รายหน้า2 : แนะกมธ.ใช้งบ‘กระตุ้นศก.’ อัดฉีด‘เอสเอ็มอี-สร้างงาน’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ ถึงการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เพื่อวางกรอบและแนวทางการใช้งบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์หลังวิกฤตโควิด-19 โดยให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

เรื่องการวางกรอบงบประมาณแผ่นดินปี 2564 เนื่องจากขณะนี้ประเทศมีสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ส่วนหนึ่ง รัฐบาลก็อาจจะมีเหตุผลที่อ้างได้ว่า จะนำเงินไปกำหนดในการที่จะฟื้นฟูประเทศ
ซึ่งก็ต้องดูทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ที่ขณะนี้ยังไม่มีการปรับว่าจะเป็นผู้ที่มีความหวังให้กับประชาชนได้หรือไม่
แต่ส่วนหลัก จะต้องดำรงคงไว้ซึ่งงบประมาณตามปกติ ที่ให้กับกระทรวงต่างๆ ในการเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป คือกรอบที่ตนมอง
ทั้งนี้ งบประมาณควรที่จะพุ่งเป้าไปที่ 2 ส่วนหลัก คือ เรื่องของ 1.เอสเอ็มอี (SME) เพราะค่อนข้างสัมพันธ์กับความเดือดร้อนของประชาชนอย่างมาก หลายกิจการต้องปิดตัวลง เรื่องของงบประมาณท้องถิ่นก็ผูกโยงกับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ยังไม่ได้เลือกตั้ง
ซึ่งก็อาจจะอ้างได้ว่า อยู่ตัวอยู่แล้ว แต่ในความอยู่ตัวก็มีความน่ากลัวในเรื่องของความไม่โปร่งใส เรื่องการตรวจสอบ ซึ่งสู้ไม่ได้กับการที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
อีกส่วน คือเรื่องของ 2.ผู้ใช้แรงงานโดยทั่วไป ซึ่งเราจะเห็นข่าวคราวอันน่าสลดใจ ที่ผู้ใช้แรงงานถูกเลิกจ้างโดยที่ไม่ได้ตั้งตัวมาก่อน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ส่งใจไปช่วย ซึ่งกรณีนี้น่ากลัว เพราะในอนาคตจะมีการเลิกจ้างเช่นนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงาน หรือผู้ที่ทำงานในองค์กร โดยเฉพาะของหน่วยงานภาครัฐเอง ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่งเขาอาจจะตกงาน แม้จะทำงานมายาวนานกว่า 30 ปี ก็ตาม
คำถามคือ รัฐบาลจะนำเงินงบประมาณไปช่วยเหลือประชาชนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของภาครัฐ
ส่วนตัวมองว่า เบื้องต้นจะต้องไม่ใช้แนวคิดแบบ “ท็อปดาวน์” คือ คิดอยู่ฝ่ายเดียว อาจจะต้องเริ่มจาก “สร้างการมีส่วนร่วม” อย่างแท้จริง
ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานย่อยของราชการที่จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็น และผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้ใช้แรงงาน และเอสเอ็มอี ให้เขาได้มีโอกาสเสนอความคิดเห็นบ้าง ตรงนี้อาจใช้เวลานิด แต่คุ้มค่าในการที่จะได้รับฟังความคิดเห็น เพราะถ้าคิดอยู่แต่ในมุมท็อปดาวน์ หรือเฉพาะในกลุ่มผู้บริหาร การแก้ปัญหาก็อาจไม่รัดกุม ไม่ถี่ถ้วน นี่คือเรื่องที่กังวลใจแทน
นอกจากนี้ โครงการอภิมหาโปรเจ็กต์ สร้างถนน สร้างหนทาง ไม่ควรจะไปนึกถึง แต่เห็นด้วยในการสร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะต้องรวบรวม หาข้อมูลที่แท้จริงให้ครบถ้วน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องหาทีมงานที่ใช่มาช่วยท่าน ท่านคนเดียวไม่ไหว ต้องมีทีมงานที่มีประสบการณ์ และเป็นผู้ที่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เหมาะสม และลงตัวมากที่สุดกับสถานการณ์ขณะนี้ ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด
โดยวางกรอบประมาณ อาจจะต้องมาคลี่บนโต๊ะให้หมด ว่ามีงบประมาณกระทรวงใดที่คุยกันระหว่างเจ้ากระทรวงแล้วว่าสามารถช่วยได้ ก็แบ่งงบประมาณมาช่วย เช่น ช่วยกระทรวงแรงงานบ้าง ตรงจุดนั้น จุดนี้ แต่ถ้าคุยกันเฉพาะ 2-3 เจ้ากระทรวง อาจจะไม่เพียงพอ
ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจะต้องนั่งหัวโต๊ะ รวมถึงทีมเศรษฐกิจ และเรียนเชิญเจ้ากระทรวงต่างๆ มาร่วมพูดคุยกัน คลี่งบประมาณออกมาแบ่งสรรปันส่วน คุยกันทีเดียวน่าจะได้เห็นภาพรวมทั้งผืนว่าตรงไหนที่ขาด ตรงไหนที่สามารถไปเติมได้ในกระทรวงที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณอย่างเร่งด่วน

 

Advertisement

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ตอนนี้เศรษฐกิจเราอยู่ช่วงขาลง อีกทั้งมีเงื่อนไขโควิด-19 เข้ามา ดังนั้น งบประมาณจึงควรใช้กับเรื่องการลงทุนใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับการ
กระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ใช่การแจกเงิน แต่ให้เป็นลักษณะการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะโครงสร้างสาธารณสุข เพื่อจัดการโควิด-19 ให้สังคมกลับมาเป็นปกติได้เร็วที่สุด รวมทั้งโครงสร้างถนน ทางด่วน ไฟฟ้า ประปา หรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
การลงทุนเหล่านี้ทำให้เกิดการจ้างงาน พูดง่ายๆ ว่าเงินที่เราเหลือก้อนใหญ่ที่สุดคือเงินของภาครัฐ ดังนั้น ถ้าสามารถลงทุนแล้วเกิดการจ้างงานได้ มองว่าจะทำให้ตัวเลขผลผลิตรวมในประเทศ (จีดีพี) กระเตื้องขึ้นมาบ้าง เพราะคนมีเงินจับจ่ายใช้สอย หรือเงินของภาครัฐตอนนี้ควรไปอัดฉีดทางเอสเอ็มอี หรืออัดฉีดผ่านธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในกำกับของรัฐ เช่น การปล่อยเงินกู้ระยะสั้น ปลอดดอกเบี้ย
รัฐจำเป็นต้องทบทวนโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ พูดตรงๆ คือโครงการซื้ออาวุธ เพราะเป็นการจัดซื้อมาอยู่ในคลังแสง และเป็นของที่นำมาใช้ในภาครัฐเท่านั้น สมมุติว่านำเงินตรงนี้มาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมก็จะเกิดการจ้างงานได้มากมาย ฉะนั้นการซื้ออาวุธเหล่านี้ควรชะลอไว้ก่อน
เงินซื้ออาวุธคือเงินลงทุน ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ แม้จะบอกว่าเป็นเงินที่ก่อให้เกิดความมั่นคงก็ตาม แต่เวลานี้ความขัดแย้งในโลกยังไม่เกิด โดยทุกประเทศทั่วโลกพยายามหาวิธีการทำให้เศรษฐกิจได้รับการกระตุ้นมากขึ้น เพราะทุกอย่างถูกหยุดไว้ด้วยโควิด-19
ดังนั้น งบที่ควรลงทุนตอนนี้คืองบด้านสาธารณสุข หรือการลงทุนโครงสร้างเพื่อก่อให้เกิดรายได้ ทั้งนี้ ไม่ได้บอกว่าให้ตัดทิ้งทั้งหมด
แต่อยากให้พิจารณาว่าอะไรที่ยังไม่จำเป็น ยังไม่ซื้อได้ไหม

 

Advertisement

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านการกระจายอำนาจ

การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายโดยระบบรัฐราชการรวมศูนย์ จะจัดทำงบประมาณในกรอบแนวคิดเพื่อสนับสนุนแนวทางการทำหน้าที่ของกระทรวงและกรมในระบบราชการส่วนกลาง โดยให้ข้าราชการคิดทำโครงการสนองแนวนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก
การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จึงไม่ได้สนใจความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในระดับพื้นที่มากนัก ทั้งที่ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้มีอำนาจควรปรับปรุง เปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงาน ไม่ควรทำงบประมาณจ่ายประจำปีเหมือนช่วงที่มีสถานการณ์ปกติ และยังไม่รวมถึงการใช้งบที่มีลักษณะของภารกิจงานที่คล้ายกันแต่กระจายไปหลายกระทรวง
ดังนั้น จึงประเมินว่าหากไม่มีความเปลี่ยนแปลงในการใช้จ่ายงบประมาณที่จำเป็นจริงๆ ในภาวะวิกฤต จากการประเมินสถานการณ์ให้รอบด้าน หรือกำหนดแนวทางการใช้จ่ายให้เหมาะสม เชื่อว่าจะเป็นปัญหากระทบกับประชาชนในระยะยาว เพราะการทำงบประมาณรายจ่ายประจำที่นำมาพิจารณา เป็นเพียงการจัดทำงบเปลี่ยนปก เปลี่ยนปี พ.ศ. แต่การกำหนดแนวทาง วิธีการการทำงานเหมือนเดิมแทบทุกอย่าง
มีการนำบางโครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณาเมื่อปีก่อน นำมาปัดฝุ่นใส่เข้าไปใหม่ ที่สำคัญทีมเศรษฐกิจไม่ได้กำหนดยุทธศาสตร์หรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อทำให้งบประมาณกระจายไปกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ให้มากขึ้น ซึ่งในระยะยาวควรจะปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ยืนยันว่าไม่ควรใช้วิธีการแบบเดิมในสถานการณ์ของประเทศที่ไม่เหมือนเดิม
สำหรับงบประมาณของ อปท.ที่รัฐบาลจัดสรรให้ในปีงบประมาณ 2564 ในสัดส่วน 29.50% จากงบประมาณรายได้รวมของประเทศ ยืนยันว่าไม่สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ห้ามนำงบอื่นเข้ามาแอบแฝงบวกรวมในงบที่จัดสรร ให้ อปท.เช่น งบค่าตอบแทนรายเดือนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. หรืองบอื่นที่เป็นนโยบายด้านสังคมที่กำหนดโดยหน่วยงานส่วนกลาง ซึ่งปัจจุบันมีการจ่ายค่าตอบแทนโดยตรงให้ อสม.แล้ว
แต่ยังมีการจัดงบดังกล่าวมาฝากไว้กับ อปท. เพื่อปั้นตัวเลขจากการจัดงบ อปท.ให้สูงขึ้น ขณะที่งบที่ อปท.สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริงมีเพียง 18-19% เท่านั้น และในงบที่เหลือ อปท.มีความจำเป็นต้องใช้เป็นรายจ่ายประจำจำนวนมาก เหลืองบพัฒนาหรือบริการสังคมไม่มาก ประกอบกับแนวทางในการลดหย่อนการเก็บรายได้หลายประเภทก็ทำให้ อปท.มีรายได้ลดลงอีก

 

จรัส สุวรรณมาลา
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และการกระจายอำนาจ

ความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจจากการใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2564 ต้องให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากกลไกหรือเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับมหภาค ไม่สามารถใช้ได้ตามปกติ หลังจากใช้มาถึงเพดานหรือข้อจำกัดที่ตั้งไว้ทั้งหมด ดังนั้นรัฐบาลควรหาวิธีการจัดสรรงบประมาณให้ลงมายังหน่วยเศรษฐกิจระดับฐานรากโดยตรง ซึ่งมีกระจายทั่วประเทศ แต่ละพื้นที่มีบริบทเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน
ความเห็นสั้นๆ ง่ายของผม คือ รัฐบาลไม่ควรจัดสรรงบประมาณผ่านกระทรวง หรือกรม อย่างที่เคยทำมาในอดีต ทั้งการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน หรือเรื่องอื่นเพื่อช่วยให้ใช้งบประมาณได้ แต่ควรสร้างเศรษฐกิจฐานใหม่ให้ได้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่รัฐบาลไม่ควรปฏิเสธ
ขณะที่การใช้งบโดยการตั้งคณะกรรมการเข้ามากลั่นกรองโครงการ ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะได้ผล เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรปรับลดงบประมาณของหน่วยงานส่วนกลางลงมาให้เหลือน้อยกว่าในอดีต
โดยพิจารณาจัดสรรงบผ่านระบบราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดต่างๆ หรือลงไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกรูปแบบ
ส่วนตัวเห็นว่ายังมีศักยภาพมากพอสมควร สามารถทำงานในเชิงบูรณาการได้ ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทยส่วนใหญ่มีความสามารถ
สามารถชักชวน อปท.ในระดับพื้นที่มาช่วยกันทำงาน เพราะหน่วยงานในจังหวัดย่อมรู้ดีว่าควรนำงบประมาณไปใช้จ่ายตรงไหนเพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ให้อยู่รอดได้ ในสถานะของระบบเศรษฐกิจพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบจำนวนมหาศาล
เพราะที่ผ่านมาการใช้งบมากที่สุด จะเป็นรายจ่ายประจำมากกว่างบด้านอื่น และวันนี้ ไม่ต้องไปมองรายได้เรื่องการส่งออก หรือการหารายได้จากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ เพราะเป็นไปไม่ได้หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 ทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิมยากมาก
หากงบประมาณรายจ่ายจะลงตรงถึงพื้นที่ในระดับจังหวัด อย่าพยายามมองในแง่ร้ายว่าจะมีแต่การทุจริต เพราะปกติการจัดงบผ่านกระทรวงหรือกรม ก็หนีไม่พ้นปัญหาการทุจริต นอกจากนั้นยังมีปัญหาการแทรกแซงของนักการเมืองระดับชาติ ที่ทำโครงการรอไว้ เพื่อหาประโยชน์จากการใช้งบประมาณ ซึ่งมีแบบนี้แทบทุกรัฐบาล และรัฐบาลยุคปราบโกงก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์เดิมๆมีความเปลี่ยนแปลง
นอกจากนั้น การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จากการใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2564 ขอให้เร่งรัดปฏิรูประบบราชการให้มีผลที่ชัดเจน เพื่อลดงบประมาณรายจ่ายประจำ รัฐบาลไม่ต้องกลัวข้าราชการจะคัดค้านหรือล้มกระดาน เพราะจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า ประเทศไม่จำเป็นต้องใช้ข้าราชการที่มีจำนวนมากเช่นในปัจจุบัน วิกฤตโควิดทำให้เห็นว่ามีข้าราชการไม่มากในกระทรวงสาธารณสุขที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาในการควบคุมโรค ส่วนข้าราชการอื่น หากปิดที่ทำการไว้ชั่วคราว ถามว่าประเทศยังอยู่รอด
ได้หรือไม่
ดังนั้น รัฐบาลควรคิดทบทวนว่าในอนาคตควรจะจ้างข้าราชการทำงานเต็มเวลาหรือไม่ หรือมีกี่เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่มีในปัจจุบัน โดยลดข้าราชการให้มากที่สุด หรือจะลดค่าสาธารณูปโภคอื่นที่ไม่จำเป็นในระบบราชการ ซึ่งเรื่องนี้ขอเสนอถึงทุกกระทรวง ทุกกรม ไม่ได้เน้นเฉพาะหน่วยทหารเหมือนบางพรรคการเมือง
ขณะที่ในยุทธศาสตร์ในระบบการบริหารงานภาครัฐ ไม่เคยระบุถึงการลดจำนวนข้าราชการและยังมีแนวโน้มเพิ่มหน่วยงานมากขึ้นตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นในแผน 3 ปี 5 ปี ในระยะต่อไปรัฐบาลควรพิจารณากำหนดให้จำนวนข้าราชการลดลง เพื่อให้มีงบประมาณประจำปีเหลือจ่าย เพื่อใช้ในการจัดบริการสาธารณะให้มากขึ้น ด้วยวิธีการหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเหมาะสมกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image