รายงานหน้า2 : โควิดกระทบ‘โทรคมฯ’ เร่ง‘5G’-ดันโอทีทีไทย สร้าง‘เวิร์กฟรอมโฮมฮับ’

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการโทรคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการพัฒนา 5จี ของประเทศไทย ในสถานการณ์แพร่ระบาด โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

สืบศักดิ์ สืบภักดี
นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ไม่เลือกยากดีมีจน ไม่เลือกธุรกิจเล็กหรือใหญ่ ไม่เลือกสายอาชีพ จึงไม่แปลกที่ “กิจการด้านโทรคมนาคม” จะได้รับผลกระทบ

ซึ่งการสะท้อนว่าได้รับผลกระทบ คือ การยื่นหนังสือผ่านสมาคมวิชาชีพ โดยขอให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาและออกมาตรการเพิ่มเติม

Advertisement

หลังมีมติชะลอการชำระค่าธรรมเนียมรายปีในส่วนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมออกไปจนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2563 ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็น กลาง ไม่มีอะไรเกินเลย ได้แก่ 1.พิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมที่ผู้ประกอบการต้องชำระเป็นคราวๆ ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมเลขหมาย ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตั้งสถานีฐานวิทยุคมนาคม ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป

2.พิจารณาปรับลดค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระเป็นรายปี ซึ่งประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และเงินจัดสรรรายได้เข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ค่าธรรมเนียมยูโซ่)

และ 3.พิจารณาประสานงานการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าภูมิภาค เพื่อขอชะลอการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อไม่สร้างภาระให้ผู้ประกอบการจนเกินควร และขอให้พิจารณาปรับปรุงประกาศ กสทช.ต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อได้

Advertisement

ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็ได้รับผลกระทบหมด อยู่ที่ว่าจะกระทบมากหรือกระทบน้อย อย่าว่าแต่โรงงานพานาโซนิคเลย ร้านอาหารหน้าปากซอยก็ได้รับผลกระทบ บริษัทเอกชน แม้กระทั่งมหาวิทยาลัย ที่เห็นยังอยู่ได้ จ่ายเงินเดือนพนักงานครบ แต่กัดฟันกลืนเลือด

ทั้งนี้ ในกิจการโทรคมนาคมก็ไม่ได้มีเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง เอไอเอส ทรู ดีแทค ซึ่งก็ได้รับผลกระทบ

แต่ไม่ได้รับผลกระทบขนาดจะล้มละลายเหมือนกรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แต่ผล กระทบตกอยู่ที่ห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมซึ่งเชื่อมโยงกันทั้งหมด

และเมื่อวิกฤตไวรัสโควิด-19 กระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ก็ย่อมกระทบต่อการขับเคลื่อน 5G จากเดิมที่โฟกัสในบางอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต

ซึ่งมีการกำหนดในเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ว่าจะต้องขยายโครงข่ายให้ได้ 50% ของพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 1 ปี

และจะต้องขยายโครงข่ายให้ได้ 50% ของพื้นที่เมืองอัจฉริยะใน 4 ปี ขณะเดียวกัน ก็โฟกัสที่การคมนาคมขนส่ง การเกษตร และด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตามลำดับ

แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ผลักให้ 5G มีบทบาทต่อด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระโดดข้ามอุตสาหกรรมการผลิต จากเดิมที่คาดว่าจะถูกผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนด้านอื่นๆ ถูกประวิงเวลาออกไป

ทำให้จากที่วาดฝันว่า 5G จะต้องเข้ามาเสริมธุรกิจรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นนิวเอสเคิร์ฟ ตอนนี้มันหดตัวหมด ทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โลจิสติกส์ การเงิน การลงทุน

ฉะนั้นแผนที่ว่า 5G จะมาช่วยสร้างเม็ดเงินระดับหมื่นล้าน ไม่เหมือนที่คิดไว้ และที่น่ากังวลคือ ไม่มีใครตอบได้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจะกลับมาเมื่อไร จะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน สำหรับการลงทุนของผู้ประกอบการที่เตรียมวงเงินไว้คงต้องทบทวนแผนการลงทุนใหม่ให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม แม้ภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แต่การลงทุนและการขยายโครงข่ายสื่อสาร และ 5G ก็ยังเดินหน้าต่อไป

ทำให้ปัจจุบันมีเอกชน 2 ราย ที่เปิดให้บริการ 5G ครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว แม้จะเฉพาะบางพื้นที่ บางจุด

ถึงจะมีเหตุการณ์โควิด-19 แต่การใช้เทคโนโลยี เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้บางอย่างจะเร่งพัฒนาและลงทุน โดยเฉพาะการรองรับการขยายตัวของดาต้า และการเปิดแพลตฟอร์มใหม่

ระยะแรกคงทำเท่าที่จะรองรับได้ บนโครงสร้างพื้นฐานเดิมทั้ง 4G และไฟเบอร์ออปติกทูดิเอ็กซ์ไปก่อน พอดีจังหวะของ 5G ที่จะรองรับทั้งการมีเครือข่าย เครื่องลูกข่าย และอุปกรณ์ ในระยะสั้นรูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) ต้องมีออกมา หลายคนอาจมองว่าโควิด-19 มาตอน 5G จะเกิดอาจดูเหมือน 5G ช่วยได้เยอะ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาแก้ปัญหาบน 5G แต่จริงๆ แล้วต้องยอมรับว่ามันยังเร็วไป โควิด-19 มาเร็วก่อน 5G พร้อม ส่วนเทคโนโลยีบางอย่างที่จะเป็นความหวังมีอนาคต แต่ต้องใช้เวลา

สิ่งที่ยังต้องเพิ่มเติม และทำให้มีความชัดเจน คือการมีรูปแบบการนำคลื่นความถี่ไปใช้งาน 5G ปัจจุบันยังมีโครงการที่ใช้ 5G จริงน้อยมาก มีแต่โครงการที่จะทำ พัฒนา 5G มีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาธุรกิจที่จะนำ 5G ไปใช้

ในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน คือ เครือข่ายและคลื่นความถี่ กำลังจะเกิดขึ้น คลื่นความถี่จัดสรรไปแล้ว เหลือแค่การลงทุนโครงข่าย ซึ่งผู้ให้บริการทุกรายกันเงินส่วนที่จะลงทุนไว้รอแล้ว เหลือแต่การต่อยอดการเอายูสเคสไปใช้จริง ยูสเคสที่มียังเป็นยูสเคสแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้ทะลุกรอบเดิมๆ ที่เป็นบริการใหม่ หรือธุรกิจที่รองรับการมาของ 5G จริงๆ ใช้ประโยชน์จากความเป็น 5G

ในส่วนนี้ กสทช.และรัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่น ไม่ใช่การทำแค่การโชว์เทคโนโลยีต้นแบบ 5G จะเกิดหรือไม่ต้องใช้ความร่วมมือของทุกฝ่าย

5G แตกต่างจากเทคโนโลยีก่อนหน้าอย่าง 3G และ 4G เพราะผู้บริโภคหรือคนใช้งานทั่วไปจะยังไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในระยะแรก เพราะเทคโนโลยีมุ่งไปรองรับการพัฒนาและปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรม เมื่อ 5G มา ผู้ใช้อาจไม่ค่อยรู้สึกในทันที เลยอาจจะทำให้คนมองว่าการลงทุนอาจจะเสียโอกาสที่ไม่ได้ใช้ จึงต้องทำความเข้าใจเทคโนโลยี ขณะที่การยังไม่ได้พัฒนาธุรกิจรองรับ 5G ไว้จะทำให้บริการจาก 5G เกิดช้า หรือยังไม่เกิด

ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐาน 5G ประกอบด้วย 1.โครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบนด์ หรือแถบคลื่นความถี่ (แบนด์วิดธ์) และ 2.รูปแบบการติดต่อสื่อสารและการเชื่อมต่อเครือข่าย (นิวเรดิโอ) โดยโครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบนด์นั้น ปัจจุบันประเทศไทยถือว่าไม่ย่ำแย่ เนื่องจากนโยบายระดับประเทศและภาคเอกชน ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความเร็วสูง อย่างระบบไฟเบอร์ออปติก (เส้นใยแก้วนำแสง) แม้จะเป็นต้นตอของสายสื่อสารระโยง
ระยางอยู่ตามท้องถนน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดแก้ไข

ส่วนเรื่องนิวเรดิโอ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่โทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่จะขยายไปสู่การเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ

ทำให้การเปลี่ยนผ่านจาก 4G เป็น 5G ต้องลงทุนด้านการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี และการวางโครงสร้างพื้นฐานไม่น้อย

รวมทั้งมีการเตรียมการในหลายเรื่อง เช่น แผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (สเปกตรัม โรดแมป) เนื่องด้วยข้อจำกัด 5G ไม่สามารถซ้อนลงบนเทคโนโลยีในระบบ 4G ได้ จึงต้องมีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่านใหม่ ที่มีแบนด์วิธกว้างเพียงพอต่อการรองรับ

ฐากร ตัณฑสิทธิ์
เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จากการมาตรการคลายล็อกในเฟส 3 และหากสถานการณ์ดีขึ้นอาจจะมีเฟส 4 ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะเริ่มปรับตัวได้ดีขึ้น

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.ก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนใน 2 ประการคือ การมอบอินเตอร์เน็ตฟรีให้ 10 GB และปรับเพิ่มบรอดแบนด์ให้ประชาชน 100 Mbps เพื่อสนับสนุนให้การทำงานจากที่บ้าน Work From Home และมีการให้บริการด้านเสียง (วอยซ์) แก่ประชาชนฟรี 100 นาที

ในช่วงครึ่งปีหลัง ต้องขอให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) จะต้องเร่งเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว เพราะด้วยศักยภาพของ 5G ที่ให้ความเร็วสูงในระดับกิกะบิตต่อวินาที จะช่วยตอบสนองความต้องการใช้งานเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะนี้ มีการขยายตัวดีขึ้นในบางเซ็กเตอร์ เพื่อชดเชยบางเซ็กเตอร์ที่ชะลอตัวลง

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช.ยังได้หารือกับ Mr.Houlin Zhao เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) เกี่ยวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และเพื่อรายงานความคืบหน้าภายหลังการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ซึ่งถือได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศอันดับต้นๆ ที่จัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ในรูปแบบบริการเชิงพาณิชย์โดยสมบูรณ์ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยหลังจากที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติในทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนการต่อยอดการใช้งาน 5G ในภาคอุตสาหกรรม โดยจะนำรายชื่อคณะกรรมการเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอีเอส) และผ่านความเห็นชอบแล้ว ด้วยศักยภาพดังกล่าวของประเทศไทย จึงจะเสนอให้ไอทียูมีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานไอทียู เทเลคอม เวิลด์ 2021 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งหากมีมติเห็นชอบจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช.จะเสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติให้ผลักดัน 2 โครงการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศคือ การเสนอให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับการทำงานจากที่บ้านโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารด้วยเทคโนโลยี 5G ดึงดูดนักลงทุนด้วย

ทั้งนี้ จากการเป็นศูนย์กลางของการทำงานที่บ้าน สำนักงาน กสทช.จะเสนอโครงการพัฒนาโอทีที แพลตฟอร์มของคนไทย ซึ่งช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่ผ่านมาการพัฒนาโอทีทีแพลตฟอร์มของประเทศไทยมีปัญหาจากการมีเทคโนโลยีสื่อสารที่ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน การมี 5G เป็นประเทศแรกน่าจะทำให้การพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับคนไทยเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image