การเมือง ฉากต่อไป ลุ้น บิ๊กตู่ ตัดสินใจ ปรับ-ไม่ปรับ ครม.

การเมือง ฉากต่อไป ลุ้น บิ๊กตู่ ตัดสินใจ ปรับ-ไม่ปรับ ครม.

การเมือง ฉากต่อไป ลุ้น บิ๊กตู่ ตัดสินใจ ปรับ-ไม่ปรับ ครม.

ที่ประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐมีมติเอกฉันท์เลือกให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ไปเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน

นอกจาก พล.อ.ประวิตรแล้ว ที่ประชุมยังเลือก นายอนุชา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรค นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นเหรัญญิกพรรค และ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ เป็นนายทะเบียนพรรค

พร้อมกันนั้นที่ประชุมยังเลือก กก.บห.ชุดใหม่อีก 23 คน

Advertisement

ประกอบด้วย 1.นายสันติ พร้อมพัฒน์ 2.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 3.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 4.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 5.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 6.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 7.นายวิรัช รัตนเศรษฐ 8.นายไพบูลย์ นิติตะวัน 9.นายสุชาติ ชมกลิ่น 10.นายอิทธิพล คุณปลื้ม

11.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 12.นายสุพล ฟองงาม 13.นายพงษ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ 14.นายชาญวิทย์ วิภูศิริ 15.นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ 16.นายนิโรธ สุนทรเลขา 17.นายไผ่ ลิกค์ 18.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ 19.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ 20.นายสุรชาติ ศรีบุศกร 21.นายนิพันธ์ ศิริธร 22.นางประภาพร อัศวเหม และ 23.นายสกลธี ภัททิยกุล

รวมทั้งสิ้น 27 คน

Advertisement

น่าสังเกตว่า กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ไม่มีชื่อ นายอุตตม สาวนายน อดีตหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตเลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรองหัวหน้าพรรค และ นายกอร์ปศักดิ์ ภูตระกูล อดีตโฆษกพรรค

ไม่มีชื่อ 4 กุมารในกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แต่อย่างใด

ตามโรดแมปของกลุ่มสามมิตรที่เคยวางไว้ หลังจากเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพลังประชารัฐแล้ว จะขับเคลื่อนสู่เก้าอี้รัฐมนตรี

ผลักดันให้มีการปรับ ครม.

แต่ปรากฏว่า หลังจากการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชารัฐกำลังดำเนินไป แต่ละย่างก้าวได้ปรากฏ “คลื่นแทรก” จนน่าเป็นกังวล

การเปิดตัว นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คือ สัญญาณแรกที่ชัดเจนว่าหนทางสู่การปรับ ครม. ไม่สะดวกดาย

เพียงวันเดียวผ่านไปหลังจากการเปิดชื่อ เสียงสะท้อนจากทั่วสารทิศก็กระหน่ำเข้าใจ “อาจารย์แหม่ม”

กระทั่งต้องมีการแก้ไข จากหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่คล้ายๆ กับว่าจะเป็นทีมเศรษฐกิจรัฐบาล

กลับกลายเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ

แล้วจากหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ ก็เริ่มถอยมาเป็นผู้ร่างนโยบายเศรษฐกิจของพรรค

แล้วในที่สุด พล.อ.ประวิตร ก็ออกมาปฏิเสธข่าวเรื่องหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน การปรับ ครม. ที่เดิม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตรมั่นใจว่า “ปรับแน่”

กลับกลายเป็นไม่แน่เสียแล้ว

กระแสข่าวที่เคยมีผู้นำเสนอชื่อทีมเศรษฐกิจ บ้างเป็นนายแบงก์ บ้างเป็นอดีตซีอีโอ บ้างเป็นอดีตรัฐมนตรี

ขณะนี้ข่าวที่ปรากฏคือการปฏิเสธเข้ามารับหน้าที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล

กระแสข่าวที่สะพัดกลับกลายเป็นข้อห่วงใยหากมีการเปลี่ยนแปลงทีมเศรษฐกิจในห้วงเวลาที่กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2564

พร้อมทั้งมีข้อเสนอให้การปรับ ครม.ขยับออกไปหลังจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ผ่านพ้นไปแล้ว

พร้อมกับมีข้อเสนอให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังคงทำหน้าที่รัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ

กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นในจังหวะเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เริ่มออกมาเบรกให้หยุดข่าวปรับ ครม.

กรณีที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงนายสมคิด แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาปราม กระทั่งนายชัยวุฒิต้องออกมาชี้แจงว่า ไม่มีเจตนาไล่อาจารย์สมคิด

สะท้อนให้เห็นความไม่แน่นอนของการปรับ ครม.ในช่วงเวลานี้

ตอกย้ำว่า ปรับ ครม.ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

การปรับ ครม.ไม่น่าจะง่ายดาย เพราะสถานการณ์ปัจจุบันเป็นสถานการณ์วิกฤต โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19

โดยเฉพาะการปรับเก้าอี้รัฐมนตรีในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล

ทั้งนี้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์มีลักษณะนิสัยที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงทีมงาน จนกว่าสถานการณ์จะจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ การปรับ ครม.หมายถึงการเริ่มต้นใหม่ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดี คือ ได้คนใหม่ ไอเดียใหม่ และได้รับโอกาสอีกครั้งในการแก้ไขปัญหา

แต่ข้อเสีย คือ ความต่อเนื่องของการแก้ไขปัญหาอาจจะชะงัก เพราะคนใหม่ย่อมต้องมีวิธีการของตัวเอง

จึงขึ้นกับดุลพินิจของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าสถานการณ์ ณ ขณะนี้ สมควรที่จะ “ต่อเนื่อง” หรือ “เริ่มต้นใหม่”

ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนกับที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยบอกไว้ว่า การปรับ ครม.เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี

ณ เวลานี้ ทั้งฝ่ายอยากปรับ และฝ่ายไม่อยากปรับ ต่างแสดงตัวกันออกมาให้ปรากฏแล้ว

สถานการณ์เช่นนี้กดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจ

และต้องทำใจว่าหากเลือกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องผิดหวัง

แต่หากไม่ตัดสินใจ ขณะที่ “คลื่นลม” ภายในพรรคแกนนำรัฐบาลยังเป็นเช่นปัจจุบัน ปรากฏการณ์ “เกียร์ว่าง” ไม่มีใครทำงานท่ามกลางเศรษฐกิจที่วิกฤตก็จะเกิดขึ้น

ถ้าปล่อยเอาไว้นานจนปัญหาหมักหมม

ผู้ที่ต้องรับภาระหนัก คงหนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image