รายงานหน้า2 : ภาระบนบ่า ครม.บิ๊กตู่2/2

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการและภาคเอกชนภายหลังมีกระแสข่าวรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 2/2 เสร็จเรียบร้อยแล้วจำนวน 6 คน 7 ตำแหน่งคือ 1.นายปรีดี ดาวฉาย ว่าที่รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง 2.นายอนุชา นาคาศัย ว่าที่ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 3.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ว่าที่ รมว.การอุดมศึกษาฯ 4.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ว่าที่ รมว.พลังงาน 5.นายสุชาติ ชมกลิ่น ว่าที่ รมว.แรงงาน และ 6.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ว่าที่ รมช.แรงงาน

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

จากโผว่าที่รัฐมนตรีใหม่ในการปรับ ครม.ครั้งนี้ หากมองในส่วนของกระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ถือว่าทั้งคู่เป็นเอกชนมาก่อนจึงน่าจะขับเคลื่อนงานที่รออยู่ข้างหน้าไม่ยาก อย่าง รมว.การคลังก็น่าจะรู้ว่าปัญหาของเศรษฐกิจเวลานี้มีอะไรบ้างที่ต้องขับเคลื่อนแก้ไข เพราะนั่งทำงานด้วยกันมาหลายเวที หลายปัญหา และพบว่ามีความพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างมาก จึงคิดว่าทุกคนเมื่อมาอยู่ในตำแหน่งนี้แล้วจะมีอำนาจและหน้าที่ในการผลักดันได้อยู่แล้ว ขอฝากความหวังว่าทั้งคู่จะผลักดันและแก้ปัญหาให้กับภาคเอกชนและประชาชนได้
ส่วนกรณีที่ รมว.การคลังจะควบรองนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ก็ต้องให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ ได้ทำงานก่อน เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ สิ่งสำคัญในการทำงานคือต้องได้รับความร่วมมือจากส่วนอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือจากนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งหมด เพื่อให้เนื้องานเป็นการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับกระทรวงแรงงานที่คาดว่าจะมีทั้งรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงนั้น ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเพราะปัจจุบันกระทรวงนี้ต้องยอมรับเป็นกระทรวงที่ภาคแรงงานเองมีปัญหาอยู่ค่อนข้างเยอะ รวมทั้งผู้ประกอบการที่ต้องพึ่งพาแรงงานในระดับต่างๆ ทั้งไทยและต่างชาติ ดังนั้น บทบาทหน้าที่ของกระทรวงแรงงานจะต้องเร่งแก้ไขกฎระเบียบ อุปสรรคในด้านต่างๆ เพื่อให้การทำงานของกระทรวงง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เร็วขึ้น ต้องลดขั้นตอนต่างๆ เบี้ยบ้ายรายทางต้องหมดไป ต้องมุ่งเน้นลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการด้วย เพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาฝีมือแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาด เทรนด์อุตสาหกรรมของโลก เพื่อให้แรงงานไทยมีงานทำ ไม่ต้องตกงานเยอะ
เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเอง โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ของปียังมีความน่าห่วง แม้ภาครัฐจะคลายล็อกธุรกิจต่างๆ แล้ว แต่เนื่องจากเวลานี้สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังอยู่ ขณะที่ไทยเองกำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นตัวมากนัก และปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการปรับ ครม. หลังจากนี้จึงต้องติดตามว่าหลังปรับ ครม.แล้ว นโยบายเศรษฐกิจจะเดินไปในทิศทางใด เพราะอย่างเงินช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆ จะหมดลงในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ จะมีการต่ออายุหรือไม่ อาทิ เงินช่วยเหลือประกันสังคม การลดดอกเบี้้ย การเว้นเงินต้นให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ การชำระหนี้ได้รับการขยายหรือไม่ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ จะมีเพิ่มเข้ามาอีกหรือไม่ เพราะปัจจุบันตัวเลขเศรษฐกิจของแต่ละประเทศโงหัวไม่ขึ้น ต้องกระตุ้นการใช้สินค้าในประเทศ การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐต้องเร่งให้เร็วขึ้น เพราะจะช่วยผ่อนคลายได้

 

Advertisement

ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เมื่อเห็นรายชื่อแล้ว ภาษาวัยรุ่นก็ต้องบอกว่า “ยังไม่ว้าว” เพราะจะเห็นได้ว่า หลายส่วนยังเป็นเรื่องของโควต้ารัฐมนตรี ที่จะตอบสนองกับบรรดา กลุ่มการเมือง คนนอกที่นั่งทีมเศรษฐกิจ ก็อาจมีปัญหาเรื่องข้อจำกัดของคนที่จะมานั่ง เช่น จะเห็นได้จากคุณปรีดี ดาวฉาย ที่ได้รับการวางตัวเป็นทั้ง รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ ควบรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซึ่งเท่ากับภาพของคุณปรีดี คือไม่มีทีม ทำงานคนเดียว อาจจะมีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริหารบริษัทในเครือ ปตท. ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อีกท่านหนึ่งเท่านั้น จึงต้องบอกว่า ทีมเศรษฐกิจยังไม่แข็งแกร่งนัก การแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับพี่น้องประชาชนจึงอาจจะไม่ใช่โจทย์ที่ง่ายนัก
การปรับ ครม.ครั้งนี้ แน่นอนว่าคงจะมีการปรับอีกครั้งในจังหวะที่ 2 ซึ่งจังหวะที่ 1 นี้ คงเป็นการปรับเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน โดยเฉพาะการวางตัวทีมเศรษฐกิจมาแทนทีม 4 กุมารที่ลาออกไป ในจังหวะที่ 2 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมองในเชิงภาพรวม แบบบูรณาการมากขึ้น เพราะการทำงานในเรื่องเศรษฐกิจให้กับพี่น้องประชาชนจะไม่เหมือนกับในอดีต ที่มีเพียงแค่รัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลัง ก็สามารถที่จะดำเนินการได้ แต่ ณ วันนี้ ด้วยเศรษฐกิจที่มีการ บูรณาการกับหลายภาคส่วน ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพลังงาน และอื่นๆ อีกมากมาย
ดังนั้น ในการปรับครั้งที่ 2 ที่อาจจะมีขึ้นหลังจากนี้อีก 6 เดือน ราวช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ก็ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น จะคำนึงเพียงแค่การปรับในกระทรวงการคลังอย่างเดียว ก็อาจไม่เพียงพอ คือสิ่งจำเป็นที่ต้องวางยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา ต่อมา คือการที่ต้องเชื่อมโยงกับประชาชนในการขับเคลื่อนมาตรการทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะมาตรการตาม พ.ร.ก. 3 ฉบับ ที่แปรสภาพเป็น พ.ร.บ.ไปแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องการให้ประชาชนมาร่วมตรวจสอบค่าใช้จ่าย การใช้เงินตาม พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ผ่านกลไกกรรมาธิการ ที่สภาได้ตั้งขึ้นมา รวมถึงการรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ความเดือดร้อนในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งต้องคำนึงในการวางยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหา
หลังจากนี้อีก 3 เดือน คือจุดที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง 3 เดือนนี้ มี 3 เรื่องสำคัญ คือ 1. 3 เดือนหลังจากนี้ เป็นการพิสูจน์ผลงาน ฝีไม้ลายมือของรัฐมนตรีที่ปรับเข้ามาใหม่ในครั้งนี้ เพราะอีก 3 เดือนจะเริ่มเห็นทิศทางผลการทำงานด้านต่างๆ 2. 3 เดือนหลังจากนี้ จะครบไตรมาสสุดท้ายของปี ในเรื่องการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจะได้เห็นว่า ผลประกอบการของภาคธุกิจ บริษัทต่างๆ เป็นอย่างไร จะไปได้หรือไม่ คนจะตกงาน-ว่างงาน กิจการจะปิดตัวลงมากน้อยแค่ไหน อย่างไร 3.อีก 3 เดือนข้างหน้า บรรดากลุ่มแฟลชม็อบนิสิต นักศึกษา จะขยายตัวได้หรือไม่ เพราะ ณ วันนี้ กลุ่มนิสิต นักศึกษายังเคลื่อนไหวเป็นเซลล์อิสระกันอยู่ ดังนั้น การที่จะมีทรัพยากรในการคลื่อนไหวต้องอาศัยเวลา ในการระดมทรัพยากร การระดมมวลชน และสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายส่วนต่างๆ ที่เป็นเซลล์อิสระอยู่ อีก 3 เดือนข้างหน้านี้จะเห็นว่าบรรดาแฟลชม็อบจะนำไปสู้การชุมนุมใหญ่ได้หรือไม่
3 เดือน กับ 3 เรื่องนี้ คือจุดหักเหที่สำคัญมาก ครม.ต้องพิสูจน์ฝีไม้ลายมือให้เห็นนี้ระยะต้น 3 เดือนนี้ ก่อนจะนำไปสู่การขับเคลื่อนเดินหน้าในประเด็นอื่นๆ ต่อไป

 

Advertisement

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นประเด็น เพราะเจ้ากระทรวงเป็นคนที่อยู่ในวงการปฏิรูปการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทย ทั้งนี้ มองในส่วนของกระทรวงที่มีการปรับเปลี่ยนผู้มาดูแลกระทรวง ในแง่ที่ว่า จะติดตามต่อไปว่าเจ้ากระทรวงท่านใหม่จะมีทิศทาง หรือนโยบายที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างไรบ้าง
ท่านที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ ต้องเข้าใจเรื่องงานในกระทรวงของท่านว่ามีสิ่งใดที่รอแก้ไขปัญหาอยู่ ซึ่งงานแต่ละกระทรวงมีจุดที่ไม่เหมือนกันอยู่ระดับหนึ่ง อย่างกระทรวง อว. เรื่องสำคัญคือการขับเคลื่อนการศึกษา นวัตกรรม การวิจัย และวิทยาศาสตร์ ตามชื่อกระทรวง ในส่วนของกระทรวงพลังงาน ดูแลเรื่องพลังงานและอนาคตของพลังงานของประเทศไทยว่าจะวางยุทธศาสตร์ และนโยบายอย่างไรบ้าง ป็นต้น
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะอยู่กระทรวงใด สิ่งที่ต้องคำนึงคือ โลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป โลกในยุคที่เศรษฐกิจย่ำแย่ และสถานการณ์บ้านเมืองเรา เป็นโจทย์ที่ต้องนำมาขบคิดในการวางนโยบายและยุทธศาสตร์ ว่ากระทรวงของท่านจะตอบโจทย์เรื่องอะไรได้บ้าง เช่น อว. นอกเหนือจากเรื่องปฏิรูปการศึกษาแล้ว ได้คิดถึงโจทย์เรื่องการปฏิรูปการเมืองด้วยหรือไม่ ว่าทางกระทรวงจะมีแนวทางอย่างไรในที่จะเสริมสร้างความพึงพอใจระหว่างคนในชาติ ของพลเมืองด้วยกันเอง เป็นต้น เมื่อขบคิดเป็นโจทย์แล้ว ก็นำมาสู่แนวทาง นโยบาย และโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุน

 

พิชิต รัชตพิบุลภพ
ผอ.หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ม.ราชพฤกษ์

ปัญหาที่ประชาชนรอหรือสังคมคาดหวังให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่คงหนีไม่พ้นเรื่องการสร้างความศรัทธา ความศรัทธาที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลบังคับใช้กฎหมายกับทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียม ความศรัทธาว่ารัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อประโยชน์สาธารณสุขของประชาชนโดยส่วนรวมมากกว่าเพื่อประโยชน์ส่วนตน
ความศรัทธาว่ารัฐบาลมีความพร้อม ทั้งเรื่องของงบประมาณ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ในการรับมือกับการกลับมาแพร่ระบาดครั้งใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความศรัทธาว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่เอื้อประโยชน์กับคนทุกระดับชั้นในสังคม โดยมิต้องรอพึ่งพิงเฉพาะแต่รายได้จากการท่องเที่ยว
ความศรัทธาว่ารัฐบาลจะใช้งบประมาณแผ่นดินของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่ออรรถประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความศรัทธาว่ารัฐบาลจะรีบดำเนินการตามนโยบายที่ได้เคยหาเสียงไว้ มิใช่เป็นแต่เพียงนโยบายที่สวยหรูเฉพาะเวลาเลือกตั้ง ความศรัทธาว่ารัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และรัฐบาลเชื่อว่าความเห็นต่างทางการเมืองเป็นสิ่งที่สวยงามในระบอบประชาธิปไตย
ความศรัทธาว่ารัฐบาลเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจ และรัฐบาลเชื่อมั่นว่าแต่ละท้องถิ่นมีศักยภาพในการบริหารจัดการดูแล เพื่อตอบสนองต่อประชาชนในท้องถิ่นของตน สุดท้ายที่ฝากไว้คือ ความศรัทธาว่ารัฐบาลจะเป็นผู้นำธงในการปฏิรูปประเทศด้วยการเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image