รายงานหน้า2 : เปิดแผน‘สทนช.-กนช.’ จัดการน้ำแก้ภัยแล้ง

หมายเหตุสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เปิดแผนรับมือภัยแล้งหลังเกิดภาวะช่วงฤดูฝนแต่มีแนวโน้มฝนทิ้งช่วง อาจทำให้ประสบภาวะภัยแล้งเกิดขึ้นซ้ำซ้อนขึ้นอีกในปี 2563

แม้กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป แต่ปัจจุบันในบางพื้นที่ยังคงประสบปัญหาภัยแล้งเรื้อรัง น้ำในอ่างเก็บน้ำบางแห่งเริ่มมีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% แล้ว อาทิ จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ขุนด่านปราการชล คลองสียัด และประแสร์ เป็นต้น

หากมุ่งเป้าหมายไปที่ 4 เขื่อนใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สถานการณ์น้ำใช้การมีอยู่ราว 5% ของความจุน้ำใช้การทั้งหมด หรือประมาณ 837 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำทั้งประเทศ อยู่ที่ 33,976 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 41% ของความจุน้ำทั้งหมด ปริมาณน้ำใช้การได้ 10,182 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 18% ของความจุน้ำทั้งหมด เมื่อเทียบกับปี 2562 พบว่ามีปริมาณน้ำมากกว่า หรืออยู่ที่ 34,758 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 49% ของความจุน้ำทั้งหมด มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จํานวน 51.74 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย จํานวน 63.75 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 40,720 ล้าน ลบ.ม.

จากปัญหาดังกล่าวหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มจัดตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ภายใต้การกำกับดูแลของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการฯ

Advertisement

กอนช.ได้ติดตามสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ พบว่า แหล่งเก็บกักน้ำส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำน้อย ดังนี้ มีปริมาณน้ำรวมในแหล่งน้ำ 33.976 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 41% ของความจุน้ำใช้การทั้งหมด ทุกภาคยกเว้นภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30%, อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนตั้งแต่ต้นฤดูฝน 2,500 ล้าน ลบ.ม. ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 1,389 ล้าน ลบ.ม. และ 4 เขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 758 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 4% ของความจุน้ำทั้งหมด

ทั้งนี้ กอนช.จึงได้มอบหมายหน่วยงานบริหารจัดการน้ำตามแผนเน้นใช้น้ำฝนเป็นหลัก โดยสั่งการให้ติดตาม ประเมินสถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนกลุ่มผู้ใช้น้ำรับทราบสถานการณ์น้ำน้อย บริเวณ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงอ่างฯ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯน้อย อาทิ ทับเสลา กระเสียว และอุบลรัตน์ เป็นต้น รวมถึงการควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด

ประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้เกษตรกรใช้น้ำฝนในการทำการเกษตร และเริ่มเพาะปลูกเมื่อปริมาณน้ำจากฝนตกมีปริมาณเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก

ส่วนการช่วยเหลือภัยแล้งล่าสุดได้ยุติสถานการณ์ 2 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม และบุรีรัมย์ คงเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง 2 จังหวัด คือ ชัยภูมิ และอุทัยธานี ซึ่งในส่วนของภาพรวมในการช่วยเหลือ คือ สนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภคโดยกรมชลประทาน สนับสนุนน้ำในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สนับสนุนน้ำในพื้นที่ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ, เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน กระทรวงกลาโหม เจาะบ่อบาดาล อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจาะบ่อบาดาล 289 บ่อ และบ่อน้ำตื้น 697 บ่อ

นอกจากนี้ พื้นที่ที่ประสบภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำกิน-ใช้ เกือบทุกปี อย่างจังหวัดภูเก็ตนั้น ล่าสุด พล.อ.ประวิตร เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2563 โดยได้ร่วมพิจารณาแผนงานโครงการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ได้แก่ โครงการจัดหาน้ำต้นทุนและแผนปฏิบัติการ ปี 2563-2566 จังหวัดภูเก็ต จากที่คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำของจังหวัดภูเก็ตจะสูงขึ้นจากปัจจุบัน 80 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เป็น 112 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ในปี 2575

เนื่องจากการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวและชุมชนเมือง ส่งผลให้แนวโน้มผู้ใช้น้ำสูงขึ้นประมาณ 12% ต่อปี รวมถึงมีการเพิ่มพื้นที่ให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาคให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด ประกอบกับปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง จึงต้องเร่งจัดหาน้ำต้นทุนเพิ่มให้ได้ไม่ต่ำกว่า 64 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นเพื่อเป็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างเร่งด่วน

โดยมติที่ประชุมดังกล่าวได้เห็นชอบในหลักการแผนระยะสั้น 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ เพิ่มปริมาณน้ำในอ่างฯ ขึ้นเป็น 8.70 ล้าน ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้น 1.5 ล้าน ลบ.ม. 2.โครงการบำบัดน้ำเสียมาผลิตน้ำประปา เพิ่มปริมาณน้ำในเขตเทศบาลนครภูเก็ต 0.584 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และ 3.โครงการระบบสูบผันน้ำ บ้านโคกโตนด-อ่างฯ บางเหนียวดำ จะทำให้ปริมาณน้ำในอ่างฯ เพิ่มขึ้นอีก 10 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และให้เสนอทั้ง 3 โครงการต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการต่อไป

อย่างไรก็ตาม แผนระยะสั้นที่เหลืออีก 1 โครงการ คือ โครงการพัฒนาระบบควบคุมบริหารจัดการน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ที่ประชุมเห็นควรให้ จ.ภูเก็ต ทบทวนพิจารณาจัดตั้งเป็นศูนย์น้ำจังหวัดภูเก็ตให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนของจังหวัด และให้เร่งรัดการดำเนินงานแผนงานระยะกลางที่ได้เสนอผ่าน กนช.แล้ว ได้แก่ โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพังงา-ภูเก็ต ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำใช้ผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้น 49 ล้าน ลบ.ม.ต่อปีนั้นโดยเร็ว สำหรับแผนงานระยะกลาง และระยะยาว มอบหมายให้ สทนช. และจังหวัดภูเก็ตร่วมกันศึกษาแผนหลัก และแผนปฏิบัติการการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำให้ครอบคลุมตามแนวทางการพัฒนาแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้ง 6 ด้านต่อไป

สำหรับแนวทางรับมือและช่วยเหลือช่วงภัยแล้งนั้น กรมชลประทานได้ดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ระหว่างปลายเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคม มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจำนวน 33 อำเภอ 230 หมู่บ้านใน 14 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย ตาก เลย ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี นครนายก เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง

การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อทุเลาสถานการณ์ คือ นำรถบรรทุกจำนวน 26 คัน รวม 101 เที่ยว ได้ปริมาณน้ำ 754,000 ลิตร ดำเนินการบรรทุกน้ำสะสมได้ 131 คัน รวม 8,002 เที่ยว คิดเป็นปริมาณน้ำทั้งหมด 53.2 ล้านลิตร ดำเนินการสูบน้ำจำนวน 69 เครื่อง สูบน้ำได้ 1.26 ล้าน ลบ.ม. และสามารถสูบน้ำได้สะสมปริมาณ 1,603 ล้าน ลบ.ม. สูบน้ำเพื่อช่วยภัยแล้ง เพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร 376.726 ล้าน ลบ.ม. สูบเพื่อผันน้ำ ช่วยในพื้นที่แห้งแล้งปริมาณ 1,226.37 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมเครื่องจักรอื่นๆ เพื่อช่วยรับมือแล้งและฝนใหม่ที่จะมาจำนวน 145 หน่วย ซึ่งประกอบด้วย รถแบ๊กโฮ, รถบรรทุกเทท้าย, รถขุดตีนตะขาบ, รถตักหน้าขุดหลัง และเครื่องผลักดันน้ำ ยังมีการซ่อมแซม สร้างทำนบ ฝายจำนวน 7 แห่ง ขุดลอกแหล่งน้ำ จำนวน 37 แห่ง

แม้จะมีหลายพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำแล้ว ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมขัง เบื้องต้นกรมชลประทานได้เตรียมหารือหน่วยงานด้านเทคโนโลยีสำรวจทางน้ำ เพื่อร่วมกันกำหนดแผนเร่งด่วนในการเก็บกักน้ำและให้ทุกเขื่อนเตรียมทุกวิธี เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุดและให้สำรวจ ประเมินปริมาณน้ำและอุปสรรคที่ทำให้น้ำไม่ไหลเข้าเขื่อน เพราะช่วงที่ผ่านมาแม้จะเป็นช่วงฤดูฝน แต่ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนยังมีน้อย โดยเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีน้ำไหลเข้าเขื่อนทั่วประเทศ ปริมาณ 39.47 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน แต่มีการระบายออกเพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่จำเป็น 78.40 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

ส่วน สทนช.ได้เตรียม 8 มาตรการรองรับสถานการณ์ฤดูฝน ปี 2563 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากในช่วงฤดูฝน โดย สทนช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ฤดูฝน มีมาตรการ ดังนี้ 1.คาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วม 2.พิจารณาปรับแผนการเพาะปลูกพืช 3.การจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ 4.ตรวจสอบสภาพอาคารชลศาสตร์ระบบระบายน้ำสถานีโทรมาตร 5.ตรวจสอบปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6.สำรวจแม่น้ำ คูคลองและดำเนินการขุดลอกกำจัดผักตบชวา 7.เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ และ 8.สร้างการรับรู้กับประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image