รายงานหน้า2 : พิมพ์เขียว‘ร่างแก้รธน.’ รื้อม.256-ตั้งสสร.-ฉบับฝ่ายค้าน

หมายเหตุสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช… ของพรรคร่วมฝ่ายค้านโดยไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมลงชื่อด้วยที่ได้เสนอไปยังนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 256 ภายใต้บังคับมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อย กว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือจาก ส.ส.และ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน ตามกฎหมายว่าด้วยการ เข้าชื่อเสนอกฎหมาย
(2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณา เป็นสามวาระ
(3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย
(5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน เมื่อพ้นกำหนดนั้นแล้ว ให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป
(6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดย เปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของ จำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
(7) เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 81 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(8) ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม (7) ส.ส.หรือ ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่ง ในห้าของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญตาม (7) ขัดต่อมาตรา 255 และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไป ยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้”

มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 276/1 ถึงมาตรา 256/14 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

หมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

Advertisement

มาตรา 256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในแต่ละจังหวัด
การคำนวณจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้ง ประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส.ร.จำนวน 200 คน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็น จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คนตามวรรคสอง ให้มี ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้มี ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน
เมื่อได้จำนวน ส.ส.ร.ของแต่ละจังหวัดตามวรรคสองและวรรคสามแล้ว ถ้าจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ครบ 200 คน จังหวัดใดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณตามวรรคสองมากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่มสมาชิก สภาร่างรัฐธรรมนูญตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณนั้นในลำดับรองลงมา ตามลำดับจนครบจำนวนสองร้อยคน
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

มาตรา 256/2 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ในวันเลือกตั้ง
(3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือเป็นบุคคลที่เกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งหรือเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา หรือเคย รับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี

มาตรา 256/3 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (1) เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 98 (1) (2) (4) (5) (6) (8) (9) (10) (11) (12) (13) (15) (16) (17) หรือ (18)
(2) เป็นข้าราชการการเมือง
(3) เป็น ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรี

มาตรา 256/4 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่มีเหตุแห่งการจัดทำร่างรัฐธรรมฉบับใหม่ตามหมวดนี้
การกำหนดวันเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งให้กระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดให้ เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ให้ กกต.จัดให้มีการแนะนำตัวผู้สมัครอย่างเท่าเทียมกัน การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ร.ได้หนึ่งคน และจะลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ผู้ใดหรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้เป็นไปตามมาตรา 95 และมาตรา 96 ของรัฐธรรมนูญ
หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้เป็นไปตามระเบียบที่ กกต.กำหนด
เมื่อได้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.แล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศ รับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันเลือกตั้ง โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุด เรียงตามลำดับจนครบตามจำนวน ส.ส.ร.ที่พึงมีในแต่ละจังหวัดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง
สมาชิกภาพของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง

มาตรา 256/5 สมาชิกภาพของ ส.ส.ร.สิ้นสุดลง เมื่อ
(1) สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุด
(2) ตาย
(3) ลาออก
(4) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 256/2 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 256/3
เมื่อตำแหน่ง ส.ส.ร.ว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากที่ถึงคราวออกตาม มาตรา 256/13 ให้ กกต. ดำเนินการเลื่อนบุคคลผู้ที่ได้คะแนนในลำดับต่อไปใน การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามขึ้นแทน ตำแหน่งที่ว่าง ภายในกำหนดเวลา 15 วัน เว้นแต่ระยะเวลาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่าง รัฐธรรมนูญจะเหลือไม่ถึง 90 วัน
ในกรณีที่ตำแหน่ง ส.ส.ร.ว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดและยังไม่มีการเลื่อนลำดับ ขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างตามวรรคสอง หรือเป็นกรณีที่ไม่มีบุคคลที่จะเลื่อนลำดับขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ได้ให้ ส.ส.ร.ประกอบด้วย ส.ส.ร.เท่าที่มีอยู่ แต่ทั้งนี้ ส.ส.ร.ต้องมีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ร.ตาม มาตรา 256/1

มาตรา 256/6 ส.ส.ร.มีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานสภาคนหนึ่งหรือสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมติของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ประธาน ส.ส.ร.มีหน้าที่และอำนาจดำเนินกิจการของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามหมวดนี้ รองประธาน ส.ส.ร.มีหน้าที่และอำนาจตามที่ประธาน ส.ส.ร.มอบหมาย และปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา ส.ส.ร.ในกรณีที่ประธาน ส.ส.ร. ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
กรณีประธาน ส.ส.ร.ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้และไม่มีรองประธาน ส.ส.ร.ปฏิบัติหน้าที่แทนตามวรรคสอง ให้ที่ประชุม ส.ส.ร.เลือกสมาชิก ส.ส.ร.คนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมในคราวนั้น เพื่อดำเนินการประชุมต่อไปได้

มาตรา 256/7 ให้ ส.ส.ร.แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่ ส.ส.ร.กำหนด เพื่อเสนอต่อ ส.ส.ร. ประกอบด้วย กรรมาธิการจำนวน 45 คน ซึ่งแต่งตั้งจากสมาชิก ส.ส.ร.จำนวน 30 คน จากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนจำนวน 5 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์จำนวน 5 คน และจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ 5 คน
การแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ ส.ส.ร. ให้คำนึงถึง ส.ส.ร.ในภูมิภาคต่างๆ อย่างเป็นธรรม

มาตรา 256/8 เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธาน ส.ส.ร. สมาชิก ส.ส.ร.และกรรมาธิการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 256/9 ส.ส.ร.ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 120 วัน นับแต่วันที่มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก ซึ่งต้องจัดให้มีขึ้นไม่ช้ากว่า 30 วันนับแต่วันที่ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ร.
การที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือมีการยุบสภาไม่เป็นเหตุกระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง
ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ ส.ส.ร.จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป และประชาชนในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง โดยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี และหน่วยงาน ของรัฐที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการเผยแพร่เนื้อหาสาระและความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านสื่อมวลชนและเวทีแสดงความคิดเห็นต่างๆ
การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้
กรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะตามวรรคสี่ให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป

มาตรา 256/10 การพิจารณาและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ การประชุม การลงมติ การแต่งตั้ง กรรมาธิการ และการดำเนินการของกรรมาธิการ การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่น เพื่อดำเนินการตามหมวดนี้ ให้นำข้อบังคับการประชุมรัฐสภามาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้นำบทบัญญัติมาตรา 120 มาตรา 124 และมาตรา 125 มาใช้บังคับกับการประชุม ส.ส.ร. และการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยอนุโลม

มาตรา 256/11 เมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้นำเสนอต่อประธานรัฐสภาและเมื่อประธานรัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปยัง กกต.ภายใน 7 วันนับแต่วันที่รัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นจาก ส.ส.ร. เพื่อให้ กกต.ดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชน ว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่
ในกรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ให้ประธาน ส.ส.ร.ส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยัง กกต.เพื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่ง
ให้ กกต.ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติซึ่งต้องไม่เกิน 60 วัน แต่ไม่น้อยกว่า 45 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากรัฐสภา หรือจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี วันออกเสียงประชามติให้กำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 08.00 น. จนถึงเวลา 17.00 น. สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้
ให้ กกต. คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการเผยแพร่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนรับทราบเป็นการทั่วไปผ่านสื่อมวลชน เวทีแสดงความคิดเห็น และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท โดยให้ผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญได้ แสดงความคิดเห็นโดยเสรีภายใต้กรอบของกฎหมาย
เมื่อการออกเสียงประชามติเสร็จสิ้นแล้ว ให้ กกต.ประกาศผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันออกเสียงประชามติ หากคะแนนการออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการตามมาตรา 256/12 ต่อไป แต่หากคะแนนการออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป และให้แจ้งผลการออกเสียงประชามติให้ประธานรัฐสภาหรือประธาน ส.ส.ร. แล้วแต่กรณีทราบโดยเร็ว

มาตรา 256/12 เมื่อผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภาหรือประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 81 วรรคสอง และมาตรา 146 มาใช้บังคับโดยอนุโลมและให้ประธานรัฐสภาหรือประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา 256/13 สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้
(1) ส.ส.ร.มีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง
(2) ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลา ตามมาตรา 256/9 วรรคหนึ่ง
(3) เมื่อร่างรัฐธรรมนูญตกไปตามมาตรา 256/9 วรรคห้า หรือมาตรา 256/11 วรรคสี่
(4) เมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

มาตรา 256/14 ถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตามหมวดนี้ตกไป คณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือ ส.ส.และ ส.ว. มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่อยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้อีกได้ การออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ทั้งนี้ บุคคลผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอีกมิได้

เมื่อรัฐสภามีมติอย่างหนึ่งอย่างใดตามวรรคหนึ่งแล้ว จะมีการเสนอญัตติตามวรรคหนึ่งอีกมิได้ เว้นแต่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่แล้ว

มาตรา 5 ในวาระเริ่มแรกให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image