รายงานหน้า2 : กลไกสภา-รับฟังปัญหา ทางออกแก้วิกฤตปท.?

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรี ใช้กลไกของรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 165 ยื่นประธานสภาเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปในรัฐสภา หารือประเด็นม็อบนักเรียน-นักศึกษา

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

การรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนตัวไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในเมื่อปัญหาของน้องๆ นักเรียน นักศึกษา เป็นปัญหาสาธารณะ เป็นปัญหาในกระบวนการทางการเมืองอยู่แล้ว เหตุใดจึงไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภาประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ส.และ ส.ว.โดยไม่ลงมติ
พล.อ.ประยุทธ์พยายามประวิงเวลา พยายามที่จะสื่อสารกับสังคมว่าตัวเองรับผิดชอบต่อปัญหาแล้ว แต่การไปเลือกใช้หน่วยงานสภาพัฒน์ ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่จำเป็น เพราะมีหน่วยงานอื่นที่ดูแลเรื่องข้อตกลง เรื่องกฎหมายอยู่แล้วคือรัฐสภาที่มีคุณชวน หลีกภัย เป็นประธานสภา มีกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษา และรับฟังความคิดเห็นอยู่แล้ว
นี่คือเกมการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการประวิงเวลา ทำให้สถานการณ์นี้ลากออกไปอีก ส่วนตัวคิดว่าทีมงานของ พล.อ.ประยุทธ์คงอ่านเกมว่านักศึกษากำลังจะเตรียมสอบกลางภาค พยายามที่จะประวิงเวลาออกไปไม่เข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติ ความจริงแล้วรัฐธรรมนูญมีช่องอยู่ที่ให้สภาทั้ง ส.ส. ทั้ง ส.ว. ประชุมร่วมกัน โดยไม่ลงมติในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นที่เร่งด่วน จึงมองว่านี่เป็นเกมการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์อย่างมาก
ด้านหนึ่ง ฝ่ายการเมืองเองก็ไม่ขับเคลื่อน เล่นการเมือง เพราะรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด ไม่ได้มีอำนาจจริง อำนาจอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อำนาจอยู่ที่กลุ่มนักการเมือง นักธุรกิจการเมือง อำนาจอยู่ที่กองทัพ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีบารมีมากพอในการจัดการปัญหา ทำให้ไม่เกิดการแอ๊กชั่นในความเป็นจริง ประวิงเวลากันออกไป และประเมินนักศึกษาต่ำเกินไปว่านักศึกษาคงไม่มีความสามารถที่จะกดดันรัฐบาลได้ ประวิงเวลาออกไปให้นักศึกษาเหนื่อยล้า และอ่อนแรง
ทั้งนี้ มาตรา 165 จะเป็นทางออกที่คลี่คลายหรือไม่นั้น ยังไม่รู้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของทุกฝ่าย แต่อย่างน้อยทำให้ภาวะความตึงเครียดลดน้อยลง เหมือนเวลาเราต้มน้ำร้อน ถ้าไม่มีทางระบาย ก็มีโอกาสที่จะปะทุ ระเบิดขึ้นได้ง่าย แต่หากใช้มาตรา 165 จะทำให้ทุกฝ่ายต้องเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา การชุมนุมต่อก็จะไม่ค่อยมีความชอบธรรมนัก ในเมื่อกระบวนการทั้งหมดเปิดช่องให้แล้ว รัฐสภาเปิดช่อง ประธานสภาเปิดช่องให้ใช้มาตรา 165 ในการพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ซึ่งถูกต้องที่สุด อยู่ในกระบวนการและหลักการความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร จึงงงและแปลกใจว่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์จึงไปใช้สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพราะมันมีทาง
ของมันอยู่
ประเด็นหลักคือ เมื่อเข้าไปสู่รัฐสภาแล้ว ต้องกำหนดประเด็นหารือร่วมกัน เพราะท่าทีของ ส.ว.ก็แตกออกเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งที่ไม่ยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกขั้วหนึ่งก็ยอมที่จะผ่อนปรน เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นเงื่อนไขของปัญหาด้วยเช่นกัน จึงขึ้นอยู่กับการต่อรองว่า ส.ว.จะถอยหรือไม่ หาก ส.ว.ยอมถอย
ประเด็นต่อมาคือ 1.จะแก้อย่างไร แก้รายมาตรา หรือแก้มาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ต้องผ่านการเห็นชอบของ ส.ว.อีกอยู่ดี ต้องดูจุดยืนของ ส.ว.แล้วว่าจะรับลูกเห็นด้วยมากน้อยแค่ไหนในกรณีนี้ 2.ความเป็นเอกภาพของพรรคฝ่ายค้าน คือเพื่อไทยกับก้าวไกลจะต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ เพราะเท่าที่ดูจากหน้าข่าว พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลยังไม่มีความเป็นเอกภาพมากพอในการจะร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ 3.ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ จะเอาจริงด้วยหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เคยเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล แต่เมื่อเกิดประเด็นเช่นนี้แล้ว ประชาธิปัตย์จะรับลูกเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
เหมือนกับว่าทุกคนจะต้องถอยคนละก้าว เพื่อจะให้กระบวนการขับเคลื่อนได้ นักศึกษาเองก็ต้องดูว่าเงื่อนไข 3 ข้อ ถ้าไม่ได้ทั้งหมดในการที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะได้แค่ไหน อย่างไร อย่าอ้างว่า กมธ.รับฟังความคิดเห็นยังไม่แล้วเสร็จ กรรมาธิการในการศึกษาแก้ไข ยังไม่แล้วเสร็จ เช่นนี้ อ้างไม่ได้ เพราะสภาพปัญหา ณ ขณะนี้ เราสามารถเอาข้อมูลทั้งส่วนที่ศึกษามาแล้ว รับฟังมาแล้ว มาผสมรวมกับของนักศึกษา แล้วทำเป็นข้อเสนอได้ทันที เพราะชัดเจนอยู่แล้ว และเป็นปัญหาสาธารณะที่ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่ากำลังสร้างภาวะความไม่ปกติ รัฐสภาต้องเอาปัญหานี้เข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตาม ส่งต่อปัญหานี้ให้รัฐบาลเพื่อที่จะบริหาร แก้ไขกันต่อไป ไม่ใช่ไปเอาอีกหน่วยงานหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางนิติบัญญัติเข้ามา
อันดับแรก รัฐบาลต้องพยายามไม่ให้ฝ่ายความมั่นคงคุกคามประชาชน นิสิต นักศึกษา และกำชับให้ครูในโรงเรียนอย่าใช้ความรุนแรง อย่าใช้มาตรการลงโทษนักเรียน เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพที่เขาสามารถทำได้ อย่าเอาหน่วยงานที่ตนเองควบคุมมาคุกคามประชาชน ประการต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ต้องถามคุณชวน หลีกภัย ว่าจะหาช่องทางอย่างไรในการเปิดสภาให้มีการคุยกัน ในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560

 

Advertisement

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ตอนนี้เวที ครม.สัญจรไม่ตอบโจทย์ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เมื่อดูจากข้อเรียกร้องหลักคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเชิงอุดมการณ์ให้มีความเป็นประชาธิปไตย รวมถึงข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิต่างๆ ดังนั้น เวที ครม.สัญจรจึงไม่ตอบโจทย์ เพราะว่าวัตถุประสงค์กล่าวอย่างง่ายคือการตรวจราชการ ไม่ได้เป็นการรับฟังข้อเรียกร้อง อีกอย่างคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็กำหนดให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติอยู่แล้ว แต่กลไกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องก็ยาก ข้อเรียกร้องอีกประการของนักเรียน นักศึกษา คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้องยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ให้มี ส.ว.เข้ามาเลือกนายกฯ ดังนั้น รับฟังอย่างเดียวไม่มีประโยชน์
การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษายังอยู่ในขอบเขตที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอะไร จึงทำได้อยู่แล้ว แต่ปัญหาคือส่วนของข้อเรียกร้อง ส่วนตัวมองว่าเด็กไม่ได้อยากให้มารับฟัง แต่อยากเห็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองลงมือทำมากกว่า เช่น พล.อ.ประยุทธ์อาจมีกำหนดการในการยุบสภาที่แน่นอน กระทำการแก้และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา ทำประชามติกันใหม่ โดยที่ไม่มีกระบวนการแบบเดิมในการรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560
มองว่าไม่มีทางออกร่วมกัน ในเมื่อฝ่ายหนึ่งคือนักเรียน นักศึกษา ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากสภาประชุมกัน ไม่ใช้มาตรา 256 แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่ทางออก ความจริงเห็นว่าไปไกลกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ลามไปถึงการรื้อและร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสียด้วยซ้ำ
ต้องไม่ลืมว่าสถาบันทางการเมืองของเราตามรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบมาให้เป็นสถาบันที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป รัฐบาลอาจจะมองกลไกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน เพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และทำประชามติ เช่นนี้ สถานการณ์น่าจะคลี่คลายลงไม่มากก็น้อย ดีกว่าการพูดในลักษณะที่ว่า เดี๋ยวจะมี ครม.สัญจรอยู่แล้ว เดี๋ยวให้มารับฟังตอนนั้น ซึ่งไม่ตอบโจทย์
นักเรียน นักศึกษา ณ ปัจจุบัน มีนักวิชาการหลายคนบอกว่า เด็กเหล่านี้โตมากับค่านิยม 12 ประการ 6 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ อุดมการณ์ของรัฐแบบเก่า เป็นวิธีเก่าแบบค่านิยม 12 ประการ เป็นการใช้อุดมการณ์แบบสมัยสงครามเย็น ไม่ตอบโจทย์ และใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน ปัญหาคือเด็กในยุคปัจจุบันเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น เขารู้ว่าอะไรเป็นอะไร ดังนั้น การทำประชามติแบบรัฐธรรมนูญ 2560 หาข้อมูลแป๊บเดียว เขาก็สามารถรู้ได้แล้วว่าไม่แฟร์ เพราะมีการจับกุมคนที่รณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น สถาบันทางการเมืองที่ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงไม่เป็นประชาธิปไตย
ดังนั้น ข้อเรียกร้องของนักเรียน นักศึกษา น่าจะเริ่มต้นจากการปฏิรูปสถาบันการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยก่อน เริ่มจากรัฐธรรมนูญ เมื่อที่มาไม่ได้เป็นประชาธิปไตยแล้วก็ย่อมส่งผลให้สถาบันทางการเมืองบิดเบี้ยว วันนี้ ส.ว.หลายคนออกมาบอกว่าจะมาไล่ ส.ว.ได้อย่างไร ในเมื่อ ส.ว.ก็เป็นเหมือนคนในครอบครัว ซึ่งเด็กก็ตั้งคำถามกลับไปสั้นๆ ว่า ส.ว.มาจากไหน เขาบอกมาจากการแต่งตั้ง แต่งตั้งโดยใคร คณะกรรมการ กรรมการมาจากไหน มาจาก คสช. แล้วใครเลือก คสช.มา แค่นี้ก็ไปต่อไม่ได้แล้ว
เราต้องตั้งประเด็นสำคัญก่อนคือในยุคปัจจุบันระบอบเผด็จการไปไม่ได้แล้ว ถ้ามองตัวระบอบจริงๆ ระบอบเผด็จการที่ยังคงอยู่ได้คือระบอบเผด็จการที่เอาใจใส่คนอย่างสิงคโปร์ ซึ่งก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่รัฐบาลผูกขาดของตระกูลลี ก็สามารถจัดรัฐสวัสดิการได้ แต่ของเราทำไม่ได้
ไม่ควรจะมีเวที เพราะคือการซื้อเวลา เสียเวลา เวทีไม่มีประโยชน์ เชื่อว่านักเรียน นักศึกษาก็ไม่เอา เขาก็ยืนยันแล้วว่าไม่ต้องการการรับฟัง และไม่ขอมีส่วนร่วม เขาแค่ต้องการสิ่งเป็นรูปธรรม

 

บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา
ผู้ช่วยอธิการบดี ม.นอร์ท-เชียงใหม่

การเจรจาเป็นเรื่องที่ดีที่สุด จึงเห็นด้วยที่จะเปิดให้มีการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่มีการลงมติจากฝั่งรัฐสภา เพราะกลุ่มที่เคลื่อนไหวไม่มีความไว้วางใจรัฐบาลและรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ว. โดยส่วนตัวมองเห็นว่าความรุนแรงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา ต้องเจรจาเปิดอกพูดคุยกันเพื่อหาแนวทาง อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นๆ
ขอย้ำว่าการเปิดประชุมสภาต้องไม่มีการลงมติ แต่การใช้ช่องทางนี้เป็นความจำเป็นที่สุด เพราะช่องทางอื่นไม่มีการฟังกัน ต่างฝ่ายต่างเรียกร้อง เพราะหากฟังกันก็จะไม่มีถึงจุดนี้ และการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ทางออกของสถานการณ์ในขณะนี้ ตั้งความหวังว่าทุกฝ่ายจะสามารถพูดคุยกันได้ภายใต้ความเข้าใจและเสียสละเพื่อประเทศชาติและส่วนรวม และที่สำคัญคือ การทำให้บ้านเมืองสงบสุข ไม่เกิดการนองเลือด

 

ปิยณัฐ สร้อยคำ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ข้อเสนอที่ให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภา และสมาชิกวุฒิสภา นายกฯ จะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้นั้น ถือว่าเป็นข้อเสนอที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมือง เนื่องจากในปัจจุบันการขยายตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมมีความถี่ที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในแง่ปริมาณและการกระจายในหลายพื้นที่ของประเทศ มีประเด็นที่ส่งผลกระทบสิทธิพื้นฐานและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง การรับเอาข้อเรียกร้องจากนอกสภาเพื่อเข้าไปอภิปรายและหาทางแก้ไขในเวทีของรัฐสภาจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ นัยหนึ่งเพื่อป้องกันการขยายตัวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น และอีกนัยหนึ่งเพื่อให้รัฐสภาได้ทำหน้าที่ของตนตามกระบวนการประชาธิปไตย
การรับฟังเสียงและนำข้อเสนอของประชาชนเข้าสู่กระบวนการอภิปรายในรัฐสภา ถือเป็นบทบาทหน้าที่สำคัญของทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่พึงกระทำ แม้ในคราวปกติที่ปราศจากการชุมนุม และในความเป็นจริงสมาชิกรัฐสภาต่างก็ทำหน้าที่เช่นนั้นอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดธรรมเนียมหากสมาชิกรัฐสภาจะรับฟัง ทบทวน และประมวลข้อเรียกร้องที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีข้อเรียกร้องจากกลุ่มผู้ชุมนุมหลายประการซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำประเด็นปัญหาเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการพูดคุยด้วยเหตุผลและเป็นที่รับรู้โดยสาธารณะเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการปะทะกันทางความคิดซึ่งอาจนำไปสู่เงื่อนไขการใช้ความรุนแรงในสังคมอีกด้วย

 

ไพสิฐ พาณิชย์กุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

เป็นข้อเสนอในการใช้กลไกของรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้ความเป็นทางการที่มีอยู่ แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องที่ตัวแทนของกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวจะเข้ามาได้ยากน้อยแค่ไหน คือ ถือว่าเป็นเครื่องมือที่จะรับฟังความคิดเห็นและความต้องการได้จริงหรือไม่ และตัวแทนของคนที่ออกมาเคลื่อนไหวจะมาเสนอข้อเรียกร้องโดยตรงได้หรือไม่ เพราะเครือข่ายเกิดขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการ มาจากธรรมชาติที่มีความหลากหลายก็จะมีตัวแทนเข้ามาได้แค่ไหน
ข้อจำกัดของมาตรา 165 จุดดีคือ มีความเป็นทางการตามรัฐธรรมนูญ ที่จะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายขึ้นมาได้ แต่ต้องสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายที่เคลื่อนไหวว่ามีข้อจำกัดนี้ ขณะนี้สังคมมีความเปลี่ยนแปลง มีความกังวล มีความคิดอย่างเปิดเผย แต่กระบวนการที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายต้องไม่ใช้การกดดันไปสู่ความรุนแรง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ เนื่องจากจะมีผลกระทบตามมา
ขณะนี้ต้องตั้งสติ ด้วยกลไกที่จะสื่อสารและนำไปสู่การพูดคุย เพราะทุกอย่างมีข้อจำกัดไม่ว่าจะสถานการณ์เรื่องงบประมาณ การจะทำอะไรไม่สามารถพลิกฟ้าเพียงแค่การพูดคุยแค่ครั้งเดียว เพราะไม่ว่าเรื่องทางโครงสร้าง กฎระเบียบต่างๆ ถูกตั้งคำถามว่าไม่มีประสิทธิภาพ และที่ผ่านมาความพยายามที่จะปฏิรูปที่พูดกันมานาน แม้ว่าจะไปบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ความต้องการจะปฏิรูปถูกมองว่าไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญ เพราะมีปัญหาอื่นๆ จำนวนมากเข้ามาให้แก้ไข จึงมองดูเหมือนว่าไม่ต้องการปฏิรูปจริงหรือไม่ เพราะการปฏิรูปเป็นกลไกที่ไปวางอยู่ในระบบราชการ ซึ่งราชการเองก็ไม่ค่อยอยากจะปฏิรูป
อยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image