รายงานหน้า2 : เปิดข้อเสนอสภาอุตฯถึงรัฐบาล ฟื้นฟู-เยียวยา‘โควิด-19’

หมายเหตุเป็นส่วนหนึ่งในข้อเสนอการฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบจากภัยโควิด-19 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่นำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างคณะผู้บริหารเดินทางเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน

⦁ปฏิรูปอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อยกระดับสู่สากล
1.1 ยกระดับมาตรฐานสินค้าด้วย “เกษตรปลอดภัย” ตามนโยบายเกษตร 4.0 ขับเคลื่อนผลผลิตเกษตร เกษตรแปรรูป เกษตรปลอดสาร สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ เน้นการทำเกษตรด้วยความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้ 6 เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน ได้แก่ 1.การใช้เทคโนโลยีเกษตร Agri-Tech ต่างๆ เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต เพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร 2.มุ่งเน้นการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการเกษตร รุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการเกษตรไทย โดยการให้ความรู้ ให้เครื่องมือ และให้การรับรอง 3.ส่งเสริมการทำเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) โดยการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น Big data, Map Deep Tech Data เป็นต้น เพื่อใช้ในการตัดสินใจวางแผนการผลิตได้อย่างแม่นยำ ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต 4.การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย ด้วยมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practice : GAP) เพื่อยกระดับสินค้าเกษตร 5.การนำการผลิต และ 6.การขนส่งสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ
1.2 ส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไม้ไทยสู่มาตรฐานสากล ส.อ.ท. ผลักดันนโยบายปลูกป่าเศรษฐกิจ เป้าหมายเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้ของอาเซียนอันดับต้น สนับสนุนโดยสหประชาชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขับเคลื่อนงานไม้ผ่านสำนักงานการรับรองไม้ เศรษฐกิจไทย (Thailand Forest Certification Council: TFCC) สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า และเป็นคณะทำงานการประเมินมูลค่า การตลาดและการแปรรูปภายใต้โครงการชุมชนไม้มีค่า ซึ่ง TFCC มีบทบาทในการรับรองมาตรฐาน
ขณะเดียวกันควรส่งเสริมปลูกป่าไม้ ซึ่งมีเป้าหมายให้มีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ 128 ล้านไร่ ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้นและส่งผลให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ เฉลี่ย 10,400 ล้านบาทต่อปี

⦁สนับสนุนสินค้า Made in Thailand เป็นวาระแห่งชาติ
ให้ภาครัฐสนับสนุนการจัดซื้อสินค้าไทย โดยยึดหลักเกณฑ์ (1) ผู้ผลิตเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนสถานประกอบการในประเทศไทย (2) หากมีการใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ สินค้าจะต้องมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มจากการผลิต ค่าใช้จ่ายและการใช้วัตถุดิบในประเทศอย่างน้อย ร้อยละ 40 ของมูลค่าราคาจำหน่ายในประเทศ ซึ่งจะต้องแสดงข้อมูลเพื่อการตรวจสอบสัดส่วนดังกล่าวโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ออกใบรับรองการใช้วัตถุดิบในประเทศ
ขอให้กรมบัญชีกลางเพิ่มหมวดในกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ.2530 โดยเพิ่มหมวด 9 พัสดุสินค้าและบริการที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน หมายถึงกลุ่มสินค้าและบริการที่อยู่ในเป้าหมายของรัฐ โดยมีนโยบายให้การสนับสนุนเป็นการเฉพาะ เพื่อรักษา เยียวยา และฟื้นฟูสภาวะความมั่นคงทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ

⦁สนับสนุนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตเอทานอลในภูมิภาคเอเชีย (Ethanol Hub) เพื่ออุตสาหกรรม
มีวัตถุประสงค์ 1.เนื่องจากประเทศไทยมีโรงานที่สามารถผลิตเอทานอลเฉลี่ย 6 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ล้านลิตร จึงเป็นโอกาสที่จะนำผลผลิตส่วนที่เหลือจากการใช้ในประเทศมาผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่ส่วนใหญ่มีวัตถุดิบใช้ในการผลิต
เอทานอล (Ethanol) น้อยกว่าไทย แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยยังมีอุปสรรคในเรื่องกฎระเบียบควบคุม ดังนั้น หากได้รับการแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าว จะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพึ่งพาการผลิตในประเทศและส่งออกเอทานอลได้ในอนาคต
2.มีเอทานอลที่ได้มาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบการผลิตสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อาหารเสริม ยา สมุนไพร เครื่องสำอาง เทคโนโลยีชีวภาพ และเครื่องมือแพทย์ 3.เอทานอลที่เป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรม ควรมีราคาที่แข่งขันได้และไม่มีภาษีสรรพสามิต 4.มีมาตรการและกฎระเบียบควบคุมสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ไม่ให้นำไปผลิตสุรา
ข้อเสนอ ขอให้ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนผู้ผลิตให้สามารถผลิตเอทานอลได้อย่างมีคุณภาพ สามารถจัดสรรและจำหน่ายเป็นวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตอุตสาหกรรมได้โดยตรง ขอขยายเวลาการบังคับใช้ประกาศกรมสรรพสามิตเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้สิทธิเสียภาษีในอัตราศูนย์ ที่บังคับใช้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ออกไปจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ของโลกจะคลี่คลาย

Advertisement

⦁การสนับสนุนเรื่องการยกระดับบคุลากรในภาคอุตสาหกรรม (Reskill & Upskill)
มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้รองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรสมัยใหม่ จำนวน 1 แสนคน
ข้อเสนอ ขอให้ภาครัฐสนับสนุนคูปองค่าใช้จ่ายสำหรับฝึกอบรมแรงงานจำนวน 2 หมื่นบาทต่อคน เพื่อพัฒนาบุคลากร รวมทั่งลูกจ้างที่หยุดงานให้สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และตอบสนองความต้องการกำลังแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่
ขอให้ภาครัฐเปิดกว้างสำหรับหลักสูตรของภาคเอกชนเพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
ขอให้ภาครัฐรับรองการอบรมออนไลน์ เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการจัดอบรมตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้รูปแบบการฝึกอบรม และลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ

⦁จัดตั้งกองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) โดยภาคเอกชนที่ร่วมบริจาคสามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 3 เท่า
วัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนด้านนวัตกรรมให้แก่ SMEs และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นการยกระดับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
ให้ภาคเอกชนระดมทุนเพื่อจัดตั้งกองทุน Innovation Fund สำหรับลงทุนใน SMEs ที่มียอดขายไม่เกิน 1 พันล้านบาท
จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมจากภาครัฐเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพทางการตลาด ให้มีผลลัพธ์หรือผลผลิตที่ชัดเจนภายในระยะเวลาที่รับการสนับสนุนทุน สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 5 เท่า
กองทุน Innovation Fund สำหรับ SMEs นี้จะทำงานร่วมกับศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubation Center) เพื่อช่วยเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินธุรกิจ จะสามารถเพิ่มอัตราสำเร็จ (Success Rate) ให้สูงขึ้นได้
กรมสรรพากรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยผู้บริจาคเงินเข้ากองทุน Innovation Fund สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ไม่ต่่ำกว่า 3 เท่า เนื่องจากการลงทุนในลักษณะนี้จำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์มากกว่าปกติเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน

⦁ข้อเสนอมาตรการเยียวยา
1.ให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ SME 3 ปี ทุกธุรกิจ (ปีภาษี 62-64) โดยจะต้องเข้าระบบ E-Filing
2.ปรับอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย ทุกประเภทเป็นอัตราเดียว คือ 1.5% เฉพาะปี 2563 ยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 40 (4) (เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล) และการขายสินค้าให้ภาครัฐ ปี (ภ.ง.ด.51) แล้วประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 คลาดเคลื่อนเกินร้อยละ 25 โดยขอยกเว้นค่าปรับร้อยละ 20 ของภาษีที่ขาด เนื่องจากผลกระทบ COVID-19 ทำให้ธุรกิจไม่สามารถคาดการณ์ผลกำไรที่ต้องเสียภาษีได้
4.ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจากร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 1 โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขยายระยะเวลาลดเงินสมทบประกันสังคมของลูกจ้างร้อยละ 1 โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
5.ขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากสาเหตุสุดวิสัยร้อยละ 62 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

Advertisement

⦁การเปิดด่านชายแดนถาวรระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าข้ามแดน
ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการระงับการเข้าออกคน สัตว์ และสิ่งของ ผ่านด่านพรมแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยสั่งปิดด่านพรมแดนที่มีสถานะเป็นจุดผ่อนปรนทางการค้าและจุดผ่อนปรนพิเศษทุกจุดในทุกจังหวัด และจังหวัดที่มีจุดผ่านแดนถาวรมากกว่า 1 แห่ง โดยอนุญาตให้มีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าได้เพียง 1 จุด ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการขนส่งสินค้ามากขึ้น และเกิดปัญหาการจราจรแออัดของรถบรรทุกที่หน้าด่านพรมแดน ต้องใช้เวลาในการขนส่งสินค้าข้ามแดนมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องเปลี่ยนไปขนส่งสินค้าผ่านจุดผ่านแดนถาวรหลักที่เปิดอยู่เพียงหนึ่งแห่งในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีระยะทางไกลกว่าเดิม
ข้อเสนอ ขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งพิจารณาเปิดด่านที่มีสถานะเป็นจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่อนปรนพิเศษทางการค้าและจุดผ่อนปรนทางการค้าที่มีศักยภาพทางด้านการค้าและการส่งเพิ่มเติม โดยอนุญาตให้มีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเท่านั้น แต่ยังคงระงับการเข้า-ออกของบุคคล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image