รายงานหน้า2 : ผลสอบ‘บินไทย’ขาดทุน บริหารล้มเหลว-เอื้อประโยชน์

หมายเหตุ – นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช หัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง และคณะทำงาน ร่วมการแถลงข่าว ณ ห้องราชดำเนิน กระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม

หลังจากได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งประสบปัญหาและตกอยู่ในสภาวะขาดทุน ตามคำสั่งกระทรวงที่ 302/2563 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 โดยได้มอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดย่อย 6 คณะ เพื่อตรวจสอบการทุจริตในด้านการเงินและบัญชี การขายตั๋วโดยสาร ฝ่ายช่าง คลังสินค้า ครัวการบินไทย และการบริหารกิจการของบริษัท การบินไทยฯ มีการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง โดยคณะทำงานทั้งหมดมีเวลาตรวจสอบเป็นเวลา 43 วัน ก่อนที่บริษัท การบินไทยฯจะพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจแบบเด็ดขาด ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นเรื่องที่ 1035/2563 เดือนสิงหาคม 2563 เรื่อง อำนาจของคณะกรรมการและคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายหลังจากการพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ เห็นว่าเมื่อคณะทำงานตามคำสั่งที่ 302/2563 ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แล้ว คณะทำงานดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานได้ทำการรวบรวมข้อมูลที่ได้รับจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง จากผู้ที่เกี่ยวข้องในบริษัท การบินไทยฯ และผู้มาให้ข้อมูลทั้งหมด ทั้งแบบเปิดเผยตัวตนและไม่เปิดเผยตัวตน รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน โดยจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ส่งต่อให้กับกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีอำนาจควบคุมการบินไทย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนำเรียนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อทราบและดำเนินการแก้ไขต่อไป

ผลสรุปคือการบินไทยขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องรวมเป็นเวลากว่า 5 ปี แผนฟื้นฟูทำแล้วทำอีกก็ยังไม่สามารถหยุดภาวะการขาดทุนได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.พัฒนาการกำกับดูแล พ.ศ.2562 เนื่องจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าเป็นแหล่งทำมาหากินและส่อการทุจริตของผู้ที่มีอำนาจ

Advertisement

ในปี 2551 ถือเป็นปีแรกที่บริษัทมีผลการขาดทุนมากที่สุดถึง 21,450 ล้านบาท เนื่องมาจากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ พิสัยไกลพิเศษ ขนาด 4 เครื่องยนต์ มูลค่าตามบัญชี 53,043.04 ล้านบาท ภายใต้แผนรัฐวิสาหกิจและโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ช่วงปี 2546-2547 โดยเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเข้าประจำการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 โดยทำการบินเส้นทางบินตรง กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก และเพิ่มเส้นทางบินตรง กรุงเทพฯ-ลอสแองเจลิส โดยใช้เวลาทำการบินเพียง 3 ปีเศษก็ต้องหยุดบิน เพราะขาดทุนทุกเที่ยวบินถึง 12,496.55 ล้านบาท และบริษัทได้ปรับเปลี่ยนเส้นทางบินไปยังเส้นทางอื่นรวมแล้ว 51 เส้นทาง อาทิ มอสโก มิลาน สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ เชียงราย ภูเก็ต เชียงใหม่ ซึ่งประสบปัญหาขาดทุนทุกเส้นทางที่ทำการบินเช่นกัน ทำให้บริษัทขาดทุนจากการดำเนินงานไม่น้อยกว่า 39,859.52 ล้านบาท และต้องปลดระวางเครื่องบินก่อนกำหนด ลำสุดท้ายปลดระวางในปี 2556 โดยใช้เวลาในการเข้าประจำฝูงบินเพียง 6-10 ปี ซึ่งการใช้งานของเครื่องบินโดยทั่วไปกำหนดไว้ 20 ปี

จากปัญหาการขาดทุนหลายหมื่นล้านบาท ทำให้ผลประกอบการในภาพรวมของบริษัทต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ตามโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจค่อนข้างมาก อาทิ รายได้จากการดำเนินงาน 966,448 ล้านบาท ต่ำกว่าแผน 166,798 ล้านบาท รวมถึงบริษัทยังไม่ได้มีการประเมินอัตราผลตอบแทนการลงทุนไว้ ทั้งที่บริษัททำประมาณการเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบความคุ้มค่าของการลงทุนได้ ประกอบกับเครื่องบินรุ่น A340 ได้จำนวนที่นั่งจริงบนเครื่องบินต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ คือ A340-500 คาดการณ์จำนวน 223 ที่นั่ง แต่ได้จำนวนที่นั่งจริง 215 ที่นั่ง และ A340-600 คาดการณ์จำนวน 315 ที่นั่ง แต่ได้จำนวนที่นั่งจริง 270 ที่นั่ง

เมื่อพิจารณาปัญหาการขาดทุนของบริษัท การบินไทยฯที่มีหลายหมื่นล้านบาทเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.บริษัทไม่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตามมติ ครม.อย่างเคร่งครัด จริงจัง และไม่นำความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลังไปประกอบการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำ 2.ปัญหาการจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ผ่านนายหน้าคนกลางให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานการบินไทย วงเงิน จำนวน 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 254 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องยนต์อะไหล่รุ่น Trent-500 จำนวน 7 เครื่องยนต์ วงเงินรวมประมาณ 3,523.17 ล้านบาท รวมถึงการทำข้อตกลงในการดูแลซ่อมบำรุงเครื่องยนต์มูลค่าประมาณ 1,129.60 ล้านบาท และ 3.ข้อมูลการจ่ายเงินสินบนที่มีมากกว่าปกติไม่ต่ำกว่า 5% หรือประมาณ 2,652 ล้านบาทของวงเงิน รวม 53,043.04 ล้านบาท ผ่านนายหน้าคนกลางให้กับนักการเมือง เจ้าหน้าที่ และพนักงานการบินไทย แลกกับการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำ

Advertisement

จากปัญหาการขาดทุนในครั้งนี้ ทำให้การบินไทยต้องออกหุ้นกู้ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบันแล้วรวม 5 ครั้งกว่า 158,778 ล้านบาท มีการจัดซื้อและทำสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่ายของเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ มาโดยตลอด ซึ่งมีลักษณะผูกขาดและมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และยังเป็นผลสืบเนื่องให้ช่วง 3 ปี คือปี 2560 ถึง 2562 ยังพบว่าการบินไทยประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 25,659 ล้านบาท โดยพบสาเหตุของปัญหาการขาดทุนที่สำคัญคือ การจัดหาเครื่องบินรุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ มีมูลค่ารวม 28,266.9 ล้านบาท และ B787-900 จำนวน 2 ลำ แบบเช่าดำเนินงาน โดยพบว่าเครื่องบินรุ่น B787-800 แต่ละลำที่เช่าดำเนินงาน มีราคาไม่เท่ากัน เริ่มต้นที่ 4,475.3-5,064 ล้านบาท มีส่วนต่างของราคาต่างกันอยู่ถึง 589 ล้านบาท โดยทั้ง 8 ลำ มีสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่ายเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ จำนวน 19 เครื่องยนต์ เป็นเงินกว่า 14,342 ล้านบาท และค่าเครื่องยนต์อะไหล่จำนวน 3 เครื่องยนต์ จัดหาด้วยวิธีการเช่า มีค่าใช้จ่ายอีก 1,920.51 ล้านบาท ต่อมา เมื่อเครื่องบินรุ่นดังกล่าวใช้งานไปได้ประมาณ 5 ปี ผู้ให้เช่าแจ้งเปลี่ยนเครื่องยนต์ ทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 386.67 ล้านบาท

ประกอบกับในเครื่องบินรุ่น B787-800 ทั้ง 6 ลำ ไม่มีการวางแผนติดตั้งที่นอนของลูกเรือและนักบิน ทำให้บริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 1,652 ล้านบาท เมื่อนำค่าใช้จ่ายเครื่องบินทั้ง 8 ลำ มาคิดค่าเฉลี่ยที่บริษัทต้องจ่ายเป็นรายวัน เท่ากับบริษัทต้องจ่ายวันละประมาณ 13 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทได้รับความเสียหายจากเครื่องบินรุ่น B787 วงเงินไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านบาท ในสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่ายของเครื่องยนต์ที่ชำรุด บกพร่อง และไม่มีเครื่องยนต์เปลี่ยน ทำให้เครื่องบินจอดซ่อมเป็นเวลานาน จากกรณีดังกล่าว เป็นตัวอย่างการจัดหาเครื่องบินเพียงแค่รุ่นเดียว และมีจำนวนเครื่องบินเพียง 8 ลำ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และไม่มีการวางแผนการบินที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งการทำสัญญาแบบเช่าดำเนินงานก็มีความหละหลวม ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 3,927.67 ล้านบาท และไม่มีการรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือผลการสอบสวนหาผู้กระทำผิดให้บริษัทได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ การทำสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่ายในช่วงปี 2560-2562 พบความเสียหายทั้งสัญญาที่ทำไปแล้ว การส่งซ่อม และการต่อสัญญาซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย ทำให้บริษัทเสียหายไม่ต่ำกว่า 12,792 ล้านบาท โดยในช่วงปี 2561-2562 การบินไทยได้จัดหาเครื่องบินใหม่แบบเช่าดำเนินงานจำนวน 3 ลำ ส่งมอบปี 2563 วงเงินกว่า 16,604 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาจากสถานะทางการเงินของบริษัท ปี 2561 บริษัทมีหนี้เพิ่มจากสัญญาเช่าเครื่องบิน A350-900 จำนวน 2 ลำอยู่ถึง 23,302 ล้านบาท ปี 2562 มีภาระผูกพันจากสัญญาเช่าดำเนินงานเครื่องบิน 42 ลำ สูงถึง 108,818.64 ล้านบาท มีหนี้หุ้นกู้ถึง 65,023 ล้านบาท มีดอกเบี้ยจ่ายเฉลี่ยอยู่ปีละ 4,555 ล้านบาท และหากจัดหาเครื่องบินด้วยวิธีการเช่าดำเนินงานจะมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าวิธีเช่าซื้อถึง 5% หมายถึงหากกู้เงิน 100,000 ล้านบาท บริษัทจะมีภาระดอกเบี้ยสูงถึงปีละ 5,000 ล้านบาท

ประเมินผลประกอบการของบริษัทช่วงปี 2560-2562 ขาดทุนรวมไม่ต่ำกว่า 25,659 ล้านบาท ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีจำนวนพนักงานลดลง ทั้งฝ่ายช่าง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แต่บริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเกือบทุกด้าน อาทิ หนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้น 13,173 ล้านบาท ค่าล่วงเวลานักบินและลูกเรือเพิ่มขึ้น 638 ล้านบาท ค่าล่วงเวลาฝ่ายช่างเพิ่มขึ้น 530.66 ล้านบาท แต่มีรายได้จากตั๋วโดยสารเฉลี่ยเพียง 6,361 บาทต่อใบ ค่าตอบแทนเฉลี่ยพนักงานที่เป็นตัวเงินต่อคนต่อเดือน 129,134 บาท โดยในปี 2562 ประสบปัญหาขาดทุนสุทธิมากที่สุดถึง 12,017 ล้านบาท แต่มีรายได้จากตั๋วโดยสารเฉลี่ยเพียง 6,081 บาทต่อใบ ค่าใช้จ่ายแรงงานภายนอก 2,125 ล้านบาท มีค่าล่วงเวลาฝ่ายช่างสูงถึง 2,022.56 ล้านบาท ซึ่งมีข้อมูลพบว่าค่าล่วงเวลาโอทีฝ่ายช่างที่สูงมาก

รวมถึงพบว่าการบินไทยบริหารงานบุคคลล้มเหลว ไม่มีประสิทธิภาพ เอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญทำให้บริษัทประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อาทิ กรณีผู้รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษในอัตราเดือนละ 200,000 บาท ผ่านไป 9 เดือน เพิ่มเป็น 600,000 บาท โดยอ้างเหตุให้คณะกรรมการบริษัท อนุมัติค่าตอบแทนดังกล่าวตามที่เคยให้อดีตผู้รักษาการตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยใหญ่ ในอัตราเดือนละ 150,000 บาท พร้อมรถประจำตำแหน่ง คนขับรถ และค่าน้ำมันตามที่จ่ายจริง เมื่อเกษียณอายุราชการยังได้รับการแต่งตั้งให้รับตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโส ระดับ 13 และได้รับสิทธิประโยชน์คงเดิมต่ออีก 6 เดือน ซึ่งการรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ขัดกับมติคณะรัฐมนตรีและหนังสือจากกระทรวงการคลัง ห้ามพนักงานที่รักษาการให้ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษ จากที่เคยได้รับและในช่วงรักษาการของบุคคลดังกล่าว บริษัทประสบปัญหาขาดทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมาย จึงมีประเด็นสำคัญที่อาจเป็นเหตุให้การบินไทยประสบปัญหาขาดทุน โดยมีข้อมูลเบื้องต้นว่า ผู้บริหารบางคนของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ส่อร่ำรวยผิดปกติ และส่อมีบัญชีเงินฝากและทรัพย์สินที่มีราคาสูงในต่างประเทศ การจัดซื้อ/จัดหาวัสดุ อุปกรณ์บนเครื่องบินปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท ส่อทุจริต ได้สินค้าที่ด้อยคุณภาพ มาตรฐานต่ำ ไม่ตรงตามความต้องการของลูกค้า มีการแต่งตั้งบุตร เครือญาติ คนใกล้ชิดผู้บริหารบริษัทที่ไม่มีความรู้ ความสามารถเข้าทำงานและดำรงตำแหน่งที่ดีในบริษัท การจัดหาวัตถุดิบของครัวการบินไทย มีมูลค่าปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท ผูกขาดเฉพาะผู้ประกอบการไม่กี่ราย ใช้วิธีการประมูลโดยผ่านบริษัทกลางแค่บริษัทเดียว และตรวจพบการขายอาหารให้กับบริษัท การบินไทยฯ มีราคาแพงกว่าสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งส่อเป็นประโยชน์ทางบัญชีต่อครัวการบินไทย

รวมถึงยังมีการแต่งตั้ง โยกย้าย และการสรรหาผู้บริหารระดับ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แบบสัญญาจ้างมีกำหนดเวลา จงใจเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ได้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ควรจะได้ ส่อใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้ตนเองทั้งการเข้าถึงข้อมูลและประโยชน์อื่นใดที่ไม่ควรจะได้ การจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท มีการเอื้อประโยชน์และผูกขาดการบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินโดยผู้ประกอบการไม่กี่ราย และส่อได้รับผลประโยชน์โดยทุจริต การจัดหา/จัดซื้ออะไหล่เครื่องยนต์เครื่องบิน ส่อผูกขาดเพียงไม่กี่ราย มีการจัดหาอะไหล่เกินกว่าความจำเป็นที่ควรจะมี จัดหา/จัดซื้อแล้วส่อทุจริต ใช้ประโยชน์ไม่ได้ สูญเปล่า และเป็นภาระต่อบริษัทในการดูแลบำรุงรักษา ค่าล่วงเวลาของฝ่ายช่าง มีจำนวนหลายร้อยคนที่พบการทุจริต ทำโอที เกินกว่าเวลาทำงาน 365 วันหรือ 1 ปี โดยอาจทำเป็นขบวนการ และมีผู้บริหารรู้เห็นเป็นใจหรือร่วมทุจริตด้วยและผู้บริหารฝ่ายช่างบางคนส่อร่ำรวยผิดปกติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image