รายงานมติชน : ‘บิ๊กตู่’ยกเลิก‘เคอร์ฟิว’ ปลดล็อกไฟเขียวเปิดเฟส4

รายงานมติชน : ‘บิ๊กตู่’ยกเลิก‘เคอร์ฟิว’ ปลดล็อกไฟเขียวเปิดเฟส4

‘‘บิ๊กตู่’’ยกเลิก‘‘เคอร์ฟิว’’ ปลดล็อกไฟเขียวเปิดเฟส4

หมายเหตุ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ถึงมาตรการผ่อนคลายกิจกรรมและกิจการระยะที่ 4 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน


ข้อเสนอมาตรการผ่อนคลาย ระยะที่ 4 มาตรการบังคับใช้กฎหมายที่สำคัญ ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ระหว่างเวลา 23.00-03.00 น. ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนเป็นต้นไป แต่ยังคงมาตรการควบคุมการเดินทางเข้า ราชอาณาจักรทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ หน่วยงานในกำกับของรัฐ สำหรับการเรียน การสอน อบรม สัมมนา ในรูปแบบวิถีใหม่

(1) การใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนประเภทนานาชาติ หรือสถาบันการศึกษาหลักสูตรนานาชาติ และโรงเรียนนอกระบบ ประเภทกวดวิชา

Advertisement

(2) การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในระบบที่มีนักเรียนรวมทั้งโรงเรียน ไม่เกิน 120 คน
(3) การใช้อาคารสถานที่ของหน่วยงานราชการและหน่วยงานในกำกับของรัฐ เพื่อการอบรม สัมมนาในหลักสูตรฝึกอบรมที่หน่วยงานจัดขึ้น

ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาตามข้อ 1 และ 2 ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน โรคที่ทางราชการกำหนด การจัดระเบียบและระบบต่างๆ รวมทั้งคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด

กิจการ/กิจกรรมที่ผ่อนคลายระยะที่ 4

Advertisement

(1) กิจกรรมค้นเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต
(ก) การจัดการประชุม การอบรม การสัมมนา การจัดนิทรรศการ งานพิธี การจัดเลี้ยง การแสดงดนตรี นาฏศิลป์ คอนเสิร์ต หรือการจัดกิจกรรมมต่างๆ ที่จัดขึ้นในโรงแรม โรงมหรสพ ห้องประชุม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงภาพยนตร์ หรือในสถานที่อื่นๆ (ประชุม อบรมสัมมนา คิดเกณฑ์ 4 ตร.ม./คน) (จัดเลี้ยง งานอีเวนต์ เปิดตัวสินค้ำ ประกวด แข่งขันกีฬา : ระยะนั่ง-ยืนห่าง 1 เมตร) (งานดนตรี คอนเสิร์ต : ลดความหนาแน่น -ไร้ระเบียบ เกณฑ์ 5 ตร.ม./คน)

(ข) การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงแรม ร้านอาหาร หรือเครื่องดื่มทั่วไป หรือในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และได้ผ่อนคลายให้เปิดดำเนินการอยู่ก่อนแล้วให้สามารถทำได้ ยกเว้นในส่วนของสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และโรงเบียร์ ยังไม่อนุญาตเปิดดำเนินการ

(ค) สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน ศูนย์เด็กพิเศษ สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานที่บริการดูแล สถานที่พำนักอาศัย หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่จัดสวัสดิการให้แก่เด็กหรือผู้สูงอายุ (เด็กเล็ก แบ่งกลุ่มเล็ก เกณฑ์ 2 ตร.ม./คน) (ผู้สูงวัย : วัคซีนไข้หวัดใหญ่ คัดกรองไข้ ป่วย)

(ง) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม (กรณีเข้าชมเป็นกลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มเล็ก เข้าชมเป็นรอบ)

(จ) การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (กองถ่ายทำ รวมทุกแผนกไม่เกิน 150 คน และมีผู้เข้าชมไม่เกิน 50 คน)

(2) กิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ
(ก) การอบตัว อบสมุนไพร หรืออบไอน้ำแบบรวมในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ยกเว้นในส่วนของสถานประกอบกิจการ อาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด ยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ (เน้นให้บริการแบบแยกห้องเดี่ยว) (ห้องรวม หรือบ่อออนเซ็นรวม ควบคุม จำนวนผู้ใช้บริการ โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการต่อรอบ : คิดเกณฑ์ 5 ตร.ม./คน)

(ข) การออกกำลังกายแบบกลุ่มในสวนสาธารณะ ลานกิจกรรม พื้นที่กิจกรรมสาธารณะหรือลานกีฬากลางแจ้ง (จำกัดรวมกลุ่ม คิดเกณฑ์ 5 ตร.ม./คน รวมไม่เกิน 50 คน)

(ค) สวนน้ำ สนามเด็กเล่น สวนสนุก ยกเว้นการใช้เครื่องเล่นในลักษณะที่เป็นการติดตั้งชั่วคราวหรือเครื่องเล่น ที่มีพื้นผิวสัมผัสมาก ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรคในเด็ก เช่น บ้านบอล บ้านลม (สวนน้ำ คิดเกณฑ์ 4 ตร.ม./ต่อผู้ใช้บริการ 1 คน)

(ง) สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ลานเล่นกีฬา หรือเพื่อการเรียนการสอนในทุกประเภทกีฬา โดยสามารถจัดการแข่งขันและจัดให้มีการถ่ายทอดโทรทัศน์การแข่งขันกีฬาได้ แต่ต้องไม่มีผู้ชมอยู่ในสนามแข่งขัน และผู้จัดการแข่งขันต้องดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่ทางราชการกำหนดด้วย

(จ) ตู้เกม เครื่องเล่นหยอดเหรียญที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์

มาตรการควบคุมสำหรับทุกกิจการ/กิจกรรม

1.ความสะอาดบริเวณ 2.กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน 3.สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา (ผู้ให้บริการ) 4.สวมหน้ากากอนามัยทั้งก่อน และหลังกิจกรรม (ผู้ใช้บริการ) 5.ลงทะเบียนยืนยันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค 6.ควบคุมการเข้า-ออก 7.ลงทะเบียนด้วย Platform “ไทยชนะ” 8.จำนวนผู้ดูแลตามมาตรฐานที่กำหนด 9.จุดล้างมือบริการเพียงพอ

การเปิดกิจการ/กิจกรรม ในระยะที่ 4 กำหนดให้งดการเปิดผับ-บาร์-สถานบันเทิง แต่ในส่วนของร้านอาหารที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการจดทะเบียนเป็นร้านอาหาร มีใบอนุญาตในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช่การจดทะเบียนเป็นสถานบันเทิงสามารถเปิดกิจการได้ แต่จะต้องมีการรักษามาตรการการป้องกันและควบคุมโรค ตามที่หน่วยงานราชการกำหนด

“ร้านอาหารที่ไม่ใช่ผับ บาร์ อยู่นอกเหนือจากนี้ ถือว่าสามารถดำเนินการได้ และจะมีข้อกำหนดออกมาภายใน 2 วันนี้ ก่อนการใช้เฟส 4 หากร้านอาหารที่มีการจดทะเบียนเป็นร้านอาหารก็จะจัดเป็นร้านอาหาร ขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการที่จดทะเบียน ซึ่งมีกฎหมายควบคุมอยู่ ซึ่งเมื่อถูกตรวจสอบก็จะตรวจสอบว่าเป็นประเภทอะไร โดยจะต้องมี 5 มาตรการหลักในการควบคุม บวกกับ 1 มาตรการ คือ การใช้แพลตฟอร์มไทยชนะ หากตรวจสอบแล้วมีความแออัด หรือไม่มีการตั้งจุดล้างมือ จะถูกท้วงติง

ในส่วนของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงมีต่อไป ไม่ได้มีการยกเลิก เพียงแต่เป็นการยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิวที่งดออกนอกเคหสถานในเวลาวิกาล และการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลในการควบคุมผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและจะต้องเข้ากักกันโรคในสถานที่ที่รัฐกำหนด (State Quarantine) ทั้งนี้ การเดินทางภายในประเทศสามารถเดินทางได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดยังคงมีอำนาจในการกำหนดมาตรการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัดอยู่

สำหรับร้านอาหารที่จดทะเบียนและมีการแสดงดนตรีสด หากมีการจดทะเบียนว่าเป็นร้านอาหารและมีการระบุว่าจะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในส่วนของการแสดงดนตรีนั้นจะต้องดูว่าทำถูกระเบียบหรือไม่ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการจดแจ้งขึ้นทะเบียนกิจการ /กิจกรรม ตรงกับที่ตรวจหรือไม่

หากมีการจดทะเบียนเป็นร้านอาหาร แต่มีการจัดกิจกรรมคล้ายผับ บาร์ ก็จะโดนข้อกฎหมายอื่น หากมีการแอบเปิด เช่น แรกเริ่มเป็นร้านอาหารที่ไม่มีดนตรี แต่มีการนำดนตรีไปใส่ในภายหลัง ก็อาจจะผิดกฎหมายด้านอื่น ซึ่งจะดูกฎหมายอื่นประกอบด้วย

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ระบบป้องกัน โดยระบบป้องกันส่วนบุคคล คือ หน้ากากอนามัย และระบบป้องกันของสังคม คือ การใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” โดย คำว่า ป้องกัน และควบคุมโรค มีความแตกต่างกันคือ ป้องกันไม่ใช่เชื้อโรคเข้ามา แต่หากเกิดโรคแล้วจะต้องควบคุมให้ทัน ถึงแม้ตัวเลขภายในประเทศจะเป็นศูนย์มาหลายวันแล้ว แต่นักวิชาการระบุว่า เมื่อต้นปี 2563 ช่วงเดือนมกราคม ประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์ แต่เป็นการป่วยในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ คือ ประเทศจีน เพียงกลุ่มหนึ่ง และเกิดการติดเชื้อจนในประเทศไทยมีการติดเชื้อถึง 3,129 ราย และมีการติดเชื้อทั่วโลกเป็นหลัก 7 ล้านคน

ตอนนี้ไม่มีที่ใดปลอดโรค ถึงแม้ประเทศไทยจะมีตัวเลขเป็นศูนย์ถึง 18 วัน แต่ถ้าเราเปิดการเดินทาง หรือมีคนเดินทางเข้ามา โอกาสติดเชื้อจะสูงมาก ดังนั้น การใช้แอพพ์ไทยชนะจึงมีความสำคัญสูงมาก โดยทางผู้อำนวยการ ศบค.ได้เน้นย้ำเป็นสำคัญมาก ขณะนี้ผู้ใช้งานระบบ iOS ของ Apple สามารถใช้งานได้แล้ว พร้อมดาวน์โหลดเพื่อความสะดวกในการเช็กอิน-เช็กเอาต์ และแก้ปัญหาการลืมเช็กเอาต์

สุดท้ายขอฝากว่าจะต้องยึด 6 มาตรการ คือ 1.อยู่ห่างไว้ 2.ใส่แมสก์กัน 3.หมั่นล้างมือ 4.ถือหลักสะอาด 5.ปราศจากแออัด 6.จัดไปไทยชนะ เพื่อเป็นการป้องกันคนในประเทศไทย และสามารถไปไหนมาไหนได้อย่างสบายใจ หากไม่มีการติดเชื้อ ระบบจะลบข้อมูลไป แต่หากมีการติดเชื้อ ก็จะเป็นเครื่องมือในการติดตามโรคได้อย่างรวดเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image