รายงานหน้า2 : วัดกึ๋นรบ.ผัน‘งบ4แสนล.’ หวัง‘โปร่งใส-ตรงเป้า’พยุงศก.

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการและภาคเอกชนถึงสภาพเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง 2563 หลังเจอพิษการแพร่ระบาดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เล่นงานไปทั่วโลกนั้น

ศักดิ์ชาย ผลพานิช
รักษาการประธานหอการค้า จ.นครราชสีมา

ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวรวมทั้งโรงแรมที่พักในแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งการขนส่งผู้โดยสารที่ภาครัฐไม่ยอมผ่อนปรนให้บรรทุกผู้โดยสาร 70% ของจำนวนที่นั่ง
โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีออเดอร์ลดลง ต้องลดลูกจ้างและชั่วโมงการทำงาน
ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งขาดสภาพคล่องทางการเงินและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ เนื่องจากสถาบันการเงินวางกฎเหล็กเข้มมาก
ธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบค่อนข้างชัดเจนและมีแนวโน้มซึมยาว หากสถานการณ์ทั่วโลกยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่และไม่สามารถผลิตวัคซีนได้
ภาครัฐต้องจัดมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน มิเช่นนั้นช่วงไตรมาสสุดท้ายอาจเห็นธุรกิจเหล่านี้ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ
ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและร้านอาหารยังสามารถขับเคลื่อนได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนวดแผนไทยและสปากลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
งบ 4 แสนล้านบาท ยังคงกระจุกตัว ส่วนใหญ่นำไปใช้ในโครงการก่อสร้างพื้นฐานของรัฐ การกระจายงบให้ครอบคลุมและเข้าถึงแหล่งที่นำไปกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคได้ จะตอบโจทย์การขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจได้

วโรดม ปิฏกานนท์
ประธานกรรมการหอการค้า จ.เชียงใหม่

Advertisement

สภาพเศรษฐกิจครึ่งปีหลังของประเทศขึ้นอยู่กับการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล หากงบประมาณ 4 แสนล้านบาท ออกมาแล้วถูกนำไปใช้อย่างถูกจุดและตรงเป้าหมาย จะทำให้การเงินสะพัดและช่วยเศรษฐกิจของประเทศได้
สำหรับ จ.เชียงใหม่ เราขอไปเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว และมีรายได้หลักมาจากเรื่องนี้
แต่เท่าที่มีการอนุมัติงบประมาณมาเพียง 5 โครงการ แค่หลักสิบล้านเท่านั้น เชื่อว่าไม่เพียงพอ เพราะเป็นงบประมาณเพื่อการอบรมและพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบการ สำหรับการรองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่
ผมว่าเงินที่ได้รับสำหรับโครงการที่ขอไปหลายร้อยโครงการประมาณ 7 พันล้านบาท แต่ได้เพียง 50 ล้านบาท ได้มาน้อยเกินไป
ทั้งที่เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ มีจีดีพีอันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะมีการตั้งวงเงิน 4 แสนล้านบาท แต่ผันงบมาให้จังหวัดใหญ่แบบนี้น้อยมาก
จึงอยากฝากให้รัฐบาลควรทบทวนและดูใหม่ให้ดีอีกครั้งสำหรับเมืองเศรษฐกิจหลักของประเทศ

จรุงศักดิ์ สุรัฐชนานนท์
ประธานหอการค้า จ.สุราษฎร์ธานี

แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจครึ่งหลังปีนี้ของ จ.สุราษฎร์ธานี คาดว่าจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีผลมาจากสินค้าภาคเกษตร ประเภทผลไม้ ออกสู่ตลาด ซึ่งมูลค่าส่วนนี้มีประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าสินค้าเกษตรหลักของจังหวัด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก คือ สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย ซึ่งหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้เตรียมกระตุ้นยอดขาย
โดยขอความร่วมมือไปยังสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศช่วยกระจายสินค้าจากเกษตรกรไปยังผู้บริโภคในภูมิภาคอื่น ซึ่งการฟื้นตัวนี้จะเป็นเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น
คาดการณ์ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของ จ.สุราษฎร์ธานี จะใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า 1 ปี เพราะรายได้
หลักของ จ.สุราษฎร์ธานี มาจากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องกับสินค้าการเกษตร และอันดับ 3 การเกษตร ถึงแม้ว่าภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดติดเชื้อโควิด-19 โดยตรง แต่มีผลพวงมาจากกำลังซื้อที่ลดลง
ส่วนกรณีที่รัฐบาลได้จัดสรรเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ส่วนตัวมองว่า นโยบายการกระจายวงเงินดังกล่าวยังไม่ทั่วถึง
โดยเฉพาะการกระจายโอกาสเข้าถึงทุนของธุรกิจ SME ซึ่งมีฐานการผลิตและผู้ใช้สินค้าในระดับรากหญ้า ที่ขณะนี้พบว่าการหมุนเวียนของกระแสเงินสดต้องชะงักลงและผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงทุนเพื่อนำมาต่อยอดกิจกรรม
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ รัฐบาลจะต้องจัดทำโครงการที่จะกระตุ้นให้เกิดการใช้เงิน ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เพื่อให้มีการหมุนเวียนของกระแสเงินสดในประเทศให้ได้

Advertisement

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมองว่ามีการฟื้นตัว ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ แต่หลายประเทศเริ่มควบคุมไม่ให้แผ่เป็นวงกว้างได้แล้ว ทำให้หลายประเทศเริ่มมีการคลายล็อกดาวน์ มีการกระตุ้นให้เกิดการใช้งบประมาณด้านการเงินการคลัง จึงคาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจโลกจะเติบโตอยู่ที่ -4% ถึง -5%
ส่วนการคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้ภาพรวมทั้งปีมองว่าจะเติบโตอยู่ที่ -5% ถึง -6%
การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย จะเป็นเพียงการฟื้นตัวแบบอ่อนๆ เท่านั้น เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการมาช่วยเหลือภาคเอกชน หรือภาคธุรกิจ
แต่บางรายก็สู้พิษเศรษฐกิจไม่ไหว เจ๊งไปก็หลายราย แต่มีบางกิจการที่ยังพอประคองธุรกิจไปได้ ทั้งนี้ ในเรื่องของการใช้วงเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ที่ออกมาถือว่าช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจในประเทศมีสายป่านที่ยาวขึ้น และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะได้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มากขึ้น แต่อาจยังไม่มีความเข้มแข็งเท่าที่ควร
ทั้งนี้มองว่าการที่จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวได้ต้องดำเนินการแบบคู่ขนานกันไป ทั้งในเรื่องของการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
และรัฐต้องเตรียมมาตรการในการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ หาแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง
โดยการกำหนดทรัพยากรทางด้านงบประมาณในเพียงพอ ขึ้นอยู่กับมาตรการและกรอบวงเงินงบประมาณปี 2564 ที่ตั้งไว้ 3.3 ล้านล้านบาท
ซึ่งรัฐบาลจะต้องวางแผนใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้ได้มากที่สุด โดยการดึงภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น
ในส่วนของงบประมาณ 4 แสนล้านบาท คาดว่าจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ 3-4 เดือนเท่านั้น อาจไม่ได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังฟื้นตัวขึ้น แต่งบประมาณในส่วนนี้ก็เป็นตัวสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนได้
ซึ่งมองหากมีการบริหารที่ดี มีความโปร่งใส จะช่วยฟื้นฟูทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ ซึ่งในส่วนนี้อาจจะต้องพึ่งพาทรัพยากรงบประมาณ ปี 2564
แต่เบื้องต้นมองว่าทรัพยากรอาจไม่เพียงพอ ทั้งนี้ จะต้องดูการบริหารของภาครัฐต่อไป
ส่วนภาพรวมการส่งออก บางฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในลักษณะ วี-เชฟ แต่ส่วนตัวมองว่าในปีนี้น่าจะเติบโตในลักษณะ ยู-เชฟ
มองว่าภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้ ยังเติบโตติดลบแม้ในเรื่องของการส่งออกอาหารของไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น บวกกับเรื่องการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้แย่ลงกว่าปีที่แล้ว หรือจะติดลบกว่า 40-50% จากปีที่แล้วที่มีตัวเลขนักท่องเที่ยวเติบโตอยู่ที่ 40 ล้านคน
มองว่าสิ่งที่จะเข้ามาชดเชยการเติบโตภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ในปีนี้ยังไม่มีท่าทีที่จะเงยหัวขึ้น
คือ การกระตุ้นในเกิดการใช้งบประมาณอย่างมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพ อาทิ การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน เป็นต้น

ภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์
นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.)

พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ในการใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เบื้องต้นเห็นว่ามีหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ ส่งโครงการขอใช้งบประมาณจากเงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาท มากกว่า 2-3 เท่า คือขอเข้ามาแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินงบประมาณที่ขอมา มันมากกว่างบที่มีสูงมาก จึงไม่แน่ใจว่าจะบริหารจัดการเงินก้อนนี้อย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากเม็ดเงินกว่า 4 แสนล้านบาท หากใช้ในโครงการที่ตรงจุดได้ ก็จะเป็นตัวที่เข้าช่วยพยุงหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังได้
แต่ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือ จะทำอย่างไรให้เม็ดเงินลงไปให้ตรงจุดที่ควรได้แบบเต็มที่ ไม่ใช่เป็นการหว่านเม็ดเงินลงไป แต่เข้าไม่ถึงมือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ
รวมถึงผู้ประกอบการเอกชนจำนวนมาก ที่ยังรอมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล เพื่อเดินหน้าธุรกิจต่อไป
ส่วนวิธีการใช้เงิน ควรลงไปในส่วนใด หรือที่ใดบ้างนั้น ต้องเป็นหน้าที่การตัดสินใจของภาครัฐ แต่เนื่องจากตัวเองอยู่ในวงการธุรกิจท่องเที่ยว ก็อยากให้รัฐบาลอัดเม็ดเงินเข้ามาช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ถือเป็นธุรกิจอันดับแรกๆ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ก่อน
สะท้อนได้จากการที่รัฐบาลได้ออก 3 แพคเกจ กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยหากเกิดการเดินทาง มีการจับจ่ายใช้สอย ก็จะเกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ จึงมองว่ารัฐบาลเห็นความสำคัญของภาคการท่องเที่ยวแล้ว แต่ยังไม่เต็มที่จริงๆ
3 แพคเกจที่ออกมา รูปแบบของมาตรการดูดีแล้ว แต่ยังต้องประเมินผลสำเร็จจากแนวทางการปฏิบัติอีกครั้ง เนื่องจากเบื้องต้นมองว่ายังมีหลายด้านที่ติดขัดอยู่
ซึ่งหากบริหารจัดการให้ได้แบบตรงจุด หรือตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวได้
จะเป็นจุดขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวไทยได้ เหมือนกับการบริหารจัดการเงินก้อน 4 แสนล้านบาท หากแบ่งให้โครงการที่มีประโยชน์ในหลายๆ ภาคส่วนร่วมกันได้ ก็จะถือว่า เงินกู้ที่กู้มามีส่วนช่วยพยุงและฟื้นเศรษฐกิจในอนาคตได้จริง
แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังขณะนี้ขึ้นอยู่กับการผ่อนปรนของภาครัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวไทย ให้เกิดการเดินทางให้ได้เร็วที่สุด
ซึ่งขณะนี้เป็นห่วงในเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีมากแล้ว
ทำให้สิ่งที่ต้องดูแลในระยะต่อไปคือ หลังจากเปิดให้เดินทางท่องเที่ยวแล้ว คนในประเทศมีกำลังใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวมากหรือน้อยเท่าใด
เพราะหากเปิดให้เดินทาง ผู้ประกอบการทำแพคเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมา ทั้งลด แลก แจก แถมแบบเต็มที่
แต่หากคนไม่มีเงินมากพอในการเดินทาง ก็คงไม่ได้มีผลดีขึ้นมากนัก
จากช่วงครึ่งปีแรก การท่องเที่ยวเป็นศูนย์ ทั้งตลาดต่างชาติที่ไม่มีเข้ามาเลย และตลาดไทยเที่ยวไทยที่ไม่มีการเดินทางเช่นกัน
ทำให้เม็ดเงินที่ควรจะหมุนเวียนในระบบหายไปจนหมด ความหวังจึงอยู่ที่มาตรการกระตุ้นและดึงดูดใจของรัฐบาล ที่จะช่วยทำให้ครึ่งปีหลัง หรือไตรมาส 4/2563 ภาคการท่องเที่ยวไทยกลับมาคึกคักมากขึ้นหรือไม่
โดยหลังจาก 3 แพคเกจนี้จะหมดในช่วงเดือนตุลาคม มองว่าควรที่จะมีแพคเกจหรือมาตรการออกมากระตุ้นเพิ่มเติม เพื่อให้ต่อเนื่องกับตัว
แพคเกจที่จะครบกำหนดไป
ซึ่งจะทำให้เกิดการเดินทางในช่วงไฮซีซั่นพอดี เพราะแม้จะเป็นไฮซีซั่น แต่ทิศทางก็ยังดูไม่ได้ดีมากนัก การเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นอาจไม่ได้ดีเท่าเดิม
จึงควรมีแคมเปญหรือมาตรการกระตุ้นตลาดออกมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของงบ 4 แสนล้านบาท อยากฝากไว้ว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยถือเป็นส่วนสำคัญในการกระจายรายได้ในระบบเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาตลอด
แต่ที่ผ่านมางบประมาณที่ลงมาถึงภาคการท่องเที่ยวมีน้อยมาก แถมยังถูกลดและตัดงบประมาณลงเรื่อยๆ
จึงอยากให้โครงการที่ขอใช้งบประมาณจากเงินก้อน 4 แสนล้านบาท ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไม่ถูกตัดหรือถูกมองข้าม
คือ จะตัดอะไรก็ตัดได้ แต่อยากให้คงในส่วนของท่องเที่ยวไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image