รายงานหน้า2 : ‘สุรพงษ์ เลาหะอัญญา’ ‘บีทีเอส’ลงทุนแสนล้าน สร้างงาน สร้างชาติ ปี 2020

หมายเหตุนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงแผนงานโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ โครงการรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ สนามบิน ในช่วงปี 2563 เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งที่จะกล่าวในงานสัมมนา “มติชน ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงาน” จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กทม.

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ภายในปี 2020 (พ.ศ. 2563) มีโครงการที่บีทีเอสเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งที่กำลังดำเนินการและเตรียมจะดำเนินการ มูลค่านับแสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ดำเนินงานโดยบีทีเอสซี มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการประชาชนทั้งสิ้น 52 สถานี จากสถานีเคหะฯ จ.สมุทรปราการ-สถานีคูคต จ.ปทุมธานี และจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีบางหว้า รวมระยะทางให้บริการ 58.32 กิโลเมตร (กม.) และปลายปีนี้ จะเปิดเพิ่มถึงสถานีคูคต รวมระยะทาง 68.25 กม. มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 59 สถานี ส่วนอัตราค่าโดยสาร ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะเจ้าของสัมปทานอยู่ระหว่างพิจารณาปรับให้เหมาะสมและอยู่ในอัตราที่ประชาชนรับได้ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไป

2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 จำนวน 3 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร และสถานีคลองสาน ระยะทาง 1.80 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้ รองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ฝั่งธนบุรีที่มีการพัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่

Advertisement

3.โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงินโครงการ 31,680 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร รวม 30 สถานี

4.โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 31,680 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 30.4 กิโลเมตร รวม 23 สถานี

นอกจากนี้ การประมูลก่อสร้างมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง อีก 2 สาย ได้แก่ 1.โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า BGSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราชกรุ๊ป มูลค่าโครงการกว่า 21,329 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตั้งด่าน ระบบการจัดเก็บค่าผ่านทาง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี จะเริ่มให้บริการได้

Advertisement

2.โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่าโครงการกว่า 17,809 ล้านบาท ระยะทาง 96 กม. ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า BGSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราชกรุ๊ป คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2021

ยังมีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โดย บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เป็นการร่วมกันของ 3 บริษัท (กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS) บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป
โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ลงทุนประมาณกว่า 290,000 ล้านบาท

เฉพาะในช่วงปีนี้ บีทีเอสมีการลงทุนจริงๆ ประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่ก็ยังมีธุรกิจที่เราจะเข้าดำเนินการอื่นๆ ในแผนงานวงเงินอีกนับแสนล้าน ทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับสังคมไทย ต้องทำในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ก็เริ่มต่อไปเลยไม่ต้องมาเริ่มอะไรใหม่อีก และทุกประเทศก็ทำกันแบบนี้เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ

เชื่อว่าการลงทุนขนาดนี้ จะช่วยให้ประเทศพัฒนาไปได้ เพราะปกติโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นทางหลวง มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้า ก่อนทำรัฐได้ศึกษาความเหมาะสมมาแล้ว ในเชิงเศรษฐกิจย่อมให้ผลตอบแทนดีแน่นอน สภาพัฒน์คาดว่าเกินร้อยละ 12 แต่สิ่งที่จะสร้างคือ 1.สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้ประเทศ เพราะหากมีสาธารณูปโภคที่สมบูรณ์ การขยายตัวเติบโตของเศรษฐกิจก็ทำได้ 2.การจ้างงานในประเทศ ตั้งแต่การก่อสร้าง มีบริษัทรับเหมา เมื่อสร้างเสร็จจะเริ่มเดินระบบก็ต้องใช้คน เท่ากับเป็นการสร้างงาน

อันหนึ่งที่รัฐกำลังให้ความสนใจ คือ การส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบราง บีทีเอส ก็ได้ไปลงนามเอ็มโอยูไว้กับกรมการขนส่งทางรางที่พยายามจะใช้วัสดุในประเทศให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กำลังคิดไปถึงเป็นไปได้หรือไม่ที่จะประกอบรถไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นต้น

โครงการของบีทีเอสจะทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในประเทศ เฉพาะช่วงก่อสร้างโครงการก็เป็นแสนล้านบาท ยังมีช่วงเดินระบบอีก ที่สำคัญพนักงานเกือบ 100% เป็นคนไทย ปัจจุบัน พนักงานของบีทีเอส เฉพาะในส่วนให้บริการรถไฟฟ้าก็มีประมาณเกือบ 3,000 คน ตรงนี้ก็ทำให้เกิดเม็ดเงิน สร้างงาน และจะโตไปเรื่อยๆ

ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ โลกกำลังเผชิญกับโรคระบาดครั้งใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 บีทีเอสซีได้รับผลกระทบแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น ในส่วนของโครงการระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าสายสีทอง ที่เดิมมีแผนจะเปิดเดินรถในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ต้องขยับออกไปก่อน เพราะติดปัญหารถไฟฟ้านำเข้ามาแล้ว แต่บุคลากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่จะมาติดตั้งระบบเข้ามาทำงานไม่ได้ ทำให้แผนงานต้องล่าช้าออกไป ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตจากรัฐบาล คาดว่าจะสามารถเดินรถได้ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นเป็นในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองที่รถจะเข้ามาในช่วงปลายปีนี้ และจะต้องนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาติดตั้งระบบเช่นกัน

นอกจากนี้ เรายังประสบปัญหาที่ยอดผู้โดยสารลดลง โดยพบว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2563 เป็นช่วงที่
โควิด-19 ระบาดในประเทศ ยอดผู้โดยสารลดลงร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนไตรมาสแรกของปี 2563 เดือนเมษายน-มิถุนายน ก็พบว่าลดลงร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการ ล่าสุดยอดผู้โดยสารค่อยๆ เพิ่มขึ้นมา ร้อยละ 70-80 คาดว่าถ้าเฉลี่ยทั้งปียอดผู้โดยสารลดลงประมาณร้อยละ 15-20

ยังมีธุรกิจอื่นๆ ในเครือบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกด้วย เช่น ธุรกิจสื่อโฆษณา และธุรกิจโรงแรมที่พัก ที่ได้รับผลพวง แต่ขณะเดียวกัน ก็พบว่าในบางธุรกิจของบริษัทก็ได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น เช่น ธุรกิจการซื้อขายออนไลน์ และธุรกิจโลจิสติกส์

แต่อย่างไรก็ตาม ผมว่ายิ่งเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ เราต้องทำโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนา ในอีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้า จะมีการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เราก็มีแผนจะไปร่วมประมูลด้วย ถ้าเราไม่ทำพวกนี้ การจะเติบโตต่อไปก็จะลำบาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะดำเนินต่อไปคือ ต้องมีไว้ ปูไว้ตั้งแต่ตอนนี้ ในระหว่างนี้ รัฐต้องประคับประคอง สร้างงาน เพื่อให้เดินต่อไปได้ เมื่อเศรษฐกิจกลับมาดี เราก็พร้อมไปต่อได้เลย ให้บริการตรงนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image