รายงานหน้า2 : ‘สศช.’กรองเข้ม-แจงยิบ แผนใช้‘เงินกู้4แสนล.’

หมายเหตุ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าวเรื่องความก้าวหน้าของการวิเคราะห์โครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน

ความคืบหน้าของโครงการขอใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยตั้งแต่วันที่ 5-24 มิถุนายน 2563 มีจำนวนข้อเสนอโครงการและแผนงานรวมทั้งสิ้นกว่า 46,429 โครงการ เป็นจำนวนเงินมากกว่า 1.456 ล้านล้านบาท

โดยคณะทำงาน สศช.ได้พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการและแผนงานในรอบแรกแล้ว มีข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณาจำนวน 213 โครงการ รวมวงเงิน 101,482.28 ล้านบาท

แบ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 50,000 ล้านบาท การสร้างความเจริญเติบโตในแต่ละด้าน 20,000 ล้านบาท และสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนอีก 20,000 ล้านบาท

Advertisement

ขณะนี้ได้เตรียมนำโครงการที่ผ่านการพิจารณา สศช. และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ นำเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นจะนำโครงการที่ผ่านการพิจารณาเข้าเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ โดยหลังจากมีโครงการแรกออกมาแล้ว จะมีโครงการในระยะ 2-3 ออกมาเพิ่มเติม เบื้องต้นคาดว่าระยะ 2 จะออกมาในเดือนสิงหาคม 2563 ส่วนรอบ 3 เป็นเดือนกันยายน 2563

“การนำโครงการที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ แล้วเข้าเสนอ ครม. วงเงินที่โครงการขอใช้งบประมาณอาจไม่ถึง 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะเหลือประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากยังต้องพิจารณาในส่วนความเหมาะสมในการขอใช้งบประมาณ ที่หากพบว่ามีการขอเข้ามามากเกินความจำเป็น ก็จะถูกปรับลดงบประมาณลง

“โดยคาดว่าจะเกิดการจ้างงานประมาณ 4 แสนราย เกิดมูลค่าผลผลิตใหม่ในระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 2 เท่า เกิดการจ้างงานประมาณ 410,415 คน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและตำบล 79,604 หมู่บ้าน 3,000 ตำบล สำหรับโครงการที่ถูกปัดตกไป ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน หรือผลประโยชน์ไม่ได้ลงสู่ประชาชนจริง แต่ไปลงสู่ที่ปรึกษา หรือผู้รับเหมาแทน จึงไม่อนุญาตให้ใช้งบก้อนนี้”

การใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้านบาท มีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เน้นการจ้างงาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ท่องเที่ยวชุมชน กองทุนหมู่บ้าน และโลจิสติกส์ 2.การลงทุนกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต เน้นเกษตรสมัยใหม่ เศรษฐกิจชีวภาพ ท่องเที่ยวคุณภาพ และ 3.กระตุ้นการอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยวในประเทศ โดยจำแนกเป็น 4 แผนงาน ประกอบด้วย แผนงาน 3.1 พลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แผนงาน 3.2 ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน แผนงาน 3.3 ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน และแผนงาน 3.4 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับโครงการสำคัญตามเป้าหมายที่วางไว้มี 3 เรื่องคือ เป้าหมายที่ 1.การสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่

1.การสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” มูลค่า 4,953.79 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะจ้างงานเกษตรกรได้ประมาณ 9,188 คน

โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน มูลค่า 2,701.88 ล้านบาท โดยคาดว่าจะจ้างงานประชาชนในพื้นที่ประมาณ 14,510 คน ค่าจ้าง 15,000 บาทต่อเดือน กำหนดการจ้าง 1 เดือน รวมถึงโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง มูลค่า 1,080.59 ล้านบาท จ้างงานประชาชนประมาณ 15,548 คน ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงจำนวน 710,518 คน

รวมถึงโครงการผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้ประชาชนเป็นฝ่ายเสนอโครงการขึ้นมาเองแบบนิวนอร์มอล และจัดสรรให้กองทุน 79,604 กองทุน กองทุนละ 200,000 บาท ในกรอบ 5 ด้าน ได้แก่ ส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มยกระดับสินค้าบริการ สร้างอาชีพใหม่ในชุมชน ด้านการขนส่งกระจายสินค้า และการตลาด คาดจะมีการจ้างงาน “จนท.กองทุนหมู่บ้าน” 238,812 คน (หมู่บ้านละ 3 คน) อาทิ โครงการหมู่บ้านสมุนไพร ก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา สร้างรีสอร์ตท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

2.เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งส่วนที่เป็นปัจจัยการผลิตและการดำรงชีพของประชาชน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางดิจิทัล ประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนและรองรับการพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มศักยภาพและยกระดับสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกษตรกรทุกพื้นที่ สามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง และผู้บริโภคก็ซื้อสินค้าเกษตรได้โดยตรงเช่นกัน

โดยรอบแรกจะบูรณาการแผนงานและโครงการของหน่วยงานทั้งในส่วนจังหวัด และส่วนราชการ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ อาทิ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย

เป้าหมายที่ 2.การลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต ได้แก่ 1.โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด มูลค่า 13,904.50 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 8,293.43 ล้านบาท 2.โครงการสร้างความเข้มแข็งศูนย์ข้าวชุมชน มูลค่า 900 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างงานให้เกษตรกรประมาณ 600 คน 3.ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและการแพทย์ มูลค่า 1,264.40 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 2,500 คน และ 4.โครงการยกระดับนวัตกรรมแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาด ท่องเที่ยวคุณภาพตามวิถีใหม่ (นิวนอร์มอล) มูลค่า 460 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถกระจายรายได้สู่ชุมชน นักศึกษาและบัณฑิตตกงานและผู้ประกอบการประมาณ 65 ล้านบาท

ส่วนเป้าหมายที่ 3.การกระตุ้นการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยวในประเทศ ประกอบด้วย 3 แพคเกจคือ 1.เราไปเที่ยวกัน 2.เที่ยวปันสุข และ 3.กำลังใจ รวมมูลค่า 22,400 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ประมาณ 52,400 ล้านบาท ซึ่งจากการพิจารณาแผนกระตุ้นการท่องเที่ยว คาดว่าพื้นที่ท่องเที่ยวจะได้รับการพัฒนาและเตรียมความพร้อมสู่การรองรับนักท่องเที่ยว ไม่ต่ำกว่า 7 พื้นที่ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้รับการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมสู่การรองรับนักท่องเที่ยว ไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย แรงงานด้านการท่องเที่ยวได้รับการจ้างงานและพัฒนา ไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย เพื่อมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

หากพิจารณาเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ พบว่ามีจำนวนมาก อาทิ โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตร สมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ย เพื่อชุมชน โครงการผลิตพืชพันธุ์ดีสนับสนุนให้กับเกษตรกรและแรงงานคืนถิ่น หรือโครงการสร้างความเข้มแข็งศูนย์ข้าวชุมชน โดยคาดว่าจะมีการนำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่มาใช้ในเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 262,500 ราย พื้นที่ 5,003,250 ไร่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี 24.8% หรือคิดเป็นมูลค่า ประมาณ 51.6 ล้านบาท ผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10.37% สร้างมูลค่าเพิ่มจากแปลงเกษตรสมัยใหม่ ไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาทต่อปี หรือพื้นที่นาข้าวที่ได้รับเมล็ดพันธุ์ ข้าวคุณภาพดี ประมาณ 1,500,000 ไร่ โดยแผนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพคาดว่าจะมีเกษตรกรและผู้ประกอบการ ได้รับการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมกว่า 40,000 ราย สามารถเพิ่มยอดขายได้กว่า 10% ลดต้นทุนได้มากกว่า 1.2 แสนล้านบาทต่อปี และสามารถต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ คือการสร้างฐานรากให้มั่นคง ด้วยการเปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจฐานราก กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต โดยขอย้ำว่าโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการ ต้องเป็นโครงการที่มาจากความต้องการของประชาชน มีความคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน โดยประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ “ThaiME” (http://thaime.nesdc.go.th) ได้ตลอดเวลา ซึ่งเรื่องความโปร่งใสของโครงการต่างๆ สศช.ได้จัดทำการประเมินความเสี่ยงของโครงการต่างๆ ไว้ในทุกขั้นตอนการดำเนินการ อาทิ ในส่วนของการจ้างงาน จะทำธุรกรรมผ่านธนาคาร ไม่มีการใช้เงินสดในการจ่ายค่าจ้างงานให้ เพื่อลดโอกาสในการเกิดความไม่โปร่งใส รวมถึงหากเป็นการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ จะต้องมีใบคำสั่งซื้ออย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ โดยในแต่ละโครงการจะมีการพิจารณาไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนขึ้นในรายพื้นที่ของแต่ละจังหวัดด้วย

เราจะต้องพลิกวิกฤตและสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย จากการหาจุดแข็ง โอกาส และข้อจำกัดต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก ที่จะเน้นการกระจายไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จะมีการสร้างศูนย์ความเจริญในทุกจังหวัด ไม่ใช่เน้นเฉพาะจังหวัดในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เท่านั้น สำหรับการใช้เงินกู้ในครั้งนี้ไม่ได้คาดหวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เพิ่มมากขึ้น แต่เป็นการประคองสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง และช่วยให้ทุกคนอยู่รอดให้ได้ก่อนมากกว่า

สำหรับกรณีที่มีการเปิดเผยว่าแต่ละหน่วยงานจะได้งบประมาณอยู่ที่เท่าใด ทั้งที่ยังไม่ได้ผ่าน ครม. อาจเป็นเหมือนการจัดตั้งวงเงินไว้ให้แต่ละหน่วยงานอยู่แล้ว เพราะมีบางหน่วยงานบอกว่าน่าจะงบในวงเงินที่ประมาณนี้เพื่อมาใช้ในโครงการต่างๆ เบื้องต้นคาดว่าอาจเป็นวงเงินในโครงการที่หน่วยงานเสนอเข้ามา แต่ยืนยันว่า สศช.ไม่ได้ทำการจัดตั้งวงเงินให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นพิเศษแน่นอน จะต้องเป็นการเสนอโครงการเข้ามาเพื่อพิจารณา และโครงการเหล่านั้นจะต้องสามารถตอบโจทย์วัตถุประสงค์ที่ สศช.ตั้งไว้ได้จริงๆ ในส่วนของเงินกู้ที่จะให้กับกองทุนเอสเอ็มอีของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อไปช่วยผู้ประกอบขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี)
หรือขนาดเล็กมากๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ วงเงินดังกล่าวจะไม่ใช่เงินจากเงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาท แต่จะไปใช้เงินกู้ในส่วนของเยียวยาเศรษฐกิจ 6 แสนล้านบาท ที่ตอนนี้มีวงเงินเหลือ 1.9-2 แสนล้านบาท

ส่วนกองทุนเอสเอ็มอีจะขอเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีหรือไม่ ตอนนี้ต้องรอกระทรวงการคลัง เสนอวงเงินมาให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯพิจารณาต่อ เพราะหากก้อนแรกยังใช้ไม่ได้หมด เอาไปเพิ่มอีกก็คงไม่มีประโยชน์อะไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image