เส้นทางรื้อ ‘รธน.’ ฝ่าขวากหนาม ไขกุญแจ ‘ม.256’

เส้นทางรื้อ ‘รธน.’ ฝ่าขวากหนาม ไขกุญแจ ‘ม.256’

รัฐธรรมนูญ – ประเด็นเรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำลังเป็นเรื่องร้อนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสังคมต้องมาพูดคุยกันอีกครั้ง

ภายหลังที่ กลุ่มเยาวชนปลดแอก ออกมาชุมนุมเรียกร้องรัฐบาล พร้อมกับยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ โดย 1 ในนั้นคือ ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และรัฐบาล ต่างออกมาแสดงความคิดเห็น ในทิศทางที่ไม่ขัดข้องหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะท่าทีของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ. โดยมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256

พร้อมกับเสนอโมเดลเปิดทางให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ยึดโยงกับประชาชน ภายในระยะเวลา 240 วัน

Advertisement

สอดคล้องกับข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ยื่นข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

โดยพรรค ปชป. เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อไขกุญแจปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆ เปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ยื่นข้อเสนอขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 มาตรา คือ มาตรา 269, 270, 271, 272 ที่เป็นบทเฉพาะกาลเกี่ยวข้องกับ ส.ว. และมาตรา 279 ที่ให้การรับรองประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กระทำก่อนหน้านี้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอและโมเดลการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากหลากหลายฝ่าย จะเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในวิธีการปกติ จะต้องเดินตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 หมวดที่ 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ 9 ขั้นตอน

ประเด็นสำคัญ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่ 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 จะต้องมีการทำประชามติก่อนว่าจะเห็นชอบให้มีการแก้ไขหรือไม่

จากนั้นจึงดำเนินการตาม 9 ขั้นตอน ของมาตรา 256 ที่กำหนดไว้ ที่สำคัญคือ ในเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 256 เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาให้พิจารณาเป็น 3 วาระ

ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และวาระที่ 3 จะต้องมีเสียงเห็นชอบของ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 เสียง

รวมทั้งต้องมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ 375 เสียง

ส่วน การพิจารณาในวาระที่ 2 ให้พิจารณาเรียงลำดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองให้ใช้เสียงข้างมากชี้ขาด เมื่อพิจารณาในวาระสองเสร็จ ให้รอไว้ 15 วัน

ก่อนนำเข้าสู่ การพิจารณาในวาระที่ 3 ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา

อีกทั้งยังต้องมีเสียงของ ส.ว.ให้ความเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ขณะเดียวกันยังต้องมีเสียงเห็นชอบที่เป็น ส.ส. ที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ของทุกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เมื่อผ่านการพิจารณาในวาระที่ 3 แล้ว ให้รอไว้ 15 วัน

ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะต้องทำประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน หากผลการออกเสียงให้ความเห็นชอบจึงนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนก่อนที่นายกฯ จะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ยังให้สิทธิ ส.ส.หรือ ส.ว.หรือทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภาหรือของสองสภารวมกันแล้วแต่กรณี คือ ส.ส. 50 คน, ส.ว. 25 คน หรือ ส.ส.รวมกับ ส.ว. รวมกัน 75 คน เข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น

เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างนั้นนายกฯจะนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวิธีการปกติ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อย่างไรเสียก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของมาตรา 256

ส่วนจะได้รับความเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกัน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐบาล ส.ส. ส.ว. และภาคประชาชน จะต้องพูดคุยกันให้ได้ข้อสรุป ตกผลึกในความคิดเห็นและข้อเสนอของแต่ละฝ่ายให้ได้ก่อน เพื่อให้การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย

ไม่ต้องกลับไปใช้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบวิธีพิเศษ นั่นคือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยการรัฐประหาร เหมือนเช่นในอดีต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image