้วก็จบ ไม่มีใครไปถามถึงเหตุผลหรือเข้าไปศึกษาได้ การตรวจสอบจากองค์กรทางสังคม เช่น ประชาชน สภา หรือกับองค์กรอื่นๆ ก็ไม่มี จึงเห็นควรต้องปรับปรุงออกแบบกระบวนการตรวจสอบ ถ่วงดุลองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญใหม่ โดยเห็นว่า องค์กรใดมีอำนาจมาก ให้คุณให้โทษต่อสังคม และมีผลกระทบเป็นวงกว้าง จำเป็นต้องสร้างระบบตรวจสอบให้มากขึ้น ที่ผ่านมาเรื่องนี้เป็นจุดอ่อน

อีกปัญหาที่กรรมาธิการควรนำไปพิจารณาได้แก่ กรณีเกิดปัญหาการสรรหาผู้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระ 2 แห่ง กรรมการสรรหาชุดหนึ่งเห็นว่า ผู้เข้ารับการสรรหาที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ หรือ สนช. มาก่อน ถือว่าต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายองค์กรอิสระ แต่กรรมการสรรหาอีกชุดเห็นว่า ไม่ต้องห้าม โดยผู้รับการสรรหาดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาไปแล้ว จนเกิดการถกเถียง และมีผู้ยื่นผ่านผู้ตรวจการรัฐสภาให้ส่งตีความ ทำให้เกิดข้อสงสัยในมาตรฐานการใช้กฎหมายของกรรมการสรรหา

แนวคิดให้กระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระยึดโยงกับประชาชน และสร้างระบบตรวจสอบที่ชัดเจน จะช่วยทำให้องค์กรอิสระทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น และลดภาพลักษณ์ที่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้มีกติกาสูงสุดที่เป็นมาตรฐาน และสร้างความเป็นธรรมที่เสมอหน้ากันในสังคม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image