รายงานหน้า2 : เอฟเฟ็กต์‘4กุมาร’ สะเทือน‘บิ๊กตู่’

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการกรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และกลุ่ม 4 กุมาร ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.การอุดมศึกษาฯ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ยื่นหนังสือ ลาออกจากตำแหน่งส่งผลกระทบต่อการบริหารงานและเสถียรภาพของรัฐบาล

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

หลังรัฐมนตรียื่นใบลาออกยืนยันว่าไม่มีสุญญากาศ เนื่องจากยังมีคนมาทำหน้าที่รักษาการ อย่างน้อยมีรัฐมนตรีช่วย หรือ
ปลัดกระทรวงทำหน้าที่ตามนโยบายเดิม หรืออาจสั่งให้รัฐมนตรีรายอื่นไปทำหน้าที่รักษาการแทนชั่วคราวในตำแหน่งที่ว่าง จนกว่าจะมีรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาทำงาน แต่ช่วงที่ไม่มีรัฐมนตรี ข้าราชการบางคนอาจใช้โอกาสนี้ใส่เกียร์ว่าง ไม่รู้จะทำงานตามใคร ก็นิ่งๆ ก่อนรอดูทิศทางลม ขณะที่การว่างเว้นรัฐมนตรีสายเศรษฐกิจเชื่อว่าบ้านเมืองยังคงเดินไปข้างหน้าได้ เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล จะมี นโยบายใหม่ๆ หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไรเพื่อทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและศรัทธา

ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ต้องติดตามว่าใครจะมาทำหน้าที่รัฐมนตรีใหม่ เมื่อเอ่ยชื่อแล้วยังไม่ต้องทำงาน ต้องสำรวจว่าประชาชนเชื่อถือ หรือยอมรับได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวเห็นว่ารายชื่อที่โยนหินถามทางผ่านสื่อ เป็นบุคคลที่วงการเศรษฐกิจให้การยอมรับ หลายคนพอใจ แต่ปัจจัยหลักนายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจเลือกกลุ่มเทคโนแครตหรือจะเอานักการเมืองมาทำหน้าที่

Advertisement

ขณะที่นักการเมืองบางกลุ่มเริ่มออกมาก่อหวอดแสดงท่าทีบางอย่าง เพื่อทำให้มีแรงกระเพื่อม เพราะยังมีคนคิดว่าตัวเองควรได้เป็นรัฐมนตรี แต่ยังไม่ถูกเลือกให้ไปทำหน้าที่ นอกจากนั้นมีความต้องการทำงานในกระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรฯ เพราะฉะนั้นถ้าปรับ ครม.รอบนี้แล้วยังไม่ได้ตามที่หวังก็คงต้องออกมาเคลื่อนไหวอีก

 

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ข่าวการลาออกกลุ่ม 4 กุมาร ส่งผลต่อจิตวิทยาผู้คนในสังคม อีกทั้งแรงกดดัน ภาพลักษณ์ หรือต้นทุนความน่าเชื่อถือสำหรับผู้ที่มาใหม่นั้นจะดีกว่ากลุ่ม 4 กุมารหรือไม่ นี่เป็นมิติใหม่ทางการเมืองไทย เพราะที่ผ่านมาเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออก มักจะปรับผู้ที่มีภาพลักษณ์ไม่ไว้วางใจของผู้คน เรื่องประโยชน์ทับซ้อน การแลกเปลี่ยนโควต้าสลับเก้าอี้ การหมดวาระของการดำรงตำแหน่งของกลุ่มการเมืองต่างๆ แต่รอบนี้ยังมีเรื่องความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลเสียเอง ดังนั้น ผู้คนจึงตั้งคำถามว่ารัฐมนตรีเหล่านี้ซึ่งไม่มีภาพลักษณ์
ทุจริตคอร์รัปชั่นเลย เพียงภาพของเทคโนแครตไม่สามารถตอบสนองนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ จุดนี้เองที่ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลประยุทธ์อาจลดระดับความน่าเชื่อถือลงไป จนกลายเป็นแรงกระเพื่อมมหาศาลทีเดียว

แรงกระเพื่อมดังกล่าววัดจากการที่นายสมคิดใช้จังหวะที่เหมาะสมว่าตัวเองน่าจะยื่นใบลาออกในขณะที่รัฐบาลอยู่ในสถานการณ์เข้าตาจน ประชาชนตื่นตระหนกเรื่องโควิด-19 ที่เกิดขึ้นใน จ.ระยอง และกังวลว่าประเทศไทยจะกลับเข้าสู่การระบาดรอบ 2 หรือไม่ เท่ากับว่ากระสุนทุกทิศทาง แม้กระทั่งฝ่ายที่เคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะหมดพลังสนับสนุนพอสมควร

การที่นายสมคิดยื่นใบลาออก และกลุ่ม 4 กุมารถอดใจไม่ไปต่อด้วย ทำให้โอกาสเดียวที่ พล.อ.ประยุทธ์เหลืออยู่คือการปรับ ครม. โดยโฉมหน้าชุดใหม่จะต้องไม่มีภาพของกลุ่มการเมืองที่เคยมาเคลื่อนไหว หรือมาขับไล่กลุ่ม 4 กุมาร เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ยอมเล่นตามโจทย์กดดันภายในพรรค พปชร. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายคือหน้าตาของ ครม.ชุดใหม่ต้องดีกว่าเดิม ต้องเหนือกว่ากลุ่ม 4 กุมาร เพราะทั้ง 4 คนนี้มีภาพลักษณ์นักวิชาการ ดังนั้น คนที่มาใหม่ต้องเป็นมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักการเงิน นักการธนาคาร หรือมีประสบการณ์ เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจมหภาค

การปรับ ครม.ช่วงสิงหาคมตามที่นายกฯระบุมานั้นอยู่ในช่วงเวลาเหมาะสมแล้ว เนื่องจากเดือน ก.ค.มีกิจกรรมสำคัญกับประเทศตามที่เราเข้าใจอยู่ คงไม่เหมาะสมนักหากจะเร่งรีบเรื่องปรับ ครม. แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญต่างๆ ไม่เพียงแค่ตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น เพราะตำแหน่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่จะเกษียณในเดือนกันยายนนี้ ทั้งทหาร ตำรวจ ซึ่งก็เห็นความผิดปกติอย่างหนึ่งแล้วในเรื่อง
การโยกย้าย 36 ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ประกาศออกมาในเดือนกรกฎาคม ซึ่งยังไม่ครบวาระในเดือนกันยายนตามวงรอบการโยกย้ายข้าราชการประจำปี

เป็นไปได้ว่าอาจมีการขยับสับเปลี่ยน จนกระทบไปถึงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นไปได้หรือไม่ที่มีเสียงลือว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะขึ้นไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา สลับตัวเองไปอยู่เก้าอี้ตัวใหม่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดังนั้น สัญญาณการโยกย้ายผู้ว่าฯครั้งนี้เป็นความไม่ปกติหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้าจะมีการจัดเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่น ดังนั้น การปรับเปลี่ยน แต่งตั้งข้าราชการห้วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นั้น ถ้าแต่ละกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ วางตัวคนมาทำงานแทนแล้ว เชื่อว่าการปรับ ครม.ก็จะตามมา

 

ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การลาออกของกลุ่ม 4 กุมารครั้งนี้ จะมีผลกระทบหลักๆ กับด้านการเมืองและเศรษฐกิจ สำหรับด้านการเมืองแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และความชอบธรรมของรัฐบาลมากพอสมควร นอกจากนี้ ยังส่งผลไปถึงการปรับ ครม.ที่อาจจะมีขึ้นราวสิงหาคมนี้ จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่ม 4 กุมาร มักจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่มีประเด็นทางการเมือง เช่น เมื่อสัปดาห์ก่อนเกิดเหตุสภาล่ม หลังจากนั้นในวันรุ่งขึ้นก็มีการแถลงลาออกจากพรรคพลังประชารัฐของ 4 กุมาร พอมาช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุโควิด-19 ที่ จ.ระยอง เป็นเหตุที่ทำให้เกิดการแถลงลาออกจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกันกับเมื่อ 2 สัปดาห์ ก่อนที่ 4 กุมารบอกว่ายังต้องการทำงานการเมืองต่อ และจะยังทำหน้าที่ต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรี แต่สัปดาห์นี้กลายเป็นบอกว่า ต้องการเปิดทางให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ผู้ที่เหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่

สะท้อนภาพว่า เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่ม 4 กุมาร ในเชิงยุทธศาสตร์ ที่ต้องการจะทำให้เกิดปัญหาความชอบธรรมต่อรัฐบาล การลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ เป็นการดิสเครดิตกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคคนใหม่ เรื่องโควิดที่ จ.ระยอง ก็ดิสเครดิตเรื่องการแก้ปัญหาของรัฐบาล ซึ่งเหตุผลส่วนตัวที่ท่านให้กับสาธารณชนก็อาจจะเป็นไปได้ แต่สำหรับคนภายนอกก็คงมองอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองจริงๆ

ประเด็นสำคัญคือคนที่จะมานั่งแทนรัฐมนตรีเหล่านี้ ซึ่งก็ได้ยินชื่อ แต่ยังไม่ได้ยินสัญญาณว่าท่านจะเข้ามาตามกระแสข่าวหรือไม่ อย่างไร และหากเข้ามาจะแก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน เพราะไม่ง่าย ดังนั้น ผลจากการเมืองดังกล่าวจึงจะส่งผลทางเศรษฐกิจด้วย กล่าวคือ เรื่องความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจะมีผลมาจากความเชื่อมั่นทางการเมือง เมื่อ 4 รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจลาออกพร้อมกัน ความมั่นใจด้านเศรษฐกิจ ทั้งภาคธุรกิจ การลงทุนก็จะได้รับผลกระทบ เพราะสิ่งที่เขากังวลคือความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย ว่าจะมีนโยบายเศรษฐกิจหลังจากนี้อีกหรือไม่ เมื่อมีคนหน้าใหม่เข้ามา นโยบายเดิมที่ถูกริเริ่มจะเดินหน้าต่อหรือไม่ อย่างไร เช่น โครงการอีอีซี และอื่นๆ อีกมากมาย ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

ดังนั้น วันนี้สิ่งที่เราต้องขับเคลื่อนคือ เศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศต้องใช้ระยะเวลาอีกนานกว่าจะกลับมา สิ่งที่ทำได้วันนี้คือกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ผ่าน พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้การบริโภคซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ เมื่อพี่น้องประชาชนไม่เชื่อมั่นการเมือง การบริโภคหรือทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจภายในประเทศก็จะไม่เกิดขึ้น เหล่านี้คือผลกระทบทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดจากการลาออกของ 4 รัฐมนตรี

ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายที่เกิดขึ้นสมัยทีมเศรษฐกิจ ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ไม่น่าจะมีการยกเลิกอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่การขับเคลื่อนนโยบายจะเดินหน้าไปอย่างไร อย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างเชื่องช้า หรือเดินหน้าโดยอาศัยเพียงกลไกของระบบราชการเท่านั้นหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องรอดูต่อไปว่าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่จะหยิบจับมาปัดฝุ่นต่อหรือไม่ ท้ายที่สุด แม้นโยบายเหล่านี้จะไม่ถูกยกเลิก แต่ก็คงไม่ได้มีการขับเคลื่อนหรือปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งกระทบต่อความมั่นใจของภาคธุรกิจด้วยส่วนหนึ่ง

ดังนั้น วันนี้หากปรับ ครม.ได้เร็วเท่าไหร่จะยิ่งเป็นผลดีเท่านั้น ระยะเวลาที่เนิ่นช้าจะทำให้เรื่องการสั่งการ ขับเคลื่อนแก้ปัญหาล่าช้าไปด้วย เพราะต้องรอรัฐมนตรีท่านใหม่ที่จะเข้ามา ซึ่งรายชื่อ ณ วันนี้ก็ยังอึมครึมอยู่ ว่าตกลงแล้วจะเป็นใคร เข้ามาแทนใคร ยิ่งทำให้สังคมเกิดข้อคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ กระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล

 

บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา
ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่

ถือว่าการบริหารราชการแผ่นดินมาถึงทางตัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ยอมรับ ซึ่งเท่ากับว่าอยู่ในจุดที่ถูกการเมืองครอบ รัฐมนตรีที่ลาออกถือเป็นหัวใจของรัฐบาลชุดนี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจแย่ มีปัญหาไวรัสโควิด-19 อยู่ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิด พูดตรงๆ ทีม 4 กุมาร คือ กล่องดวงใจของนายกรัฐมนตรีที่เลือกมาเองเป็นไม้แข็ง เพราะประชาชนยอมรับได้ว่ามีความรู้ความสามารถ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีคงจะต้องรีบปรับ ครม.ในทันที เท่าที่ดูรายชื่อที่มีหลุดออกมาก็ดูเหมือนจะเก่งเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักเลือกตั้งและนักการเมืองจะยอมรับหรือไม่ ถือเป็นเรื่องท้าทายนายกรัฐมนตรีมาก และ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องมีแต้มต่อให้สามารถประคับประคองเพื่อต่อชีวิตไปได้ นายกฯไม่ควรยืดเวลาไปนาน เพราะตอนนี้มีปัญหาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องอภิสิทธิ์ชนส่งผลกระทบต่อกรณีการแพร่ระบาดโควิด-19 จน ศบค.จากที่เคยเป็นพระเอกจะกลายเป็นผู้ร้าย เพราะฉะนั้นรอไม่ได้ต้องรีบ อย่ายอมอยู่ภายใต้นัการเมืองนักเลือกตั้ง ไม่อย่างนั้นรัฐบาลอยู่ไม่ได้ หากไม่มีผลกระทบจากโควิด-19 เชื่อว่าประชาชนจะเป็นเกราะคุ้มภัยให้นายกรัฐมนตรีเอง

ตอนนี้เหมือนน้ำท่วมหัวท่วมปาก ต้องหาช่องทางแก้ด้วยการหาคนเข้ามาช่วยบริหารบ้านเมือง ต้องเป็นคนที่ประชาชนไม่ร้องยี้ ไม่ด้อยกว่าคนเก่าที่จากไป อย่างน้อยต้องสูสี เก่งจริง และนักการเมืองรับได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image