รายงานหน้า2 : ท่าที‘ส.ส.รบ.-ค้าน-ส.ว.’ แก้‘ม.256’รื้อ‘รธน.60’

หมายเหตุความเห็นของ ส.ส.ซีกรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. หลังคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มีมติเห็นพ้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อมาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

 

สุทิน คลังแสง
ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)

สมาชิก กมธ.เห็นตรงกันเกือบทั้งหมดคือกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรวมไปถึงฝ่ายรัฐบาลที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เมื่อเห็นด้วยเป็นกลุ่มก้อนอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีปัญหา แต่ทั้งนี้ทุกคนก็มีความกังวลว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะไม่เอาด้วย อย่างไรก็ตาม เราก็คิดว่าเมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ ส.ว.เองก็น่าจะสดับรับฟังเสียงของประชาชนและสังคม อีกทั้งบทสรุปของ กมธ. ส.ว.เองก็ควรจะเคารพเช่นกัน ที่ผ่านมามี ส.ว.บางคนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางท่านถึงขนาดให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ในส่วนนี้ก็ถือว่าผิดคาด แต่ก็เป็นแนวโน้มที่ดี แสดงว่าเขาได้เปลี่ยนความคิดพอสมควร ผมเข้าใจว่าเขาเองก็เคารพและฟังเสียงของสังคม แม้ว่าเราจะมองเขาอย่างไรก็ตาม สุดท้าย ส.ว.เองก็อาจจะมีความเป็นห่วงบ้านเมืองอยู่เหมือนกัน
เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 แล้วเราจะมาเริ่มร่างเพื่อตั้ง ส.ส.ร. การตั้ง ส.ส.ร.คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ส่วนที่มีความกังวลว่า หากการแก้ไขมีข้อเสนอที่อาจจะกระทบต่อการดำรงตำแหน่งของ ส.ว. อาจจะทำให้ ส.ว.ไม่ไปต่อกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนนี้เรายังไม่ทราบว่า ส.ส.ร.จะแก้ไขในเรื่องอะไร ส.ว.อาจจะคิดว่า ส.ส.ร.อาจจะไม่ตัดอำนาจของ ส.ว.ก็ได้ ถึงจุดนั้นสังคมก็ต้องเสนอความคิดความเห็นจนได้การตกผลึก ซึ่งเป็นเรื่องที่ ส.ส.ร.จะต้องรับไป การมี ส.ส.ร.ในวันนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นคำตอบว่าอำนาจของ ส.ว.จะหมดไป ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่า ส.ส.ร.จะเอาอย่างไร
ขณะนี้กลุ่มนักเรียนนิสิตและนักศึกษาที่ออกมาประท้วงเรียกร้องข้อเสนอต่างๆ เราจะนำความเห็นของพวกเขาเข้ามามีส่วนในรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้ ผมกำลังคิดว่าใน ส.ส.ร.ก็น่าจะมีสัดส่วนของคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มนิสิตนักศึกษาเข้ามานั่งด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังคิดว่าเราจะนำโมเดลการตั้ง ส.ส.ร.แบบใดเพื่อใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งต้องเป็นโมเดลที่ยึดโยงกับประชาชนและประชาชนมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมทั่วถึงที่สุด สำหรับโมเดล ปี พ.ศ.2534 ก็ถือว่าเป็นโมเดลที่ใช้ได้ แต่ว่าคงไม่ใช่สูตรสำเร็จ อาจจะใช้โมเดลปี พ.ศ.2534 เป็นหลักแล้วค่อยปรับอีกทีว่าตรงไหนที่จะยึดโยงและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
หน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เราอยากจะให้เป็นคือ รัฐธรรมนูญที่ประชาชนยอมรับกันทั้งหมด ถ้าประชาชนยอมรับทั้งหมดก็หมายความว่า ประชาชนคือเจ้าของ การที่ประชาชนเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นภูมิคุ้มกัน ทำให้การล้มล้างและการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเป็นเรื่องยากขึ้น นอกจากนี้ เราจะคิดหากลไกอื่นป้องกันไม่ให้มีการล้มล้างรัฐธรรมนูญได้ง่าย ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องไปคิดกันอีกที ส่วนจะใช้รัฐธรรมนูญของประเทศใดเป็นต้นแบบ ขณะนี้เรายังไม่ได้หยิบยกของประเทศไหนมาเป็นแบบ

Advertisement

 

วิรัช รัตนเศรษฐ
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ. มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ซึ่งเป็นหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ในส่วนของการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะแก้ไขในเรื่องไหน ประเด็นใดบ้าง และการกำหนดที่มาของ ส.ส.ร.เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อจัดทำเป็นรายงานการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ กมธ. และเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ความเห็นชอบและส่งรายงานฉบับดังกล่าวไปยังรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะต้องเสนอรายงานการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปยังรัฐบาล แต่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านกลไกของที่ประชุมรัฐสภา เพราะในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้หลายขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกเมื่อจะแก้ไขมาตรา 256 รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ต้องมีการทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน ถ้าผลประชามติให้มีการแก้ไขก็จะต้องมาพูดคุยกันว่าจะแก้ไขให้มีเนื้อหาออกมาอย่างไร และต้องเสนอร่างแก้ไขเข้าสู่ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบในวาระแรก โดยต้องมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 375 เสียง และต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ความเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง
ในฐานะวิปรัฐบาล ผมเห็นว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเมื่อ กมธ.วิสามัญเสนอว่าควรแก้ไข มาตรา 256 ผมคิดว่าควรจะเสนอให้มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานรัฐสภา หรือวิป 3 ฝ่าย คือมีตัวแทนของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. เพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจถึงกรอบและเนื้อหาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเข้าใจตรงกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในขั้นตอนการประชุมรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบในวาระแรก
เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 กำหนดไว้ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 จะต้องมีเสียงของ ส.ว.ให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง เพราะฉะนั้นตามที่หลายฝ่ายเสนอให้มีแก้ไขบทบัญญัติในส่วนของอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.รวมทั้งบางฝ่ายเสนอไม่ให้มี ส.ว.
หากไม่พูดคุยทำความเข้าใจกับ ส.ว.ด้วยเหตุและผลก่อน การเดินหน้าที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่เรียบร้อยได้
ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ผมจะขอให้ตัวแทนของวิป 3 ฝ่าย มาประชุมกันนอกรอบ เพื่อตั้งคณะทำงานร่วมกันในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะวางกรอบเวลาการทำงานให้ชัดเจนภายในระยะเวลากี่วัน เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการซื้อเวลา และทำงานซ้ำซ้อนกับ กมธ.วิสามัญ เพราะที่ผ่านมาการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินงานของ กมธ.วิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ยังไม่มี ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
ส่วนตัวผมเชื่อว่าเมื่อมีตัวแทนของทั้ง 3 ฝ่ายมาพูดคุยผ่านคณะทำงานร่วมกันแล้ว จะทำให้การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย

Advertisement

 

วันชัย สอนศิริ
สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิสภา

ส่วนตัวเห็นด้วยในการนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาพิจารณาศึกษาทบทวนกันอย่างจริงจัง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อครั้งแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก็สนับสนุนให้มีการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเวลาผ่านไปปีเศษๆ หลังจากเราใช้รัฐธรรมนูญนี้มา ทั้งพรรคการเมือง ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติย่อมเห็นจุดแข็ง จุดอ่อน จุดบกพร่องที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้มีปัญหา ดังนั้น ส่วนตัวจึงยืนยันว่าไม่ขัดข้อง และสนับสนุนให้มีการพิจารณาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในความเห็นส่วนรวมของ ส.ว.ทั้งหมด เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการปรึกษาหารือหรือพูดคุยกันอย่างจริงจัง แต่ใน กมธ.การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มี นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน ได้หารือนอกเบื้องต้นว่าจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาหารือกันอย่างจริงจังกันในสัปดาห์หน้า ส่วนแนวทางในชั้น กมธ.จะออกมาเป็นอย่างไร ก็คงต้องหารือกันอีกครั้ง แต่ยืนยันว่า กมธ.จะนำข้อเสนอทั้งหมดที่ ส.ส.เสนอ รวมไปถึงข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาพิจารณาด้วย
สำหรับข้อสรุปของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ได้เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร.นั้น เบื้องต้นผมยังไม่ขอลงรายละเอียดว่าจะเห็นด้วยต่อกระบวนการนี้หรือไม่ แต่ส่วนตัวยอมรับว่าเห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้หลายเรื่อง ดังนั้น ถ้านำเรื่องนี้มาพูดคุยหารือกันทั้งระบบ ถ้าเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนรวมของประชาชน และทุกภาคส่วนเห็นว่าควรจะแก้ไข ผมก็เห็นด้วยว่า เราไม่น่าจะไปขวางต่อความต้องการของประชาชน
แต่ทั้งนี้ อยากให้นำเรื่องนี้มาคุยกันทั้งระบบ ไม่อยากให้มองกันด้วยอคติ หรือตั้งธงแบ่งแยกกันว่าส่วนนั่นเป็นอำนาจของรัฐบาล เป็นอำนาจของ ส.ส.หรืออำนาจของ ส.ว.จนมาตั้งแง่ใส่กัน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจะไม่สามารถบรรลุผลอะไรได้เลย จึงอยากให้มองกันว่า อะไรร่วมกันได้ก็ทำไป เพราะส่วนตัวยืนยันได้เลยว่า หากหลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วทำประโยชน์ แก้แล้วทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย แม้จะได้หรือไม่ได้เป็น ส.ว.ต่อ ผมก็ไม่ติดใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image