รายงานหน้า2 : ‘กลุ่มแคร์’ระดมสมอง ฟื้นศก.-ชุบชีวิตท่องเที่ยว

หมายเหตุ เนื้อหาส่วนหนึ่งจากวงเสวนา “ระดมสมอง ฟื้นเศรษฐกิจ ชุบชีวิตท่องเที่ยว” จัดโดย มติชน ข่าวสด และกลุ่ม CARE ที่ห้องประชุมข่าวสด อาคารสำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ดำเนินรายการโดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และนายสมปรารถนา คล้ายวิเชียร เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม

ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

สถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ได้พิจารณาจากตัวเลขประมาณการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา (มกราคม-พฤษภาคม) แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ จำนวน 6,691,574 คน ติดลบกว่า 59.97% สร้างรายได้ 332,013 ล้านบาท ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทย ติดลบ 52.79% สร้างรายได้ 186,332 ล้านบาท ติดลบ 59.09% โดยในปี 2562 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 703,000 ล้านบาท ตลาดไทยเที่ยวไทย 455,000 ล้านบาท ทำให้รายได้ส่วนที่หายไปเฉพาะในช่วง 5 เดือนแรกของตลาดต่างชาติ คิดเป็นมูลค่ากว่า 371,000 ล้านบาท ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทย 269,000 ล้านบาท รวมรายได้ที่หายไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 อยู่ที่ 640,000 ล้านบาท ถือเป็นการประเมินให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาในภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19
ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากคาดการณ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่ารายได้ในช่วงครึ่งปีหลังของภาคการท่องเที่ยวไทยจะหายไป 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 13% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี)
ซึ่งถือเป็นตัวเลขการหายไปของรายได้ที่น่ากลัวมาก เพราะยังไม่เคยพบว่ามีเซ็กเตอร์ใดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากขนาดนี้ โดยแบ่งเป็นตัวเลขในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ที่ ททท.คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาบ้างนั้น พบว่ามีส่วนที่เสียหายในแง่รายได้ที่สูญเสียไปจากนักลงทุนต่างชาติ อยู่ที่ 1.16 ล้านล้านบาท และส่วนที่หายไปจากนักท่องเที่ยวไทย อยู่ที่ 380,000 ล้านบาท ทำให้ภาพรวมสภาพการท่องเที่ยวจะหายไปรวม 1.54 ล้านล้านบาท
ในปี 2562 มีการเก็บตัวเลขจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือนต่างประเทศมีกว่า 77 ล้านคน ซึ่งสาเหตุที่ตัวเลขมากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาประมาณ 40 ล้านคน เนื่องจากการเข้ามาของต่างชาติ เดินทางท่องเที่ยวมากกว่า 1 แหล่งท่องเที่ยว ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทยออกเดินทางท่องเที่ยวรวม 227 ล้านคน-ครั้ง โดยประเด็นที่น่าสนใจคือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย มีการกระจุกตัวอยู่เพียง 10 จังหวัดหลักๆ เท่านั้น โดยเฉพาะ 8 จังหวัดแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี พังงา เชียงใหม่ และสงขลา มีสัดส่วน 90% ของภาพรวมรายได้จากต่างชาติแล้ว และหากนับรวมจังหวัดที่มีการเดินทางบ้างก็รวมรายได้ทั้งหมดของต่างชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวไทยจะกระจายการเดินทางมากกว่ามาก โดยจำนวนจังหวัดหลักที่คนไทยนิยมเดินทางมีประมาณ 20 จังหวัด คิดเป็นสัดส่วน 61% ของการท่องเที่ยวทั้งหมด ทำให้หากสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวของตลาดไทยเที่ยวไทยได้ ก็จะช่วยสร้างรายได้ในหลายๆ จังหวัดหลักเพิ่มเติมได้ แต่หากเป็นจังหวัดหลักๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางท่องเที่ยวมากๆ แม้ตลาดไทยเที่ยวไทยจะออกเดินทาง แต่ก็ช่วยได้ค่อนข้างน้อยมาก
ยกตัวอย่าง การนำรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยหารด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยิ่งจังหวัดใดมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากๆ รายได้หลักมาจากต่างชาติในสัดส่วนสูงๆ อาทิ ภูเก็ต มีสัดส่วนไทยเที่ยวไทยอยู่ที่ 12% พังงา 14% สุราษฎร์ธานี 21% ชลบุรี 25% กระบี่ 51% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้จะสนับสนุนให้ไทยเที่ยวไทยออกเดินทาง แต่จังหวัดเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากตลาดต่างชาติที่เป็นตลาดหลักหายไป ทำให้ตลาดไทยเที่ยวไทยไม่สามารถสร้างรายได้ทดแทนตลาดต่างชาติได้ โดยหากนำรายได้จากตลาดต่างชาติหารกับประชากรในจังหวัดนั้นๆ จะสร้างรายได้ต่อหัวในอัตราที่สูงมาก อาทิ ภูเก็ต รายได้ต่อหัวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 798,573 บาท สุราษฎร์ธานี อยู่ที่ 621,300 บาท พังงา อยู่ที่ 268,200 บาท เทียบกับกรุงเทพมหานคร อยู่ที่ 83,000 บาท โดยจะเห็นว่าทั้ง 3 จังหวัด ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นหลัก สามารถสร้างรายได้ให้กับประชากรได้เป็นแสนบาท ทำให้รายได้ที่หายไป ถือเป็นเรื่องของความเป็นความตายของการท่องเที่ยวในจังหวัดเหล่านั้น

 

Advertisement

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ
นายกสมาคมโรงแรมไทย

โรงแรมในไทยตอนนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีจำนวน 16,282 แห่ง รวมกว่า 7 แสนห้อง โรงแรมไม่มีใบอนุญาต 49,927 แห่ง ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมโรงแรม ถ้านับคน มีจำนวน 1.6-1.8 ล้านคน ไม่รวมคู่สมรสที่จะได้รับผลกระทบจากการตกงาน ธุรกิจโรงแรมดร็อปลงตั้งแต่ปลายปีที่แล้วและมีผลต่อเนื่อง พอช่วงเดือนมกราคมเริ่มดีขึ้น แต่พอตรุษจีน จีนประกาศห้ามออกนอกประเทศแต่ยังมีกลุ่มที่หลงเหลืออยู่ กุมภาพันธ์เริ่มแย่ลงเรื่อยๆ เมษายน-มิถุนายน มีการปิดกิจการชั่วคราว ประมาณ 90-95 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เราเผชิญคือปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายแรงงาน คือพนักงานที่มีอยู่ ซึ่งตามกฎหมายแรงงานถ้ามีการปิดกิจการชั่วคราว ต้องจ่าย 75 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ซึ่งไม่สามารถจ่ายได้ในขณะนั้น สิ่งที่ทำได้คือสิ่งที่เรียกว่าแรงงานสัมพันธ์ คือการไปพูดคุยกับพนักงานว่าเราคงจ่ายให้แค่บางส่วน ให้พนักงานอยู่บ้าน เพราะตอนนั้นมีการล็อกดาวน์
สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ โรงแรมหลายแห่งเริ่มเปิด แต่หลายแห่งไม่ได้เปิด เมื่อรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ จะเห็นว่าสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งมียอดจองโรงแรมเต็ม เช่น บางแสน อย่างไรก็ตาม มองว่ามีสาเหตุมาจากความอัดอั้นจากการล็อกดาวน์มานาน ซึ่งโรงแรมที่มียอดจองมาก มักอยู่ระหว่างการขับรถยนต์ราว 2-3 ชั่วโมง เช่น พัทยาและหัวหิน แต่ในเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ คนคงไม่ไป และขณะนี้โรงแรมก็ยังไม่เปิด 100 เปอร์เซ็นต์
สำหรับโรงแรมในกรุงเทพฯ มีจำนวนกว่า 900 แห่งซึ่งรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ไม่ได้มีผู้เดินทางจากต่างจังหวัดมาเที่ยวกรุงเทพฯ รายได้ในขณะนี้มาจากการจัดประชุม สัมมนา แต่ก็น้อยลงกว่าเดิมมาก เพราะต้องมีการรักษาระยะห่างทางกายภาพจำกัดจำนวนคนต่อตารางเมตร รายได้ลดลงอย่างมหาศาล โรงแรมที่มีห้องพักมากที่สุด เจ็บปวดที่สุด แม้ตอนนี้ยังมีรายได้แต่ถามว่าครอบคลุมค่าใช้จ่ายหรือไม่ ตอบไม่ได้ เพราะต้องมีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบุคลากร
หากยังไม่ผ่อนคลายหรือมีมาตรการที่ชัดเจน เชื่อว่าโรงแรมต้องปิดอย่างถาวรไปอีกจำนวนหนึ่ง เพราะเปิดมาก็มาครอบคลุมรายจ่าย ไม่แน่ใจว่าจะทนขาดทุนไปได้กี่เดือน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ หากเป็นรายใหม่ที่ไม่ได้มีเงินเก็บมากพอ จะอยู่ได้ไม่ยาว และเชื่อว่าหากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป จะมีโรงแรมที่ปิดถาวรเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้ารัฐยังไม่มีโอกาสมาช่วยเหลือ การท่องเที่ยวอาจไม่ได้เป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศอีกต่อไป เพราะการกลับมาอีกครั้งไม่เต็มร้อย ไม่สามารถรองรับการกลับมาใหม่ การลงทุนด้านการโรงแรม มองไม่เห็นอนาคต

 

Advertisement

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์
ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย

ไทยแอร์เอเชียเป็นสายการบินที่พาคนจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งมีเครื่องบินทั้งหมด 60 ลำ วันที่ปิดประเทศได้หยุดการบินทั้งหมด แต่เมื่อราว 2 เดือนก่อนที่เริ่มเปิดทำการบินได้ เราขึ้นบินทั้งหมด 5 ลำ เมื่อเปิดเฟส 2 ทำการบินทั้งหมด 25 ลำ ถามว่าที่มีอยู่ 60 ลำตอนนี้จะไปได้ถึงไหน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เราแบ่งสัดส่วนว่าเครื่องบินครึ่งหนึ่งใช้บินในประเทศ อีกครึ่งหนึ่งบินต่างประเทศ โดยจำนวนผู้โดยสาร 1 ใน 3 เป็นนักท่องเที่ยวไทย และ 2 ใน 3 คือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ อย่าลืมว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาก็เดินทางต่อในประเทศด้วย ดังนั้น ถ้าตัดส่วนนี้ออกจะเหลือเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
หากรู้ว่าไม่สามารถเปิดประเทศได้ หรือไม่สามารถใช้มาตรการแทรเวล บับเบิลได้ รัฐจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางให้การเดินทางในประเทศเป็นไปได้มากที่สุด เมื่อรู้ว่าแผลใหญ่ขนาดนี้ และซ่อมได้นิดเดียว ถามว่าจะปิดแผลอย่างไร ฉะนั้น รัฐอาจต้องไปคิดต่อ เท่าที่สัมผัสในช่วง 3 เดือนซึ่งมีการประชุมกับผู้ประกอบการที่นั่งอยู่ด้วยกันตรงนี้หลายท่าน หลายครั้ง รวมทั้งกับสายการบินเอง เรามองว่าตราบใดที่รัฐบาลยังใช้กฎกติกาก่อนโควิด-19 มาช่วยเยียวยาในยุคโควิด-19 ประเทศเดินต่อไม่ได้ เช่น แบงก์พาณิชย์ หรือแบงก์รัฐยังใช้กฎกติกาการกู้เงินแบบเดิม หรือทรัพย์สินวางประกันยังคงเดิม ดอกเบี้ยลดไม่ได้ หรือบางเซ็กเตอร์ที่ลำบากมากๆ รัฐบาลก็ไม่สามารถเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ได้เพราะติดข้อฎหมาย ดังนั้น ถ้ายังมีความคิดแบบนี้ ต่อให้เราคุยเรื่องการท่องเที่ยวอีกกี่สิบครั้งก็ยังเดินต่อไม่ได้ เพราะต้องมีการผ่อนผันในบางเรื่อง รัฐเองต้องใจแข็งว่าธุรกิจไหนไปไม่ได้จริงๆ ต้องปิดกิจการ แต่ก็มีคำถามว่าจะดูแลเขาอย่างไร
แอร์เอเชียแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ไทยแอร์เอเชีย และไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ โดยจำนวนเครื่องบิน 60 ลำข้างต้นเป็นของไทยแอร์เอเชีย ซึ่งตอนนี้เราพออยู่ได้และกำลังรอซอฟต์โลนอยู่ แต่ก็รอมา 3 เดือนแล้วก็ไม่รู้ว่าไปถึงไหน ส่วนไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์เอง เมื่อฟังข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เรื่องการเดินทางในเส้นทางระยะยาว (long-haul) ท่าจะเหนื่อย ดังนั้น ต้องคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรกับเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ใช้บินระยะยาว
จากประสบการณ์ รวมทั้งเมื่อดูจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เราขนเองปีนี้ การบินในประเทศไม่น่าเกิน 30 ลำ ส่วนเส้นทางระยะยาวน่าจะเป็น 0 แต่สิ่งที่อยากให้กระทรวงสาธารณสุขและ ททท.ลองดูคือการใช้มาตรการแทรเวล บับเบิล โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่เลย เพราะถ้าติดโควิด-19 จริงๆ ก็อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น แต่ถ้ายังกล้าๆ กลัวๆ ก็ยังไม่รู้ว่ามาตรการในการเปิดนั้นจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญคือเมื่อดูจากลิสต์สนามบินที่พร้อมเปิดทั่วโลก พบว่าหลายประเทศยินดีให้เราเข้าโดยที่ประเทศเขามีมาตรการชัดเจน แต่กลับเป็นประเทศไทยเองที่ไม่มีมาตรการชัดเจน ดังนั้น นี่เป็นขั้นแรกที่ต้องคิดก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image