ถอดรหัส ‘รัฐบาล นิวนอร์มอล’ ปลุก ‘อุดมการณ์ชาตินิยม’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เรื่อง “วิธีการทำงานแบบ New Normal ของนายกรัฐมนตรี” ในภารกิจ “รวมไทยสร้างชาติ รัฐบาลยุคนิวนอร์มอล” เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา (อ่านข่าว : “บิ๊กตู่” ปรับลุคออกจอ ปลุกรบ.ทำงานแบบนิวนอร์มอล ดึงทุกภาคส่วนฟื้นฟูประเทศพ้นวิกฤตโควิด-19)

 


 

Advertisement

ผศ.ดร.พิชิต รัชตพิบุลภพ
ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์

นายกฯประยุทธ์ประกาศแนวคิดถึงวิธีการทำงานของภาครัฐรูปแบบใหม่ในยุคนิว นอร์มอล ด้วยการใช้ 3 แนวทางหลักคือ 1.เปลี่ยนโฉมการทำงานรูปแบบใหม่ และผสานกำลังทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันวางอนาคตประเทศ 2.การประเมินผลงานภาครัฐโดยผู้มีส่วนได้เสีย และ 3.เน้นการทำงานภาครัฐเชิงรุกเพื่อภารกิจใหม่ “รวมไทยสร้างชาติ” ทำให้เกิดคำถามที่ตามมาในทันที

การประกาศของนายกฯมีวัตถุประสงค์ใดแน่ เท่าที่จับประเด็นจากเนื้อหาน่าจะเป็นไปเพื่อ “เรียกศรัทธาจากแฟนคลับ” ว่าต่อจากนี้ไปนายกฯกำลังจะปรับปรุงการบริหารจัดการภาครัฐใหม่ เพื่อนำประเทศไทยให้สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมาดีได้ดังเดิม จึงต้องขอความร่วมแรงร่วมใจจากประชาชนให้เชื่อมั่นในรัฐบาล และให้โอกาสรัฐบาลทำงานเพื่อมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันก็เป็นการลดระดับแรงกดดันของสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เห็นต่าง ในช่วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีผลงานให้เห็นเด่นชัด นอกจากการแจกเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าต่อจากนี้รัฐบาลกำลังจะปรับเปลี่ยนตัวเองแล้ว ด้วยการทำงานเชิงรุกต่อปัญหาของประชาชนให้มากขึ้น จึงขอให้ประชาชนที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีๆ สามารถนำเสนอแนวคิดดังกล่าวสู่รัฐบาลได้ รัฐบาลก็พร้อมที่จะรับฟัง

Advertisement

สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อมาคือ 3 แนวทางหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ตามการประกาศของนายกฯในครั้งนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ประเด็นความท้าทายของภาครัฐยุคใหม่เป็นเรื่องของการผสานเทคโนโลยีให้เข้ากับการบริหารงานภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนสามารถร่วมกันกำหนดนโยบายและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ ซึ่งรัฐบาลนี้ได้เดินมาถูกทางแล้ว แต่การที่ 3 แนวทางหลักในการขับเคลื่อนประเทศของนายกฯจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้น อย่าอ้างว่าขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับความพร้อมในการรับการตรวจสอบของภาครัฐด้วย

ความพร้อมที่ว่าคือ ความพร้อมของข้อมูลภาครัฐทุกหน่วยงาน ยินดีเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะมากน้อยแค่ไหน ข้อมูลที่เปิดเผยออกมามีความทันสมัยหรือไม่ และประเด็นที่สำคัญคือ ภาครัฐสามารถบูรณาการข้อมูลทั้งหมดมารวมไว้ที่เว็บไซต์เดียวได้หรือไม่ เพื่อไม่ทำให้ประชาชนเสียเวลามากมายในการค้นหาข้อมูลภาครัฐในแต่ละเรื่อง แนวคิดดีแต่สำเร็จได้ อยู่ที่จริงใจหรือไม่

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

เป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลจะพยายามปรับตัว เนื่องจาก ณ วันนี้มีความเปลี่ยนแปลงในหลายส่วน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งถือเป็นวิถีใหม่ที่จะต้องมีในการบริหารราชการด้วย จึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะเดินต่อได้ยากในโลกยุคปัจจุบันภายใต้ภาวะของการแข่งขัน ซึ่งการแถลงของนายกฯยังสะท้อนภาพให้เห็นความพยายามที่จะใช้ “อุดมการณ์ชาตินิยม” เพื่อชี้ให้เห็นถึงการร่วมมือกันของผู้คนในภาวะปัจจุบัน

ความจริงแล้ว การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกวันนี้ถูกควบคุมกำกับค่อนข้างมาก เนื่องจากเราอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบควบคุมกำกับ” ดังนั้น การตัดสินใจมีส่วนร่วมของประชาชนจะกลายเป็นฉันทานุมัติอย่างแท้จริงได้หรือไม่ หากทุกอย่างยังถูกรวมศูนย์อยู่ภายใต้โครงสร้างรัฐราชการ ถึงแม้ท่านนายกฯ จะบอกว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ท้ายที่สุดจะมีอุปสรรค ปัญหา เช่น เรื่องกฎหมาย มุมมอง กระทั่งทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ดี ดังนั้น การมีส่วนร่วมได้จริงภายใต้สภาวะนี้คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น สิ่งที่ท่านนายกฯ พูดถึงการดึงผู้คนเข้ามาร่วมก็คงจะเป็นลักษณะของการ “ผลิตวาทกรรม” เพื่อทำให้ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 บรรเทาเบาบางลง เนื่องจากรัฐบาลเองก็ถูกตั้งคำถามกับการแก้ปัญหาและการดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอยู่ไม่น้อย จึงต้องพยายามสร้าง โดยยึดเอาอุดมการณ์ทางความคิดแบบชาตินิยมมาหลอมหลวมจิตใจของผู้คนในสถานการณ์แบบนี้

ทั้งนี้ การที่นำเอาอุดมการณ์ชาตินิยมมาใช้ในสถานการณ์เช่นนี้ก็คงไม่ช่วยให้เกิดผลอะไรมากนัก เพราะท้ายที่สุดแล้ว สถานการณ์ปัจจุบัน การผลิตซ้ำทางวาทกรรมไม่สามารถทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้จริง หากแต่การแก้ปัญหาต้องเป็นการที่รัฐบาลปรับวิธีคิดในการดำเนินนโยบายในเรื่องของการเงิน-การคลังที่กระจายสู่พี่น้องประชาชน นโยบายที่จะทำให้ประชาชนสามารถได้รับการเยียวยา ฟื้นฟู อย่างแท้จริง เช่น ในระดับพื้นที่ ชุมชนหรือท้องถิ่น แทนที่จะเป็นการกู้เงินเพื่อเยียวยาประชาชน รัฐก็ควรที่จะสร้างงานมากกว่า สร้างงานให้ชุมชนเข้ามาทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเมื่อทำงานจึงจะมีค่าตอบแทนให้ ไม่ใช่เป็นการเยียวยาโดยกู้เงินมาให้โดยตรง เพราะการให้ประชาชนลงแรงจะทำให้เกิดผลิตผล ผลิตภาพในระดับชุมชนท้องถิ่น แต่แน่นอนว่า สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง คนด้อยสิทธิ ด้อยโอกาส หรือ คนพิการก็อาจมีข้อยกเว้นโดยเยียวยาทันที

แต่สำหรับกลุ่มที่ตกงาน ว่างงานจากเมืองใหญ่ รัฐก็เข้าไปสร้างงานให้เขาทำให้เกิดการหมุนเวียนตั้งแต่ระดับชุมชน ซึ่งคือพื้นฐานในการทำให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับชุมชนซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด-19 เพราะ ณ วันนี้หากหวังเศรษฐกิจโลก เช่น รอการท่องเที่ยว รอการลงทุนจากต่างประเทศ และการส่งออก ไม่เพียงพอ และอาจจะต้องใช้เวลานาน เพราะวิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้นทั่วกันทั้งโลก ดังนั้น สิ่งที่ต้องปรับคือ “แนวคิดวิธีทำงาน” มากกว่า “การผลิตซ้ำด้วยวาทกรรม” เพียงอย่างเดียว

สิ่งที่จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ คือ ต้องเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เราเห็นแต่เพียงท่านนายกฯ บอกว่าจะรับฟังความคิดเห็นของบรรดา 20 เจ้าสัว แต่เรายังไม่เคยได้ยินนายกฯ บอกว่าจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งสวนทางกับที่ว่าจะเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่พื้นที่ของรัฐต้องเปิดด้วย หากพื้นที่ของรัฐไม่เปิด ท้ายที่สุดก็เป็นเพียงแค่การผลิตซ้ำทางวาทกรรมเหมือนที่ผ่านมา บอกให้ประชาชนมาร่วมมือกันสร้างสรรค์ประเทศ แต่ท้ายที่สุดทุกอย่างก็ยังผูกขาดโดยอำนาจรัฐ

แน่นอนว่าความปรองดองเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายหวังจะให้เกิดขึ้น แต่คงไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้าสุดท้ายกระบวนการพูดคุยยังไม่เริ่มต้นซึ่งเรายังไม่เคยเห็นในระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา หลังการรัฐประหาร ปี 2557 ก็มีความพยายามที่จะดำเนินการเรื่อความปรองดอง แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่เห็นภาพ

อย่างไรก็ดี มีข้อสันนิษฐานที่หลายฝ่ายอาจสงสัย ว่าเหตุใดจังหวะเวลาแถลงของท่านนายกฯ ถึงตรงกับการเปิดตัวของ กลุ่มแคร์ อีกทั้งยังมีข่าวออกมาเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งส่วนตัวก็ยังไม่อยากเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นหากเราจะไปสู่จุดนั้นจริง การสร้างความปรองดองคงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันอีกยาวนาน แต่หากการเปิดตัวของกลุ่มแคร์ แล ะแถลงของท่านนายกฯ เมื่อวานนี้ เป็นจุดตั้งต้นได้จริงก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่หลังจากนี้คงต้องมีกระบวนการอีกยาวนานกว่าจะทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะเดินหน้า ซึ่งการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเรื่องของปลายทางมากกว่า

 

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส
คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก

แรงจูงใจที่นายกฯออกมาแถลงน่าจะมี 3 เหตุผลหลักคือ 1.ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏโพลสาธารณะหลายแห่งที่สอดคล้องกันว่าคะแนนนิยมของรัฐบาลตกลงทุกด้าน 2.ความแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่สุดท้ายก็เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนว่ามีความขัดแย้งที่รุนแรงและแตกแยกจริง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคทั้งชุด อีกทั้งเตรียมจะปรับคณะรัฐมนตรีตามมา และ 3.เศรษฐกิจถดถอยรุนแรง

ทั้ง 3 เหตุผลนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้นายกฯมองว่า น่าจะต้องหากลยุทธ์เบี่ยงเบนความสนใจคนจากปัญหาเหล่านี้ จึงประดิษฐ์วาทกรรมสวยๆ ออกมาว่า “รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งนี่ไม่ใช่ของใหม่ หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ท่านนายกฯเป็นผู้ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พูดอยู่แล้วว่าจะสลายความขัดแย้งทุกขั้ว จนมาถึงวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันตลกผลึกเป็นวาทกรรมที่ไม่เห็นเลยว่าจะทำได้ตรงไหน ดังนั้น จะมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากการกำหนดวาระเพื่อเบี่ยงเบน 3 ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น

คำพูดนายกฯฟังดูเผินๆ แล้วรู้สึกดีมาก เสมือนกำลังได้รัฐบาลที่จะปฏิบัติการเชิงรุก เข้ามารับฟังปัญหาของประชาชน ให้ความสำคัญว่าประชาชนคือฟันเฟืองสำคัญกับประเทศไทย จริงๆ แล้วในระบอบประชาธิปไตย เสียงของประชาชนคือเสียงสำคัญที่สุดอยู่แล้ว แต่รัฐบาลจะรับฟังเสียงของประชาชนจากที่ไหนได้ถ้าไม่ใช่ผู้แทนราษฎร เพราะประชาธิปไตยของไทยเป็นระบบตัวแทน เราไม่ใช่ระบบประชาธิปไตยสมัยกรีกที่เป็นประชาธิปไตยทางตรง กล่าวคือ ประชาชนคิดอย่างไรก็เข้ามาบอกผู้นำ ผู้นำรับฟัง ทว่าปัจจุบันนี้เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน ท่านนายกฯจะฟังเสียงประชาชนราว 70 ล้านคนได้อย่างไร ดังนั้น ต้องฟังเสียงผู้แทนราษฎรที่เขาเลือกเข้ามา พร้อมไว้วางใจให้คนเหล่านี้เป็นกระบอกเสียงแทน

ที่ผ่านมา เรื่องการแจกเงินเยียวยาโควิด-19 ส.ส.ได้เสนอแนวคิดกับรัฐบาลแล้วว่าประชาชนอยากให้แจกเงินแบบไหนอย่างไร เพื่อจะได้รับอย่างทั่วถึง แต่รัฐบาลไม่ฟังการเสนอของภาคส่วนไหนเลย ไม่ว่าจะผู้แทนราษฎรหรือนักวิชาการ แต่วันนี้กลับลุกขึ้นมาบอกว่าจะฟังทุกภาคส่วน จึงสงสัยว่าท่านายกฯจะฟังอย่างไร จะใช้กลไกอะไรในการฟังเสียง 70 ล้านคนได้ ถ้าไม่ใช้กลไกรัฐสภา หรือผู้แทนราษฎร

สิ่งที่ท่านนายกฯพูดดูเหมือนจะเป็นมิติใหม่ เป็นรัฐบาลนิว นอร์มอล แต่ความจริงแล้วคือวาทกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนที่รู้สึกหมดหวังต่อการทำงานของรัฐบาล ได้มีกำลังใจมากขึ้น แล้วรู้สึกว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ในภาคปฏิบัติเรามองไม่เห็นเลยว่าสิ่งที่ท่านนายกฯพูดจะเป็นจริงได้อย่างไร

รัฐบาลตั้งคณะทำงานมาเยอะอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือฟังเสียงประชาชนผ่าน ส.ส. โดยสิ่งที่ ส.ส.นำมาตั้งกระทู้ถามคือความทุกข์ยากของประชาชน เพียงแค่ท่านไปตอบคำถาม ตอบกระทู้ หรือญัตติที่กรรมาธิการ (กมธ.) ตั้งขึ้นมาก็จะรู้ว่าปัญหาของประชาชนคืออะไร เพื่อที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาขับเคลื่อนประเทศไทยได้

นี่เป็นกลไกในระบอบประชาธิปไตยปกติ นายกฯทำได้โดยไม่ต้องตั้งคณะทำงานอะไรเลย เพียงแต่ให้ความสำคัญกับคนที่เป็นตัวแทนประชาชน แบบนี้ถึงจะรู้ว่าประชาชนต้องการอะไรก็จะสามารถรวมไทยสร้างชาติได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image