รายงานหน้า2 : บันทึกวิเคราะห์งบฯ’64 ‘3.3ล้านล.-6ยุทธศาสตร์’

หมายเหตุเนื้อหาส่วนหนึ่งจากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 3,300,000 ล้านบาท ที่จะเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวาระแรกวันที่ 1-3 กรกฎาคม

บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564

⦁สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1.ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 เศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ที่มีผลกระทบจากการ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งจะส่งผลต่ออุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้ม การชะลอของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศต้องมีการส่งเสริม โดยการสร้างรายได้ให้กับภาคประชาชนทั้งในเมืองและในชุมชน เพื่อให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะทรงตัว อีกทั้งการลงทุนภาครัฐยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ที่จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อ ที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ

2.นโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 รัฐบาลได้คำนึงถึงการดำเนินภารกิจเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายสำคัญของรัฐบาล ให้ประสบผลสำเร็จและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ดังนี้

Advertisement

1) นำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ความมั่นคง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม การสร้าง การเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ภาครัฐ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งการบูรณาการ ในทุกมิติ (มิติกระทรวง/หน่วยงาน มิติบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ และมิติบูรณาการเชิงพื้นที่) เป็นกรอบแนวคิด ในการจัดทำแผนงาน/โครงการ ให้มีความเชื่อมโยง สอดคล้อง สนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ซ้ำซ้อน รวมทั้งได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐบาลเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมส่งผลให้การพัฒนาประเทศ บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้

2) พิจารณาทบทวนและปรับปรุงเป้าหมาย กลยุทธ์ ผลผลิต/โครงการ กิจกรรม ตัวชี้วัด ผลสำเร็จ ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ ของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

3) ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและความต้องการของประชาชน ทั้งในระดับชาติ ระดับพื้นที่ ภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด และท้องถิ่น รวมทั้งภารกิจที่ต้องดำเนินการ ในพื้นที่ให้มีการกระจาย อย่างเป็นธรรม โดยยึดหลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยมีรายละเอียดค่าใช้จ่าย ที่มีความชัดเจน และสมเหตุสมผล

4) ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะระดับท้องถิ่นแก่ประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางการคลังระหว่างท้องถิ่น รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และประสิทธิผลการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับหลักการตามพระราชบัญญัติ กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่จะต้องให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

5) ให้ความสำคัญกับการบรรเทาหรือแก้ไขผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากการที่รัฐบาลประกาศให้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของประชาชน รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

6) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือ พิจารณานำเงินดังกล่าวมาใช้ ดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก ควบคู่ไปกับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำ หรือหมดความจำเป็น เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวมาสนับสนุนนโยบายสำคัญ หรือโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วน มีความพร้อมในการดำเนินการสูง เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัว รวมทั้งให้ความสำ คัญกับการนำผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 และ 2563 มาประกอบการพิจารณา จัดสรรงบประมาณ ให้สอดคล้องกับศักยภาพการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเกิดประโยชน์สูงสุด

7) ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง กับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีครบถ้วนแล้ว

⦁วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,300,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 100,000 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศ รวมทั้งรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมีประมาณการ รายได้สุทธิ จำนวน 2,677,000 ล้านบาท และกำหนดวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 623,000 ล้านบาท ซึ่งการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด โดยมีโครงสร้างงบประมาณสรุปได้ดังนี้

1) รายจ่ายประจำ รายจ่ายประจำ กำหนดไว้เป็นจำนวน 2,526,131.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 122,437.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 76.5 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 75.1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้ง งบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตั้งไว้จำนวน 62,709.5 ล้านบาท

3) รายจ่ายลงทุน รายจ่ายลงทุน กำหนดไว้เป็นจำนวน 674,868.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 30,442.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 โดยรายจ่ายลงทุนดังกล่าวคิดเป็น สัดส่วนร้อยละ 20.5 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 20.1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

4) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ ได้จัดสรรไว้เป็นจำนวน 99,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 9,829.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 โดยรายจ่ายชำระคืน ต้นเงินกู้ดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับร้อยละ 2.8 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

⦁ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวทางการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติให้เกิดผล อย่างเป็นรูปธรรมและบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศ ที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ สรุปดังนี้

1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 416,003.9 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีความสุข ประเทศมีความมั่นคงในทุกมิติ ทุกระดับ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคง การบริหารจัดการความมั่นคงมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับการพิทักษ์รักษา การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ สนับสนุนการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ พัฒนา ขีดความสามารถของกองทัพ พัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง บังคับใช้กฎหมาย อำนวยความยุติธรรม และบริการประชาชน ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ป้องกันภัยคุกคามข้ามชาติและความมั่นคงทางทะเล การก่อการร้าย ป้องกันภัยพิบัติและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง เพื่อป้องกันการสูญเสียดินแดนของประเทศ พัฒนาศักยภาพการรักษาความมั่นคงทางเทคโนโลยีสารสนเทศและไซเบอร์ พัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม พัฒนาเสริมสร้างความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และบทบาทของประเทศไทยในประชาคมโลก

2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 402,310.9 ล้านบาท เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าด้านการเกษตร พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต พัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ พัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ พัฒนาพื้นที่ระดับภาค พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาด้านความมั่นคงทางพลังงาน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

3) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จำนวน 577,755.2 ล้านบาท เพื่อเตรียมคนในสังคมไทยสำหรับการดำรงชีวิตในโลกศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้น การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต โดยเน้นการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวอบอุ่น เข้มแข็ง พัฒนาคุณภาพคนในทุกช่วงวัย การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ โดยเน้นการพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาส่งเสริมพหุปัญญา ตลอดจนการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี และพัฒนาศักยภาพการกีฬา

4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 795,806.1 ล้านบาท เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนต่างๆ ให้มีส่วนร่วมเพื่อเป็นพลังทางสังคมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของ ชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง สร้างสภาพแวดล้อมและกลไกส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการพัฒนา แบบบูรณาการเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้เกิดความพออยู่ พอกิน สามารถพึ่งพาตนเองได้ และสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับคนไทยทุกคน สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณะ เตรียมความพร้อมที่จะรองรับสังคมสูงวัยในทุกมิติ สนับสนุนความคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานของประชาชน และส่งเสริมมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนอย่างทั่วถึง ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่นในด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 118,315.3 ล้านบาท เพื่อสร้างความสมดุลและยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นการสร้าง การเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจภาคทะเล สังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ การจัดการมลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสารเคมีในภาคเกษตร การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งการจัดการเชิงลุ่มน้ำการเพิ่มผลิตภาพของน้ำและการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติ

6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 556,528.7 ล้านบาท เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ ได้แก่ การบูรณาการเชื่อมโยงภาครัฐและการบริหารจัดการการเงินการคลัง การปรับสมดุลภาครัฐ การพัฒนา ระบบบริหารงานภาครัฐ การสร้างและพัฒนาบุคลากรภาครัฐ รวมทั้งการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

7) รายการค่าดำเนินการภาครัฐจำนวน 433,279.9 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการหนี้ ภาครัฐ และสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image