รายงาน : มวลชน งามตา บน ถนน‘ราชดำเนิน’ กรกฎาคม 2563

หากมองจากพื้นฐาน “เดิม” ไม่ว่าของ “ฟรียูธ เยาวชนปลดแอก” ไม่ว่าของ “สหภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย”

ภาพที่เห็นบนถนนราชดำเนินมีลักษณะ “ก้าวกระโดด”

เพราะการเคลื่อนไหวในรูปของการชุมนุมในห้วงที่ผ่านมา ภาพที่จำหลักหนักแน่น คือ ภาพที่มีมวลชนเข้าร่วม “เรือนสิบ”

แต่ที่เห็นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมเป็น “เรือนพัน”

Advertisement

ยิ่งเป็นการชุมนุมนอก “มหาวิทยาลัย” และเป็นการประเดิมชุมนุมบนถนนราชดำเนิน โดยมีอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายยิ่งเป็นเรื่องที่ต้อง “คารวะ” หลายจอก

ผลจึงไม่เพียงแต่จะทำให้สถานะของ “ฟรียูธ เยาวชนปลดแอก” และ “สหภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” มีที่ยืนอันเป็นของตน

หากยังทำให้ “การชุมนุม” กลายเป็นเรื่องธรรมดาอย่างปกติ

Advertisement

ต้องยอมรับว่าการชุมนุมทางการเมืองในห้วงนับแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา เป็นการชุมนุมที่ดำเนินไปด้วยความยากลำบาก

1 เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ “โควิด”

ขณะเดียวกัน 1 ผลพวงจากสถานการณ์โควิดยังทำให้ต้องอยู่ภายใต้การประกาศและบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ไม่ว่า 5 คน ไม่ว่า 100 คน ล้วนเป็น “ประเด็น”

แต่แล้วในสภาพที่รัฐบาลยืดเวลาประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ “ฉุกเฉิน” เพื่อเป็นเครื่องมือทาง
การเมือง ประสานกับกระแส “โควิด VIP”

ก่อให้เกิดสถานการณ์ “ใหม่” ในทางการเมือง

จังหวะเวลานี้เองที่ “ฟรียูธ เยาวชนปลดแอก” ช่วงชิงร่วมมือกับ “สหภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” นัดชุมนุมขึ้นบนถนนราชดำเนิน

กลายเป็น “ปรากฏการณ์” ใหม่ในทาง “การเมือง”

กระบวนการชุมนุมบังเกิดขึ้นท่ามกลางความรู้สึกใจหายใจคว่ำ แม้ว่าจะเห็นการไหลเข้าร่วมบนถนนราชดำเนินอย่างไม่ขาดสาย แต่ก็สัมผัสได้ในความเป็นมือใหม่ หัดขับ

ยิ่งประกาศการชุมนุมยืดเยื้อ ตลอดคืน

ยิ่งชวนให้อกสั่นขวัญแขวน ตั้งแต่เงื่อนไขว่าจะสามารถดึงคนให้ดำรงอยู่ได้อย่างไร รวมไปถึงช่องว่างและรอยโหว่ที่จะเกิดการแทรกแซง สร้างสถานการณ์

แต่แล้วเมื่อมีการประกาศยุติในตอนเที่ยงคืน

ไม่ว่าจะสัมผัสผ่านความรู้สึกของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ไม่ว่าจะสัมผัสผ่านผู้มากด้วยประสบการณ์ระดับ อธึกกิจ แสวงสุข

รับรู้ในการถอนหายใจด้วยความโล่งอก

แสดงให้เห็นว่า น้องๆ ในฟรียูธ เยาวชนปลดแอก น้องๆ ในสหภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เรียนรู้เส้นสนกลในของการเคลื่อนไหวได้อย่างฉับไว

ปรับตัวได้คล่องแคล่ว มากด้วยความปราดเปรียว

เหมือนกับว่า การชุมนุมครั้งนี้จะเป็นการถอดบทเรียนจากสถานการณ์เดือนมิถุนายน 2516 สถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2535

อาจมีความจัดเจนเช่นนั้นอยู่บ้าง

แต่แท้จริงแล้ว ด้านหลักของการชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม คือ การสะสมความจัดเจนจากการชุมนุมในแบบ Flash Mob ก่อนสถานการณ์โควิด

เพียงแต่ออกจาก “มหาวิทยาลัย” มาอยู่บน “ถนนราชดำเนิน” เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image