บทนำวันจันทร์ที่3สิงหาคม2563 : แนวทางแก้‘ม.256’

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แถลงว่า มีมติให้แก้ไข มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายเรื่องที่ต้องแก้ และเกี่ยวพันเกือบทุกหมวดในรัฐธรรมนูญ การแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้อย่างยุ่งยากและซับซ้อน จะเป็นกุญแจดอกแรกที่นำไปสู่การแก้ไขส่วนอื่นๆ หลังจากนี้ คณะกรรมาธิการจะเสนอสรุปความเห็นเสนอต่อสภาในวันที่ 19 ก.ย.นี้ ก่อนส่งให้รัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไป

ในการแถลงข่าวนี้ กรรมาธิการมีความเห็นว่า หากมีการตั้ง ส.ส.ร.น่าจะให้มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละอย่างน้อย 1 คน และคาดว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนหนึ่ง รวมแล้ว 200 คน ซึ่งเป็นแนวคิดที่คล้ายกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2539 สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 ให้มี ส.ส.ร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญ ใช้เวลา 200 วันเศษจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 เสร็จ ส่งให้รัฐสภาเห็นชอบ และกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประวัติศาสตร์ 1 ในไม่กี่ฉบับที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

ถือว่าเป็นทางออกที่เหมาะสม เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พรรคการเมืองหนึ่งระบุว่าดีไซน์มาเพื่อพวกเรา ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าทำให้เกิดการบิดเบี้ยวขึ้นในระบบการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ การได้มาซึ่งรัฐบาลและบทบัญญัติอื่นๆ ในการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ประกาศเข้ามาแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้คะแนนล้นหลาม แต่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ความไม่พอใจยังขยายไปสู่คนรุ่นใหม่ ที่เคลื่อนไหวทั่วประเทศ เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญทำให้เกิดการเมืองผูกขาด กระทบต่อการบริหารประเทศและอนาคตประเทศ

อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ไขมาตรา 256 ของ กมธ.ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และคงไม่ดำเนินไปโดยราบรื่น เพราะยังมีผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากระบบและกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ย่อมพยายามขัดขวาง บั่นทอน เพื่อดึงอำนาจไว้กับพวกของตนเองให้มากที่สุด แต่คงยังไม่แสดงตัวออกมาในระยะนี้ เพราะกระแสการต่อต้านจากเยาวชน นักเรียน นักศึกษา รุนแรงมาก และเชื่อว่าฝ่ายประชาธิปไตยมีบทเรียนมากพอที่จะรู้ทัน และเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวังและไม่ประมาท

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image