รายงานหน้า2 : ‘ก้าวหน้า’ติวเข้ม รุกเลือกตั้ง‘ท้องถิ่น’

หมายเหตุนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จัดกิจกรรมติวเข้มว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิก อบจ.ทั่วประเทศ ขณะที่นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า บรรยายหัวข้อ “แนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง” ที่อาคารไทยซัมมิท เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ประธานคณะก้าวหน้า

ที่มาของการทำงานการเมืองท้องถิ่นของคณะก้าวหน้ามีมาอยู่แล้วตั้งแต่ตอนเป็นพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ถ้าไม่ถูกยุบพรรคการเมือง ท้องถิ่นก็จะทำในนามพรรค อนค.เดิม แต่เมื่อมีการถูกยุบพรรคขึ้น องค์กรของพรรคเดิมถูกแตกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส.ส. ซึ่งแม้จะมีงูเห่าบ้าง แต่ 54 คนที่ยังเหลืออยู่ และมีอุดมการณ์ที่หนักแน่นกับทิศทาง เชื่อมั่นในนโยบายของพรรค อนค.เดิม ก็ไปทำงานการเมืองในระดับชาติต่อในสภาผู้แทนราษฎรในนามของพรรคก้าวไกล ขณะที่องคาพยพเดิมซึ่งก็คือคณะกรรมการบริหารพรรคเดิมที่ถูกตัดสิทธิ พวกเราไม่ได้ถอย พวกเราไม่ได้อ่อนแอ พวกเรามุ่งมั่น ตั้งใจที่จะทำงานการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยต่อ พวกเรายังอยู่กันครบ กรรมการบริหารพรรค อนค.เดิมไม่มีใครที่เดินออกไป พวกเราจึงมาตั้งคณะก้าวหน้าขึ้นซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการทำงาน คือ การร่วมมือกันรณรงค์ทางคิด ทั้งความคิดที่ก้าวหน้า และความคิดที่เป็นประชาธิปไตยในสังคม เรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปกองทัพ การต่อสู้กับนายทุนผูกขาด การสร้างรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้น การปฏิรูประบบราชการ ยุติการรวมศูนย์อำนาจที่หน่วยงานราชการส่วนกลาง โดยเรื่องหลักๆ ใหญ่ๆ ของประเทศเหล่านี้คณะก้าวหน้าจะรณรงค์อย่างต่อเนื่อง และนี่คืองานที่ 1 ของคณะก้าวหน้า คือ งานธงความคิด

อันดับที่ 2 คือ งานเลือกตั้งท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยมีประมาณ 7,000 แห่ง ถือเป็นครั้งแรก เราไม่สามารถส่งครบทั้ง 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศได้ ดังนั้น ครั้งนี้เรามองเป้าอยู่ที่ประมาณ 4,000 แห่ง อย่างไรก็ตาม นี่คือการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรก อย่างน้อย 6-7 ปี บางที่เป็น 10 ปีแล้วที่ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ทุกคนโหยหาความเปลี่ยนแปลง ทุกคนต้องการเห็นสิ่งใหม่ ดังนั้น โอกาสนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สุดจะได้มีโอกาสเสนอคนใหม่ เสนอนโยบายใหม่ และเสนอรูปแบบการทำงานใหม่ เพราะไม่มีการเลือกตั้งมาแล้ว 6 ปี อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่นสำคัญ เพราะนอกจากเป็นการเลือกครั้งแรกในอย่างน้อย 6 ปีแล้ว ยังเป็นการต่อสู้กับเผด็จการ เพราะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม ปี 2557 ได้ดึงอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลับเขามาอยู่ในส่วนกลางให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการให้ทหารเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นการปลดผู้บริหารปัจจุบันออก การแต่งตั้งข้าราชการให้มาเป็นตัวแทนการคัดสรรผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พูดง่ายๆ คือ คณะครองอำนาจมาจากการทำรัฐประหารไม่ต้องการให้เป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องการเห็นการเมืองท้องถิ่นยึดโยงกับประชาชนเติบโต พวกเขาจึงใช้กลไกที่มีอยู่กดทับ

Advertisement

นอกจากนี้ ความสำคัญอีกประการคือ การต่อสู้กับรัฐราชการรวมศูนย์ด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นองค์กรหนึ่งถ้าไม่ผนึกกำลังกันแข็งจริงๆ ไม่มีทางที่จะเรียกร้องอำนาจ และงบประมาณกลับเข้ามามากขึ้นที่ท้องถิ่นได้เลย วันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกลิดรอนบทบาทอำนาจ ดังนั้น ถ้าต่อสู้อย่างเอกเทศ ไม่มีการผนึกรวมกำลังเป็นเอกภาพ ไม่มีทางที่จะทวงคืนอำนาจกลับมาให้ท้องถิ่นดูแลจัดการทรัพยากรของตัวเอง หรือกำหนดอนาคตของตัวเองได้เลย ดังนั้น นี่คือการรวมพลังกัน นี่คือการเดินทางครั้งใหม่ในสังคม ไม่เคยมีใครเคยทำแบบที่เราทำมาก่อน คือส่งท้องถิ่นในแคมเปญเดียวกัน เรากำลังจะส่งผู้สมัครลงนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 4,000 แห่งภายใต้ชื่อเดียวกัน แคมเปญเดียวกัน กรอบคิด นโยบาย อุดมการณ์แบบเดียวกัน นี่เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และเราเชื่อว่า การทำแบบนี้จะทำให้เกิดการตื่นตัวของประชาชนให้เห็นความสำคัญของการเมืองท้องถิ่น และถ้าการเมืองท้องถิ่นมันดี มันมีคุณภาพ เราจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้โดยไม่ต้องพึ่งการเมืองระดับชาติ เราอยากเห็นการเมืองท้องถิ่นที่ยึดโยงกับประชาชนแบบใหม่ ที่ตอบโจทย์ความเดือดร้อนของประชาชน ดังนั้น การเมืองท้องถิ่นครั้งนี้คือการเดิมพันของประเทศ เป็นการรวมคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดด้วยมือของพวกเขาเองมาทำงานด้วยกัน ทำด้วยมือตัวเอง ไม่ต้องรอคนอื่นทำให้

ก้าวต่อไปของพวกเรา จะใช้รูปแบบการทำงานของพรรค อนค.เดิม มาทำงานการเมืองในระดับท้องถิ่น คือ ไม่ซื้อสิทธิ ไม่ขายเสียง ไม่ซื้อเสียง ไม่ใช้เงินในการทำงาน เราจริงจังเรื่องนี้อย่างแน่วแน่ เพราะเมื่อไหร่ที่เราใช้เงิน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อเข้าไปมีอำนาจก็ต้องมีการทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่อเอากลับคืนมา หรือเพื่อเคลียร์เงินสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้น เราจะไม่ใช้เงิน เมื่อไม่ใช้เงินแล้ว อาวุธของเราคือความคิด คือการรณรงค์ ที่ถูกต้อง นอกจากนี้ เราจะไม่ใช้อิทธิพลด้วย ซึ่งการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เราเห็นพัฒนาการที่ดี เราไม่เห็นการข่มขู่ คุกคาม หรือยิงกันตายในการเลือกตั้ง เราก็หวังว่าครั้งนี้จะไม่มีอีก แต่แน่นอนว่า การข่มขู่ คุกคาม เรายังได้ยินอยู่ประปราย แต่พวกเราคณะก้าวหน้ายืนยันว่านอกจากเราจะไม่ใช้เงินแล้ว เราจะยังไม่ใช้อิทธิพลในการทำงานการเมือง รวมถึงจะไม่ใช่เครือข่ายราชการไม่ว่าจะเป็นกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน แต่สิ่งที่เราจะใช้คือ นโยบายที่ดี แคมเปญ ฯลฯ นั่นคือนโยบาย และรูปแบบการทำงานของคณะก้าวหน้าที่จะต่อสู้ในระดับท้องถิ่น นี่คือความพยายามที่ทะเยอทะยานมาก แต่ในภาวะที่ประเทศสิ้นหวังเช่นนี้ เราคิดเล็กไม่ได้ เราจำเป็นที่จะต้องคิดแบบทะเยอทะยานเช่นนี้ เพื่อตอบสนองต่อสภาวะสังคม พวกเราเคยเขย่าประเทศไทยด้วยกันมาแล้วในการเลือกตั้งระดับชาติ

“วันนี้ผมจึงอยากชวนทุกคนมาเขย่าประเทศไทยด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นระดับรากฐาน คือการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น เราจะขีดการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นที่ส่งเสียงความต้องการของประชาชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด ให้ขีดการเลือกตั้งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของประชาชนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงกลับมามีพลังอีก เราเคยทำได้มาแล้วเมื่อ 24 มีนาคม 2562 และครั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ผมชื่อว่า ถ้าเรายึดในแนวทางที่ถูกต้อง อุดมการณ์ที่ถูกต้อง วิธีการทำงานที่ถูกต้อง เราจะทำสำเร็จอีกครั้ง”

Advertisement

 

ชำนาญ จันทร์เรือง
กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า

การใช้อำนาจอธิปไตยมีฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเริ่มมาตั้งแต่ 2476 ล่าสุด พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ปี’34 และ ปี’50 แบ่งราชการแผ่นดิน 3 อย่าง ราชการส่วนกลาง หมายถึงกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ราชการส่วนภูมิภาค คือ จังหวัดและอำเภอเท่านั้น ราชการส่วนภูมิภาคถ้าเราสังเกตให้ดีเวลาไปต่างจังหวัดหรือไปที่ไกลๆ ส่วนใหญ่ประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์ ราชการใดที่ลงท้ายด้วยจังหวัดและอำเภอจะหมายถึงราชการส่วนภูมิภาค เช่น ป่าไม้จังหวัด ป่าไม้อำเภอ สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ แต่ถ้าเราไปเห็นตามท้ายด้วยชื่อจังหวัดไม่คำว่าจังหวัดไม่ใช่ราชการส่วนภูมิภาค เช่น ศาลปกครองนครราชสีมา หมายถึงราชการส่วนกลาง สำนักงานป่าไม้เขต ราชการส่วนกลาง สรรพากรพื้นที่เชียงใหม่ ไม่ใช่ราชการส่วนภูมิภาค ต่างกันถ้าเป็นราชการส่วนภูมิภาคระดับจังหวัดขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนภูมิภาคขึ้นอยู่กับนายอำเภอ ความสัมพันธ์ราชการส่วนกลางราชการส่วนภูมิภาค หรือผู้ว่าฯกับหัวหน้าส่วนราชการอำเภอเป็นความสัมพันธ์ของการบังคับบัญชาหมายถึงเจ้านาย ลูกน้อง

ราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่อะไรก็เป็นได้ ราชการส่วนท้องถิ่นต้องประกอบไปด้วยนิติบุคคล มีความสามารถทำนิติสัมพันธ์กับผู้อื่น มีงบประมาณเป็นของตัวเอง จัดเก็บภาษีเป็นของตัวเองได้ ต้องมีสภาเป็นของตัวเอง จะต้องมีฝ่ายบริหารโดยจะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งก็ได้ และที่สำคัญคือต้องมีเจ้าหน้าที่เป็นของตัวเอง ถ้าองค์ประกอบไม่ครบไม่ใช่ราชการส่วนท้องถิ่น แม้ว่าจะอยู่ในท้องถิ่น เพราะฉะนั้นที่มีองค์ประกอบครบ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด
เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา ความสัมพันธ์ระหว่างราชการส่วนกลางส่วนภูมิภาคที่มีต่อส่วนท้องถิ่น คือ ความสัมพันธ์ คือการกำกับดูแลหมายถึงให้ทำตามกฎหมายที่มีอยู่ ไม่ใช่สั่งการ ไม่ใช่เจ้านาย ลูกน้อง ราชการส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น อบจ. เทศบาล อปท.ไม่ได้สังกัด
กระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ แล้วแต่กรณี แบบ กทม.ก็ขึ้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จังหวัด อบจ.ขึ้นกับผู้ว่าฯ เทศบาลนครขึ้นกับผู้ว่าฯ เทศบาลตำบล อบต.ขึ้นกับนายอำเภอและผู้ว่าฯ เพราะฉะนั้น กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด อยู่ในฐานะสต๊าฟช่วยเหลือไม่ใช่เป็น
ผู้บังคับบัญชา

ส่วนแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองและการเคลื่อนไหวถึงปัจจุบัน จังหวัดจัดการตนเองเริ่มจากเมื่อปี 2550 มีเอ็นจีโอเล็กๆ ช่วยทำชุมชนพึ่งตนเอง ทั้งนี้ จากการเสนอแนวคิดร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. … ซึ่งตนเป็นประธานร่างกฎหมายฉบับนี้ รณรงค์ขับเคลื่อนกลุ่มเชียงใหม่จัดการตนเองขยายมาจากชุมชนพึ่งตนเอง โดยหลักการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค คือ ผู้ว่าฯและนายอำเภอ เหลือแต่ราชการส่วนท้องถิ่นและราชการส่วนกลางเท่านั้น มีผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ไม่ใช่แต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย มีราชการส่วนกลางส่วนท้องถิ่นสองชั้น มีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน การให้มีสภาพลเมือง ที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ ถ่วงดุลต่างๆ มาจากกลุ่มหลากหลาย สำหรับโครงสร้างด้านภาษี โดยภาษีทุกชนิดที่เก็บได้ในพื้นที่จะส่งคืนรัฐบาลส่วนกลางร้อยละ 30 และคงไว้ที่จังหวัดร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม แต่โชคไม่ดีเกิดรัฐประหารเสียก่อน แต่ว่าช่วงนั้นพอเชียงใหม่ทำบ้างจังหวัดอื่นๆ ก็เริ่ม เช่นกัน อาทิ ระยอง ขอนแก่น ภูเก็ต ลงท้ายด้วยมหานคร

หลังที่มีการเลือกตั้งทั่วไป 2562 เกิดขึ้น ตนได้รับเลือกเป็น ส.ส. ก็มีโอกาสเป็นประธานอนุกรรมาธิการปกครองท้องถิ่นฯ ก็นำเรื่องนี้กลับขึ้นมาใหม่ โดยใช้เป็นร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารจังหวัดจัดการตนเอง ใช้ฐานเดิมมายกร่าง พิจารณารายมาตราไปเกือบเสร็จ พวกตนก็ถูกสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ต้องออกมาข้างนอก แต่เขาก็ยังดำเนินการต่อมีการศึกษาต่อไป โดยตั้งตนเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการฯ และเชิญไปพรีเซนต์วันพุธ (8 กรกฎาคม) ที่จะถึงนี้ เพื่อจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร รับเป็นหลักการ

และเชื่อว่าคงไม่มีพรรคไหนที่จะคัดค้าน แต่ว่ารายละเอียดคงต่างกัน เพราะทุกพรรคไปหาเสียงหมดเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน อย่างน้อยสุดขอให้สำเร็จได้ และร่าง พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเองถ้าประกาศแล้วไม่ใช่จะพลิกทีเดียวทั่วประเทศ จะเริ่มจังหวัดที่คิดว่าตัวเอง ประชาชนมีความพร้อมและเห็นด้วย ประชาชนในจังหวัด 5 พันคนขึ้นไปเสนอว่าจะเอาและเสนอลงประชามติออกพระราชกฤษฎีกาจังหวัดจัดการตัวเองขึ้นมาและประกาศใช้ไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image